Dhammada.net



« | »

วิธีการหัดแยกธาตุแยกขันธ์


mp 3 (for download) : วิธีการหัดแยกธาตุแยกขันธ์

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

หลวงพ่อปราโมทย์ : วิธีการที่มาเรียน แล้วหัดแยกธาตุแยกขันธ์เนี่ย เป็นวิธีการเฉพาะในพระพุทธศาสนา ภาษาปริยัติเขาเรียกว่า วิภัชวิธี วอแหวนสระอิ พอสำเภา ไม้หันอากาศ ชอช้าง วิภัชวิธี

วิภัชวิธี จะเป็นการหัดมาแยกสิ่งที่เรียกว่าตัวตน แยกตัวตนออกเป็นส่วนๆ แล้วจะพบว่าไม่มีตัวตน คล้ายๆมันมีรถยนต์ ๑ คัน เราคิดว่ารถยนต์มีจริงๆ เรามาถอดรถยนต์เป็นชิ้นๆนะ ลูกล้อ เราถอดลูกล้อออกมาก่อน ลูกล้อไม่ใช่รถยนต์ใช่มั้ย แต่รถยนต์ไม่มีลูกล้อไม่ได้ ใช่มั้ย เนี่ยถอดรถยนต์ออกมาเป็นส่วนๆนะ ลูกล้อไม่ใช่รถยนต์ กันชนก็ไม่ใช่รถยนต์ใช่มั้ย ตัวถังก็ไม่ใช่รถยนต์นะ ตัวถังก็ไม่ใช่รถยนต์ เบาะที่นั่งก็ไม่ใช่รถยนต์ พวงมาลัยก็ไม่ใช่รถยนต์ เครื่องยนต์ของมันก็ไม่ใช่รถยนต์ ถังน้ำมันก็ไม่ใช่รถยนต์ เห็นมั้ยพอเรามาถอดรถยนต์ออกเป็นชิ้นๆ ชิ้นเล็กชิ้นน้อยนะ พบว่าไม่มีรถยนต์แล้ว รถยนต์เป็นสิ่งที่เอาอะไหล่ทั้งหลายแหล่เนี่ยมาประกอบมารวมกันนะ แล้วเราก็สรุปหมายรู้เอาว่า นี่แหละคือรถยนต์

วิภัชวิธีที่จะมาเรียนรู้เพื่อทำลายความเห็นผิดว่ามีตัวกูของกู ตัวเราเนี่ย ก็คือมาหัดแยกสิ่งที่เรียกว่าตัวเราออกเป็นส่วนๆ เรียกว่าหัดแยกธาตุแยกขันธ์ดู เบื้องต้นหัดแยกกายกับใจก่อน ค่อยๆนั่งไป นั่งไปรู้สึกไป อย่าใจลอย ต้องไม่ใจลอยไปนะ รู้สึกตัวก่อน พอรู้สึกตัวแล้ว ดูกาย เห็นร่างกายที่นั่งอยู่เนี่ย เป็นของถูกรู้ถูกดู นั่งดูไปเรื่อยๆ อย่าเพิ่งกระดุกกระดิกนะ นั่งดูไปนานๆ จะเห็นว่ากายก็อยู่ส่วนกาย จิตก็อยู่ส่วนจิต กายกับจิตนี้เป็นคนละอันกัน จิตเป็นผู้รู้ผู้ดู ร่างกายเป็นของถูกรู้ถูกดู

พอเรานั่งไปนานๆมันปวดมันเมื่่อยขึ้นมา เห็นอีก ความปวดความเมื่อยแต่เดิมไม่มีนะ ร่างกายเรานั่งอยู่สบายๆ ความปวดความเมื่อยเป็นสิ่งที่แทรกเข้ามาทีหลัง แปลกปลอมเข้ามาทีหลัง เพราะฉะนั้นความปวดความเมื่อยไม่ใช่ร่างกาย เป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาอีกอันหนึ่ง คนละอันกับร่างกาย ความปวดความเมื่อยเนี่ย ภาษาพระเขาเรียก เวทนา คือความรู้สึกสุขความรู้สึกทุกข์ ทางร่างกายก็ได้ ทางจิตใจก็ได้ ความรู้สึกสุขความรู้สึกทุกข์ทางกาย ความรู้สึกสุขรู้สึกทุกข์รู้สึกเฉยๆทางใจ ทางใจมีเฉยๆด้วย ตัวนี้ไม่ใช่ร่างกาย ตัวนี้ไม่ใช่จิตใจ

ยกตัวอย่าง พอเรานั่งไปนานๆพอมันปวดขึ้นมา ค่อยดูไป ทำใจสบายๆดูไป ความปวดก็เป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า ความปวดเป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า ความปวดเป็นสิ่งที่แทรกเข้ามาในร่างกาย ไม่ใช่ร่างกายด้วย แล้วก็ไม่ใช่จิต เพราะมันเป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้านะ เนี่ยค่อยๆหัดตัวนี้นะ พอมันปวดมากเข้าๆอย่าเพิ่งกระดุกกระดิกนะ ทนๆเอาก่อน

มันปวดมากๆนะ ใจมันชักทุรนทุราย เช่นชักเป็นห่วงร่างกายแล้ว นั่งนานปวดมากอย่างนี้อาจจะเป็นอัมพาตได้ เดี๋ยวเดินไม่ได้ จะพิกลพิการใครจะเลี้ยง เห็นมั้ย ใจเริ่มฟุ้งแล้ว ใจเริ่มปรุงแต่ง วิตกกังวลอะไรต่ออะไรขึ้นมาเยอะแยะไปหมดเลย ความปวดมันอยู่ที่ร่างกายนะ แต่ความทุรนทุรายมันอยู่ที่จิต เพราะฉะนั้นเนี่ย ความปวดนะ กับความกลุ้มอกกลุ้มใจเนี่ย คนละอันกัน คนละขันธ์กัน ความกลุ้มอกกลุ้มใจเนี่ย ภาษาพระเขาเรียกว่า “สังขารขันธ์” คนละขันธ์กันนะ

เนี่ยมาหัดแยกสิ่งที่เรียกว่าตัวเรา จะเห็นเลย ความทุรนทุรายเป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า ไม่ใช่จิตด้วย ไม่ใช่ร่างกายด้วย ไม่ใช่เวทนาคือความปวดความเมื่อยนั้นด้วย คนละอันกันนะ นี่ค่อยๆหัดแยกนะ ค่อยๆฝึกทุกวันๆแล้วค่อยแยกไป

จะทำงาน จะกวาดบ้าน จะถูพื้น จะซักผ้า จะเดิน จะยืน จะนั่ง จะนอน คอยดูร่างกายมันทำงานไปเรื่อยนะ มันเจ็บ มันปวดขึ้นมา ก็คอยรู้เอา มันสุขมันสบายก็คอยรู้เอา มันดีใจ มันเสียใจ มันจะมีความโลภ ความโกรธ ความหลง เกิดขึ้น คอยรู้เอา สุดท้ายเราจะแยกธาตุแยกขันธ์ออกไป เราจะเห็นเลยร่างกายไม่ใช่ตัวเรา เป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้าเท่านั้น เหมือนหุ่นยนต์ตัวหนึ่งนะ เดินไปเดินมา ไม่มีตัวเราในร่างกายนี้

ความสุขความทุกข์ที่เกิดขึ้น ก็เป็นแค่สภาวธรรมอันหนึ่ง ไม่ใช่ตัวเราอีก สั่งให้เกิดก็ไม่ได้ ยกตัวอย่าง สั่งให้มีความสุขก็สั่งขึ้นมาไม่ได้ ห้ามไม่ให้มีความทุกข์ก็ห้ามไม่ได้ พอมันสุขแล้วรักษาเอาไว้ก็ไม่ได้ มีความทุกข์ขึ้นมาไล่มันก็ไม่ไป ไม่อยู่ในอำนาจบังคับ เนี่ยดูของจริงเข้าไป ดูเข้าไป

จะเห็นเลยว่าร่างกายก็ไม่ใช่ตัวเรา แล้วร่างกายนี้ก็ไม่เที่ยง เดี๋ยวหายใจออก เดี๋ยวหายใจเข้า เดี๋ยวยืน เดี๋ยวเดิน เดี๋ยวนั่ง เดี๋ยวนอน ร่างกายเป็นของไม่เที่ยง ร่างกายมีแต่ความทุกข์ นั่งอยู่ก็ทุกข์ เดินอยู่ก็ทุกข์ นอนอยู่ก็ทุกข์ กลางคืนนอนพลิกซ้ายพลิกขวาประมาณ ๔๐ ครั้งนะ คืนหนึ่งๆ มันปวดมันเมื่อยมันทุกข์นะ เราไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็น ก็นึกว่าร่างกายเราไม่ทุกข์ ความจริงร่างกายเราทุกข์ตลอดเวลาเลย

ร่างกายเป็นเหมือนหุ่นยนต์ตัวหนึ่งนะ เป็นวัตถุ เป็นก้อนธาตุ ไม่ใช่ตัวเรา เป็นก้อนดิน ก้อนน้ำ ก้อนไฟ ก้อนลม นี้มันเป็นอนัตตา

ความรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ ก็เป็นของไม่เที่ยง มีแล้วก็ไม่มี อย่างนี้นะ ยกตัวอย่างความสุข มีแล้วก็หายไป ความทุกข์ก็หายเหมือนกัน ไม่ใช่ไม่หาย ทุกอย่างเกิดแล้วดับทั้งสิ้นเลย เนี่ยเฝ้ารู้ลงไปนะ จะเป็นหายใจออกเกิดแล้วก็ดับ หายใจเข้าเกิดแล้วก็ดับ ยืนเกิดแล้วก็ดับ นั่งเกิดแล้วก็ดับ นั่งแล้วไม่ได้นั่งตลอดนี่ เดี่ยวก็เปลี่ยน ความสุขความทุกข์นะ สุขก็ชั่วคราว ทุกข์ก็ชั่วคราว กุศล อกุศล ที่เกิดขึ้นนะ เช่นความโลภ ความโกรธ ความหลง ก็ชั่วคราวอีก มีใครโกรธตลอด มีมั้ย มีใครโลภตลอดมั้ย ไม่มี มีแต่เกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับ เกิดแล้วดับอยู่ตลอดเวลานะ เนี่ย เฝ้าดูของจริงลงไป

ส่วนตัวจิตตัวใจดูอย่างไร ตอนนี้ต้องค่อยๆหัดดูะ จิตเดี๋ยวก็วิ่งไปทางตา วิ่งไปดู เดี๋ยวก็วิ่งไปทางหู วิ่งไปฟังนะ วิ่งไปดูอย่างเดียวไม่พอ สังเกตให้ดีตอนที่นั่งฟังหลวงพ่อเทศน์เนี่ย ดูหน้าหลวงพ่อบ้างใช่มั้ย ตั้งใจฟังบ้างใช่มั้ย หนีไปคิดบ้างใช่มั้ย สลับกันตลอดเวลา นึกออกมั้ย ไม่ได้ฟังอย่างเดียว ฟังไปคิดไป แล้วบางทีก็ดูหน้าหน่อยนึ่ง นึกออกมั้ย แล้วก็ตั้งใจฟัง ตอนที่ตั้งใจฟังไม่ได้ดูหน้าหรอกนะ ฟังนิดนึงแล้วก็หนีไปคิด ฟังแล้วก็หนีไปคิด เห็นมั้ย เนี่ยจิตมันเปลี่ยนนะ เดี๋ยวก็เปลี่ยน เดี๋ยวจิตก็ดู เดี๋ยวจิตก็ฟัง เดี๋ยวจิตก็คิด จิตเกิดดับเหมือนกัน เกิดดับอยู่ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

จิตจะเกิดที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ สั่งไม่ได้ มันเกิดเอง เดี๋ยวก็ไปดู เดี๋ยวก็ไปฟัง เดี๋ยวก็ไปคิด พวกเราตอนนี้ดูของจริงลงไปเลย จริงหรือเปล่า? ฟังไปคิดไปจริงมั้ย? หัดรู้ตรงนี้เลยนะ เราจะเห็นเลยว่า เดี๋ยวก็ฟัง เดี๋ยวก็คิด จิตจะไปฟัง ไม่ได้เจตนาฟัง จิตจะไปคิด ไม่ได้เจตนาคิด มันเป็นของมันเอง ตรงที่เห็นมันเกิดดับทางอายตนะเนี่ย มัน “ไม่เที่ยง” ตรงที่เห็นเราบังคับ(จิต)ไม่ได้เนี่ย เรียกว่า “อนัตตา”

เนี่ยเรามาดูสิ่งที่เรียกว่า “ตัวเรา” ขันธ์ ๕ เนี่ย ตัวรูป ตัวเวทนา ตัวสังขาร ตัวจิตคือตัววิญญาณ ดูก็เห็นมีแต่เกิดดับไปเรื่อย ดูซ้ำแล้วซ้ำอีก ซ้ำแล้วซ้ำอีก จะเห็นเลย ร่างกายที่หายใจอยู่ ไม่ใช่เรา ความสุขความทุกข์ไม่ใช่เรา กุศล อกุศลทั้งหลาย ไม่ใช่เรา ตัวจิตก็ไม่ใช่เรา ฝึกไปแล้วมันจะเห็นเองนะ ฝึกแล้วมันจะเห็นเอง จะพบว่าไม่มีตัวเราไม่มีในกายนี้ ไม่มีตัวเราในจิตนี้ ตัวเราเกิดจากความคิด ต้องหลงน่ะ ต้องหลงไปก่อนถึงจะไปคิดนะ จิตหลงเมื่อไหร่จิตก็ไปคิด จิตไปคิดก็เกิดตัวตนขึ้นมา ถ้าจิตมีสติ รู้สึกอยู่นะ จิตไม่หลงไปอยู่ในความคิดนะ ตัวตนจะไม่มีหรอก ตัวตนมันเกิดจากความคิดเท่านั้นเอง เหมือนคำว่ารถยนต์เนี่ย เราคิดว่ามีรถยนต์ ก็คิดขึ้นมา ทั้งที่จริงๆแล้วมันเป็นอะไหล่หลายร้อยหลายพันชิ้นมารวมกัน ตัวนี้ก็เหมือนกัน เราคิดว่าเป็นตัวเรา แต่พอเราแยกธาตุแยกขันธ์ออกไปแล้ว มันไม่ใช่ตัวเราหรอก เนี่ยหัดดูอย่างนี้นะ เรียกว่าการเจริญปัญญา ฟังเหมือนยาก ไม่ยากหรอก

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
แสดงธรรมที่วัดประชาสันติ จ.พังงา
บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
แสดงธรรมเมื่อ วันอาทิตย์ที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๔

CD: วัดประชาสันติ จ.พังงา วันที่ ๒๓ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๔
File: 540123.mp3
ระหว่างนาทีที่ ๓๒ วินาทีที่ ๔ ถึง นาทีที่ ๔๐ วินาทีที่ ๕๗

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

(Visited 14,093 times, 6 visits today)

Tags: , , , , , , , , , , , , , , , ,

Categories: การภาวนา, ขันธ์ ๕, จิต, ตัวตน, ทุกขัง, ปัญญา, รูป, วิญญาณ, วิปัสสนา, สติปัฏฐาน 4, สังขาร, สัญญา, อนัตตา, อนิจจัง, เวทนา, ไตรลักษณ์

« | »




เรื่องล่าสุด


หน้า