mp3 for download : การภาวนาที่ประกอบด้วย พละ ๕ / อินทรีย์ ๕
Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.
ขอขอบคุณภาพจาก บ้านจิตสบาย
retouched by Dhammada.net
หลวงพ่อปราโมทย์ :ฝึกจิตฝึกใจของเราเนี่ย ให้มันมีสติบ่อยๆ ให้มันมีสมาธิหรือความตั้งมั่นให้มาก เคารพอ่อนน้อมในพระพุทธเจ้า มีความขยันหมั่นเพียรทำในรูปแบบ แล้วเจริญปัญญาไป เห็นมั้ยที่หลวงพ่อสอน สอนครบนะ ในพละ ๕
สอนให้เคารพรักในพระพุทธเจ้า เบื้องต้นก็เคารพรักด้วยการน้อมใจไปก่อน เพราะยังไม่เห็นจริง ก็มีความเพียรนะ ทุกวันต้องปฏิบัติในรูปแบบ ต้องฝึกสติ ขาดสติไม่ได้ ต้องฝึกสมาธิ ต้องมีใจอยู่กับเนื้อกับตัว ต้องเจริญปัญญา ต้องแยกรูปแยกนาม เห็นมั้ย งานที่สอนให้ทำ เพราะฉะนั้นเราต้องฝึกนะ ฝึกของเรา อินทรีย์ ๕ ต้องครบ
ถ้าเบื้องต้นนะ คอยคิดถึงคุณของพระพุทธเจ้าไว้ คุณของพระพุทธเจ้ามีมาก ท่านมีปัญญาอย่างยิ่ง ท่านค้นพบเส้นทางที่แสนจะยาก ขนาดท่านนำมาบอกเรานะ เรายังทำไม่ค่อยจะได้เลย กระพร่องกระแพร่ง แต่คนที่ทำได้ก็มี แสดงว่าสิ่งที่ท่านค้นพบนั้นมันถูกต้อง
ยกตัวอย่างเวลาที่เราเห็นครูบาอาจารย์เนี่ย หลวงพ่อแต่ก่อนเห็นครูบาอาจารย์เยอะ ตระเวณไปหาครูบาอาจารย์มากมาย ไม่ใช่สายวัดป่าอย่างเดียวนะ ไปสายอื่นก็มีที่ภาวนาเก่งๆ นอกสายวัดป่าก็มี นอกลู่นอกทางไปเลยก็เยอะ นอกสายวัดป่าที่ท่านเก่งๆ ยกตัวอย่างเช่น ครูบาพรหมจักร์ ท่านเก่ง หลวงพ่อเกษม เขมโก ท่านเก่ง เก่งของท่านน่ะ ไม่ใช่วัดป่าหรอก อีกองค์ที่เก่ง แต่หลวงพ่อไม่ทันท่าน ไปหาไม่ทันคือ หลวงปู่บุดดา หลวงปู่บุดดานะ ท่านภาวนา ๓ พรรษาเอง เร็วกว่าเพื่อนเลย เร็ว เนี่ยตระเวณไปเห็นครูบาอาจารย์แต่ละองค์นะ ผ่องใส ขนาดว่าแก่มากๆนะ ยังดูสดใส หลวงปู่คร่ำใครเคยรู้จักมั้ย หลวงปู่คร่ำ ชื่อคร่ำ แต่ดูไม่คร่ำคร่า สดใส อายุร้อยกว่าปี อยู่ที่เมืองแกลง สิ้นไปแล้วล่ะ ใจดี เมตตาสูง จิตเนี่ย โห..เย็นฉ่ำเลย สติสมาธิปัญญาบริบูรณ์เลย ดีมากๆเลย ท่านก็ฝึกของท่านนะ คนละแบบคนละแนวกันมา ท่านก็ดีของท่านน่ะ
เห็นท่านแล้ว โอ้.. สดใส แต่ละองค์ๆ แก่ขนาดไหนก็สดใส ท่านมีธรรมะของพระพุทธเจ้า เจ็บป่วยขนาดไหนก็สดใส เห็นหลวงปู่สุวัจน์ (เพิ่มเติม : เรื่องเล่าครูบาอาจารย์ : หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ บรรลุธรรมด้วยอิริยาบทเดิน) นั่งบนรถเข็นแท้ๆเลย ท่านดูผ่องใสจังเลย สะอาดหมดจดเหลือเกินนะ เราสกปรกมอมแมมไม่ได้อย่างท่านเสียที มองไป โอ้.. งาม นั่งรถเข็นนะ จะกลืนน้ำลายยังกลืนไม่ได้เลย พระต้องคอยดูดน้ำลายให้นะ ท่านก็นั่ง.. ไปนั่งใกล้ๆนะ เดี๋ยวท่านก็ปรารภธรรมะ สุขแท้น้อ.. สุขแท้น้อ.. มองท่าน หา..สุขเหรอหลวงปู่ เป็นเรา เราทุกข์แท้น้อ.. เลยเนอะ ป่วยซะขนาดนั้น
หรือไปหาหลวงปู่เหรียญ ใกล้จะมรณภาพแล้ว ไปหาท่านนะ นอนอยู่บนเตียงแบบโรงพยาบาลน่ะ อยู่ที่วัด ไปถึงพระก็ไขเตียงให้ท่านตั้งหลังขึ้นมา หลังตั้งขึ้นมา นั่งขึ้นมา เท้าก็ยังเหยียดอยู่ โห..ผ่องใส งดงาม ดูจิตใจท่านร่าเริง จิตใจท่านเบิกบาน ท่านมีความสุข แก่ก็มีความสุข เจ็บก็มีความสุข จะตายอยู่แล้วยิ่งผ่องใสหนักขึ้นๆ เนี่ยท่านต้องมีอะไรดีของท่านน่ะ
การที่เราได้รู้ได้เห็นได้สัมผัสครูบาอาจารย์ที่ท่านดีของท่านจริงๆ ก็จะทำให้เรามีศรัทธาขึ้นมาเหมือนกัน แต่ละองค์ ท่านเหล่านี้น่ะ เป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า แต่ละองค์สรรเสริญพระพุทธเจ้า แสดงว่าพระพุทธเจ้าท่านต้องมีอะไรดีๆแน่เลย ค่อยๆศรัทธาไปถึงพระพุทธเจ้าอีก เห็นลูกศิษย์แล้วศรัทธาอาจารย์ ถ้าลูกศิษย์โหลยโท่ยก็เสื่อมศรัทธาไปถึงอาจารย์ เนี่ยพอเห็นนะ พระพุทธเจ้าท่านต้องดีแน่ๆ ธรรมะที่ท่านสอนนะ ปราณีตลึกซึ้ง ยิ่งภาวนานะ ยิ่งจับจิตจับใจ โองามเหลือเกิน ธรรมะของท่านงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ซาบซึ้งถึงอกถึงใจมากขึ้น ศรัทธามันก็จะแก่กล้ามากขึ้นเรื่อยๆ
แล้วศรัทธาของเราจะไปเต็มตอนที่เป็นพระโสดาบันนะ เป็นพระโสดาบันเนี่ย ยอมตายถวายชีวิตเลย ใครจะบอกว่าพระพุทธเจ้าพูดโกหกเนี่ย ไม่เชื่อเด็ดขาดเลย รู้แล้วว่าท่านพูดจริง สอนของจริง ท่านสะอาดหมดจดจริง เพราะเราได้สัมผัสความสะอาดหมดจดอันนั้นด้วยการปฏิบัติของเราเอง เพราะฉะนั้นศรัทธาเนี่ยจะแก่กล้าขึ้นไปตามลำดับของการปฏิบัติของเราเอง ปฏิบัติถูกแล้วศรัทธาจะแก่กล้าขึ้นเรื่อยๆ
หรือวิริยะก็เหมือนกัน หัดใหม่ๆขี้เกียจขี้คร้าน ครูบาอาจารย์ขอวันละ ๑๐ นาที ให้ไม่ค่อยจะได้เลย อยากได้นิพพาน เวลาอ้าปากขึ้นมาก็ขอนิพพาน จะให้ภาวนา ๑๐ นาที ไม่เอา ท้อแท้ หมดแรง ขาดกำลังใจ โหย..ฟังแล้ว หือ..
วิริยะนะ หัดใหม่ๆนะ โอ้ย..ภาวนานิดๆหน่อยๆจะเป็นจะตาย แล้วพอเราค่อยเห็นผลนะ อย่างหลวงพ่อหลอกล่อ เอาสิบนาที สิบนาที ห้านาที อะไรอย่างนี้ พอทำน้อยๆแล้วรู้สึกมีความสุข ทนได้ พอผ่านไปได้สักช่วงนะ ใจค่อยมีกำลังเข้มแข็งขึ้น วิริยะมันเพิ่มเองแหละพอภาวนาแล้วมีความสุข ภาวนาแล้วมีความสุข เรื่องอะไรจะมีความสุขสิบนาที เห็นมั้ย ใจก็อยากภาวนามากๆขึ้น ขยันหมั่นเพียรมากขึ้น ยิ่งเดินจงกรมก็ยิ่งมีความสุข นั่งสมาธิยิ่งมีความสุขนะ
ทำสมถะก็มีความสุข ทำวิปสสนาก็มีความสุขไปอีกแบบ ไม่เหมือนกัน ทำสมถะเนี่ยนะ ทำถ้าชำนาญ มีวสีนะ ทำเมื่อไหร่มีความสุขเมื่อนั้นเลย แต่ว่าการเจริญปัญญาไม่เป็นอย่างนั้นหรอก การเจริญปัญญานั้นบางทีตั้งครึ่งเดือน เกิดความรู้ความเข้าใจขึ้นมาหน่อยนึง พอเกิดความรู้ความเข้าใจขึ้นมานิดหน่อยนะ จิตใจจะมีความสุขนะ อิ่มเอิบเบิกบานสักอาทิตย์หนึ่งนะ แล้วก็หมดละ แห้งแล้ง ไม่เหมือนสมถะนะ สมถะถ้าชำนาญแล้วก็ นั่งเมื่อไหร่ก็มีความสุขเมื่อนั้น ส่วนตัวปัญญาไม่เกิดบ่อย ถ้าปัญญาเกิดบ่อยจะไม่ใช่ปัญญาตัวจริง เป็นปัญญาที่เกิดจากการคิดเอาเอง เกิดทุกวัน มีปัญญาทุกวัน ปัญญาหลอกๆนะ ไม่ใช่ของจริงหรอก ถ้าเป็นปัญญาที่จิตมันรู้มันเห็น มันเข้าใจแจ่มแจ้งขึ้นมานะ โอโหย.. มันแช่มชื่นใจนะ มันมีความสุข สุขคนละแบบกันสมถะ
สมถะนั้นเป็นความสุขแบบไร้เดียงสา วิปัสสนาเนี่ยถ้าเกิดปัญญาแล้วจะมีความสุข จะเป็นเหมือนความสุขของผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จในชีวิตน่ะ ความสุขคนละแบบ สมถะมันเป็นความสุขแบบเด็กเล่นดินเล่นทรายอะไรอย่างนั้นไป ก็มีความสุขนะ เพลิดเพลินไป วิปัสสนาเป็นความสุขของผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จในชีวิต มันอิ่มเอิบใจ คนละแบบกัน
เนี่ยพอเราเห็นผลของการปฏิบัตินะ ความเพียรมันจะมากขึ้นๆ เห็นมั้ย เห็นผลของการปฏิบัติ ศรัทธาก็มากขึ้นเรื่อยๆ เห็นผลของการปฏิบัตินะ ความเพียรก็มากขึ้นเรื่อยๆ จะยิ่งขยันปฏิบัติ เพราะปฏิบัติแล้วดี ปฏิบัติแล้วสุข ปฏิบัติแล้วของที่ไม่เคยรู้ก็ได้รู้ ของที่ไม่เคยเห็นก็ได้เห็น น่าสนใจมาก
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม บ้านโค้งดารา ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
แผนที่ : 1 2 3
แสดงธรรมที่ วัดสวนสันติธรรม
วันศุกร์ที่ ๑๑ เดือนมกราคม พ.ศ.๒๕๕๖ ก่อนฉันเช้า
File: 560111A
CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๔๘
ระหว่างนาทีที่ ๔ วินาทีที่ ๑๑ ถึงนาทีที่ ๑๒ วินาทีที่ ๑๑
เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓
ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่
สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่
ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่
คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่