อวิชชารวมตัว ปกปิดจิตแท้ธรรมแท้
โดยอาจารย์พระมหาบัว ญาณสมฺปนฺโน (หลวงตามหาบัว)
เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2509
นี่คือเวลาเริ่มพิจารณาเข้าสู่จุดรวมของกิเลสวัฏฏ์ ซึ่งได้แก่อวิชชา ขณะที่พิจารณาก็ยังไม่ทราบว่าตัวเองพิจารณาอวิชชา เป็นแต่เพียงคิดว่า นี้มันอะไรนา เป็นข้อข้องใจสงสัยอยู่ตรงนี้ แล้วก็หยั่งจิตลงไปที่นั่น ทำความสนใจในจุดนั้น พิจารณาว่ามันเป็นยังไงไปยังไงมายังไง แต่ก็ไปถูกจุด ทั้งนี้เพราะเราไม่รู้ชื่อมันว่าอะไรเป็นอวิชชา อวิชชาที่แท้จริงกับชื่อมันผิดกันมาก เห็นแต่กระแสของมันกระจายไปทั่วโลก นั้นมันเป็นเพียงกิ่งก้าน เหมือนเราไปหาจับโจรผู้ร้าย ไปจับก็จะได้แต่สมุนของมันเท่านั้น จับคนไหนก็เป็นสมุนของมันๆไม่ทราบว่านายมันอยู่ที่ไหน มีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร เพราะไม่เคยเห็นหัวหน้ามัน
จับมากต่อมาก จับเข้าไปๆตีตะล่อมเข้าไปๆที่เรียกว่าล้อมโจร คือเจ้าหน้าที่มีจำนวนมากและก็มีกำลังมาก ต่างคนต่างอาศัยกันรวมกันเข้าก็มีกำลังมาก ล้อมรอบจุดโจรอาศัยอยู่จับคนนี้ มัดคนนั้นเข้าไปๆเมื่อถูกถาม ตามธรรมดาโจรมันจะไม่บอกว่าใครเป็นนายของมัน ถ้าใครเป็นโจรก็มัดมันเข้าไปจนหมดจนไม่ให้มีเหลือซักคนในวงล้อมนั้น คนสุดท้ายนั้นน่ะเป็นนายของโจร คนสุดท้ายมันจะอยู่ในที่สำคัญ คือสมุนของโจรจะต้องล้อมรอบขอบชิดรักษาไว้อย่างดีทีเดียว ไม่ให้พบหัวหน้าของมันอย่างง่ายดาย ถูกจับเข้าไปเป็นลำดับๆจนถึงอุโมงค์ที่หัวหน้าโจรหลบซ่อนก็ฆ่าหมดไม่มีเหลือในที่นั้นแล้วมันก็ทราบชัดกันล่ะที่นี่ ว่า หัวหน้าโจรตัวฉลาดได้ถูกฆ่าให้สูญพันธุ์ไปเสียแล้ว อันนี้เป็นแต่เพียงรูปเปรียบ คือจิตที่มีความเกี่ยวข้องกับสิ่งใด มันก็เป็นแขนงของความหลง ไม่ว่าจะหลงทางดีทางชั่ว มันเป็นเรื่องของอวิชชาและกิ่งก้านของอวิชชาทั้งนั้น แต่ตัวอวิชชาจริงๆมันไม่มีเพราะฉะนั้น อุบายวิธีพิจารณาต่างๆถ้าจะเทียบอุปมาก็เหมือนอย่างเราวิดน้ำเพื่อจะเอาปลา ถ้าน้ำมีมาก ปลาจะมีอยู่จำนวนมากน้อยเพียงไรก็ไม่ทราบ วิดน้ำออกจนน้ำแห้งไปเป็นลำดับๆปลาก็รวมตัวเข้าไปๆ ตัวไหนอยู่ที่ไหนก็วิ่งลงในน้ำๆ น้ำก็ถูกวิดออกเรื่อยๆ ปลาก็รวมตัวเข้าไปตัวไหนวิ่งไปไหนก็มองเห็น เพราะน้ำแห้งลงไปเรื่อยๆ ผลสุดท้ายเมื่อน้ำแห้งแล้ว ปลาก็ไม่มีที่หลบซ่อนก็จับตัวปลาได้
ขึ้นชื่อว่ารูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสกับอาการของจิตที่คละเคล้ากัน มันก็เหมือนกับน้ำซึ่งเป็นที่อาศัยของปลา การพิจารณาสิ่งเหล่านี้ก็ไม่หมายจะเอาสิ่งเหล่านี้ แต่จะฆ่ากิเลสต่างหากเหมือนกับคนวิดน้ำไม่หมายจะเอาน้ำ แต่หมายจะเอาปลาต่างหาก การพิจารณาก็ไม่หมายจะเอาสิ่งเหล่านี้ แต่ให้รู้สิ่งเหล่านี้เป็นลำดับๆ พอรู้ไปถึงไหนจิตก็หายกังวล รู้ทั้งสิ่งที่ไปเกี่ยวข้อง รู้ทั้งตัวเองผู้ไปเกี่ยวข้องว่าเป็นผู้ผิด เป็นความเห็นผิดของตัว จึงไปหลงรักหลงชังในสิ่งเหล่านั้นทีนี้วงแห่งการพิจารณาก็แคบเข้ามาๆ เหมือนกับน้ำแห้งลงไปๆ จะพิจารณาในธาตุในขันธ์อะไรมันก็เหมือนกับสิ่งทั่วไปภายนอก มันไม่มีอะไรแปลกกัน ถ้าเป็นด้านวัตถุ พูดถึงเรื่องธาตุก็เป็นธาตุอันเดียวกัน มันมีแปลกอยู่ที่อาการของจิตแสดงตัวออก แต่เราไม่รู้ก็ไปหมาย อันนี้มันก็ยังเป็นกิ่งก้านของอวิชชาอยู่ แต่มันจะซึมซาบเข้าไปหาส่วนใหญ่ พิจารณาเห็นสิ่งที่มาเกี่ยวข้องชัดเท่าไร ก็ยิ่งเห็นตัวออกไปเกี่ยวข้องชัดขึ้นทุกที เหมือนกับน้ำแห้งลงไปเท่าไรก็ยิ่งเห็นตัวปลาชัดขึ้นทุกทีๆ
การพิจารณาเห็นสภาพทั้งหลายทั้งภายนอกกาย ทั้งภายในกาย ทั้งในเจตสิกธรรมของตัวชัดขึ้นเท่าไร มันก็เห็นจุดที่อยู่ที่อาศัยของตัวการสำคัญชัดขึ้นๆ เมื่อพิจารณาตะล่อมเข้าไปความรู้ของจิตมันก็แคบเข้าไป ความกังวลของใจก็น้อยเข้าไป กระแสของใจที่ส่งออกไปก็แคบพอกระเพื่อมตัวออกไปเกี่ยวกับสิ่งใดก็พิจารณาเกี่ยวกับสิ่งนั้นด้วย พิจารณาความกระเพื่อมของจิตที่ออกไปแสดงตัวด้วย ก็เห็นทั้งสองเงื่อน รู้เหตุรู้ผลกันทั้งสองด้าน คือด้านที่ไปเกี่ยวข้องสิ่งที่ถูกเกี่ยวข้องหนึ่ง ผู้ไปเกี่ยวข้องหนึ่ง ปัญญาก็ขยับตัวเข้าไปเป็นลำดับๆ
เมื่อเข้าไปถึงตัวอวิชชาจริงๆ โดยมากนักปฏิบัติถ้าไม่มีครูอาจารย์คอยแนะไว้ก่อนแล้ว จะต้องไปถือเอาตัวนั้นแลว่าเป็นตัวจริง เพราะทุกสิ่งทุกอย่างได้พิจารณาเห็นชัดภายในใจแล้วว่าได้รู้เท่าและปล่อยวางไปหมดไม่มีสิ่งใดเหลือ แต่ผู้ที่รู้สิ่งทั้งหลายนั้นคืออะไรนั่น ทีนี้ก็ไปสงวนอันนั้นไว้ นี่แลที่ว่าอวิชชารวมตัวแล้ว แต่กลับมาเป็นตัวขึ้นโดยไม่รู้สึก จิตก็มาหลงอยู่นั้นที่ว่าอวิชชาก็คือหลงตัวเองนี่แหละ ส่วนที่หลงสิ่งภายนอกนั้นยังเป็นกิ่งก้าน ไม่ใช่เป็นเรื่องของอวิชชาอันแท้จริง
การมาหลงอันนี้แล มาหลงผู้ที่รู้สิ่งทั้งหลายนี้แล ผู้นี้เป็นอะไรเลยลืมวิพากษ์พิจารณาเสียเพราะจิตเมื่อมีวงแคบเข้ามาแล้วจะต้องรวมจุดตัวเอง จุดของจิตที่ปรากฏตัวอยู่เวลานั้นจะเป็นจิตที่ผ่องใส มีความยิ้มแย้มแจ่มใส มีความองอาจกล้าหาญ ความสุขก็รู้สึกว่าจะรวมตัวอยู่ที่นั่นหมด สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดมันเป็นผลของอะไร ถ้าจะพูดว่าเป็นผลก็ยอมรับเป็นผล จะพูดว่าเป็นผลของปฏิปทาเครื่องดำเนินก็ถูกถ้าหากเราไม่หลงอันนี้นะ ถ้ายังหลงอยู่มันก็ยังเป็นสมุทัยนี่ละจุดใหญ่ของสมุทัย
แต่ถ้านักปฏิบัติผู้มีความสนใจพิจารณาในสิ่งที่เกี่ยวข้องอยู่เสมอแล้วไม่มองข้ามไปยังไงก็ทนไม่ได้ ต้องสนใจเข้าพิจารณาจุดนั้น เพราะทุกสิ่งทุกอย่างเราก็เคยพิจารณาและเคยรู้เรื่องมาแล้วใจก็ไม่สัมผัส จะแยกจิตออกไปพิจารณาอะไรมันก็ไม่สัมผัส เพราะพอตัวในสิ่งนั้นๆแล้วอาการที่เกิดขึ้นก็เกิดขึ้นจากนั้น จิตที่ปรุงขึ้นมามันก็ปรุงขึ้นจากนั้น สุขที่ปรากฏขึ้นก็ปรากฏอยู่ที่นั่น ความสุขที่ปรากฏขึ้นมามันก็มีอาการเปลี่ยนแปลงให้เห็นซึ่งเป็นเหตุให้พิจารณาอีกเพราะในขั้นนี้เป็นขั้นที่ใช้ความสังเกตมาก เมื่อสังเกตความสุขมันก็ไม่แน่นอน เพราะความสุขที่ผลิตจากอวิชชามันเป็นสมมุติ บางทีก็มีอาการเฉาๆบ้างเล็กๆน้อยๆ พอให้ทราบว่ามันแสดงอาการไม่สม่ำเสมอ มันค่อยเปลี่ยนตัวเองอยู่อย่างนั้นตามขั้นแห่งธรรมที่ละเอียด นี่เป็นจุดที่จะนอนใจตายใจและยอมเชื่อสำหรับผู้ที่ปฏิบัติด้วยความเข้มแข็ง ด้วยความสนใจอย่างยิ่งแต่จะมานอนใจในจุดนี้ ติดในจุดนี้ หากไม่มีผู้อธิบายให้ทราบไว้ล่วงหน้าก่อน
ถึงจะนอนใจก็ทนที่จะทราบไม่ได้เหมือนกันถ้าใช้ความสนใจ เพราะมีเท่านั้นเป็นสิ่งที่ดูดดื่มของใจ เป็นเหตุให้ดูดดื่ม เป็นเหตุให้พอใจในสิ่งที่ปรากฏนั้น เท่าที่เคยพิจารณามาเป็นอย่างนั้นจนไม่ทราบว่าอะไรเป็นอวิชชา ก็เลยเข้าใจว่าอันนี้แหละที่จะเป็นนิพพาน อันสว่างกระจ่างแจ้งอยู่ตลอดเวลานี้แล คำว่าตลอดเวลาในที่นี้หมายถึงตลอดเวลาของผู้มีความเพียร มีการชำระซักฟอกกันอยู่เสมอ ไม่นอนใจติดอยู่กับสิ่งนั้นถ่ายเดียว ความสงวนก็มาก อะไรจะมาแตะต้องไม่ได้ระมัดระวังอย่างเต็มที่ พออะไรมาสัมผัสก็รีบแก้กันทันที
แต่สิ่งที่รักสงวนนั้นตนหาได้ทราบไม่ว่าคืออะไร ทั้งที่ความรักความสงวนนั้นมันก็เป็นภาระของจิตอยู่โดยดี แต่ในเวลานั้นมันไม่ทราบ จนกว่าสมควรแก่กาลที่ควรรู้แล้ว จึงเกิดความสนใจที่จะพิจารณาในจุดนี้ นี่มันคืออะไรนา ทุกสิ่งทุกอย่างเราก็เคยพิจารณามา แต่สิ่งนี้มันคืออะไรนาที่นี่จิตก็จ่อเข้าไปตรงนั้น ปัญญาก็สอดส่องเข้าไป นี้มันคืออะไรแน่นะ อันนี้มันเป็นความจริงแล้วหรือยังไม่จริง อันนี้เป็นวิชชาหรือเป็นอวิชชา มันยังเป็นข้อกังขาสงสัยอยู่นั้นแหละ
แต่อาศัยการพิจารณาทบทวนด้วยปัญญาอยู่ไม่หยุด เพราะเป็นสิ่งไม่เคยรู้ไม่เคยประสบมาก่อนว่าทำไมมันจึงรัก ทำไมมันจึงสงวน ถ้าหากว่าเป็นของจริงแล้วทำไมจะต้องรักสงวนกัน ทำไมจะต้องรักษากัน ความรักษานี่มันก็เป็นภาระ ถ้าอย่างนั้นอันนี้มันก็ต้องเป็นภัยอันหนึ่งสำหรับผู้สงวนรักษา หรือเป็นสิ่งหนึ่งที่ไม่น่าไว้ใจทั้งๆที่ก็ไม่ทราบนะว่านั่นคืออะไร จะเป็นอวิชชาจริงหรือไม่เพราะเราไม่เคยเห็นนี่ว่าวิชชาที่แท้จริงกับอวิชชามันต่างกันอย่างไร วิมุตติกับสมมุติมันต่างกันอย่างไร ปัญญาก็เริ่มสนใจพิจารณาละที่นี่
อวิชชานี้เองที่ปกปิดจิตแท้ธรรมแท้เรื่อยมา จึงไม่เห็นความอัศจรรย์ในหลักธรรมชาติของจิตอันแท้จริง ผู้ปฏิบัติดำเนินมาถึงขั้นหลุมพรางตาจึงหลงยึดว่าเป็นของอัศจรรย์ไปเสีย จึงมารักสงวนหึงหวงไว้ มาเข้าใจว่าเป็นเราเป็นของเรา จิตเราสว่างไสว จิตเรามีความองอาจกล้าหาญ จิตเราเป็นสุข จิตเรานี้รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ธรรมชาติอันนี้ไม่รู้ตัวเอง ท่านเรียกว่าอวิชชาแท้ พอกลับมารู้อันนี้ๆก็สลายไป พออันนี้สลายไปแล้วก็เหมือนกับเปิดฝาหม้อขึ้นมานั่นเอง มีอะไรอยู่ในนั้นก็เห็นหมดอวิชชานี้เท่านั้นปิดไว้
การปฏิบัติในศาสนานี้ถ้าปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์จริงๆ มันก็มีเคล็ดลับอยู่สองคือ ระหว่างอุปาทานของกายกับจิต กายกับจิตเป็นอุปาทานต่อกัน จะแยกจากกันนี้เป็นเคล็ดลับอันหนึ่งกับมาเคล็ดลับที่สองอันเป็นจุดสุดท้ายแห่งความสามารถของกระผมที่เป็นขึ้นมา นอกจากนั้นก็ไม่มีอะไรที่น่าสงสัย
กระผมเคยไปบำเพ็ญอยู่ที่วัดดอย ปัญหาเรื่องอวิชชานี้มันทำให้งงอยู่นานเหมือนกัน คือขณะนั้นจิตมันสว่างจนตัวเองเกิดความอัศจรรย์ในความสว่างไสว ทุกสิ่งทุกอย่างที่จะเป็นเหตุให้อัศจรรย์นั้นรู้สึกมารวมตัวอยู่ในจิตนั้นหมด จนเกิดความอัศจรรย์ในตัวเองว่า แหม จิตของเราทำไมถึงได้อัศจรรย์ถึงขนาดนี้นะ มองดูกายทั้งกายไม่เห็น มันเป็นอากาศธาตุเสียหมด ว่างไปหมด จิตมีความสว่างไสวอย่างเต็มที่
แต่เดชะนะ พอเวลาเกิดความอัศจรรย์ตัวเองขึ้นมา ถึงกับอุทานในใจในเวลานั้น ด้วยความหลงไม่รู้สึกตัว ถ้าพูดถึงธรรมะส่วนละเอียดมันเป็นความหลงอันหนึ่ง มันอัศจรรย์ตัวเอง ทำไมจิตของเราถึงได้เป็นขนาดนี้ พอว่าอย่างนั้นก็มีธรรมะบันดาลขึ้นมา อันนี้ก็ไม่คาดไม่ฝันเหมือนกันผุดขึ้นมาเหมือนมีคนพูดอยู่ภายในจิตนี้ แต่ไม่ใช่คนพูด ผุดขึ้นมาเป็นบทๆว่า ” ถ้ามีจุดมีต่อมแห่งผู้รู้อยู่ที่ไหน นั้นแลคือตัวภพ ” ว่าอย่างนั้น
ธรรมชาตินั้นมันเป็นจุดจริงๆจุดของความรู้ จุดของความสว่างนั้นมันมีจุดจริงๆดังอุบายผุดขึ้นมาบอก ทีนี้เราก็ไม่ได้คำนึงว่าอะไรมันเป็นจุด เลยงงไปเสียอีก แทนที่จะได้อุบายจากคำเตือนที่ผุดขึ้นนั้น เลยเอาปัญหานั้นมาขบคิด จนกว่าได้มาพิจารณาถึงตอนนี้ ตอนที่ว่าจุดนี้ ปัญหาอันนี้จึงยุติลงไป ถึงได้ย้อนกลับคืนไป รู้เรื่องที่ว่าถ้ามีจุดมีต่อมแห่งผู้รู้อยู่ที่ไหน นั้นแลคือตัวภพได้อย่างชัดเจน ถึงได้ความ อ๋อ คำว่าจุดว่าต่อมหมายถึงอันนี้เอง แต่ก่อนไม่เข้าใจ มันเป็นจุดจริงๆจะอัศจรรย์แค่ไหนมันก็เป็นจุดของความอัศจรรย์ มันเป็นจุดให้รู้อยู่ พออันนั้นสลายลงไปแล้วมันไม่มีจุด เพราะจุดมันเป็นสมมติทั้งนั้น จะละเอียดแค่ไหนมันก็เป็นสมมติ
ถึงได้เทศน์สอนหมู่เพื่อนเสมอว่า เมื่อเข้าไปถึงจุดนั้นแล้วอย่าไปสงวนอะไรทั้งนั้น ให้พิจารณาลงไป แม้ที่สุดจิตจะฉิบหายลงไปด้วยการพิจารณาจริงๆ ก็ขอให้ฉิบหายไป อะไรจะรับรู้ว่าบริสุทธิ์ก็ให้รับรู้ไป หรือจะฉิบหายไปหมดไม่มีอะไร จะรับรู้ว่าบริสุทธิ์ก็ขอให้รู้กัน อย่าได้สงวนอะไรไว้เลย ก็เพื่อกันไว้ว่ากลัวจะมาสงวนอันนี้เอง ถ้าหากไม่เตือนถึงขนาดนั้นแล้วอย่างไรก็ต้องติดขอให้รู้เท่านั้น อะไรๆจะดับไปก็ดับไปเถิด แม้ที่สุดจิตดวงนี้จะดับไปด้วยอำนาจของการพิจารณาก็ขอให้ดับไป ไม่ต้องสงวนเอาไว้ เวลาพิจารณาต้องลงถึงขนาดนั้น
แต่จะหนีความจริงไปไม่พ้น สิ่งใดที่เกิดสิ่งนั้นก็ต้องดับ สิ่งใดที่จริงเป็นหลักธรรมชาติของตัวเองแล้ว ก็จะไม่ดับ คือจิตที่บริสุทธิ์นั้นจะไม่ดับ ทุกสิ่งทุกอย่างดับไป ผู้ที่รู้ว่าดับนั้นไม่ดับอันนั้นดับไป อันนี้ดับไป ผู้ที่รู้ว่าสิ่งนั้นดับไปนั้นไม่ดับ จะว่าเอาไว้ก็ได้ ไม่เอาไว้ก็ได้ มันก็รู้อยู่อย่างนั้น ถ้าเราสงวนนี่ก็เท่ากับเราสงวนอวิชชาไว้นั่นเอง เพราะอวิชชามันละเอียด มันอยู่กับจิตถ้าสงวนจิตก็เท่ากับสงวนอวิชชา เอ้า ถ้าจิตจะฉิบหายไปด้วยกันก็ขอให้ฉิบหายไป อุปมาเหมือนกับฟันก็ฟันลงไปเลย ไม่ให้มีอะไรเหลือ ให้มันม้วนเสื่อลงไปด้วยกันหมด ขนาดนั้นพอดี
หมายเหตุ เป็นพระธรรมเทศนากัณฑ์แรก ที่มีการคัดลอกขึ้นสู่อินเตอร์เน็ต ในปี พ.ศ. ๒๕๔๑ ใน web site “ธรรมะ จากพระป่า” ซึ่งสร้างใน geocities.com ก่อนที่ yahoo.com จะเข้าซื้อกิจการไป ซึ่งในปัจจุบัน web site ดังกล่าวได้เปลี่ยน url ไปเป็น http://reocities.com/Tokyo/gulf/4126/preface.html แล้ว (ใช้รหัสตัวหนังสือเป็น TIS-620) ทาง Dhammada.net ขอนำมาลงเพื่อระลึกถึงคุณอันมหาศาลที่หลวงตาท่านได้ทำไว้ให้กับพระพุทธศาสนา และกับพุทธศาสนิกชน
เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓
ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่
สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่
ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่
คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่