Dhammada on Android
available now on
Google Play Store
คำชี้แจง
    Dhammada.net เป็นเว็บไซต์ของกลุ่มลูกศิษย์ที่ภาวนาตามแนวดูจิตได้จัดทำกันเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทาง สวนสันติธรรม หรือ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช แต่อย่างใด     จึงขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันกับข้อเท็จจริง     ขอแสดงความนับถือ     Dhammada.net

หมวดหมู่

เรื่องล่าสุด

Latest Clips

คลังเก็บ

การพิจารณาไตรลักษณ์เมื่อดูจิตดูนามธรรม


mp3 for download : การพิจารณาไตรลักษณ์เมื่อดูจิตดูนามธรรม

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

ภาพจากโรงเรียนรุ่งอรุณ โดย คุณ ปิยมงคล โชติกเถียร

หลวงพ่อปราโมทย์ :เวลาสอนไตรลักษณ์เกี่ยวกับนามธรรมนะ ท่านจะสอนอนิจจังกับอนัตตา ท่านโดด บางทีโดดข้ามทุกขังไปเฉยๆเลย เพราะอะไร เพราะว่านามธรรมนี้ ตัวที่เด่นคือตัวอนิจจังกับอนัตตา แต่ถ้าดูรูปธรรมนะ ตัวที่เด่นคือตัวทุกขัง มันถูกบีบคั้น นั่งอยู่ก็ถูกบีบคั้น ทำให้นั่งต่อไปไม่ได้ เดินอยู่ก็ถูกบีบคั้น ทำให้เดินต่อไปไม่ได้ นอนอยู่ก็ถูกบีบคั้น ทำให้นอนต่อไปไม่ได้ พลิกไปพลิกมา หายใจออกก็ต้องถูกบีบคั้นต้องหายใจเข้า หายใจเข้าก็ถูกบีบคั้นต้องหายใจออก เนี่ยมันถูกบีบคั้นตลอดเลยตัวรูป รูปเป็นของที่แตกสลายได้ ถูกทำลายได้ด้วยดินน้ำไฟลมอะไรพวกนี้ ส่วนนามธรรมนั้นมันเหมือนภาพลวงตา ไหวตัวขึ้นมาแว้บแล้วสลาย ไหวตัวแว้บแล้วสลาย เต็มไปด้วยของไม่เที่ยง ดูง่าย

ทำทำวัตรเช้าน่าฟังมากเลย เริ่มสอนตั้งแต่ขันธ์ ๕ มีอยู่บทหนึ่ง นึกออกมั้ย ที่สอนจำแนกขันธ์ ๕ ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือรูป ขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่นคือเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ท่านสอนบอกว่า พระพุทธเจ้าสอนให้เราดูขันธ์นั่นแหละ ก็เห็นว่า รูปังอนิจจัง ก็เห็นตามความเป็นจริงว่า รูปํอนิจฺจํ รูปไม่เที่ยง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง รูปํ อนตฺตา ใช่มั้ย โดดข้ามจาก รูปํ อนิจฺจํ ไป รูปํ อนตฺตา รูปังอนัตตา รูปเป็นอนัตตา เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา ท่านข้ามทุกขังไป

หลวงพ่อมองว่า ที่ท่านข้ามเพราะว่า คำสอนเรื่องขันธ์ ๕ นี้ ไปเน้นกับพวกที่ควรจะดูนาม ตัวนามที่เด่นชัดก็คืออนิจจังกับอนัตตา อันนี้ในตำราไม่มีหรอกนะ หลวงพ่อพิจารณาเอาเอง ในตำราเขาจะอธิบายอีกอย่าง ในอรรถกถาจะอธิบายไปในทำนองว่า สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นมันเป็นอันเดียวกัน ดังนั้นเมื่อไม่เที่ยงแล้วก็เลยไปอนัตตา ไม่อธิบายให้จบนี่ พระพุทธเจ้าบอกว่าสิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นเป็นอนัตตา เพราะฉะนั้นก็น่าจะเหลือแต่ไม่เที่ยง อธิบายไม่ได้ อธิบายไม่จบหรอก

ถ้าเราภาวนาเราจะรู้เลย ตัวร่างกายนี้ ตัวทุกข์นี้เด่นมากเลย เราได้อาศัยความเคลื่อนไหวนี่แหละ กลบเกลื่อนความทุกข์ไม่ให้รู้สึก พอนั่งเมื่อยแล้วขยับ นั่งเมื่อยแล้วขยับ ก็ขยับไปเรื่อยนะ นอนเมื่อยก็พลิกไปพลิกมา ไม่ทันจะเห็นทุกข์เลย หายใจออกไปยังไม่ทันจะเห็นทุกข์ก็หายใจเข้า กลบมันไว้ มันเริ่มทุกข์นิดหน่อยก็กลบมันไว้ ท่านจึงสอนบอกว่า อิริยาบถนั้นมันปิดบังทุกข์ไว้ เปลี่ยนท่าทาง หายใจออกก็เปลี่ยนเป็นหายใจเข้า หายใจเข้าก็เปลี่ยนเป็นหายใจออก ยืนแล้วก็เปลี่ยนไปเดิน ไปนั่ง ไปนอน เปลี่ยนอิริยาบถปิดบัง ทำให้ไม่เห็นทุกข์

อนิจจังนะ เราดู บางทีสติเราไม่ไวพอ เราก็นึกว่ามันคงที่อยู่ ยกตัวอย่างเราเห็นว่าจิตมีดวงเดียว จิตวิ่งไปทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ จิตวิ่งไปแล้วก็วิ่งกลับมา วิ่งไปแล้วก็วิ่งกลับมา ใครเห็นจิตวิ่งไปวิ่งมาได้บ้าง ยกมือสิยกมือ เห็นจิตวิ่งพรึ่บไปแล้วก็กลับมา วิ่งพรึ่บไปแล้วก็กลับมา เห็นถูกมั้ย เห็นถูก แต่ยังถูกไม่เต็มที่ สันตติไม่ขาด ก็เลยยังเห็นว่าจิตเที่ยงอยู่ ถ้าสันตติขาดเราจะเห็นว่า จิตเกิดที่ตาแล้วก็ดับลงที่ตา จะเกิดจิตอีกดวงหนึ่งขึ้นที่ใจ เกิดที่ใจแล้วก็ดับลงที่ใจ แล้วอาจจะเกิดจิตอีกดวงหนึ่งที่หูก็ได้ ที่ตา ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ จิตคนละดวงกัน เกิดแล้วก็ดับไป เกิดแล้วก็ดับไป


หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม บ้านโค้งดารา ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
แผนที่ : 1 2 3
แสดงธรรมที่ วัดสวนสันติธรรม
เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๕ เดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๕๖
File: 560315A
CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๔๙
ระหว่างนาทีที่ ๖ วินาทีที่ ๓๖ ถึงนาทีที่ ๑๐ วินาทีที่ ๔๙

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

(Visited 2,800 times, 1 visits today)

Comments are closed.