Dhammada on Android
available now on
Google Play Store
คำชี้แจง
    Dhammada.net เป็นเว็บไซต์ของกลุ่มลูกศิษย์ที่ภาวนาตามแนวดูจิตได้จัดทำกันเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทาง สวนสันติธรรม หรือ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช แต่อย่างใด     จึงขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันกับข้อเท็จจริง     ขอแสดงความนับถือ     Dhammada.net

หมวดหมู่

เรื่องล่าสุด

Latest Clips

คลังเก็บ

ทศชาติชาดก : ชาติที่ 7 พระจันทกุมาร (ขันติบารมี)

“คนจะข้ามภพข้ามชาติได้ บารมีต้องเต็ม บารมีต้องครบ บารมีมีสิบตัว”

(หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช)

ในครั้งโบราณ เมืองพารานสี มีชื่อว่า บุปผวดี มีกษัตริย์ ทรงพระนามว่า พระเจ้าเอกราชา พระราชบุตรองค์ใหญ่ พระนามว่า จันทกุมาร ดำรงตำแหน่งเป็นอุปราช และ พราหมณ์ชื่อกัณฑหาล เป็นปุโรหิตในราชสำนัก กัณฑหาล มีหน้าที่ตัดสินคดีความอีกตำแหน่ง แต่กัณฑหาลเป็นคน ไม่ยุติธรรม ไม่ซื่อสัตย์ มักจะรับสินบนจากคู่ความอยู่เสมอ ข้างไหนให้สินบนมาก ก็จะตัดสินความเข้าข้างนั้น

จนกระทั่งวันหนึ่ง ผู้ที่ได้รับความอยุติธรรมร้องโพนทนา โทษของกัณฑหาล ได้ยินไปถึงพระจันทกุมาร จึงตรัสถาม ว่าเกิดเรื่องอะไร บุคคลนั้นจึงทูลว่า “กัณฑหาลปุโรหิต มิได้เป็นผู้ทรงความยุติธรรม หากแต่รับสินบน ก่อความ อยุติธรรมให้เกิดขึ้นเนืองๆ”

พระจันทกุมารตรัสว่า“อย่า กลัวไปเลย เราจะเป็นผู้ให้ ความยุติธรรมแก่เจ้า” แล้ว พระจันทกุมารก็ทรงพิจารณาความอีกครั้ง ตัดสินไปโดย ยุติธรรม เป็นที่พึงพอใจแก่ประชาชนทั้งหลาย ฝูงชนจึง แซ่ซ้องสดุดีความยุติธรรมของพระจันทกุมาร พระเจ้าเอกราชาทรงได้ยินเสียงแซ่ซ้อง จึงตรัสถาม ครั้นทรงทราบจึงมีโองการว่า “ต่อไปนี้ ให้จันทกุมาร แต่ผู้เดียวทำหน้าที่ตัดสินคดีความทั้งปวงให้ยุติธรรม” กัณฑหาลเมื่อถูกถอดออกจากตำแหน่งหน้าที่ ก็เกิด ความเคียดแค้นพระจันทกุมาร ว่าทำให้ตนขาดผล ประโยชน์ และได้รับความอับอายขายหน้าประชาชน จึงผูกใจพยาบาทแต่นั้นมา

อยู่มาวันหนึ่ง พระเจ้าเอกราช ทรงฝันเห็นสวรรค์ ชั้นดาวดึงส์ เห็นความผาสุกสวยงาม ความรื่นรมย์ ต่างๆ นานา ในสรวงสวรรค์ เมื่อตื่นจากฝัน พระองค์ ยังทรงอาลัยอาวรณ์อยู่ และปรารถนาจะได้ไปสู่ ดินแดนอันเป็นสุขนั้น จึงตรัสถามบรรดาผู้ที่พระองค์ คิดว่าจะสามารถบอกทางไปสู่เทวโลกให้แก่พระองค์ได้

กัณฑหาลได้โอกาส จึงกราบทูลว่า “ข้าแต่พระราชา ผู้ที่ประสงค์จะไปสู่สวรรค์ มีอยู่หนทางเดียวเท่านั้นคือ ทำบุญให้ทาน และฆ่าบุคคลที่ไม่ควรฆ่า”

พระราชาตรัส ถามว่า “ฆ่าบุคคลที่ไม่ควรฆ่า หมายความว่าอย่างไร”

กัณฑหาลทูลตอบว่า “พระองค์จะต้องการกระทำการ บูชายัญด้วยพระราชบุตร พระมเหสี ประชาชนหญิงชาย เศรษฐี และช้างแก้ว ม้าแก้ว จำนวนอย่างละสี่ จึงจะไป สู่สวรรค์ได้”

ด้วยความที่อยากจะไปเสวยสุขในสวรรค์ พระเจ้าเอกราชาก็ทรงเห็นดีที่จะทำบูชายัญตามที่กัณฑหาล ผู้มี จิตริษยาพยาบาททูลแนะ พระองค์ทรงระบุชื่อ พระราช บุตรพระมเหสี เศรษฐี ประชาชน และช้างแก้ว ม้าแก้ว ที่จะ บูชายัญด้วยพระองค์เอง อันที่จริงกัณฑหาลประสงค์ร้าย กับพระจันทกุมารองค์เดียวเท่านั้น แต่ครั้นจะให้บูชายัญ พระจันทกุมารแต่ลำพัง ก็เกรงว่าผู้คนจะสงสัย จึงต้องให้ บูชายัญเป็นจำนวนสี่ พระจันทกุมารผู้เป็นโอรสองค์ใหญ่ ก็ทรงอยู่ในจำนวนชื่อที่พระเจ้าเอกราชาโปรดให้นำมาทำ พิธีด้วย จึงสมเจตนาของกัณฑหาล เมื่อช้าง ม้า และบุคคล ที่ถูกระบุชื่อ ถูกนำมาเตรียมเข้าพิธี ก็เกิดความโกลาหล วุ่นวาย มีแต่เสียงผู้คน ร้องไห้คร่ำครวญไปทั่ว

พระจันทกุมารนั้น เมื่อราชบุรุษไปกราบทูลก็ทรงถามว่า ใครเป็นผู้ทูลให้พระราชาประกอบพิธีบูชายัญ ราชบุรุษ ทูลว่ากัณฑหาล ก็ทรงทราบว่าเป็นเพราะความ ริษยาพยาบาทที่ กัณฑหาลมีต่อพระองค์เป็นสาเหตุ ในเวลาที่ราชบุรุษไปจับเศรษฐีทั้งสี่มาเข้าพิธีนั้น บรรดาญาติพี่น้องต่างพยายามทูลวิงวอนขอชีวิตต่อ พระราชา แต่พระราชาก็ไม่ทรงยินยอม เพราะมี พระทัยลุ่มหลงในภาพเทวโลก และเชื่องมงายในสิ่งที่ กัณฑหาลทูล ต่อมาเมื่อพระบิดาพระมารดาของ พระราชาเอง ทรงทราบก็รีบเสด็จมาทรงห้ามปรามว่า “ลูกเอ๋ยทางไปสวรรค์ที่ต้องฆ่าบุตรภรรยา ต้องเบียด เบียนผู้อื่นนั้น จะเป็นไปได้อย่างไร การให้ทาาน การ งดเว้นการเบียดเบียนต่างหาก เป็นทางสู่สวรรค์”

พระราชาก็มิได้ทรงฟังคำห้ามปรามของพระบิดา พระมารดา พระจันทกุมารทรงเห็นว่าเป็นเพราะ พระองค์เองที่ไปขัดขวางหนทางของคนพาลคือ กัณฑหาล ทำให้เกิดเหตุใหญ่ จึงทรงอ้อนวอนพระบิดา ว่า “ขอพระองค์โปรดประทานชีวิต ข้าพเจ้าทั้งปวงเถิด แม้จะจองจำเอาไว้ก็ยังได้ใช้ประโยชน์ จะให้เป็น ทาส เลี้ยงช้าง เลี้ยงม้า หรือขับไล่ไปเสียจากเมืองก็ย่อมได้ ขอประทานชีวิตไว้เถิด”

พระราชาได้ฟังพระราชบุตร ก็ทรงสังเวชพระทัยจน น้ำพระเนตรไหล ตรัสให้ปล่อย พระราชบุตร พระมเหสี และทุกสิ่งทุกคนที่จับมาทำพิธี ครั้นกัณฑหาลทราบ เข้าขณะเตรียมพิธีก็รีบมาทูบคัดค้าน และ ล่อลวงให้ พระราชาคล้อยตามด้วยความหลงใหลในสวรรค์อีก พระราชาก็ทรงเห็นดีไปตามที่กัณฑหาล ชักจูง

พระจันทกุมารจึงทูลพระบิดาว่า “เมื่อข้าพเจ้ายังเล็กๆ อยู่ พระองค์โปรดให้พี่เลี้ยง นางนม ทะนุ บำรุงรักษา ครั้นโตขึ้นจะกลับมาฆ่าเสียทำไม ข้าพเจ้าย่อมกระทำ ประโยชน์แก่พระองค์ได้ พระองค์จะ ให้ฆ่าลูกเสีย แล้วจะอยู่กับคนอื่นที่มิใช่ลูกจะเป็นไปได้อย่างไร ในที่สุดเขาก็คงจะฆ่าพระองค์เสียด้วย พราหมณ์ที่สังหาร ราชตระกูล จะถือว่าเป็นผู้มีคุณประโยชน์ได้อย่างไร พราหมณ์นั้นคือผู้เนรคุณ” พระราชาได้ฟัง ก็สลดพระทัย สั่งให้ปล่อยทุกชีวิต ไปอีกครั้ง

แต่ครั้นพราหมณ์กัณฑหาลเข้ามากราบทูล ก็ทรงเชื่ออีก พระจันทกุมารก็กราบทูลพระบิดาว่า “ข้าแต่พระบิดา หากคนเราจะไปสวรรค์ ได้เพราะ การกระทำบูชายัญ เหตุใดพราหมณ์จึงมิทำบูชายัญ บุตรภรรยาของตนเองเล่า เหตุใดจึงได้ชักชวนให้คน อื่นกระทำ ในเมื่อพราหมณ์ก็ได้ทูลว่า คนผู้ใดทำ บูชายัญเองก็ดี คนผู้นั้นย่อมไปสู่สวรรค์ เช่นนั้นควรให้ พราหมณ์กระทำบูชายัญด้วยบุตรภรรยาตนเองเถิด” ไม่ว่าพระจันทกุมารจะกราบทูลอย่างไร พระราชา ก็ไม่ทรงฟัง

บุคคลอื่นๆอีกเป็นจำนวนมาก รวมทั้ง พระวสุลกุมารผู้เป็นราชบุตรของพระจันทกุมาร มาทูลอ้อนวอน พระเจ้าเอกราชาก็ไม่ทรงยินยอมฟัง ฝ่ายกัณฑหาลเกรงว่าจะมีคนมาทูลชักจูงพระราชาอีก จึงสั่งให้ปิดประตูวัง และทูลเชิญพระราชาให้ไป อยู่ในที่อันคนอื่นเข้าไปเฝ้ามิได้ เมื่อถึงเวลาทำพิธี มีแต่เสียงคร่ำครวญของราชตระกูล และฝูงชนที่ญาติ พี่น้องถูกนำมาเข้าพิธี ในที่สุด นางจันทาเทวีผู้เป็นชายา ของพระจันกุมาร ซึ่งได้พยายามทูลอ้อนวอนพระราชา สักเท่าไรก็ไม่เป็นผล ก็ได้ ติดตามพระจันทกุมารไป สู่หลุมยัญด้วย เมื่อกัณฑหาลนำถาดทองมาวางรอไว้ และเตรียมพระขรรค์จะบั่นคอพระจันทกุมาร

พระนางจันทาเทวีก็เสด็จไปสู่หลุมยัญ ประนมหัตถ์บูชา และกล่าวสัจจวาจาขึ้นว่า “กัณฑหาลพราหมณ์เป็น คนชั่วเป็นผู้มีปัญญาทราม มีจิตมุ่งร้ายพยาบาท ด้วยเหตุแห่งวาจาสัตย์นี้ เทวดา ยักษ์ และสัตว์ทั้งปวง จงช่วยเหลือเรา ผู้ไร้ที่พึ่ง ผู้แสวงหาที่พึ่ง ขอให้เราได้อยู่ร่วมกับสามีด้วยความสวัสดีเถิด ขอให้พระเป็นเจ้า ทั้งหลายจงช่วยสามีเราให้เป็นผู้ที่ศัตรูทำร้ายมิได้เถิด” เมื่อพระนางกระทำสัจจกริยา พระอินทร์ได้สดับ ถ้อยคำนั้น จึงเสด็จมาจากเทวโลก ทรงถือค้อนเหล็กมี ไฟลุกโชติช่วง ตรงมายังพระราชา กล่าวว่า “อย่าให้เรา ถึงกับต้องใช้ค้อนนี้ประหารเศียรของท่านเลย มีใครที่ ไหนบ้าง ที่ฆ่าบุตร ภรรยา และเศรษฐีคหบดีผู้ไม่มีความ ผิดเพื่อที่ตนเองจะได้ไปสวรรค์ จงปล่อยบุคคลผู้ปราศ จากความผิดทั้งปวงเสียเดี๋ยวนี้”

พระราชาตกพระทัยสุดขีด สั่งให้คนปลดปล่อยคน ทั้งหมดจากเครื่องจองจำ ในทันใดนั้นประชาชนที่รุม ล้อมอยู่ก็ช่วยกันเอาก้อนหิน ก้อนดินและท่อนไม้ เข้าขว้างปาทุบตีกัณฑหาลพราหมณ์จนสิ้นชีวิตอยู่ ณ ที่นั้น แล้วหันมาจะฆ่าพระราชา แต่พระจันทกุมารตรงเข้ากอด พระบิดาไว้ ผู้คนทั้งหลายก็ไม่กล้าทำร้าย ด้วยเกรง พระจันทกุมารจะพลอยบาดเจ็บ ในที่สุดจึงประกาศว่า “เราจะไว้ชีวิตแก่พระราชาผู้โฉดเขลา แต่จะให้ครองแผ่นดิน มิได้” เราถอดพระยศพระราชาเสียให้เป็นคนจัณฑาล แล้วไล่ออกจากพระนครไป

จากนั้นมหาชนก็กระทำพิธีอภิเษกพระจันทกุมารขึ้น เป็นพระราชา ทรงปกครองบ้านเมืองด้วยความยุติธรรม เมื่องทรงทราบว่าพระบิดาตกระกำลำบากอยู่นอกเมือง ก็ทรงให้ความช่วยเหลือพอที่พระบิดาจะดำรงชีพอยู่ได้ พระจันทกุมารปกครองบ้านเมืองให้ร่มเย็นเป็นสุข ตลอดมาจนถึงที่สุดแห่งพระชนม์ชีพ ก็ได้เสด็จไปเสวยสุข ในเทวโลก ด้วยเหตุที่ทรงเป็น ผู้ปกครองที่ดี ที่ทรงไว้ซึ่ง ความยุติธรรม ไม่หลงเชื่อ วาจาคนโดยง่าย และ ปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความซื่อตรง

คติธรรม : บำเพ็ญขันติบารมี
เรื่องอาฆาตจองเวรนั้น ย่อมให้ทุกข์กลับคืนแก่ตนในที่สุด และความเขลาหลงในทรัพย์และสุขของผู้อื่นก็ย่อมให้ผลร้ายแก่ตัวได้ในไม่ช้าเช่นกัน


เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

ทศชาติชาดก : ชาติที่ 6 พระภูริทัต (ศีลบารมี)

“คนจะข้ามภพข้ามชาติได้ บารมีต้องเต็ม บารมีต้องครบ บารมีมีสิบตัว”

(หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช)


พระราชาพระองค์หนึ่ง พระนามว่า “พรหมทัต” ครอง ราชสมบัติอยู่ที่เมืองพาราณสี พระโอรสทรงดำรง ตำแหน่งอุปราช อยู่ต่อมาพระราชาทรงระแวงว่า พระโอรสจะคิดขบถ แย่งราชสมบัติ จึงมีโองการให้ พระโอรสออกไปอยู่ให้ไกลเสียจากเมือง จนกว่าพระราชา จะสิ้นพระชนม์จึงให้กลับมารับราชสมบัติ พระโอรสก็ปฏิบัติ ตามบัญชา เสด็จไปบวชอยู่ที่บริเวณแม่น้ำชื่อว่า “ยุมนา”

มีนางนาคตนหนึ่งสามีตาย ต้องอยู่แต่เพียงลำพัง เกิดความ ว้าเหว่จนไม่อาจทนอยู่ในนาคพิภพได้ จึงขึ้น มาจากน้ำ ท่องเที่ยวไปตามริมฝั่งมาจนถึงศาลาที่พักของพระราชบุตร นางนาคประสงค์จะลองใจดูว่า นักบวชผู้พำนักอยู่ในศาลานี้ จะเป็นผู้ที่บวชด้วยใจเลื่อมใสอย่างแท้จริงหรือไม่ จึงจัดประดับ ประดาที่นอนในศาลานั้นด้วยดอกไม้หอม และของทิพย์จาก เมืองนาค ครั้นพระราชบุตรกลับมา เห็นที่นอนจัดงดงาม น่าสบายก็ยินดีประทับนอนด้วยความสุขสบายตลอดคืน รุ่งเช้าก็ออกจากศาลาไป นางนาคก็แอบดู พบว่าที่นอน มีรอยคนนอน จึงรู้ว่านักบวชผู้นี้มิได้บวชด้วยความศรัธรา เต็มเปี่ยม ยังคงยินดีในของสวยงาม ตามวิสัยคนมีกิเลส จึงจัดเตรียมที่นอนไว้ดังเดิมอีก ในวันที่สาม พระราชบุตรมีความสงสัยว่า ใครเป็นผู้จัด ที่นอนอันสวยงามไว้ จึงไม่เสด็จออกไปป่า แต่แอบดูอยู่บริเวณ ศาลานั่นเอง เมื่อนางนาคเข้ามาตกแต่งที่นอน

พระราชบุตร จึงไต่ถามนางว่า นางเป็นใครมาจากไหน นางนาคตอบว่า นางเป็นนาคชื่อมาณวิกา นางว้าเหว่าที่สามีตาย จึงออกมา ท่องเที่ยวไป พระราชบุตรมีความยินดีจึงบอกแก่นางว่า หากนางพึงพอใจจะอยู่ที่นี่ พระราชบุตรก็จะอยู่ด้วยกับนาง นางนาคมาณวิกาก็ยินดี ทั้งสองจึงอยู่ด้วยกันฉันสามีภรรยา จนนางนาคประสูติโอรสองค์หนึ่ง ชื่อว่า “สาครพรหมทัต” ต่อมาก็ประสูติพระธิดาชื่อว่า “สมุทรชา” ครั้นเมื่อพระเจ้าพรหมทัตสวรรคต บรรดาเสนาอำมาตย์ ทั้งหลายไม่มีผู้ใดทราบว่าพระราชบุตรประทับ อยู่ ณ ที่ใด บังเอิญพรานป่าผู้หนึ่งเข้ามาแจ้งข่าวว่า ตนได้เคยเที่ยวไปแถบ แม่น้ำยมุนา และได้พบพระราชบุตรประทับอยู่บริเวณนั้นอำมาตย์ จึงได้จัดกระบวนไปเชิญเสด็จพระราชบุตรกลับมาครองเมือง พระราชบุตรทรงถามนางนาคมาณวิกาว่า จะไปอยู่ เมืองพาราณสีด้วยกันหรือไม่

นางนาคทูลว่า “วิสัยนาค นั้นโกรธง่ายและมีฤทธิ์ร้าย หากหม่อมฉันเข้าไปอยู่ในวัง แล้วมีผู้ใดทำให้โกรธ เพียงหม่อมฉัน ถลึงตามอง ผู้นั้นก็จะ มอดไหม้ไป พระองค์พาโอรสธิดากลับไปเถิด ส่วนหม่อมฉัน ขอทูลลากลับไปอยู่เมืองนาค ตามเดิม”

พระราชบุตรจึงพา โอรสธิดากลับไปพาราณสีอภิเษกเป็นพระราชา อยู่มาวันหนึ่ง ขณะที่โอรสธิดาเล่นน้ำอยู่ในสระ เกิดตกใจกลัวเต่า ตัวหนึ่ง พระบิดาจึงให้คนจับเต่านั้นไป ทิ้งที่วันน้ำวนในแม่น้ำ ยมุนา เต่าจมลงไปถึงเมืองนาค เมื่อถูกพวกนาคจับไว้

เต่าก็ออก อุบาย บอกแก่ นาคว่า “เราเป็นทูตของพระราชาพาราณสี พระองค์ ให้เรามาเฝ้าท้าวธตรฐ พระราชทานพระธิดาให้เป็นพระชายา ของท้าวธตรฐ เมืองพาราณสีกับนาคพิภพจะได้เป็นไมตรีกัน” ท้าวธตรฐทรงทราบก็ยินดี สั่งให้นาค 4 ตนเป็นทูตนำ บรรณาการไปถวายพระราชาพาราณสีและขอรับตัว พระธิดามาเมืองนาค พระราชาทรงแปลกพระทัย จึงตรัสกับ นาคว่า “มนุษย์กับนาคนั้นต่างเผ่าพันธุ์กัน จะแต่งงานกัน นั้นย่อมเป็นไปไม่ได้”

เหล่านาคได้ฟังดังนั้น จึงกลับไปกราบทูลท้าวธตรฐว่า พระราชาพาราณสีทรงดูหมิ่นว่านาคเป็นเผ่าพันธุ์งู ไม่คู่ควรกับพระธิดา ท้าวธตรฐทรงพิโรธ ตรัสสั่งให้ฝูงนาค ขึ้นไปเมืองมนุษย์ ไปเที่ยวแผ่พังพานแสดง อิทธิฤทธิ์อำนาจ ตามที่ต่างๆ แต่มิให้ทำอันตรายชาวเมือง ชาวเมืองพากันเกรงกบัวนาคจนไม่เป็นอันทำมาหากิน ในที่สุดพระราชาก็จำพระทัยส่ง นางสมุทรชา ให้ไปเป็นชายา ท้าวธตรฐ นางสมุทรชาไปอยู่เมืองนาคโดยไม่รู้ว่าเป็นเมืองนาค เพราะท้าวธตรฐให้เหล่า บริวารแปลงกายเป็นมนุษย์ทั้งหมด นางอยู่นาคพิภพด้วยความสุขสบาย จนมีโอรส 4 องค์ ชื่อว่า สุทัศนะ ทัตตะ สุโภคะ และ อริฏฐะ

อยู่มาวันหนึ่ง อริฏฐะได้ฟังนาคเพื่อนเล่นบอกว่า พระมารดาของตนไม่ใช่นาค จึงทดลองดูโดยเนรมิต กายกลับเป็นงู ขณะที่กำลังกินนมแม่อยู่ นางสมุทรชาเห็นลูก กลายเป็นงูก็ตกพระทัย ปัดอริฏฐะตกจากตัก เล็บของนาง ไปข่วนเอานัยน์ตาอรฏฐะบอกไปข้างหนึ่ง ตั้งแต่นั้นมา นางจึงรู้ว่าได้ลงมาอยู่เมืองนาค ครั้นเมื่อพระโอรสทั้ง 4 เติบโตขึ้น ท้าวธตรฐก็ทรงแบ่งสมบัติ ให้ครอบครองคนละเขต

ทัตตะผู้เป็นโอรส องค์ที่สองนั้น มาเฝ้าพระบิดามารดาอยู่เป็นประจำ ทัตตะเป็นผู้มีปัญญา เฉลียวฉลาดได้ช่วยพระบิดาแก้ไข ปัญหาต่างๆอยู่เป็นนิตย์ แม้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเทวดา ทัตตะก็แก้ไขได้จึงได้รับการยกย่อง สรรเสริญว่า เป็นผู้ปรีชาสามารถ ได้รับขนานนามว่า ภูริทัตต์ คือ ทัตตะผู้เรืองปัญญา ภูริทัตต์ได้เคยไปเห็นเทวโลก ว่าเป็นที่น่ารื่นรมย์จึงตั้งใจว่า จะรักษาอุโบสถศีลเพื่อจะได้ไปเกิดใน เทวโลก จึงทูล ขออนุญาตพระบิดา ก็ได้รับอนุญาต แต่ท้าวธตรฐสั่งว่า มิให้ออกไปรักษาอุโบสถนอก เขตเมืองนาค เพราะอาจ เป็นอันตราย

ครั้นเมื่อรักษาศีลอยู่ในเมืองนาค ภูริทัตต์ รำคาญว่าพวกฝูงนาคบริวาร ได้ห้อมล้อม ปรนนิบัติเฉพาะในตอนเช้าเท่านั้น ตั้งแต่นั้นมา ภูริทัตต์ก็ขึ้นไปรักษาอุโบสถศีลอยู่ที่จอมปลวก ใกล้ต้นไทรริมแม่น้ำยมุนา ภูริทัตต์ตั้งจิต อธิษฐานว่า แม้ผู้ใดจะต้องการหนัง เอ็น กระดูก เลือดเนื้อของตน ก็จะยอมบริจาคให้ ขอเพียงให้ได้ รักษาศีลให้บริสุทธิ์ ครั้งนั้นมีนายพรานชื่อ เนสาท ออกเที่ยวล่าสัตว์ เผอิญได้ พบภูริทัตต์เข้า สอบถามรู้ว่าเป็นโอรสของ ราชาแห่งนาค

ภูริทัตต์เห็นว่าเนสาทเป็นพรานมีใจบาปหยาบช้า อาจเป็น อันตรายแก่ตน จึงบอกแก่ พรานเนสาทว่า “เราจะพาท่าน กับลูกชาย ไปอยู่เมืองนาคของเรา ท่านทั้งสองจะมีความสุข สบายในเมือง นาคนั้น”

พรานเนสาทลงไปอยู่เมืองนาค ได้ไม่นาน เกิดคิดถึงเมืองมนุษย์จึงปรารภกับภูริทัตต์ว่า “ข้าพเจ้าอยากจะกลับไปเยี่ยมญาติพี่น้อง แล้วจะออกบวช รักษาศีลอย่างท่านบ้าง” ภูริทัตต์รู้ด้วยปัญญาว่าพรานจะเป็นอันตรายแก่ตน แต่ก็ไม่ทราบจะทำอย่างไรดี จึงต้องพาพรานกลับไป เมืองมนุษย์ พรานพ่อลูกก็ออกล่าสัตว์ต่อไปตามเดิม

มีพญาครุฑตนหนึ่งอาศัยอยู่บนต้นงิ้ว ทางมหาสมุทรด้านใต้ วันหนึ่งขณะออกไปจับนาคมากิน นาคเอาหางพันกิ่งไทรที่อยู่ ท้ายศาลาพระฤาษี จนต้นไทรถอนรากติดมาด้วย ครั้นครุฑ ฉีกท้องนาคกินมันเหลว แล้วทิ้งร่างนาคลงไป จึงเห็นว่า มีต้นไทรติดมาด้วย ครุฑรู้สึกว่าได้ทำผิด คือถอนเอา ต้นไทรที่พระฤาษี เคยอาศัยร่มเงา จึงแปลงกายเป็นหนุ่ม น้อยไปถามพระฤาษีว่า เมื่อต้นไทรถูกถอนเช่นนี้ กรรมจะตก อยู่กับใคร

พระฤาษีตอบว่า “ทั้งครุฑและนาคต่างก็ไม่มี เจตนาจะถอนต้นไทรนั้น กรรมจึงไม่มีแก่ผู้ใดทั้งสิ้น” ครุฑดีใจจึงบอกกับพระฤาษีว่าตนคือครุฑ เมื่อพระฤาษี ช่วยแก้ปัญหาให้ตนสบายใจขึ้นก็จะสอนมนต์ชื่อ อาลัมพายน์ อันเป็นมนต์สำหรับครุฑใช้จับนาค ให้แก่พระฤาษี อยู่มาวันหนึ่ง มีพราหมณ์ซึ่งเป็นหนี้ชาวเมืองมากมาย จนคิด ฆ่าตัวตาย จึงเข้าไปในป่า เผอิญได้พบพระฤาษี จึงเปลี่ยนใจ อยู่ปรนนิบัติพระฤาษีจนพระฤาษีพอใจ สอนมนต์อาลัมพายน์ ให้แก่พราหมณ์นั้น พราหมณ์เห็นทางจะเลี้ยงตนได้ จึงลา พระฤาษีไป เดินสาธยายมนต์ไปด้วย นาคที่ขึ้นมาเล่นน้ำ ได้ยินมนต์ก็ตกใจ นึกว่าครุฑมา ก็พากันหนีลงน้ำไปหมด ลืมดวงแก้วสารพักนึกเอาไว้บนฝั่ง พราหมณ์หยิบ ดวงแก้วนั้นไป

ฝ่ายพรานเนสาทก็เที่ยวล่าสัตว์อยู่ เห็นพราหมณ์เดินถือ ดวงแก้วมา จำได้ว่าเหมือนดวงแก้วที่ภูริทัตต์ เคยให้ดู จึงออกปากขอ และบอกแก่พราหมณ์ว่า หากพราหมณ์ ต้องการอะไรก็จะหามาแลกเปลี่ยน พราหมณ์บอกว่าต้องการ รู้ที่อยู่ของนาค เพราะตนมีมนต์จับนาค พรานเนสาทจึงพา ไปบริเวณที่รู้ว่า ภูริทัตต์เคยรักษาศีลอยู่ เพราะความโลภ อยากได้ดวงแก้ว โสมทัตผู้เป็นลูกชาย เกิดความละอายใจที่บิดาไม่ซื่อสัตย์ คิดทำร้ายมิตร คือภูริทัตต์ จึงหลบหนีไป ระหว่างทาง เมื่อไปถึงที่ภูริทัตต์รักษาศีลอยู่ ภูริทัตต์ลืมตาขึ้นดูก็รู้ว่า พราหมณ์คิดทำร้ายตน แต่หากจะตอบโต้ ถ้าพราหมณ์เป็น อันตรายไป ศีลของตนก็จะขาด ภูริทัตต์ปรารถนาจะรักษาศีล ให้บริสุทธิ์จึงหลับตาเสีย ขดกายแน่นิ่งไม่เคลื่อนไหว พราหมณ์ก็ร่ายมนต์อาลัมพายน์ เข้าไปจับภูริทัตต์ไว้กด ศีรษะอ้า ปากออก เขย่าให้สำรอกอาหารออกมา และทำร้าย จนภูริทัตต์เจ็บปวดแทบสิ้นชีวิต แต่ก็มิได้โต้ตอบ

พราหมณ์จับ ภูริทัตต์ใส่ย่ามตาข่าย แล้วนำไปออกแสดงให้ประชาชนดูเพื่อหาเงิน พราหมณ์บังคับให้ภูริทัตต์แสดงฤทธิ์ต่างๆ ให้เนรมิตตัวให้ ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง ให้ขด ให้คลาย แผ่พังพาน ให้ทำสีกายเป็น สีต่างๆ พ่นไฟ พ่นควัน พ่นน้ำ ภูริทัตต์ก็ยอมทุกอย่าง ชาวบ้าน ที่มาดูเวทนาสงสาร จึงให้ ข้าวของเงินทอง พราหมณ์ก็ยิ่งโลภ พาภูริทัตต์ไปเที่ยวแสดง จนมาถึงเมืองพาราณสี จึงกราบทูล พระ ราชาว่าจะให้นาคแสดงฤทธิ์ถวายให้ทอดพระเนตร ขณะนั้นสมุทรชา ผิดสังเกตที่ภูริทัตต์หายไป ไม่มาเฝ้า จึงถามหา ในที่สุดก็ทราบว่า ภูริทัตต์หายไป พี่น้องของภูริทัตต์ จึงทูลว่าจะออกติดตาม สุทัศนะจะไปโลกมนุษย์ สุโภคะไป ป่าหิมพานต์ อริฏฐะไป เทวโลกส่วนนางอัจจิมุข ผู้เป็นน้องสาว ต่างแม่ของภูริทัตต์ของตามไปกับสุทัศนะพี่ชายใหญ่ด้วย เมื่อติดตามมาถึงเมืองพาราณสี สุทัศนะก็ได้ข่าวว่ามีนาค ถูกจับมาแสดงให้คนดู จึงตามไปจนถึงบริเวณที่แสดง ภูริทัตต์เห็นพี่ชาย จึงเลื้อยไข้าไปหาซบหัวร้องไห้อยู่ที่เท้า ของสุทัศนะแล้วจึงเลื้อยกลับไปเข้าที่ขัง ของตนตามเดิม

พราหมณ์จึงบอกกับสุทัศนะว่า “ท่านไม่ต้องกลัว ถึงนาคจะ กัดท่านไม่ช้าก็จะหาย”

สุทัศนะตอบว่า “เราไม่กลัวดอก นาคนี้ไม่มีพิษ ถึงกัดก็ไม่มีอันตราย”

พราหมณ์หาว่าสุทัศนะ ดูหมิ่นว่าตน เอานาคไม่มีพิษมาแสดง จึงเกิดการโต้เถียงกันขึ้น สุทัศนะจึงท้าว่า “เขียดตัวน้อยของเรานั้นยังมีพิษมากกว่า นาคของท่านเสียอีก จะเอามาลองฤทธิ์กันดูก็ได้”

พราหมณ์ กล่าวว่าหากจะให้สู้กัน ก็ต้องมีเดิมพันจึงจะสมควร สุทัศนะจึง ทูลขอพระราชาพาราณสีให้เป็นผู้ประกันให้ตน โดยกล่าวว่า พระราชาจะได้ทอด พระเนตรการต่อสู้ระหว่างนาคกับเขียด เป็นการตอบแทน พระราชาก็ทรงยอมตกลงประกันให้แก่ สุทัศนะ สุทัศนะเรียก นางอัจจิมุข ออกมาจากมวยผมให้คายพิษ ลงบนฝ่ามือ 3 หยด แล้วทูลว่า “พิษของเขียดน้อยนี้แรงนัก เพราะนางเป็นธิดาท้าวธตรฐ ราชาแห่งนาค หากพิษนี้หยดลง บนพื้นดิน พืชพันธุ์ไม้จะตายหมด หากโยนขึ้นไปในอากาศ ฝนจะไม่ตกไป 7 ปี ถ้าหยดลงในน้ำสัตว์น้ำจะตายหมด”

พระราชาไม่ทราบจะทำอย่างไรดี สุทัศนะจึงทูลขอให้ ขุดบ่อ 3 บ่อบ่อแรกใส่ยาพิษ บ่อที่สองใส่โคมัย บ่อที่สามใส่ยาทิพย์ แล้วจึงหยดพิษลงในบ่อแรก ก็เกิดควันลุกจนเป็นเปลวไฟ ลามไปติดบ่อที่สองและสาม จนกระทั่งยาทิพย์ไหม้หมด ไฟจึงดับ พราหมณ์ตัวร้าย ซึ่งยืนอยู่ข้างบ่อ ถูกไอพิษจนผิวหนังลอก กลายเป็นขี้เรื้อน ด่างไปทั้งตัว จึงร้องขึ้นว่า “ข้าพเจ้ากลัวแล้ว ข้าพเจ้าจะ ปล่อยนาคนั้นให้เป็นอิสระ”

ภูริทัตต์ได้ยินดังนั้น ก็เลื้อยออกมาจากที่ขัง เนรมิตกาย เป็นมนุษย์ พระราชาจึงตรัสถามความเป็นมา ภูริทัตต์จึงตอบว่า “ข้าพเจ้าและพี่น้องเป็นโอรสธิดาของท้าวธตรฐราชาแห่งนาคกับ นางสมุทรชา ข้าพเจ้ายอมถูกจับมา ยอมให้พราหมณ์ทำร้ายจน บอบช้ำ เพราะปราถนาจะรักษาศีล บัดนี้ข้าพเจ้าเป็น อิสระแล้ว จึงขอลากลับไปเมืองนาคตามเดิม”

พระราชาทรงดีพระทัยเพราะทราบว่าภูริทัตต์เป็นโอรสของ นางสมุทรชา น้องสาวของพระองค์ที่บิดายกให้แก่ราชานาคไป จึงเล่าให้ภูริทัตต์และพี่น้องทราบว่า เมื่อนางสมุทรชาไปสู่ เมืองนาคแล้ว พระบิดาก็เสียพระทัย จึงสละราชสมบัติ ออกบวช พระองค์จึงได้ครองเมืองพาราณสีต่อมา พระราชาประสงค์จะให้ นางสมุทรชาและบรรดาโอรสได้ไป เฝ้าพระบิดา จะได้ทรงดีพระทัย สุทัศนะทูลพระราชาว่า “ข้าพเจ้าจะ กลับไปทูลให้พระมารดาทราบ ขอให้พระองค์ ไปรออยู่ที่อาศรมของพระอัยกาเถิด ข้าพเจ้าจะพา พระมารดาและพี่น้องตามไปภายหลัง”

ทางฝ่ายพรานเนสาท ผู้ทำร้ายภูริทัตต์เพราะหวังดวงแก้ว สารพัดนึก เมื่อตอนที่พราหมณ์โยนดวงแก้วให้ นั้น รับไม่ทัน ดวงแก้วจึงตกลงบนพื้นและแทรกธรณีกลับไปสู่เมืองนาค พรานเนสาทจึงสูญเสียดวงแก้ว สูญเสียลูกชาย และเสียไมตรี กับภูริทัตต์ เที่ยวซัดเซพเนจรไป ครั้นได้ข่าวว่าพราหมณ์ผู้จับ นาคกลายเป็น โรคเรื้อนเพราะพิษนาค ก็ตกใจกลัว ปราถนา จะล้างบาป จึงไปยังริมน้ำยมุนา ประกาศว่า “ข้าพเจ้าได้ ทำร้ายมิตร คือ ภูริทัตต์ ข้าพเจ้าปราถนาจะล้างบาป” พรานกล่าวประกาศอยู่ หลายครั้ง เผอิญขณะนั้น สุโภคะกำลังเที่ยวตามหาภูริทัตต์อยู่ ได้ยินเข้าจึงโกรธแค้น เอาหางพันขาพราน ลากลงน้ำให้จมแล้ว ลากขึ้นมาบนดินไม่ให้ถึงตาย ทำอยู่เช่นนั้นหลายครั้งพราน จึงร้องถามว่า “นี่ตัวอะไรกัน ทำไมมาทำร้าย เราอยู่เช่นนี้ ทรมาณเราเล่นทำไม”

สุโภคะตอบว่าตนเป็นลูกราชานาค พรานจึงรู้ว่าเป็นน้องภูริทัตต์ ก็อ้อนวอนขอให้ปล่อยและกล่าว แก่สุโภคะว่า “ท่านรู้หรือไม่ เราเป็นพราหมณ์ ท่านไม่ควร ฆ่าพราหมณ์ เพราะพราหมณ์เป็นผู้บูชาไฟ เป็นผู้ทรงเวทย์ และเลี้ยงชีพด้วยการขอ ท่านไม่ควรทำร้ายเรา”

สุโภคะไม่ทราบจะตัดสินใจอย่างไร จึงพาพรานเนสาทลงไป เมืองนาค คิดจะไปขอถามความเห็นจากพี่น้อง เมื่อไปถึงประตู เมืองนาค ก็พบอริฏฐะนั่งรออยู่ อริฏฐะนั้นเป็นผู้เลื่อมใสพราหมณ์ ครั้นรู้ว่าพี่ชายจับพราหมณ์มา จึงกล่าวสรรเสริญคุณของพราหมณ์ สรรเสริญความยิ่งใหญ่แห่งพรหม และกล่าวว่าพราหมณ์เป็นบุคคล ที่ไม่สมควรจะถูกฆ่า ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆ การฆ่าพราหมณ์ซึ่ง เป็นผู้บูชาไฟนั้นจะทำ ให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวง สุโภคะกำลังลังเลใจ ไม่ทราบจะทำอย่างไร พอดีภูริทัตต์กลับมาถึง ได้ยินคำของอริฏฐะจึงคิดว่า อริฏฐะ นั้นเป็นผู้เลื่อมใสพราหมณ์ และการบูชายัญของพราหมณ์ จำเป็นที่จะต้องกล่าววาจาหักล้าง มิให้ผู้ใด คล้อยตามในทางที่ผิด

ภูริทัตต์จึงกล่าวชี้แจงแสดง ความเป็นจริง และในที่สุดได้กล่าวว่า “การบูชาไฟนั้น หาได้เป็น การบูชาสูงสุดไม่ หากเป็นเช่นนั้น คนเผาถ่าน คนเผาศพ ก็สมควรจะได้รับยกย่องว่าเป็นผู้บูชา ไฟยิ่งกว่าพราหมณ์ หากการบูชาไฟเป็นสูงสุด การเผาบ้านเมืองก็คงได้บุญสูงสุด แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ หากการบูชายัญจะเป็นบุญสูงสุดจริง พราหมณ์ก็น่าจะเผาตนเองถวายเป็นเครื่องบูชา แต่พราหมณ์กลับ บูชาด้วยชีวิตของผู้อื่น เหตุใดจึงไม่เผาตนเองเล่า”

อริฏฐะกล่าวว่า “พรหมเป็นผู้ทรงคุณยิ่งใหญ่ เป็นผู้สร้างโลก”

ภูริทัตต์ตอบว่า “หากพรหมสร้างโลกจริง ไฉนจึงสร้างให้โลก มีความทุกข์ ทำไมไม่สร้างให้โลกมีแต่ความสุข ทำไมพรหม ไม่สร้างให้ทุกคนมีความ เท่าเทียมกัน เหตุใดจึงแบ่งคนเป็น ชั้นวรรณะ คนที่อยู่ในวรรณะต่ำ เช่น ศูทร จะไม่มีโอกาสมี ความสุข เท่าเทียมผู้อื่นได้เลย พราหมณ์ต่างหากที่พยายาม ยกย่องวรรณะของตนขึ้นสูง และเหยียดหยามผู้อื่นให้ต่ำกว่า โดยอ้างว่าพราหมณ์เป็นผู้รับใช้พรหม เช่นนี้จะถือว่าพราหมณ์ ทรงคุณยิ่งใหญ่ได้อย่างไร”

ภูริทัตต์กล่าววาจาหักล้างอริฏฐะด้วยความเป็นจริง ซิ่งอริฏฐะ ไม่อาจโต้เถียงได้ ในที่สุดภูริทัตต์จึงสั่งให้ นำพรานเนสาทไปเสีย จากเมืองนาค แต่ไม่ให้ทำอันตรายอย่างใด จากนั้นภูริทัตต์ก็พา พี่น้องและนางสมุทรชาผู้เป็นมารดา กลับไปเมืองมนุษย์ เพื่อไป เฝ้าพระบิดา พระเชษฐาของนางที่รอคอยอยู่แล้ว เมื่อญาติพี่น้องทั้งหลายพากันแยกย้ายกลับบ้านเมือง ภูริทัตต์ขออยู่ที่ศาลากับพระอัยกา บำเพ็ญเพียร รักษาอุโบสถศีล ด้วยความสงบ ดังที่ได้เคยตั้งปณิธานไว้ว่า “ข้าพเจ้าจะมั่นคงในการ รักษาศีลให้บริสุทธิ์ จะไม่ให้ศีลต้องมัวหมอง ไม่ว่าจะต้องเผชิญความ ทุกข์ยากอย่างไร ข้าพเจ้าจะอดทน อดกลั้น ตั้งมั่นอยู่ ในศีลตลอดไป”

คติธรรม : บำเพ็ญศีลบารมี
ความโลภนั้นเป็นสิ่งชั่วร้ายเช่นเดียวกับการเนรคุณ แต่ความอดทนย่อมประเสริฐยิ่งนักแล้ว

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

ทศชาติชาดก : ชาติที่ 5 มโหสถบัณฑิต (ปัญญาบารมี)

ในเมืองมิถิลา มีเศรษฐีผู้หนึ่งมีนามว่า สิริวัฒกะ ภรรยาชื่อ นางสุมนาเทวี นางสุมนาเทวีมีบุตรชายคนหนึ่ง ซึ่งเมื่อคลอด ออกมานั้นมีแท่งโอสถอยู่ในมือ เศรษฐีสิริวัฒกะเคยเป็นโรค ปวดศีรษะมานาน จึงเอาแท่งยานั้นฝนที่หินบดยา แล้วนำมา ทาหน้าผาก อาการปวดศีรษะก็หายขาด ครั้นผู้อื่นที่มีโรคภัย ไข้เจ็บมาขอปันยานั้นไปรักษาบ้าง ก็พากันหายจากโรค เป็นที่เลื่องลือไปทั่ว เศรษฐีจึงตั้งชื่อบุตรว่า มโหสถ เพราะทารกนั้นมีแท่งยาวิเศษ เกิดมากับตัว

เมื่อมโหสถเติบโตขึ้น ปรากฏว่ามีสติปัญญาเฉลียวฉลาด กว่าเด็กในวัยเดียวกัน ครั้งหนึ่งมโหสถเห็นว่า ในเวลาฝนตก ตนและเพื่อนเล่นทั้งหลายต้องหลบฝน ลำบากลำบนเล่นไม่สนุก จึงขอให้เพื่อนเล่นทุก คนนำเงินมารวมกันเพื่อสร้างสถานที่เล่น มโหสถจัดการออกแบบอาคารนั้นอย่างวิจิตรพิสดาร นอกจาก ที่เล่นที่กินและที่พักสำหรับคนที่ผ่านไปมาแล้ว ยังจัดสร้างห้อง วินิจฉัยคดีด้วย เพราะความที่มโหสถเป็นเด็กฉลาดเฉลียวเกินวัย จึงมักมีผู้คนมาขอให้ตัดสินปัญหาข้อพิพาท หรือแก้ใขปัญหาขัดข้อง ต่างๆ อยู่ เสมอ

ชื่อเสียงของมโหสถเลื่องลือไปไกลทั่วมิถิลานคร ในขณะนั้น กษัตริย์เมืองมิถิลา ทรงพระนามว่า พระเจ้าวิเทหราช ทรงมีนักปราชญ์ราชบัณฑิตประจำ ราชสำนัก 4 คน คือ เสนกะ ปุตกุสะ กามินท์ และ เทวินทะ บัณฑิตทั้ง 4 เคยกราบทูลว่าจะมี บัณฑิต คนที่ห้ามาสู่ราชสำนักพระเจ้าวิเทหราช พระองค์จึงโปรดให้ เสนาออกสืบข่าวว่า มีบัณฑิตผู้มีสติปัญญา ปราดเปรื่องอยู่ที่ใดบ้าง เสนาเดินทางมาถึงบริเวณบ้านของสิริวัฒกะเศรษฐี เห็นอาคารงดงาม จัดแต่งอย่างประณีตบรรจง จึงถามผู้คนว่าใครเป็นผู้ออกแบบ คนก็ ตอบว่า ผู้ออกแบบคือมโหสถบัณฑิต บุตรชายวัย 7 ขวบ ของสิริวัฒกะ เศรษฐี

เสนาจึงนำความไปกราบทูลพระเจ้าวิเทหราช พระองค์ตรัสเรียก บัณฑิตทั้ง 4 มา ปรึกษาว่าควรจะไปรับมโหสถมาสู่ราชสำนักหรือไม่ บัณฑิตทั้ง 4 เกรงว่ามโหสถจะได้ดีเกินหน้าตนจึงทูลว่า ลำพังการออก แบบตกแต่งอาคารไม่นับว่าผู้นั้นจะมีสติปัญญาสูงถึงขั้นบัณฑิต ขอให้รอดูต่อไปว่า มโหสถจะมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดจริงหรือไม่

ฝ่ายมโหสถนั้น มีชาวบ้านนำคดีความต่างๆ มาให้ตัดสินอยู่เป็นนิตย์ เป็นต้นว่า ชายเลี้ยงโคนอนหลับไป มีขโมยเข้ามาลักโค เมื่อตามไปพบ ขโมยก็อ้างว่าตนเป็นเจ้าของโค ต่างฝ่ายต่างถกเถียงอ้างสิทธิ์ ไม่มีใคร ตัดสินได้ว่าโคนั้นเป็นของใคร จึงพากันไปหามโหสถ มโหสถถามชาย เจ้าของโคว่า เรื่องราวเป็นอย่างไร ชายนั้นก็เล่าให้ฟัง

มโหสถจึงถาม ขโมยว่า “ท่านให้โคของท่านกินอาหารอะไรบ้าง”

ขโมยตอบว่า “ข้าพเจ้าให้กินงา กินแป้ง ถั่ว และยาคู”

มโหสถถามชายเจ้าของโค ชายนั้นก็ตอบว่า“ข้าพเจ้าให้โคกิน หญ้าตามธรรมดา”

มโหสถจึงให้ เอาใบไม้มาตำให้โคกินแล้วให้กินน้ำ โคก็สำรอกเอาหญ้าออกมา จึงเป็นอันทราบว่าใครเป็นเจ้าของโคที่แท้จริง พระเจ้าวิเทหราชได้ทราบเรื่องการตัดสินความของมโหสถก็ ปรารถนาจะเชิญมโหสถาสู่ราชสำนัก แต่บัณฑิตทั้งสี่ก็คอยทูล ทัดทานไว้เรื่อยๆ

ทุกครั้งที่มโหสถแสดงสติปัญญาในการตัดสินคดี พระเจ้าวิเทหราชทรงทดลองสติปัญญามโหสถด้วยการตั้งปัญหา ต่างๆก็ปรากฏว่า มโหสถแก้ปัญหาได้ทุกครั้ง เช่น เรื่องท่อนไม้ ที่เกลาได้เรียบเสมอกัน พระเจ้าวิเทหราชทรงตั้งคำถามว่า ข้างไหนเป็นข้าง ปลายข้างไหนเป็นข้างโคน มโหสถก็ใช้วิธีผูกเชือก กลางท่อนไม้นั้น แล้วหย่อนลงในน้ำ ทางโคนหนักก็จมลง ส่วนทาง ปลายลอยน้ำ เพราะน้ำหนักเบากว่าไม้มโหสถก็ชี้ได้ว่า ทางไหน เป็นโคนทางไหนเป็นปลาย

นอกจากนี้มโหสถยังแก้ปัญหาเรื่องต่างๆ อีกเป็นอันมาก จนในที่สุดพระราชาก็ไม่อาจทนรอตามคำ ทัดทานของ บัณฑิตทั้งสี่ อีกต่อไป จึงโปรดให้ราชบุรุษไปพาตัวมโหสถกับบิดามา เข้าเฝ้าพร้อมกับให้นำ ม้าอัสดรมาถวายด้วย มโหสถทราบดีว่าครั้งนี้ เป็นการทดลองสำคัญ จึงนัดหมายการอย่างหนึ่งกับบิดา และ ในวันที่ไปเฝ้าพระราชา มโหสถให้คนนำลามาด้วยหนึ่งตัว เมื่อเข้าไปถึงที่ประทับ พระราชาโปรดให้สิริวัฒกะเศรษฐีนั่งบนที่ อันสมควรแก่เกียรติยศ

ครั้นเมื่อมโหสถเข้าไป สิริวัฒกะก็ลุกขึ้น เรียกบุตรชายว่า “พ่อมโหสถ มานั่งตรงนี้เถิด” แล้วก็ลุกขึ้นจากที่นั่ง มโหสถก็ตรงไปนั่งแทนที่บิดา ผู้คนก็พากันมองดูอย่างตำหนิ ที่มโหสถทำเสมือนไม่เคารพบิดา

มโหสถจึง ถามพระราชาว่า “พระองค์ไม่พอพระทัยที่ข้าพเจ้านั่งแทนที่บิดาใช่หรือไม่” พระราชาทรงรับคำ

มโหสถ จึงถามว่า ” ข้าพเจ้าขอทูลถามว่า ธรรมดาบิดาย่อมดีกว่าบุตร สำคัญกว่าบุตรเสมอไปหรือ”

พระราชา ตรัสว่า “ย่อมเป็นอย่างนั้น บิดาย่อมสำคัญกว่าบุตร”

มโหสถทูลต่อว่า “เมื่อข้าพเจ้ามาเฝ้า พระองค์มีพระกระแส รับสั่งว่าให้ข้าพเจ้านำม้าอัสดรมาถวายด้วย ใช่ไหมพระเจ้าค่ะ” พระราชาทรงรับคำ

มโหสถจึงให้คนนำลาที่เตรียมเข้ามา ต่อพระพักตร์ แล้วทูลว่า “เมื่อพระองค์ตรัสว่าบิดาย่อมสำคัญ กว่าบุตร ลาตัวนี้เป็นพ่อของม้าอัสดร หากพระองค์ทรงเห็น เช่นนั้นจริง ก็โปรดทรงรับลานี้ไปแทนม้าอัสดรเถิดพระเจ้าค่ะ เพราะม้าอัสดรเกิดจากลานี้ แต่ถ้าทรงเห็นว่า บุตรอาจดีกว่าบิดา ก็ทรงรับเอาม้าอัสดรไปตามที่ทรงมีพระราชประสงค์ ถ้าหากพระองค์เห็นว่าบิดาย่อมประเสริฐกว่าบุตรก็ทรงโปรด รับเอาบิดาของข้าพเจ้าไว้ แต่หากทรงเห็นว่าบุตรอาจประเสริฐ กว่าบิดา ก็ขอให้ทรงรับข้าพเจ้าไว้” การที่มโหสถกราบทูลเช่นนั้น มิใช่จะลบหลู่ดูหมิ่นบิดา แต่เพราะ ประสงค์จะให้ผู้คนทั้งหลายตระหนักใน ความเป็นจริงของโลก และเพื่อแก้ไขปัญหาที่มีผู้จงใจผูกขึ้น คือบัณฑิตทั้งสี่นั้นเอง

พระราชาทรงพอพระทัยในปัญญาของมโหสถจึงตรัสแก่ สิริวัฒกะเศรษฐีว่า “ท่านเศรษฐี เราขอมโหสถไว้ เป็นราชบุตร จะขัดข้องหรือไม่”

เศรษฐีทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ มโหสถยังเด็กนัก อายุ เพิ่ง 7 ขวบ เอาไว้ให้โตเป็นผู้ใหญ่ก่อนน่าจะดีกว่าพระเจ้าค่ะ”

พระราชาตรัสตอบว่า “ท่านอย่าวิตกในข้อที่ว่ามโหสถยังอายุ น้อยเลย มโหสถเป็นผู้มี ปัญญาเฉียบแหลมยิ่งกว่าผู้ใหญ่ จำนวนมาก เราจะเลี้ยงมโหสถในฐานะราชบุตรของเรา ท่านอย่ากังวล ไปเลย” มโหสถจึงได้เริ่มรับราชการกับ พระเจ้าวิเทหราชนับตั้งแต่นั้นมา

ตลอดเวลาที่อยู่ในราชสำนัก มโหสถได้แสดงสติปัญญา และความสุขุมลึกซึ้งในการพิจารณาแก้ไขปัญหา ข้อขัดข้อง ทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่พระราชาทรงผูกขึ้นลองปัญญา มโหสถ หรือที่บัณฑิตทั้งสี่พยายาม สร้างขึ้น

มโหสถรุ่งเรืองอยู่ในราชสำนักของพระเจ้าวิเทหราช ได้รับการ สรรเสริญจากผู้คนทั้งหลายจนมีอายุได้ 16 ปี พระมเหสีของ พระราชาผู้ทรงรักใคร่มโหสถเหมือนเป็นน้องชาย ทรงประสงค์ จะหาคู่ครองให้ แต่มโหสถขอพระราชทานอนุญาตเดินทาง ไปเสาะหาคู่ครองที่ตนพอใจด้วยตนเอง พระมเหสีก็ทรงอนุญาต มโหสถเดินทางไปถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ได้พบหญิงสาวคนหนึ่ง เป็นลูกสาวเศรษฐีเก่าแก่ แต่ได้ยากจนลง หญิงสาวนั้นชื่อว่าอมร มโหสถปลอมตัวเป็นช่างชุนผ้า ไปอาศัยอยู่กับบิดามารดาของนาง และได้ทดลอง สติปัญญาของนางด้วยประการต่างๆเป็นต้นว่า

ในครั้งแรกที่พบกันนั้น มโหสถถามนางว่า “เธอชื่ออะไร”

นางตอบว่า “สิ่งที่ดิฉันไม่มีอยู่ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต นั่นแหล่ะ เป็นชื่อ ของดิฉัน”

มโหสถ พิจารณาอยู่ครู่หนึ่งก็ตอบว่า “ความไม่ตายเป็นสิ่ง ไม่มีอยู่ในโลก เธอชื่อ อมร ( ไม่ตาย ) ใช่ไหม ”

หญิงสาวตอบว่า ใช่ มโหสถถามต่อว่า นางจะนำข้าวไปให้ใคร นางตอบว่า นำไป ให้บุรพเทวดา มโหสถก็ ตีปริศนาออกว่า บุรพเทวดาคือเทวดา ที่มีก่อนองค์อื่นๆ ได้แก่ บิดา มารดา

เมื่อมโหสถได้ทดลองสติปัญญาและความประพฤติต่างๆของ นางอมรจนเป็นที่พอใจแล้ว จึงขอนางจาก บิดา มารดา พากลับ ไปกรุงมิถิลา เมื่อไปถึงยังเมือง ก็ยังได้ทดลองใจนางอีกโดย มโหสถแสร้งล่วงหน้าไปก่อน แล้วแต่งกายงดงามรออยู่ในบ้าน ให้คนพานางมาพบ กล่าวเกี้ยวพาราสีนาง นางก็ไม่ยินดีด้วย มโหสถจึงพอใจนาง จึงพาไปเฝ้าพระราชาและพระมเหสี พระราชาก็โปรดให้มโหสถแต่งงานอยู่กินกับ นางอมร

ต่อมา บัณฑิตทั้งสี่ยังพยายามที่จะกลั่นแกล้งมโหสถด้วยประการ ต่างๆ แต่ก็ไม่เป็นผล แม้ถึงขนาดพระราชาหลงเข้าพระทัยผิด ขับไล่มโหสถออกจากวัง มโหสถก็มิได้ขุ่นเคือง แต่ยังจงรักภักดี ต่อพระราชา

พระราชาจึงตรัสถามมโหสถว่า “เจ้าเป็นผู้มีสติปัญญา หลักแหลมยิ่ง หากจะหวังช่วงชิงราชสมบัติจากเราก็ย่อมได้ เหตุใดจึงไม่คิดการร้ายต่อเรา”

มโหสถทูลตอบว่า “บัณฑิตย่อม ไม่ทำชั่ว เพื่อให้ได้ความสุข สำหรับตน แม้จะถูกทับถมให้เสื่อมจาก ลาภยศ ก็ไม่คิดสละธรรมะด้วยความหลงในลาภยศ หรือด้วย ความรักความชัง บุคคลนั่งนอนอยู่ใต้ร่มไม้ ย่อมไม่ควรหัก กิ่งต้นไม้นั้น เพราะจะได้ชื่อว่าทำร้ายมิตร บุคคลที่ได้รับการ เกื้อหนุนอุปการะจากผู้ใด ย่อมไม่ทำให้ไมตรีนั้นเสียไปด้วย ความโง่เขลา หรือความ หลงในยศอำนาจ บุคคลผู้ครองเรือน หากเกียจคร้าน ก็ไม่งาม นักบวชไม่สำรวม ก็ไม่งาม พระราชา ขาดความพินิจพิจารณาก็ไม่งาม บัณฑิตโกรธง่าย ก็ไม่งาม”

ไม่ว่าบัณฑิตทั้งสี่จะกลั่นแกล้งมโหสถอย่างใด มโหสถก็ สามารถเอาตัวรอดได้ทุกครั้ง และมิได้ตอบแทน ความชั่วร้าย ด้วยความชั่วร้าย แต่กลับให้ความเมตตากรุณาต่อบัณฑิต ทั้งสี่เสมอมา นอกจากจะทำหน้าที่พิจารณาเรื่องราว แก้ไขปัญหาต่างๆ มโหสถยังได้เตรียมการป้องกันพระนครใน ด้านต่างๆ ให้พร้อมเสมอด้วย และยังจัดผู้คนไปอยู่ตามเมืองต่างๆ เพื่อคอยสืบข่าวว่า จะมีบ้านเมืองใด มาโจมตีเมืองมิถิลาหรือไม่

มีพระราชาองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่า จุลนีพรหมทัต ครองเมือง อุตรปัญจาล ประสงค์จะทำสงครามแผ่ เดชานุภาพ จึงทรงคิด การกับปุโรหิตชื่อ เกวัฏพราหมณ์ หมายจะลวงเอากษัตริย์ ร้อยเอ็ดพระนครมา กระทำสัตย์สาบานแล้วเอาสุราเจือยาพิษ ให้กษัตริย์เหล่านั้นดื่ม จะได้รวบรวมพระนครไว้ในกำมือ มโหสถ ได้ทราบความลับจากนกแก้วที่ส่งออกไปสืบข่าว จึงหาทางช่วย ชีวิตกษัตริย์ทั้งร้อยเอ็ดไว้ได้ โดยที่ กษัตริย์เหล่านั้นหารู้ตัวไม่

พระเจ้าจุลนีทรงเห็นว่ามิถิลา เป็นเมืองเดียวที่ไม่ยอมทำ สัตย์สาบาน จึงยกทัพใหญ่มุ่งไปโจมตีมิถิลา มีเกวัฏพราหมณ์ เป็นที่ปรึกษาใหญ่ แต่ไม่ว่าจะโจมตีด้วยวิธีใด มโหสถ ก็รู้ทัน สามารถตอบโต้และแก้ไขได้ ทุกครั้งไป ในที่สุดพระเจ้าจุลนีทรงส่งเกวัฏพราหมณ์มาประลองปัญญา ทำสงครามธรรมกับมโหสถ มโหสถออกไป พบเกวัฏพราหมณ์ โดยนำเอาแก้วมณีค่าควรเมืองไปด้วย แสร้งบอกว่า จะยกให้ พราหมณ์ แต่เมื่อจะส่ง ให้ก็วางให้ที่ปลายมือพราหมณ์เกวัฏ เกรงว่าแก้วมณจะตกจึงก้มลงรับแต่ก็ไม่ทัน แก้วมณีตกลงไป กับพื้นเกวัฏก้มลงเก็บด้วยความโลภ มโหสถจึงกดคอเกวัฏไว้ ผลักให้กระเด็นไป แล้วให้ทหารร้องประกาศว่า เกวัฏปราหมณ ์ก้มลงไหว้มโหสถ แล้วถูกผลักไปด้วยความรังเกียจ บรรดาทหารของพระเจ้าจุลนีมองเห็นแต่ภาพเกวัฏพราหมณ์ ก้มลงแทบเท้า แต่ไม่ทราบว่าก้มลงด้วยเหตุใด ก็เชื่อตามที่ ทหารของมโหสถป่าวประกาศ พากันกลัวอำนาจมโหสถ ถอยหนีไปไม่เป็นกระบวน

กองทัพพระเจ้าจุลนีก็แตกพ่ายไป เกวัฏพราหมณ์คิดพยาบาทมโหสถอยู่ไม่รู้หาย จึงวางอุบายให้ พระเจ้าจุลนีส่งทูตไปทูลพระเจ้าวิเทหราชว่าจะขอทำสัญญาไมตรี และขอถวายพระราชธิดาให้เป็นชายา พระเจ้าวิเทหราชทรงมี ความยินดี จึงทรงตอบรับเป็นไมตรี พระเจ้าจุลนีก็ขอให้ พระเจ้าวิเทหราชเสด็จมาอุตรปัญจาล มโหสถพยายาม ทูลคัดค้าน พระราชาก็มิได้ฟังคำ มโหสถก็เสียใจว่าพระราชา ลุ่มหลงในสตรี แต่กระนั้นก็ยังคงจงรักภักดี จึงคิดจะแก้อุบาย ของพระเจ้าจุลนี มโหสถจึงทูลขออนุญาตไปจัดเตรียมที่ประทับ ให้พระราชในเมืองอุตรปัญจาล ก็ได้รับอนุญาต มโหสถจึงให้ ผู้คนไปจัดสร้างวังอันงดงาม และที่สำคัญคือจัดสร้างอุโมงค์ใต้ดิน เป็นทาง เดินภายในอุโมงค์ประกอบด้วยกลไกและประตูลับ ต่างๆซับซ้อนมากมาย

เมื่อเสร็จแล้วมโหสถจึงทูลเชิญ ให้พระเจ้าวิเทหราชเสด็จไปยังอุตรปัญจาล ขณะที่พระเจ้าวิเทหราชประทับอยู่ในวัง รอที่จะอภิเษกกับ พระธิดาพระเจ้าจุลนี พระเจ้าจุลนีทรงยก กองทหารมาล้อมวังไว้ มโหสถซึ่งเตรียมการไว้แล้ว ก็ลอบลงไปทางอุโมงค์เข้าไปใน ปราสาทพระเจ้าจุลนี ทำอุบายหลอกเอาพระชนนี พระมเหสี พระราชบุตร และราชธิดาพระเจ้าจุลนีมากักไว้ใต้วังที่สร้างขึ้น นั้นแล้วจึงกลังไปเฝ้าพระเจ้าวิเทหราช พระเจ้าวิเทหราชตกพระทัยว่ากองทหารมาล้อมวัง ตรัสปรึกษา มโหสถ

มโหสถจึงทูลเตือนพระราชาว่า “ข้าพระองค์ได้กราบทูล ห้าม มิให้ทรงประมาท แต่ก็มิได้ทรงเชื่อ พระราชบิดาพระเจ้าจุลนี นั้น ประดุจเหยื่อที่นำมาตกปลา การทำไมตรีกับผู้ไม่มีศีลธรรม ย่อมนำความทุกข์มาให้ ธรรมดาบุคคลผู้มี ปัญญา ไม่พึงทำ ไมตรีสมาคมกับบุคคลผู้ไม่มีศีล ซึ่งเปรียบเสมือนงู ไว้วางใจ มิได้ย่อมนำความเดือดร้อน มาสู่ไมตรีนั้น ไม่มีทางสำเร็จผลได้”

พระเจ้าวิเทหราชทรงเสียพระทัยที่ไม่ทรงเชื่อคำทัดทาน ของมโหสถแต่แรก มโหสถจัดการนำพระเจ้า วิเทหราช ไปพบพระชนนี พระมเหสี และพระโอรสธิดาของพระเจ้าจุลนี ที่ตนนำมาไว้ในอุโมงค์ใต้ดิน แล้วจัดการให้กองทัพที่เตรียมไว้ นำเสด็จกษัตริย์ทั้งหลายกลับไปมิถิลา ส่วนตัวมโหสถเองอยู่ เผชิญหน้า กับพระเจ้าจุลนี เมื่อพระเจ้าจุลนีเสด็จมา ประกาศว่าจะจับพระเจ้าวิเทหราช

มโหสถจึงบอกให้ทรงทราบว่า  พระเจ้าวิเทหราชเสด็จกลับมิถิลาแล้วพร้อมด้วย พระราชวงศ์ ของพระเจ้าจุลนี พระราชาก็ทรงตกพระทัย เกรงว่าพระญาติวงศ์จะเป็นอันตราย มโหสถจึงทูลว่า ไม่มีผู้ใด จะทำอันตราย แล้วจึงทูลเชิญพระเจ้าจุลนีทอดพระเนตรวังและ อุโมงค์ที่จัดเตรียมไว้อย่างวิจิตรงดงาม ขณะที่พระเจ้าจุลนีกำลัง ทรงเพลิดเพลิน มโหสถก็ปิดประตูกลทั้งปวง และหยิบดาบที่ซ่อนไว้ ทำทีว่าจะ ตัดพระเศียรพระราชา พระราชาตกพระทัยกลัว

มโหสถจึงทูลว่า “ข้าพระองค์จะไม่ทำร้ายพระราชา แต่หากจะฆ่า ข้าพระองค์เพราะแค้นพระทัย ข้าพระองค์ก็จะถวายดาบนี้ให้”

พระราชาเห็นมโหสถส่งดาบถวาย ก็ทรงได้สติ เห็นว่ามโหสถ นอกจากจะประกอบด้วยความสติปัญญาประเสริฐแล้ว ยังเป็น ผู้ไม่มีจิตใจมุ่งร้ายพยาบาทผู้ใด พระเจ้าจุลนีจึงตรัสขออภัยที่ ได้เคยคิดร้ายต่อเมืองมิถิลา ต่อพระเจ้าวิเทหราช และต่อมโหสถ มโหสถจึงทูลลากลับไปมิถิลา จัดให้กองทหารนำเสด็จพระชนนี พระมเหสี และ พระราชบุตร ของพระเจ้าจุลนีกลับมายัง อุตรปัญจาล ส่วนราชธิดานั้นคงประทับอยู่มิถิลา ในฐานะ พระชายาพระเจ้า วิเทหราชต่อไป พระเจ้าจุลนีทรงตรัสขอให้มโหสถมาอยู่กับพระองค์

มโหสถ ทูลว่า “ข้าพระองค์รับราชการรุ่งเรืองในราช สำนักของพระเจ้า วิเทหราช ผู้เป็นเจ้านายของข้าพระองค์แต่เดิม ไม่อาจจะไปอยู่ที่ อื่นได้หากเมื่อใด พระเจ้าวิเทหราชสวรรคต ข้าพระองค์จะไป อยู่เมืองอุตรปัญจกาล รับราชการอยู่ในราชสำนัก ของ พระองค์”

มื่อพระเจ้าวิเทหราชสิ้นพระชนม์ มโหสถก็ทำตามที่ ลั่นวาจาไว้ คือไปรับราชการอยู่กับพระเจ้าจุลนี และยังถูก กลั่นแกล้งจากเกวัฏพราหมณ์คู่ปรับเก่า แต่มโหสถก็ เอาตัวรอดได้ทุกครั้ง มโหสถนอกจากจะมีสติปัญญา เฉลียวฉลาดแล้ว ยังประกอบด้วยคุณธรรมอันประเสริฐ มีความสุขุมรอบคอบ มิได้หลงใหล ในลาภยศสรรเสริญ ดังนั้นมโหสถจึงได้รับยกย่องสรรเสริญว่าเป็น บัณฑิตผู้มี ความรู้อันลึกซึ้ง มีสติ ปัญญานั้นประกอบด้วยคุณธรรมอันประเสริฐ ที่กำกับให้ผู้มีสติปัญญาประพฤติปฏิบัติในทางที่ถูกที่ควร

คติธรรม : บำเพ็ญปัญญาบารมี
ปัญญาอันล้ำเลิศนั้นย่อมทำคุณให้แก่บุคคล ยิ่งกว่ามีทรัพย์นับแสน แม้มิมีปัญญาดั่งปราชญ์ แต่ถ้าเป็นผู้รู้จักคิดให้รอบคอบก่อน ก็ย่อมเป็นผู้มีปัญญาและประพฤติชอบแล้ว

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

ทศชาติชาดก : ชาติที่ 4 พระเนมิราช (อธิษฐานบารมี)

พระราชาแห่งเมืองมิถิลา ทรงมีพระโอรสนามว่า เนมิกุมาร ผู้จะทรงสืบสมบัติในกรุงมิถิลาต่อไป พระเนมิกุมาร ทรงมีพระทัยฝักใฝ่ในการบำเพ็ญทานมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ทรงรักษาศีลอุโบสถ อย่างเคร่งครัด เมื่อพระบิดาทอดพระเนตรเห็นเส้นพระเกศาหงอก ก็ทรงรำพึงว่า บัดนี้ถึงเวลาที่จะมอบราชสมบัติให้ แก่โอรสแล้ว พระองค์เองก็จะได้เสด็จออกบำเพ็ญเพียรในทางธรรมต่อไป จึงทรงมอบราชสมบัติเมือง มิถิลาให้แก่พระเนมิราชกุมาร ขึ้นครองเป็นพระเจ้าเนมิราช

ส่วนพระองค์เองก็เสด็จออกบวช รักษาศีลตราบจนสวรรคต เมื่อพระเจ้าเนมิราชครองราชสมบัติ โปรดให้สร้างโรงทาน ริมประตูเมือง 4 แห่ง โรงทานกลางพระนคร 1 แห่ง ทรงบริจาคทานแก่ประชาชนอยู่เป็นนิตย์ ทรงรักษาศีล และสั่งสอนประชาชนของพระองค์ให้ตั้ง มั่นอยู่ในศีลในธรรม ครั้งนั้นปรากฏว่าประชาชนทั้งหลายล้วนแต่เป็นผู้มีศีลมีสัตย์ ไม่มีการเบียดเบียนทำ บาปหยาบช้า บ้านเมืองก็ร่มเย็นเป็นสุข ผู้คนพากันสรรเสริญพระคุณของพระเจ้าเนมิราชอยู่ทั่วไป

พระเจ้าเนมิราช เมื่อทรงปฏิบัติธรรมอยู่นั้น ทรงสงสัยว่า การให้ทานกับการประพฤติพรหมจารย์ คือ การรักษาความบริสุทธิ์ ไม่ข้องเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวโลกนั้น อย่างไหนจะประเสริฐกว่ากัน พระอินทร์ได้ทรงทราบถึงความกังขาในพระทัยของพระเจ้า เนมิราช จึงเสด็จจากดาวดึงส์ลงมาปรากฏ เฉพาะพระพักตร์ พระราชา

ตรัสกับพระราชาว่า “หม่อมฉันมาเพื่อแก้ข้อสงสัย ที่ทรงมีพระประสงค์จะทราบว่าระหว่างทานกับการประพฤติ พรหมจรรย์ สิ่งใดจะเป็นกุศลยิ่งกว่ากัน หม่อมฉันขอทูลให้ ทราบว่า บุคคลได้เกิดในตระกูลกษัตริย์นั้นก็เพราะประพฤติ พรหมจรรย์ในขั้นต่ำ บุคคลได้เกิดในเทวโลก เพราะได้ประพฤติ พรหมจรรย์ขั้นกลาง บุคคลจะถึงความบริสุทธิ์ ก็เพราะประพฤติ พรหมจรรย์ขั้นสูงสุด การเป็นพรหมนั้น เป็นได้ยากลำบากยิ่ง ผู้จะประพฤติพรหมจรรย์จะต้องเว้นจากวิถีชีวิตอย่างมนุษย์ ปุถุชน ต้องไม่มีเหย้าเรือน ต้องบำเพ็ญธรรมสม่ำเสมอ ดังนั้น การประพฤติพรหมจรรย์จึงทำได้ยากยิ่ง กว่าการบริจาคทาน และได้กุศลมากยิ่งกว่าหลายเท่านัก บรรดากษัตริย์ทั้งหลาย มักบริจาคทานกันเป็น การใหญ่แต่ก็ไม่ สามารถจะล่วงพ้น จากกิเลสไปได้ แม้จะได้ไปเกิดในที่อันมีแต่ความสนุก ความบันเทิงรื่นรมย์ แต่ก็เปรียบไม่ได้กับความสุขอันเกิดจาก ความสงบอันวิเวก อันจะได้มาก็ด้วยการประพฤติ พรหมจรรย์เท่านั้น”

พระอินทร์ได้ทรงเล่าถึงเรื่องราวของพระองค์เอง ที่ได้ประกอบทานอันยิ่งใหญ่ เมื่อชาติที่เกิดเป็นพระราชา แห่งพาราณสี ได้ทรงถวายอาหารแก่นักพรตที่อยู่ บริเวณแม่น้ำสีทา เป็นจำนวนหมื่นรูปได้รับกุศลยิ่งใหญ่ แต่ก็เพียงแต่ได้เกิดในเทวโลกเท่านั้น ส่วนบรรดานักพรต ที่ประพฤติพรหมจรรย์เหล่านั้น ล้วนได้ไปเกิดในพรหมโลก อันเป็นแดนที่สูงกว่าและมีความสุขสงบอันบริบูรณ์กว่า แต่แม้ว่าพรหมจรรย์จะ ประเสริฐกว่าทาน พระอินทร์ก็ได้ ทรงเตือนให้พระเจ้าเนมิราชทรงรักษาธรรมทั้งสองคู่กันคือ บริจาค ทานและรักษาศีล

ครั้นเมื่อพระอินทร์เสด็จกลับไปเทวโลกแล้วเหล่าเทวดา ซึ่งครั้งที่เกิดเป็นมนุษย์นั้นได้เคยรับทานและฟังธรรมจาก พระเจ้าเนมิราช จนได้มาบังเกิดในเทวโลก ต่างพากัน ไปเฝ้า

พระอินทร์และทูลว่า “พระเจ้าเนมิราชทรงเป็น อาจารย์ของเหล่าข้าพระบาทมาแต่ก่อน ข้าพระบาท ทั้งหลายรำลึกถึงพระคุณพระเจ้า เนมิราช ใคร่จะได้พบ พระองค์ขอได้โปรดเชิญเสด็จพระเจ้าเนมิราชมา ยังเทวโลกนี้ด้วยเถิด”

พระอินทร์จึงมีเทวบัญชาให้มาตุลี เทพสารถีนำเวชยันตราชรถ ไปเชิญเสด็จพระเจ้าเนมิราช จากกรุง มิถิลาขึ้นมายังเทวโลก มาตุลีเทวบุตรรับโองการแล้วก็นำราชรถไปยังมนุษย์โบก ในคืนวันเพ็ญ ขณะพระเจ้าเนมิราชกำลัง ประทับอยู่กับ เหล่าเสนาอำมาตย์ มาตุลีทูลเชิญพระราชาว่า เทพบนสวรรค์ ชั้นดาวดึงส์รำลึกถึงพระคุณ ของพระองค์ ปรารถนาจะได้พบ พระองค์ จึงนำราชรถมาเชิญเสด็จไปยังเทวโลก

พระเจ้าเนมิราชทรงรำพึงว่า พระองค์ยังมิเคยเห็นเทวโลก ปรารถนาจะเสด็จไปตามคำเชิญของเหล่าเทพ จึงเสด็จประทับ บนเวชยันตราชรถ มาตุลีจึงทูลว่า สถานที่ที่จะเชิญเสด็จไปนั้น มี 2 ทาง คือ ไปทางที่ อยู่ของเหล่าผู้ทำบาปหนึ่ง และไปทางสถานที่ อยู่ของผู้ทำบุญหนึ่ง พระราชาประสงค์จะเสด็จไปที่ใดก่อนก็ได้ พระราชาตรัสว่า พระองค์ประสงค์จะไปยังสถานที่ของ เหล่าผู้ทำบาปก่อน แล้วจึงไปยังที่แห่งผู้ทำบุญ

มาตุลีก็นำเสด็จ ไปยังเมืองนรก ผ่านแม่น้ำเวตรณี อันเป็นที่ทรมาณสัตว์นรก แม่น้ำเต็มไปด้วยเถาวัลย์ หนามโตเท่าหอก มีเพลิงลุกโชติช่วง มีหลาวเหล็กเสียบสัตว์นรกไว้เหมือนอย่างปลา เมื่อสัตว์นรกตก ลงไปในน้ำก็ถูกของแหลมคมใต้น้ำสับขาดเป็นท่อนๆ บางที นายนิรยบาลก็เอาเบ็ดเหล็กเกี่ยวสัตว์นรก ขึ้นมาจากน้ำ เอามา นอนหงายอยู่บนเปลวไฟบ้าง เอาก้อนเหล็กมีไฟลุกแดงอุดเข้าไป ในปากบ้าง สัตว์นรกล้วนต้องทนทุกขเวทนาด้วยอาการต่างๆ

พระราชาตรัสถามถึงโทษของเหล่าสัตว์นรกเหล่านี้ ว่าได้ประกอบกรรมชั่วอะไรไว้จึงต้องมารับโทษดังนี้ มาตุลีก็ตอบบรรยายถึงโทษกรรมที่สัตว์นรกเหล่านี้ ประกอบไว้ เมื่อครั้งที่เกิดเป็นมนุษย์ จากนั้น มาตุลีก็พาพระราชาไปทอดพระเนตรขุมนรกต่างๆ ที่มีบรรดาสัตว์นรกถูกจองจำและลงโทษ อยู่ด้วยความทรมาณ แสนสาหัส น่าทุเรศเวทนาต่างๆ เป็นที่น่าสะพรึงกลังอย่างยิ่ง

พระราชาตรัสถามถึง โทษของสัตว์นรกแต่ละประเภท มาตุลีก็ตอบ โดยละเอียด เช่น ผู้ที่เคยทรมาณไล่จับไล่ยิงนกขว้างนก จะถูกนาย นิรยบาลเอาเหล็กพืดรัดคอ กดหัว แล้วดึงเหล็กนั้นจนคอขาด ผู้ที่เคยเป็นพ่อค้าแม่ค้า แล้วไม่ซื่อต่อคนซื้อ เอาของเลวมาหลอก ว่าเป็นของดี หรือเอาของเลวมาปนของดี ก็จะถูกลงโทษให้เกิด ความกระหายน้ำ ครั้นเมื่อไปถึงน้ำ น้ำนั้นก็กลายเป็นแกลบเพลิง ลุกเป็นไฟ ก็จำต้องกินแกลบนั้นต่างน้ำ เมื่อกินเข้าไปแกลบน้ำ ก็แผดเผาร่างกายได้รับทุกขเวทนาสาหัส

ผู้ที่เคยทำความเดือดร้อนให้มิตรสหายอยู่เป็นนิตย์ รบกวน เบียดเบียนมิตรสหายด้วยประการต่างๆ เมื่อ ตายไปเกิดใน ขุมนรกก็จะรู้สึกหิวกระหายปรารถนาจะกินอาหาร แต่อาหารที่ได้พบ ก็คืออุจจาระปัสสาวะ สัตว์นรกเหล่านี้จำต้องดื่มกินต่างอาหาร ผู้ที่ฆ่าบิดามารดา ฆ่าผู้มีพระคุณ ฆ่าผู้มีศีลธรรม จะถูกไฟนรกแผดเผาให้กระหายต้องดื่มเลือดดื่มหนอง แทนอาหาร ความทุกข์ทรมาณอันสาหัสในขุมนรกต่างๆ มีอยู่มากมาย เป็นที่น่าทุเรศเวทนา ทำให้พระราชารู้สึกสยดสยอง ต่อผลแห่งกรรมชั่วร้าย ของมนุษย์ใจบาปหยาบช้าทั้งหลายยิ่งนัก

พระราชาทอดพระเนตรเห็นวิมารแก้วของนางเทพธิดาวารุณี ประดับด้วยแก้วแพรวพรายมีสระน้ำ มีสวนอันงดงาม ด้วยดอกไม้นานาพรรณ จึงตรัสถามมาตุลีว่า นางเทพธิดา วารุณีประกอบกรรมดีอย่างใดไว้ จึงได้มีวิมานที่งดงามวิจิตรเช่นนี้ มาตุลีตอบว่า นางเทพธิดาองค์นี้ เมื่อเป็นมนุษย์ เป็นสาวใช้ของ พราหมณ์ มีหน้าที่จัดอาสนะสำหรับภิกษุ และจักสลากภัตถวายภิกษุ อยู่เนืองๆ นางบริจาคทาน และ รักษาศีลตลอดเวลา ผลแห่งกรรมดีของนางจึงได้บังเกิดวิมานแก้วงามเรืองรอง

พระราชาเสด็จผ่านวิมานต่างๆ อันงดงามโอฬารและ ได้ตรัสถามเทวสารถี ถึงผลบุญที่เหล่าเทพบุตร เทพธิดาเจ้าของ วิมานเหล่านั้น ได้เคยประกอบไว้ เมื่อครั้งที่เกิดเป็นมนุษย์ มาตุลีก็ทูลให้ทราบโดยละเอียด ความงามและความรื่นรมย์ ในเทวโลกเป็นที่จับตาจับใจของพระราชาเนมิราชยิ่งนัก

ในที่สุด มาตุลีก็นำเสด็จพระราชาไปถึงวิมานที่ประทับ ของพระอินทร์ เหล่าเทพยดาทั้งหลายมีความ โสมนัสยินดีที่ได้พบ พระราชาผู้เคยทรงมีพระคุณต่อเทพยดาเหล่านั้น ตั้งแต่ครั้งที่ยังเป็น มนุษย์อยู่ในมนุษยโลก เหล่าเทพได้ทูลเชิญให้พระราชา ประทับอยู่ ในวิมานของตน เพื่อเสวยทิพย์สมบัติอันรื่นรมย์ ในดาวดึงส์

พระราชาตรัสตอบว่า “สิ่งที่ได้มาเพราะผู้อื่น ไม่เป็นสิทธิขาดแก่ตน หม่อมฉันปรารถนาจะประกอบกรรมดี เพื่อให้ได้รับผลบุญตามสิทธิ อันควรแก่ตนเอง หม่อมฉันจะตั้งหน้าบริจาคทาน รักษา ศีล สำรวม กาย วาจา ใจ เพื่อให้ได้รับผลแห่งกรรมดี เป็นสิทธิของหม่อมฉันโดยแท้จริง”

พระราชาประทับอยู่ในดาวดึงส์ชั่วเวลาหนึ่ง แล้วจึงเสด็จกลับ เมืองมิถิลา ได้ตรัสเล่าสิ่งที่ได้พบเห็นมา แก่ปวงราษฎร ทั้งสิ่งที่ได้เห็นในนรกและสวรรค์ แล้วตรัสชักชวนให้ประชาชนทั้งหลาย ตั้งใจมั่น ประกอบกรรมดี บริจาคทาน รักษาศีล เพื่อให้ได้ไปเกิด ในเทวโลก ได้รับความสุขสบายรื่นรมย์ในทิพยวิมาน พระราชาเนมิราชทรงครองแผ่นดินสืบต่อมาด้วยความเป็นธรรม ทรงตั้งพระทัยรักษาศีลและบริจาค ทานโดยสม่ำเสมอมิได้ขาด

วันหนึ่งเมื่อทอดพระเนตรเห็นเส้นพระเกศาหงอกขาวก็สลดพระทัยใน สังขาร ทรงดำริที่จะออกบวชเพื่อประพฤติพรหมจรรย์ จึงตรัสเรียก พระโอรสมาเฝ้าและทรงมอบราชสมบัติแก่พระราชโอรส หลังจากนั้น พระราชาเนมิราชก็ออกผนวช เจริญพรหมวิหาร ได้สำเร็จบรรลุธรรม

ครั้นเมื่อสวรรคตก็ได้ไปบังเกิดในเทวโลก เสวยทิพยสมบัติอันรื่นรมย์ กุศลกรรมที่พระราชาทรงประกอบ อันส่งผลให้พระองค์ได้ไปสู่เทวโลกนั้นคือ การพิจารณาเห็นโทษ ของความชั่ว และความสยดสยองต่อผลแห่งกรรมชั่วนั้น และ อานิสงส์ของกรรมดีที่ส่งผลให้บุคคลได้เสวยสุขในทิพยสมบัติ อานิสงส์อันประเสริฐที่สุด คือ อานิสงส์แห่งการประพฤติ พรหมจรรย์คือการบวชเมื่อถึงกาลอันสมควร

คติธรรม : บำเพ็ญอธิษฐานบารมี
การหมั่นรักษาความดีประพฤติชอบโดยตั้งใจ โดยมุ่งมั่น หากทำความดีแล้วย่อมได้ดี ประพฤติชั่วย่อมได้ผลชั่วตอบแทน นี้เป็นเรื่องที่สมควรยึดมั่นโดยแท้

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

ทศชาติชาดก : ชาติที่ 3 สุวรรณสาม (เมตตาบารมี)

“สุวรรณสาม แม้เขาจะถูกทำร้ายอย่างแสนสาหัส
แต่เขาก็ยังแผ่เมตตาจิตไปยังพวกที่ทำร้าย
โดยหาความโกรธเคืองไม่ได้นี่คือปฎิปทาของสุวรรณสามต่อไป”

ครั้งหนึ่ง มีสหายสองคนรักใคร่กันมาก ต่างก็ตั้งบ้านเรือน อยู่ใกล้เคียงกัน ไปมาหาสู่กันอยู่เสมอ ทั้งสองคนตั้งใจว่า ถ้าฝ่ายหนึ่งมีลูกสาว อีกฝ่ายหนึ่งมีลูกชาย ก็จะให้แต่งงาน เพื่อครอบครัวทั้งสองฝ่ายจะได้ ผูกพันใกล้ชิดกันไม่มีเสื่อมคลาย อยู่ต่อมาฝ่ายหนึ่งก็มีลูกชายชื่อว่า ทุกูลกุมาร อีกฝ่ายหนึ่งมีลูกสาว ชื่อว่า ปาริกากุมารี เด็กทั้งสองมีรูป ร่างหน่าตางดงาม สติปัญญาฉลาดเฉลียว และมีจิตใจมั่นอยู่ในศีล

เมื่อเติบโตขึ้น พ่อแม่ของทั้งสองก็ตกลงจะทำตามที่เคย ตั้งใจไว้ คือให้ลูกของทั้งสองบ้านได้แต่งงานกัน แต่ทั้งทุกูลกุมารและปาริกากุมารี ต่างบอกกับพ่อแม่ ของตนว่า ไม่ต้องการแต่งงานกัน แม้จะรู้ดีว่า ฝ่ายหนึ่ง เป็นคนดี รูปร่างหน้าตางดงาม และเป็นเพื่อนสนิท มาตั้งแต่เด็กก็ตาม ในที่สุด พ่อแม่ของทั้งสองก็จัดการแต่งงานให้จนได้ แต่แม้ว่าทุกูลและปาริกาจะแต่งงานกันแล้ว ต่างยังคงประพฤติ ปฏิบัติเสมือนเป็นเพื่อนกันตลอดมา ไม่เคยประพฤติต่อกัน ฉันสามีภรรยา

ยิ่งไปกว่านั้นทั้ง สองคนมีความปราถนาตรงกัน คือประสงค์จะออกบวช ไม่อยากดำเนินชีวิตอย่างชาวบ้าน ธรรมดาซึ่ง จะต้องพัวพันอยู่กับการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เพื่อเป็นอาหารบ้าง เพื่อป้องกันตัวเองบ้าง เมื่อได้อ้อนวอนพ่อแม่ทั้งสองบ้านอยู่เป็นเวลานาน ในที่สุด ทั้งสองก็ได้รับคำอนุญาตให้บวชได้ จึงพากัน เดินทางไปสู่ป่าใหญ่ และอธิษฐานออกบวช นุ่งห่มผ้าย้อม เปลือกไม้และไว้มวยผมอย่างดาบส บำเพ็ญ ธรรมอยู่ ณ ศาลาในป่านั้น

ด้วยความเมตตาอันมั่นคง ของทั้งสองคน บรรดาสิงสาราสัตว์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น ต่างก็มีเมตตาจิตต่อกัน ไม่ทำร้ายซึ่งกันและกัน ต่างหากินอยู่ด้วยความสุขสำราญ ต่อมาวันหนึ่ง พระอินทร์เล็งเห็นอันตรายซึ่งจะบังเกิดแก่ ทุกูลดาบสและปาริกาดาบสินี

จึงตรัสบอกแก่ ดาบสว่า “ข้าพเจ้าเล็งเห็นว่า อันตรายจะเกิดขึ้นแก่ท่าน ขอให้ท่านจงมีบุตร เพื่อเป็น ผู้ช่วยเหลือ ปรนนิบัติในยามยากลำบากเถิด”

ทุกูลดาบสจึงถามว่า “อาตมาบำเพ็ญพรตเพื่อความพ้นทุกข์ อาตมาจะมีบุตรได้อย่างไร อาตมาไม่ต้องการดำเนินชีวิต อย่างชาวโลก ที่จะทำให้ต้องวนเวียนอยู่ในความทุกข์อีก”

พระอินทร์ตรัสว่า “ท่านไม่จำเป็นต้องประพฤติปฏิบัติ อย่างชาวโลก แต่ท่านจำเป็นต้องมีบุตรไว้ช่วย เหลือปรนนิบัติ ขอให้เชื่อข้าพเจ้าเถิด ท่านเพียงแต่เอามือลูบท้องนางปาริกา ดาบสินี นางก็จะตั้งครรภ์ ลูกในครรภ์นางจะได้เป็นผู้ดูแล ท่านทั้งสองต่อไป”

เมื่อพระอินทร์ตรัสบอกดังนั้น ทุกูลดาบสจึงทำตาม ต่อมานางปาริกาก็ตั้งครรภ์ ครั้นครบกำหนด ก็คลอดบุตร มีผิวพรรณงดงามราวทองคำบริสุทธิ์ จึงได้ชื่อว่า “สุวรรณสาม” ปาริกาดาบสสินี เลี้ยงดู สุวรรณสามจนเติบใหญ่อยู่ในป่านั้น มีบรรดาสัตว์น้อยใหญ่นานาชนิดแวดล้อมเป็นเพื่อนเล่น ตั้งแต่ยังเป็นเด็กอยู่ สุวรรณสามหมั่นสังเกตจดจำสิ่งที่ พ่อและแม่ได้ปฏิบัติ เช่น การไปตักน้ำ ไปหา ผลไม้เป็นอาหาร เส้นทางที่ไปหาน้ำและอาหาร สุวรรณสามพยายามช่วยเหลือ พ่อและแม่ กระทำกิจกรรมต่างๆ เท่าที่จะทำได้ เพื่อให้พ่อแม่ ได้มีเวลาบำเพ็ญธรรมตามที่ประสงค์

วันหนึ่ง เมื่อทุกูลดาบสและนางปาริกา ออกไปหาผลไม้ในป่า เผอิญฝนตกหนักทั้งสองจึงหลบฝนอยู่ที่ ต้นไม้ใหญ่ใกล้ จอมปลวก โดยไม่รู้ว่าที่จอมปลวกนั้นมีงูพิษอาศัยอยู่ น้ำฝนที่ชุ่มเสื้อฝ้า และมุ่นผมของ ทั้งสองไหลหยดลงไปในรูงู งูตกใจจึงพ่นพิษออกมาป้องกันตัว พิษร้ายของงูเข้าตาทั้งสองคน ความร้ายกาจของพิษทำให้ดวงตาบอดมืดมิดไปทันที ทุกูลดาบสและนางปาริกาดาบสินี จึงไม่สามารถจะกลับไปถึง ศาลาที่พักได้ เพราะมองไม่เห็นทาง ต้องวนเวียนคลำทางอยู่แถวนั้นเอง คนทั้งสองต้องเสียดวงตา เพราะกรรมในชาติก่อน

เมื่อครั้งที่ ทุกูลดาบสเกิดเป็นหมอรักษาตา ปาริกา เกิดเป็นภรรยาของหมอนั้น วันหนึ่งหมอได้รักษาตาของเศรษฐีคนหนึ่งจนหายขาดแล้ว แต่เศรษฐีไม่ยอมจ่ายค่ารักษา

ภรรยาจึงบอกกับสามีว่า “พี่จงทำยาขึ้นอย่างหนึ่งให้มีฤทธิ์แรง แล้วเอาไปให้เศรษฐีผู้นั้น บอกว่าตายังไม่หายสนิท ขอให้ใช้ยานี้ป้ายอีก”

หมอตาทำตามที่ภรรยาบอกฝ่ายเศรษฐีเชื่อในสรรพคุณยา ของหมอ ก็ทำตาม ตาของเศรษฐีก็กลับบอด สนิทในไม่ช้าด้วย บาปที่ทำไว้ในชาติก่อน ส่งผลให้ทั้งสองคนต้องตาบอดไปในชาตินี้

ฝ่ายสุวรรณสาม คอยพ่อแม่อยู่ที่ศาลา ไม่เห็นกลับมาตามเวลา จึงออกเดินตามหา ในที่สุดก็พบพ่อแม่ วนเวียนอยู่ข้างจอมปลวก เพราะนัยน์ตาบอด หาทางกลับไม่ได้ สุวรรณสามจึงถามว่า เกิดอะไรขึ้น เมื่อพ่อแม่เล่าให้ฟัง สุวรรณสามก็ร้องไห้ แล้วก็หัวเราะ พ่อแม่จึงถามว่าเหตุใดจึงร้องไห้แล้วก็หัวเราะ เช่นนั้น

สุวรรณสาม ตอบว่า “ลูกร้องไห้เพราะเสียใจที่พ่อแม่นัยน์ตาบอด แต่หัวเราะ เพราะลูกดีใจที่ลูกจะได้ ปรนนิบัติดูแล ตอบแทนพระคุณพ่อแม่ ที่เลี้ยงดูลูกมา พ่อแม่อย่าเป็นทุกข์ไปเลย ลูกจะปรนนิบัติ ไม่ให้พ่อแม่ต้องเดือดร้อนแต่อย่างใด”

จากนั้น สุวรรณสามก็พาพ่อแม่กลับไปยังศาลาที่พัก จัดหาเชือก มาผูกโยงไว้โดยรอบ สำหรับพ่อแม่จะได้ใช้จับเป็นราวเดินไป ทำอะไรๆ ได้สะดวกในบริเวณศาลานั้นทุกๆ วัน สุวรรณสาม จะไปตักน้ำมา สำหรับพ่อแม่ได้ดื่มได้ใช้ และไปหา ผลไม้ในป่ามาเป็นอาหารและตนเอง เวลาที่สุวรรณสามออกป่าหาผลไม้ บรรดาสัตว์ทั้งหลาย จะพากันมาแวดล้อมด้วยความไว้วางใจ เพราะสุวรรณสาม เป็นผู้มีเมตตาจิต ไม่เคยทำอันตรายแก่ฝูงสัตว์ สุวรรณสามจึงมีเพื่อนแวดล้อมเป็นบรรดา สัตว์นานาชนิด พ่อแม่ลูกทั้งสามจึงมีแต่ความสุขสงบ ปราศจาก ความทุกข์ร้อนวุ่นวายทั้งปวง

อยู่มาวันหนึ่ง พระราชาแห่งเมืองพาราณสี พระนามว่า “กบิลยักขราช” เป็นผู้ชอบออกป่าล่าสัตว์ พระองค์เสด็จออกล่าสัตว์ มาจนถึงท่าน้ำที่สุวรรณสามมาตักน้ำไปให้พ่อแม่ พระราชาสังเกตเห็น รอยเท้า สัตว์ชุกชุมในบริเวณนั้น จึงซุ่มคอยจะยิงสัตว์ที่ผ่านมากินน้ำ ขณะนั้น สุวรรณสามนำหม้อน้ำมาตักน้ำไปใช้ที่ศาลาดังเช่นเคย มีฝูงสัตว์เดินตามมาด้วยมากมาย พระราชาทอดพระเนตรเห็น ก็ทรงแปลกพระทัยว่า สุวรรณสามเป็นมนุษย์หรือเทวดา เหตุใดจึง เดินมา กับฝูงสัตว์

ครั้นจะเข้าไปถามก็เกรงว่าสุวรรณสาม จะตกใจหนีไป ก็จะไม่ได้ตัวจึงคิดจะยิงด้วยธนูให้หมด กำลังก่อนแล้วค่อยจับตัวไว้ซักถาม เมื่อสุวรรณสามลงไปตักน้ำแล้ว กำลังจะเดินกลับไปศาลา พระราชากบิลยักขราชก็เล็งยิงด้วยธนูอาบยา ถูกสุวรรณสาม ที่สำตัวทะลุจากขวาไปซ้าย

สุวรรณสามล้มลงกับพื้น แต่ยังไม่ถึงตาย จึงเอ่ยขึ้นว่า “เนื้อของเรากินไม่ได้ หนังของเราเอาไปทำอะไรก็ไม่ได้ จะยิงเราทำไม คนที่ยิงเราเป็นใคร ยิงแล้วจะ ซ่อนตัวอยู่ทำไม”

กบิลยักขราชได้ยินวาจาอ่อนหวานเช่นนั้นก็ยิ่งแปลกพระทัย ทรงคิดว่า “หนุ่มน้อยนี้เป็นใครหนอ ถูกเรายิงล้มลงแล้ว ยังไม่โกรธเคือง กลับใช้ถ้อยคำอันอ่อนหวาน แทนที่จะด่าว่า ด้วยความ โกรธแค้น เราจะต้องแสดงตัวให้เขาเห็น”

คิดดังนั้นแล้ว พระราชาจึงออกจากที่ซุ่มไปประทับอยู่ข้างๆ สุวรรณสาม พลางตรัสว่า “เราชื่อกบิลยักขราช เป็นพระราชา แห่งแมืองพาราณสี เจ้าเป็นผู้ใด มาทำอะไรอยู่ในป่านี้”

สุวรรณสามตอบไปตามความจริงว่า “ข้าพเจ้าเป็นบุตรดาบส ชื่อว่าสุวรรณสาม พระองค์ยิงข้าพเจ้าด้วยธนูพิษ ได้รับ ความเจ็บปวดสาหัส พระองค์ประสงค์อะไรจึงยิงข้าพเจ้า”

พระราชาไม่กล้าตอบความจริง จึงแสร้งตรัสเท็จว่า “เราตั้งใจจะยิงเนื้อเป็นอาหาร แต่พอเจ้ามาเนื้อก็ เตลิดหนีไปหมด เราโกรธจึงยิงเจ้า “

สุวรรณสามแย้งว่า“เหตุใดพระองค์จึงตรัสอย่างนั้น บรรดาสัตว์ทั้งหลายในป่านี้ไม่เคยกลัวข้าพเจ้า ไม่เคยเตลิด หนีข้าพเจ้าเลย สัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนของข้าพเจ้า”

พระราชาทรงละอายพระทัยที่ตรัสความเท็จแก่สุวรรณสาม ผู้ถูกยิงโดยปราศจากความผิด จึงตรัสตามความจริงว่า “เป็นความจริงตามที่เจ้าว่า สัตว์ทั้งหลายมิได้กลัวภัย จากเจ้าเลย เรายิงเจ้าก็เพราะความโง่เขลาของเราเอง เจ้าอยู่กับใครในป่านี้ ออกตักน้ำไปให้ใคร”

สุวรรณสามบ้วนโลหิตออกจากปาก ตอบพระราชาว่า “ข้าพเจ้าอยู่กับพ่อแม่ ซึ่งตาบอดทั้งสองคน อยู่ในศาลา ในป่านี้ ข้าพเจ้าทำหน้าที่ปรนนิบัติพ่อแม่ ดูแลหาน้ำและอาหาร สำหรับท่านทั้งสอง เมื่อข้าพเจ้า มาถูกยิงเช่นนี้ พ่อแม่ก็จะไม่มี ใครดูแลปรนนิบัติอีกต่อไป อาหารที่ศาลายังพอสำหรับ 6 วัน แต่ไม่มีน้ำ พ่อแม่ของข้าพเจ้าจะต้องอดน้ำและอาหาร เมื่อปราศจากข้าพเจ้า โอ พระราชา ความทุกข์ ความเจ็บปวด ที่เกิดจากถูกยิงด้วยธนูของท่านนั้น ยังไม่เท่าความทุกข์ ความเจ็บปวดที่เป็นห่วงพ่อแม่ของข้าพเจ้า จะต้องได้รับ ความเดือดร้อนเพราะขาดข้าพเจ้าผู้ปรนนิบัติ ต่อไปนี้พ่อแม่คงไม่ได้เห็นหน้าข้าพเจ้าอีก แล้ว” สุวรรณสามรำพันแล้วร้องไห้ด้วยความทุกข์ใจอย่างยิ่ง

พระราชาทรงได้ยินดังนั้นก็เสียพระทัยยิ่งนักว่า ได้ทำร้าย สุวรรณสามผู้มีความกตัญญูสูงสุด ผู้ไม่เคยทำอันตราย ต่อสิ่งใดเลย จึงตรัสกับสุวรรณสามว่า “ท่านอย่ากังวลไปเลย สุวรรณสาม เราจะรับดูแลปรนนิบัติพ่อแม่ของท่านให้เหมือน กับที่ท่านได้เคย ทำมา จงบอกเราเถิดว่าพ่อแม่ของท่านอยู่ที่ไหน”

สุวรรณสามได้ยินพระราชาตรัสให้สัญญาก็ดีใจ กราบทูลว่า “พ่อแม่ของข้าพเจ้าอยู่ไม่ไกลจากที่นี่มาก นัก ขอเชิญเสด็จไปเถิด

พระราชาตรัสถามว่า สุวรรณสามจะสั่งความไปถึงพ่อแม่ บ้างหรือไม่ สุวรรณสามจึงขอให้พระราชาบอกพ่อแม่ว่า ตนฝากกราบไหว้ลาพ่อแม่มากับพระราชา เมื่อสุวรรณสาม ประนมมือกราบลงแล้ว ก็สลบไป ด้วยธนูพิษ ลมหายใจหยุด มือเท้าและร่างกายแข็งเกร็งด้วยพิษยา

พระราชาทรงเศร้า เสียพระทัยยิ่งนัก รำลึกถึงกรรมอันหนักที่ได้ก่อขึ้นในครั้งนี้ แล้วก็ทรงระลึกได้ว่า ทางเดียวที่จะช่วยผ่อนบาปอันหนักของ พระองค์ได้ก็คือ ปฏิบัติตามวาจาที่สัญญาไว้กับสุวรรณสาม คือไป ปรนนิบัติดูแลพ่อแม่สุวรรณสาม เหมือนที่สุวรรณสามได้เคยกระทำมา พระราชากบิลยักขราชจึงนำหม้อน้ำที่สุวรรณสามตักไว้นั้น ออกเดินทางไปศาลาที่สุวรรณสามบอกไว้

ครั้นไปถึง ทุกูลดาบสได้ยินเสียงฝีเท้าพระราชา ก็ร้องถามขึ้นว่า “นั่นใครขึ้นมา ไม่ใช่สุวรรณสามลูกเราแน่ ลูกเรา เดินฝีเท้าเบา ไม่ก้าวหนักอย่างนี้”

พระราชาไม่กล้าบอกไปในทันทีว่าพระองค์ยิงสุวรรณสาม ตายแล้ว จึงบอกแต่เพียงว่า “ข้าพเจ้าเป็นพระราชา แห่งเมืองพาราณสี มาเที่ยวยิงเนื้อในป่านี้”

ดาบสจึงเชิญ ให้พระราชาเสวยผลไม้ และเล่าว่าบุตรชายชื่อสุวรรณสาม เป็นผู้ดูแลจัดหาอาหารไว้ให้ ขณะนี้สุวรรณสาม ออกไปตักน้ำ อีกสักครู่ก็คงจะกลับมาพระราชาจึงตรัสด้วยความเศร้าเสียพระทัยว่า “สุวรรณสาม ไม่กลับมาแล้ว บัดนี้สุวรรณสามถูกธนูของ ข้าพเจ้าถึงแก่ ความตายแล้ว”

ดาบสทั้งสองได้ยินดังนั้นก็เสียใจยิ่งนัก นางปาริกาดาบสินีนั้นแต่แรกโกรธ แค้นที่พระราชา ยิงสุวรรณสามตาย แต่ทุกูลดาบสได้ปลอบประโลมว่า “จงนึกว่าเป็นเวรกรรมของสุวรรณสามและของเราทั้งสองเถิด จงสำรวมจิตอย่าโกรธเคืองเลย พระราชาก็ได้ยอมรับผิดแล้ว”

พระราชาตรัสปลอบว่า “ท่านทั้งสองอย่ากังวลไปเลย ข้าพเจ้าได้สัญญากับสุวรรณสามแล้วว่าจะปรนนิบัติ ท่านทั้งสองให้เหมือนกับที่สุวรรณสามเคยทำมาทุกประการ”

ดาบสทั้งสองอ้อนวอนพระราชาให้พาไปที่สุวรรณสาม นอนตายอยู่ เพื่อจะได้สัมผัสลูบคลำลูกเป็นครั้งสุดท้าย พระราชาก็ทรงพาไป ครั้นถึงที่สุวรรณสามนอนอยู่ ปาริกาดาบสินีก็ช้อนเท่าลูกขึ้นวางบนตัก ทุกูลดาบส ก็ช้อนศีรษะสุวรรณสามประคองไว้บนตัก ต่างพากัน รำพันถึงสุวรรณสามด้วยความโศกเศร้า บังเอิญปาริกา ดาบสินีลูบคลำบริเวณหน้าอกสุวรรณสาม รู้สึกว่ายังอบอุ่นอยู่ จึงคิดว่าลูกอาจจะเพียงแต่ สลบไป ไม่ถึงตาย

นางจึงตั้ง สัตยาธิษฐานว่า “สุวรรณสามลูกเราเป็นผู้ที่ประพฤติดีตลอดมา มีความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่อย่างยิ่ง เรารักสุวรรณสาม ยิ่งกว่าชีวิตของเราเอง ด้วยสัจจวาจาของเรานี้ ขอให้พิษ ธนูจงคลายไปเถิด ด้วยบุญกุศลที่สุวรรณสามได้เลี้ยงดู พ่อแม่ตลอดมา ขออานุภาพแห่งบุญจงดล บันดาลให้ สุวรรณสามฟื้นขึ้นมาเถิด” เมื่อนางต้งสัตยาธิษฐานจบ สุวรรณสามก็พลิกกายไป ข้างหนึ่งแต่ยังนอนอยู่ ทุกูลดาบสจึงตั้งสัตยาธิษฐาน เช่นเดียวกัน สุวรรณสามก็พลิกกายกลับไปอีกข้างหนึ่ง

ฝ่ายนางเทพธิดาวสุนธรี ผู้ดูแลรักษาอยู่ ณ บริเวณ เขาคันธมาทน์ ก็ได้ตั้งสัตยาธิษฐานว่า “เราทำหน้าที่ รักษาเขาคันธมาทน์มาเป็นเวลานาน เรารักสุวรรณสาม ผู้มีเมตตาจิต และมีความกตัญญูยิ่งกว่าใคร ด้วยสัจจวาจานี้ ขอให้พิษจงจางหายไปเถิด”

ทันใดนั้น สุวรรณสามก็พลิกกายฟื้นตื่นขึ้น หายจาก พิษธนูโดยสิ้นเชิง ยิ่งกว่านั้นดวงตาของพ่อและแม่ ของสุวรรณสามก็กลับแลเห็นเหมือนเดิม พระราชา ทรงพิศวงยิ่งนัก จึงตรัสถามว่าสุวรรณสามฟื้นขึ้นมา ได้อย่างไร

สุวรรณสามตอบพระราชาว่า “บุคคลใดเลี้ยงดูปรนนิบัติบิดามารดาด้วยความรักใคร่เอาใจใส่ เทวดาและมนุษย์ย่อมช่วยคุ้มครองบุคคลนั้น นักปราชญ์ย่อม สรรเสริญ แม้เมื่อตายไปแล้ว บุคคลนั้นก็จะได้ไปบังเกิด ในสวรรค์ เสวยผลบุญแห่งความกตัญญูกตเวทีของตน”

พระราชากบิลยักขราชได้ยินดังนั้นก็ชื่นชมโสมนัสตรัสกับ สุวรรณสามว่า “ท่านทำให้จิตใจและดวงตาของ ข้าพเจ้า สว่างไสว ข้าพเจ้ามองเห็นธรรม ต่อนี้ไป ข้าพเจ้าจะรักษาศีล จะบำเพ็ญกุศลกิจ จะไม่เบียด เบียนชีวิตสัตว์อีกแล้ว” ตรัสปฏิญญาณแล้วพระราชาก็ทรงขอขมาโทษที่ได้กระทำ ให้สุวรรณสามเดือดร้อน แล้วพระองค์ก็เสด็จ กลับพาราณสี ทรงปฏิบัติตามที่ได้ตรัสไว้ทุกประการจนตลอดพระชนม์ชีพ

ฝ่ายสุวรรณสามก็เลี้ยงดูปรนนิบัติพ่อแม่ บำเพ็ญเพียรใน ทางธรรมเมื่อสิ้นชีพก็ได้ไปเกิดในพรหมโลก ร่วมกับพ่อแม่ ด้วยกุศลกรรมที่กระทำมาคือ ความเมตตากรุณาต่อมนุษย์ และสัตว์ทั้งหลาย และความกตัญญูกตเวทีต่อบิดามารดา อันเป็นกุศลกรรมสูงสุดที่บุตรพึงกระทำต่อบิดามารดา

ติธรรม : บำเพ็ญเมตตาบารมี
ว่าด้วยเรื่องของความมีเมตตาจิต ซึ่งจะทำให้ชีวิตสุขสงบได้โดยไร้ภยันอันตรายใดๆ ธรรมนั้นคือเกราะแก้วมิให้ถูกผู้ใดทำร้ายได้เป็นแน่แท้

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

ทศชาติชาดก : ชาติที่ 2 พระมหาชนก (วิริยะบารมี)

ในอดีตที่ล่วงมาแล้ว มีพระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่งนามว่า มหาชนก เสวยราชสมบัติในเมืองมิถิลา ท้าวเธอมีโอรสสองพระองค์ องค์หนึ่งนามว่า อริฎฐชนก อีกองค์หนึ่งมีนามว่าโปลชนก พระองค์ได้ทรงตั้งอริฎฐชนกในตำเเหน่ง อุปราช และโปลชนกในตำเเหน่ง เสนาบดี ต่อมาเมื่อท้าวเธอสวรรคตแล้ว อุปราชก็ได้ขึ้นครองแผ่นดินเสวยราชสมบัติแทน และได้แต่งตั้งเจ้าโปลชนกผู้เป็นน้องให้เป็นอุปราช ในขณะเมื่อเจ้าอริฎฐชนกเป็นอุราชอยู่นั้นก็รู้สึกว่าเป็นคนยุติธรรมดีอยู่ แต่เมื่อเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้วหูเบา ฟังแต่ถ้อยคำคนประจบสอพลอ เพราะตามธรรมดาคนประจบสอพลอนั้น จะต้องหาเรื่องฟ้องคนนั้นคนนี้อยู่เสมอ เพราะคนไม่ทำงานแต่ก็อยากได้ความชอบ และการได้ความชอบโดยไม่ต้องทำงานวิธีง่ายที่สุดคือเหยียบย่ำผู้อื่นให้ตกแล้วตนจะได้แทนตำแหน่งนั้น

ตามธรรมดาของโลกย่อมจะมีเช่นนี้ตลอดกาล ผู้ทรงอำนาจกับความหูเบามักจะเป็นของคู่กัน ถ้าใครได้อ่านพงศาวดารจีน หรือแม้แต่ประวัติศาตร์ของไทย จะเห็นความหูเบามักจะทำไห้บ้านเมืองต้องพินาศ เรื่องนี้ก็เช่นเดียวกัน
เจ้าอุปราชโปลชนกถูกกล่าวหาจากผู้ใกล้ชิดของพระเจ้ากรุงมิถิลาว่าจะทำการกบฎ เพราะเจ้าอุปราชทรงอำนาจในทางการเมืองมาก ครั้งแรกก็ยัง ไม่ยอมเชื่อ ครั้งที่สองก็ชักลังเล พอครั้งมี่สามก็ทรงเชื่อเอาเลย ลืมคิดว่าผู้เป็นน้องของพระองค์ที่คลานตามกันออกมาแท้ ๆ ลักษณะเช่นนี้เข้าหลักที่ว่า

“อันเสาหินแปดศอกตอกเป็นหลักไปมาผลักบ่อยเข้าเสายังไหว”

แม้ความรักระหว่างพี่กับน้องก็ตัดได้ ถึงกับสั่งให้จับพระมหาอุปราชไปคุมขังไว้ยังที่แห่งหนึ่ง โดยหาความผิดมิได้มีคนควบคุมอยู่อย่างแข็งแรง เจ้าอุปราชถูกควบคุมโดยหาความผิดมิได้ ก็คิดจะหลบหนีออกไป จึงตั้งสัตย์อธิษฐานว่า
“ขอเดชะพระเสื้อเมืองทรงเมืองที่ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายตัวข้าพเจ้ามิได้คิดทรยศต่อที่ชายเลย แต่กลับถูกจับคุมขังทำโทษหาความผิดมิได้ ถ้าใจของข้าพเจ้าซื่อสัตย์ต่อพี่ชายจริงแล้ว ขอให้โซ่ตรวนขื่อคาตลอดจนประตูคุก จงเปิดให้ประจักษ์เถิด”
พอสิ้นคำอธิษฐานเท่านั้นด้วยความสัตย์สุจริตของมหาอุปราช บรรรดาเครื่องจองจำทั้งหลายก็หลุดออกจากกายของพระองค์ประตูเรือนจำก็เปิด มหาอุปราชก็เลยหนีออกจากที่นั้นไปซุ่มซ่อนอยู่ตามชายแดน

พวกพลเมืองได้ทราบข่าวอุปราชหนีออกมา และเห็นว่าพระเจ้าแผ่นดินเชื่อถือแต่คำสอพลอถึงกับกำจัดน้องในไส้จึงพากันเห็นใจเจ้าอุปราช ๆ ก็ไพล่พลมากขึ้น ตอนนี้พระเจ้าแผ่นดินไม่กล้าส่งคนออกติดตามแล้ว เพราะกลัวจะเกิดศึกกลางเมืองขึ้น เพราะทราบดีว่าถ้าส่งคนออกไปจับเจ้าอุปราชก็คงจะต้องสู้จึงเลยทำเป็นใจดีไม่ติดตาม

เจ้าอุปราชรวบรวมไพล่พลได้พอสมควรแล้วก็คิดว่า
“ครั้งก่อนเราซื่อสัตย์ต่อพี่ชาย แต่ถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฎถูกจับคุมขัง จนต้องทำสัตยาอธิษธานจึงหลุดพ้นออกมาได้ ต่อไปนี้เราจะต้องทำความชั่วตอบแทนพี่ชายบ้างล่ะ”
เมื่อตัดสินใจเช่นนี้แล้ว เจ้าโปลชนกก็รวบรวมไพล่พลเสบียงอาหาร พร้อมแล้วก็ยกกองทัพเข้ามายังมิถิลานคร บรรดาหัวเมืองรายทางรู้ว่าเป็นกอง ทัพของพระเจ้าโปลชนก ก็ไม่สู้กลับเข้าด้วยเสียอีก เจ้าโปลชนกก็เลยได้คนมากขึ้นอีก ทัพก็ยกมาได้โดยเร็วเพราะหาคนต้านทานมิได้ ตราบจนกระทั่งถึงชานพระนคร จึงมีสาส์นส่งเข้าท้ารบว่า
“พระเจ้าพี่ ครั้งก่อนหม่อมฉันไม่เคยจะคิดประทุษร้ายพระเจ้าพี่เลย แต่หม่อมฉันก็ต้องถูกจองจำทำโทษที่พระเจ้าพี่เชื่อแต่คำสอพลอ บัดนี้หม่อมฉันจะประทุษร้ายพระเจ้าพี่บ้างล่ะ ถ้าจะไม่ให้เกิดสงคราม ขอให้พระเจ้าพี่มอบราชสมบัติให้หม่อมฉันเสียโดยดี ถ้าไม่ให้ก็จงเร่งเตรียมตัวออกมาชนช้างกับหม่อมฉันในวันรุ่งขึ้น

พระเจ้าอริฎฐชนก พอมาถึงตอนนี้ก็ต้องตกกระไดพลอยโจน จึงคิดจะยกพลออกไปต่อสู้กัน แต่ในขณะนี้นพระอัครมเหสีทรงพระครรภ์อยู่ พระเจ้าอริฎฐชนกจึงตรัสเรียกมาสั่งว่า
“น้องหญิง ขึ้นชื่อว่าสงครามแล้วไม่ดีเลย เพราะมีแต่ความพินาศเท่านั้น ประดุจสาดน้ำรด กันก็ย่อมจะเปียกปอนไปด้วยกันทั้งสองฝ่าย
อีกประการหนึ่งเป็นเรื่องที่คาดหมายลงไปแล้วแน่นอนว่าจะชนะฝ่ายเดียวนั้นก็ไม่ได้ พี่จะยกพลออกไปสู้กับเจ้าโปลชนก หากพี่เป็นอะไรไป เจ้าจงพยายามรักษาครรภ์ให้จงดีเจ้าจงคิดถึงลูกของเราให้มาก”

แล้วก็ยกพลออกไป และก็เป็นตามลางสังหรณ์ที่พระเจ้าอริฎฐชนกคาดว่าจะแพ้ก็แพ้จริง ๆ เพราะเมื่อได้ชนช้างกับเจ้าโปลชนกก็พลาดพลั้งเสียที ถูกเจ้าโปลชนกฟันสิ้นพระชนม์กับคอช้าง ไพล่พลก็แตกกระจัดกระจายพ่ายหนีอย่างไม่เป็นกระบวน

พระเทวีได้ทราบข่าวว่าพระสวามีสิ้นพระชนม์ และประชาชนพลเมืองแตกตื่นอุ้มลูกจูงหลานหนีข้าศึก พระนางก็เก็บของมีค่าใส่ลงใน กระเช้า เอาผ้าเก่า ๆ ปิดแล้วแอาข้าวสารใส่ข้างบน แล้วแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าเก่า ๆ ร้องไห้ฟูมฟายหลบหนีปะปนไปกับประชาชนพลเมือง โดยไม่รู้ว่าใครเป็นใคร
“จะหนีไปทางใดจึงจะรอดพ้นจากข้าศึก” พระนางคิดอยู่แต่ในใจ แล้วระลึกขึ้นได้ว่า
“เมืองกาลจัมปาอยู่ทางทิศเหนือกับมิถิลา ถ้าหากหลบหนีไปเมืองนี้ได้ก็ปลอดภัย” จึงพยายามดั้นด้นไปจนออกประตูด้านเหนือของเมืองได้

ด้วยบุญญาธิการของทารกในครรภ์ บันดาลให้ร้อนไปถึงพระอินทร์ เข้าลักษณะที่ว่า “ทิพย์อาสน์เคยอ่อนแต่ก่อนมา กระด้างดังศิลาประหลาดใจ จะมีเหตุมั่นแม่นในแดนดิน ” อมรินทร์เร่งคิดสงสัย จึงสอดส่องทิพย์เนตรดูเหตุภัย ก็ได้ทราบว่าพระโพธิสัตว์ซึ่งอยู่ในครรภ์ของพระนางจะได้รับทุกข์ พระนางจะไปเมืองกาลจัมปาแต่ก็ไม่รู้จักหนทาง เดี๋ยวนี้ไปนั่งถามทางผู้คนที่ผ่านไปมาอยู่ ณ ศาลาพักคนเดินทางจำจะต้องอนุเคราะห์ ถ้าไม่อนุเคราะห์หัวเราจะต้องแตกเป็นเจ็ดเสี่ยง เออ.? คิดดูก็น่าหนักใจแทนพระอินทร์เสียจริง ไม่ว่าคนมีบุญจะตกทุกข์ได้ยากอย่างไร เป็นต้องเดือดร้อนไปกับเขาด้วยเสมอ เวลาเขาเสวยสุขสิไม่ เคยคิดถึงพระอินทร์เลย จึงเนรมิตตนเป็นคนชรา ขับเกวียนผ่านมาทางนั้น พระนางพอเหลือบแลเห็นก็ออกปากถามทันที

“ตาจ๋า หลานอยากจะรู้ว่าเมืองกาลจัมปาอยู่ทางไหน”
“แม่หนูจะไปไหนล่ะ”
“ฉันจะไปเมืองกาลจัมปา”
“ญาติฉันมีอยู่ทางเมืองนั้น สามีออกไปรบข้าศึกก็ตายเสีย ฉันก็เลยจะพึ่งพาอาศัยญาติอยู่”
“ถ้าอย่างนั้นดีทีเดียว ตาก็จะไปเมืองกาลจัมปาเหมือนกันแม่หนูมาขึ้นเกวียนเถิด” เหมือนเทวดามาโปรด และแท้ที่จริงก็เทวดามาโปรดจริง ๆ


เมื่อขึ้นเกวียนเพราะความเหนื่อยและเพลียในการที่ระหกระเหิน พระนางก็เอนกายลงพักผ่อนและก็เลยหลับไป นางตื่นขึ้นในตอนเย็น ก็พบว่านางได้ถึงเมืองแห่งหนึ่ง จึงถามตาคนขับเกวียนว่า

ตาจ๋า เมืองที่เห็นอยู่ข้างหน้านั้นเขาเรียกว่าเมืองอะไร” “เมืองกาลจัมปาที่แม่หนูต้องการจะมานั้นเเหละ” “โอ.? ตา เขาว่าเมืองกาลจัมปาไกลตั้ง ๖๐ โยชน์ทำไมถึงเร็วนัก” “แม่หนูไม่รู้ดอก ตาเป็นคนเดินทางผ่านไปมาเสมอ ย่อมจะรู้จักทางอ้อม นี่ตามาทางลัดจึงเร็วนัก” เทวดาว่าเข้านั้น

บ้านอยู่ทางเหนือ จะต้องรีบไป ให้พระนางลงเสียตรงนี้ พระนางจึงลงจากเกวียนไปพักอยู่ที่ศาลาหน้าเมือง คิดไม่ตกว่าจะไปทางไหนดี เพราะเมืองนี้นางไม่รู้จักใครเลย
ในขณะนั้นอาจารย์ผู้ใหญ่ผู้หนึ่งพาลูกศิษย์เดินทาง ผ่านมาทางนั้น เห็นนางนั่งอยู่ในศาลาหน้าตาน่าเอ็นดูเกิดความสงสารเข้าสอบถามได้ความว่า นางหนีภัยมาจากข้าศึกมา ญาติพี่น้องก็ไม่มี
นางดูลักษณะ เห็นว่าเป็นคนดีก็ยอมไปด้วย และได้แสดงตนให้บรรดาศิษย์และคนอื่นทราบว่านางเป็นน้องของอาจารย์ผู้นั้น และได้ไปอาศัยอยู่กับอาจารย์ฐานะน้อง จวบจนกระทั่งนาง ได้คลอดบุตรว่า มหาชนก

มหาชนกเมื่อเติบใหญ่ขึ้นมาไปกับเด็กทั้งปวง ถูกรังแกก็ต่อสู้ เด็กเหล่านั้นสู้ไม่ได้ วิ่งไปบอกพ่อแม่ว่าถูกเด็กลูกไม่มีพ่อทำร้ายเอา เมื่อเด็กพูดกันบ่อย ๆ มหาชนกก็เกิดสงสัย วันหนึ่งสบโอกาสจึงถามมารดาว่า
“แม่จ๋า ใครเป็นพ่อฉัน” “ก็ท่านอาจารย์นั้นเเหละเป็นบิดาของเจ้า” ครั้งแรกพระมหาชนกก็เชื่อ แต่เมื่อได้ยินพวกเด็ก ๆ ยังพูดอยู่เช่นนั้นก็เกิดสงสัย ดีร้ายมารดาเห็นจะไม่บอกกับเราจริง ๆ แม้ครั้งที่สองมหาชนกถามมารดาก็ตอบเช่นเดียวกับครั้งแรก มหาชนกจึงคิดหาอุบายจะให้มารดาบอกให้ได้ แม่จ๋า ขอให้บอกความจริงกับฉันเถิดว่า ใครเป็นพ่อของฉัน” “ก็ท่านอาจารย์ยังไงเล่าเป็นพ่อของเจ้า” “ทำไมแม่ให้ฉันเรียกว่าลุงเล่า” “เพราะอาจารย์อยากให้เรียกเช่นนั้น”


มหาชนกก็ยื่นคำขาดว่า “ถ้าแม่ไม่บอกความจริงให้ฉันทราบ ฉันจะกัดนมแม่ให้ขาดเลย” ไม่ใช่แต่พูดเปล่า ๆ มหาชนกเอาฟันดัดหัวนมมารดาจริง ๆ ด้วย แต่ไม่แรงนัก “โอ้ย ?แม่เจ็บ” มารดาอุทานออกมา “เมื่อเจ็บแม่ต้องบอกความจริงให้ฉันรู้” “เอาล่ะ แม่จะบอกให้รู้ แต่ที่ยังไม่บอกเจ้าก็เพราะเจ้ายังเล็กนักไม่สามารถทำอะไรได้ เจ้าเป็นลูก

กษัตริย์เมืองมิถิลานครบิดาของเจ้าชื่ออริฐชนก ถูกเจ้าอุปราชโปลชนกแย่งสมบัติ พ่อเจ้าตายในที่รบ มารดากำลังท้องอยู่ก็หลบหนีเซซัดมาอาศัยอยู่กับท่านอาจารย์ ณ ที่นี้”

และนับตั้งแต่นั้นมาเจ้ามหาชนกแม้จะถูกพวกเด็ก ๆ ว่าลูกไม่มีพ่อก็ไม่มีความโกรธเคือง และพยายามเล่าเรียนวิชาการทุกประเภท เพื่อต้องการจะกลับไปเอาราชสมบัติคืนให้จงได้ จวบจนกระทั่งอายุได้ ๑๖ ปี เจ้ามหาชนกก็เรียนศิลปศาสตร์ ๑๘ ประการจบหมด ผิวพรรณของเจ้ามหาชนกผ่องใสเปรียบเหมือนทองคำความคิดที่จะเอาสมบัติของพ่อคืนก็มากขึ้น วันหนึ่งจึงเข้าไปถามมารดาว่า “แม่จ๋า แม่จากเมืองมาแต่ตัวหรือว่าได้สมบัติของพ่อมาบ้าง” “เจ้าถามทำไม” “เพราะว่าลูกต้องการจะเอาไปทำทุน แก้แค้นเอาสมบัติของพ่อกลับคืนมา” “แม่เอาแก้วมาด้วย ๓ ดวง เป็นแก้ววิเชียน ๑ ดวง มณีดวง ๑ แก้วมุกดาดวง ๑ แก้วทั้ง ๓ นี้ มีราคามาก หากจะมาขายก็ได้เป็นเงินเป็นจำนวนมาก พอที่จะทำทุนสำหรับเอาราชสมบัติของพ่อเจ้ากลับคืนมาได้” “ลูกต้องเอาเพียงครึ่งเดียว เพี่อจะทำทุนไปค้าขายยังสุวรรณภูมิ จะได้รวบรวมเงินทองและผู้คนเพื่อชิงเอาราชสมบัติของพระบิดากลับคืนมาให้ได้” “เจ้าอย่าไปค้าขายเลย เอาแก้วสามดวงนี้แหละขายซ่องสมผู้คนเถิด เจ้าไปไกลแม่เป็นห่วง”

เจ้ามหาชนกก็ไม่ยินยอม มารดาจึงเอาเงินทองมาให้ เจ้ามหาชนกก็ซื้อสินค้าบรรทุกสำเภาเตรียมจะไปค้าขาย ณ สุวรรณภูมิกับพวกพ่อค้ามากหน้าหลายตาด้วยกัน เมื่อจัดแจงเรียบร้อยแล้ว มหาชนกก็มาลามารดาเพื่อจะเดินทาง
“เจ้าจงเดินทางโดยสวัสดิภาพ คิดอะไรให้สมปรารถนา” มารดาเจ้ามหาชนกให้พรแถมท้ายว่า “เจ้าจงอย่าจองเวรเลยสมบัติมันเสียไปแล้ว ก็แล้วไปเถิด เรามีอยู่มีกินก็พอสมควรแล้ว” แต่เจ้ามหาชนกก็บอกว่าอยากจะเดินทางท่องเที่ยวเป็นการเปิดหูเปิดตา และจะไปเพียงครั้งเดียวเท่านั้น

ในขณะที่เจ้ามหาชนกลงเรือเพื่อเดินทางไปค้าขายยังสุวรรณภูมินั้น ก็พอกับเจ้าโปลชนกกำลังประชวรหนักอยู่ในเมืองมิถิลานคร หลังจากที่ออกเดินทางเห็นแต่น้ำกับฟ้าแล้วประมาณได้สัก ๗ วัน เรือก็ประสบเข้ากับมรสุมอย่างหนัก ผลสุดท้ายเรือบรรทุกสินค้า และผู้โดยสารก็อัปปางลงท่ามกลางเสียงร้องไห้คร่ำครวญของผู้กลัวตาย แต่เจ้ามหาชนกมิได้คร่ำครวญร่ำไรอย่างคนอื่นเขา กับ ๑๕ วา นับว่าเป็นระยะไกลมาก


ขณะที่เรือของเจ้ามหาชนกอับปางนั้น ก็พอดีกับเจ้าโปลชนกซึ่งครองราชสมบัติอยู่ ณ กรุงมิถิลา เสด็จสวรรคตเพราะโรคาพาธ .. เจ้ามหาชนกมิได้ท้อถอย พยายามว่ายน้ำกระเสือกกระสนเพื่อจะให้รอดจากความตาย กล่าวว่านานถึง ๗ วัน และในวันที่ ๗ กำหนด

ได้ว่าเป็นวันอุโบสถ ก็ยังได้สมาทานโดยอธิษธานอุโบสถในขณะลอยคออยู่ในทะเล ..ด้วยบุญบารมีแต่ปางบรรพ์ของเจ้ามหาชนกได้ทำไว้ให้ ร้อนถึงนางเมขลาซึ่งกล่าวว่าเป็นผู้รักษาสมุทรดังที่เล่าไว้ในรามเกียรติ์ว่า นางเมขลาเป็นพนักงานรักษาสมุทร มีแก้วประจำตัวอยู่  ๑ ดวง ถ้านางโยนขึ้นจะเห็นแสงแวววับจับตา ซึ่งเราเรียกกันว่าฟ้าแล่บ ได้ไปเล่นกับเทพบุตรและนางฟ้าในเวลานักขัตฤกษ์ได้โยนแก้วเล่นแสง แก้วนี้ส่องไปจนรามสูรเห็นก็อยากได้ จึงไปไล่หวังจะได้แก้ว แต่ก็ไม่ได้ เพระนางเมขลาเอาแก้วส่องตาทำให้หน้ามืด เลยโมโหขว้างขวานหวังจะฆ่าซึ่งก็ไม่ถูกนาง ทางมนุษย์เราเรียกฟ้าร้องและฟ้าผ่านั้นเอง นี้แหละเป็นเรื่องของนางเมขลา
เผอิญวันเรือแตกนั้นนางเมขลากำลังไปประชุมอยู่กับเทพบุตรนางฟ้า จวบจนถึงวันที่  ๘ จึงกลับมา ได้เห็นมหาชนกว่ายน้ำอยู่จึงช่วยพาขึ้นจากสมุทรมาไว้ในอุทยานของพระเจ้าโปลชนก แล้วก็กลับไปที่อยู่ เจ้ามหาชนก ก็นอนหลับอยู่ในสวน

เมื่อเจ้ามมหาชนกมาหลับอยู่ในพระราชอุทยาน นั้น พระเจ้ากรุงมิถิลาสวรรคตได้  ๗ วันนี้ ราชธิดาของเจ้าโปลชนกพยายามเลือกหาผู้สมควร ให้เสวยราชสมบัติแทนพระบิดา โดยป่าวร้องให้อำมาตย์ข้าราชการมาเฝ้านางจะเลือกเอาเป็นคู่ครอง นางก็ไม่เลือกใคร ต่อมาถึงวาระเศรษฐีคฤหบดีก็ไม่มีใครได้นาง นางจึงปรึกษากับราชปุโรหิตว่า จะทำอย่างไรดีจึงจะได้คนมาครองราชสมบัติ ราชปุโลหิตจึงทูลตอบว่า
“ข้าแต่พระแม่เจ้า ตามโบราณมาถ้าพระเจ้าแผ่นดินไม่มีบุตรชาย ถึงแก่สวรรคตแล้ว อำมาตย์ข้าราชบริพานต่างก็จะเซ่นสรวงสังเวยเทพยดาอารักษ์ เสี่ยงราชรถออกไป ถ้าราชรถไปเกยถูกผู้ใด เห็นทีบุญแล้วก็จงเชิญมาครองราชสมบัติ”


“ถ้าเช่นนั้นท่านอาจารย์จงจัดแจงทำพิธีเสี่ยงราชรถเถิด” ราชปุโรหิตจึงจัดแจงทำบวงสรวงสังเวยอธิษฐานขอไห้ได้ผู้พระทำการสืบราชสมบัติแทน แล้วเทียมรถด้วยม้ามงคลปล่อยออกไป

ม้าที่นำรถนั้นเหมือนจะมีหัวใจ หรือไม่ก็ดูเหมือนมีคนมาชักสายขับขี่ไปให้บ่ายหน้าออกประตูเมืองด้านทิศตะวันออก มุ่งหน้าตรงไปยังอุทยานที่เจ้ามหาชนกนอนหลับอยู่ ราชรถไปถึงสวนหลวงก็เลี้ยวเข้าไปภายในสวน

เมื่อถึงที่เจ้ามหาชนกนอนอยู่ ก็ไป แล่นวนอยู่สามรอบก็หยุดที่ปลายเท้าของเจ้ามหาชนก ราชปุโรหิตที่ตามราชรถไปเห็นดังนั้นจึงคิดว่า
“ถ้าชายคนนี้เป็นผู้ทีบุญ เวลาได้ยินเสียงดุริยดนตรีคงจะไม่ตื่นตกใจ ถ้าไม่มีบุญคงตื่นตกใจหนีเป็นแน่” “จึงสั่งให้ประโคมดนตรีขึ้นพร้อมกันเสียงดังกึกก้อง

เจ้ามหาชนกได้ยินเสียงอึกทึกครึกโครม รู้สึกตัวตื่นขึ้นก็เปิดผ้าคลุมหน้าออกดู ก็เห็นคนชุมนุมกันอยู่มากมายก็รู้ได้ทันทีว่าเรานี่จะถึงแก่สมบัติแล้ว เลยชักผ้าปิดหน้านอนต่อไป ราชปุโรหิตจึงคลานเข้าปลายพระบาท เลิกผ้าคลุมออกพิจารณาดูเท้า แล้วประกาศแก่ชนทั้งปวงที่มาร่วมชุมนุมกันว่า “อย่าว่าแต่จะครองสมบัติในเมืองเท่านี้แม้ราชสมบัติทั้ง  ๓ ทวิป ท่านผู้นี้ก็สามาถจะครอบครองได้

แล้วจึงสั่งให้ประโคมดนตรีขึ้นอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ดังยิ่งกว่าคราวแรกเสียอีก เจ้ามหาชนกจึงเปิดผ้ามองดู ราชปุโรหิตจึงทูลว่า
“ข้าแต่พระองค์ อย่าทรงบรรทมอยู่เลย สมบัติในเมืองมิถิลานี้มาถึงแล้ว” เจ้ามหาชนกจึงครัสถามว่า
“พระเจ้าแผ่นดินของพวกท่านไปไหนเสียเล่า จึงมาหาคนอย่างเราไปเป็นพระเจ้าแผ่นดิน”
“ขอเดชะ พระราชาพระองค์ก่อนได้เสด็จสวรรคตได้ ๗ วันแล้วพระเจ้าข้า”
“พระราชโอรสของพระแผ่นดินท่านไม่มีหรือ”
“ขอเดชะ ไม่มีพระเจ้าข้า มีแต่พระราชธิดาองค์เดียวเท่านั้น”
“ถ้าอย่างนั้นเราจะรับครองราชสมบัติ”

ราชปุโรหิตจึงเอาเครื่องทรงมาถวายให้เจ้ามหาชนกทรงทำพิธีมอบราชสมบัติมอบราชบัติกัน ณ ที่นั้นเอง แล้วจึงได้เสด็จขึ้นสู่พระราชมณเฑียร

พระราชธิดาคิดจะลองดูว่าคนผู้นี้จะมีปัญญาหรือไม่จึงตรัสให้ราชบุรุษคนหนึ่งไปทูลเจ้ามหาชน ว่าพระราชธิดารับสั่งให้เสด็จเข้าไปเฝ้า แต่เจ้ามหาชนกทำเป็นไม่ใส่ใจ เพียงดำเนินชมปรางค์ปราสาท ที่นั่นก็สวย ที่นี่ก็สวย แม้พระราชธิดาจะใช้ไห้มาเชิญ  ๒ ครั้ง ก็ยังปฎิบัติเช่น

ต่อมาเมื่อได้เวลาพอสมควรแล้ว เจ้ามหาชนกก็ได้เสด็จขึ้นสู่เรือนหลวง พระราชธิดาเสด็จออกมารับถึงบันได ยื่นพระหัตถ์ให้เจ้ามหาชนก ๆ จึงจับมือ พระราชธิดาพาเข้าไปประทับภายในพร้อมกับดำรัสเรียกราชปุโรหิตแล้วถามว่า
“พระราชาของพวกท่านจวนจะสวรรคต ได้รับสั่งข้อความว่าอย่างไรไว้บ้าง”
“บอกไว้ว่ามีอะไรบ้าง”

“ขอเดชะ มีรับสั่งไว้หลายประการ”
“ข้อแรก ถ้าผู้ใดทำให้สิวลีราชธิดาของเรายินดีได้ก็ให้ยกราชสมบัติให้ผู้นั้น”
“ข้อนี้ไม่มีปัญหาแล้ว พระนางได้ยื่นมือให้เราพาเข้าในเรือนหลวงแล้ว ข้อต่อไปเล่า”
“ข้อต่อไปนี้ให้ผู้ที่รู้จักบัลลังก์  ๔ เหลี่ยม ว่าที่ใดเป็นปลายเท้าและทางใดเป็นทางศีรษะ”

พอได้ยินเจ้ามหาชนกแกล้งทำเป็นไม่สนใจ หันไปสนทนากับสิวลีราชธิดาเสีย พร้อมถอดปิ่นจากศีรษะส่งให้พระราชธิดาซึ่งนางก็รู้ได้เท่าทัน รับปิ่นแล้ววางที่บัลลังก์  ๔ เหลี่ยม แล้วหันไปถามปุโรหิต
“ท่านว่าอย่างไรข้อต่อไป”
“ข้อต่อไปคือบัลลังก์   ๔ เหลี่ยม ให้รู้จักว่าทางไหนเป็นด้านเท้าและด้านศีรษะ”
เจ้ามหาชนกชี้ไปที่ด้านปิ่นวางอยู่ พลางบอกว่า
“ทางด้านนั้นแหละเป็นด้านศีรษะ”
“ขอเดชะ ข้อที่  ๓ เรื่องประลองกำลังพะย่ะค่ะ”
“ลองอย่างไร”
“ที่เมืองนี้มีธนูอยู่คันหนึ่งต้องใช้คนถึง  ๑.๐๐๐ คน จึงจะดึงสายธนูนี้ได้ ถ้าผู้ใดโก่งคันธนูคันนี้ได้ก็ให้ราชสมบัติแก่ผู้นั้น” “ข้อนี้ไม่ยาก พวกท่านไปเอาธนูคันนั้นมา”

ราชปุโรหิตจึงให้ทหารไปเอาธนูอันใหญ่โตมโหฬารมา ณ ที่นั้น เจ้ามหาชนกก็เสด็จลงไปหยิบคันธนูขึ้นมา ประดุจว่าของเบา แล้วลองขึ้นสายโก่งดูได้อย่างง่ายดายเพระเจ้ามหาชนกทรงกำลังประดุจช้างสาร เสร็จแล้วก็ลดสายวางคันธนูลงดังเก่า
“ข้อต่อไปเป็นเรื่องของการค้นหาขุมทรัพย์”
“พระองค์ตรัสไว้อย่างไร”
“พระองค์ตรัสว่า ขุมทรัพย์แห่งหนึ่งอยู่ในที่พระอาทิตย์ขึ้น
“เวลานี้ไม่พอจะค้นหาขุมทรัพย์ เอาไว้พรุ่งนี้ค่อยค้นหากันเถิด”
เป็นอันว่าวันนั้นเจ้ามหาชนกได้แสดงทั้งปัญญา และกำลังปรากฎแก่มหาชนทั้งปวงแล้ว

รุ่งขึ้น เจ้ามหาชนกก็ได้ให้ประชุมราชปุโรหิต และเสนาข้าราชบริพารทั้งปวงแล้วถามว่า
“ขุมทรัพย์ข้อต้นของพระราชาว่าอย่างไร”
“ขอเดชะ” ราชปุโรหิตกล่าวว่า “ข้อแรกที่ว่าขุมทรัพย์ ที่  ๑ ของเราอยู่ในที่พระอาทิตย์ขึ้น”
“พวกท่านคิดว่าอย่วงไร”
“พวกข้าพระองค์คิดว่าขุมทรัพย์นี้คงจะอยู่ในทางทิศตะวันออกของพระราชวัง พระเจ้าข้า”
“แล้วพวกท่านทำอย่างไรต่อไป” พวกข้าพระองค์ก็พากันขุดค้นในภาคพื้นทางด้านตะวันออก ในที่ ๆ สงสัยว่าจะฝังขุมทรัพย์ไว้”
“แล้วได้ผลเป็นอย่างไร”
“ผลคือไม่พบขุมทรัพย์อะไรเลย”
“ก็เป็นอันว่าพวกท่านไม่สามารถจะค้นหาได้แล้วใช่ไหม”
“พระเจ้าข้า”
“พระราชาของพวกท่าน ยังนิมนต์พระเข้ามาในพระราชนิเวศน์เพื่อถวายทานบ้างหรือเปล่า”
“ขอเดชะ ข้อนั้นเป็นกิจวัตรประจำวันของพระราชาของพวกข้าพระองค์ทีเดียว พระองค์นิมนต์พระปัจเจกโพธิมารับอาหารบิณฑบาตในพระราชนิเวศน์ทุกวัน”
“พวกท่านทราบไหมว่าพระปัจเจกโพธินั้นเวลาพระราชาของพวกท่านเสด็จไปรับที่ใด หรือให้ใครไปคอยรับ”
“ขอเดชะ พระราชาเสด็จประทับยืนคอยรับอยู่ ณ บริเวณพระลานประจำเสมอ โดยมิได้ส่งใครไปคอยรับแทนพระองค์เลย”
“ถ้าเช่นนั้นพวกท่านจงไปขุดในที่ ๆ พระราชาของพวกท่านยืนคอยรับอยู่ที่นั้นเถิด”

พวกอำมาตย์ได้ยินดังนั้นก็ให้จัดแจงจอบเสียมแล้วพาไปขุดในที่นั้น ก็พบสมบัติของพระราชาเป็นขุมแรก ก็พากันดีประหลาดใจ เมื่อกลับมาก็พากันส่งเสียงด้วยความปีติว่า
“ขอเดชะ ขุมทรัพย์ที่พระองค์ชี้ให้ขุดนั้นพบแล้วพระเจ้าข้า”
“เออ พบแล้ว ขุดขึ้นเสียให้หมด แล้วนำมาเก็บไว้ในพระคลังหลวง”
“พวกข้าพระองค์สงสัย”
“สงสัยอะไรล่ะ”
“ทำไมพระองค์จึงชี้ให้ขุดที่นั้น”

“เพราะพระปัจเจกโพธินั้นเปรียบประดุจพระอาทิตย์เมื่อท่านคอยยืนรับที่ใด ก็เเสดงว่าที่นั้นมีขุมทรัพย์อยู่ เราจึงชี้ให้ท่านขุดในที่นั้น แล้วก็ข้อต่อไปเล่าพระองค์ตรัสว่าอย่างไร”
“ขอเดชะ ข้อต่อไปพระองค์ตรัสว่า ขุมทรัพย์ในที่พระอาทิตย์อัสดง”
“แล้วพวกท่านได้ขุดค้นหากันบ้างหรือเปล่า”
“ข้อนี้เปล่าพระเจ้าข้า เพราะขุมทรัพย์ที่หนึ่งยังไม่ได้เลยคิดเสียว่าเหลวไหลมากกว่า พระเจ้าค่ะ”
“ถ้าอย่างนั้น พวกท่านจะบอกว่าให้เราทราบได้หรือไม่ว่าเวลาเลี้ยงดูพระปัจเจกโพธิเสร็จแล้ว เวลากลับพระปัจเจกโพธิกลับทางใด”
“ขอเดชะ เวลากลับพระปัจเจกโพธิจะกลับทางท้ายพระราชมณเฑียร”
“แล้วพระราชาของพวกท่านไปส่งเสด็จด้วยหรือเปล่า”
“ไปส่งเสด็จเป็นประจำเลยพระเจ้าค่ะ”
“เวลาไปส่งนั้น พระองค์เสด็จประทับที่ใดล่ะ”
“ เวลาไปส่งนั้น พระองค์ประทับยืน ณ สนามท้ายพระราชมณเฑียรเป็นประจำพระเจ้าข้า”
“ถ้าเช่นนั้นพวกท่านลองไปขุดที่ ๆ พระราชาเสด็จประทับยืนที่นั้นดู
พวกอำมาตย์ข้าราชบริพารก็พากันไปขุด ก็พบขุมทรัพย์เป็นครั้งที่ ๒ ก็พากันคิดประหลาดใจว่าทำไมพระราชาองค์ใหม่ของพวกเขาจึงชี้ให้ขุดได้แม่นถึงเพียงนี้ เพราะว่าพวกเขาเองพยายามขุดค้นหาจนกระทั่งคิดว่าขุมทรัพย์ดังกล่าวนี้คงเป็นเรื่องเล่าต่อ ๆ กันมาอย่างไร้สาระโดยไม่มีความจริง จึงพากันโห่ร้องแสดงความยินดีอย่างกึกก้องโกลาหล และพากันเข้ามากราบทูลว่าได้พบสมบัติขุมที่ ๒ แล้ว
“ขุมที่ ๓ พระราชาของพวกท่านตรัสไว้ว่าอย่างไร”
“ทรงตรัสว่า ขุมที่หนึ่งอยู่ภายใน”
“พวกท่านได้ค้นหาหรือยังว่าอยู่ที่ใด”
“พวกข้าพระเจ้าไม่ได้ค้นหา เพราะคิดว่าคงเหลวเหมือนขุมอื่น ๆ นั้นเเหละ”
“ประตูหลวง พวกท่านได้สังเกตหรือเปล่าว่ามีอะไรที่น่าสงสัยบ้าง”
“พวกข้าพระบาทไม่เคยสงสัย และไม่เคยสังเกตเสียด้วยว่าทีอะไร”
“พวกท่านลองไปขุดใกล้ ประตูพระราชนิเวศ ในบริเวณภายในประตูดูที ถ้าโชคของเรายังดีก็อาจจะตีปัญหาออก “

พวกอำมาตย์ก็พากันไปขุด ก็พบอีกตามความบอก ก็ได้กลับมากราบทูลว่าพบได้แห่งที่ ๓ แล้วตามความคาดหมาย ได้ตรัสถามถึงขุมที่ ๔ ต่อไป พวกข้าราชบริพารก็ทูลว่า “ขุมหนึ่งอยู่ภายนอก” ก็ทรงชี้ให้ขุดที่ใกล้ประตูพระราชนิเวศ แต่อยู่ภายนอกประตู ก็ได้พบอีก ข้าราชบริพานก็โห่ร้องด้วยความยินดี ว่าพระราชาใหม่ของพวกเรานี้ช่างทรงปัญญาเกินสามัญชนทีเดียว อันขุมทรัพย์นี้พวกเราเที่ยวค้นหาตามที่ต่าง ๆ จนทอดอาลัยแล้วว่าเป็นของไม่จริง นับเป็นลาภทีพวกเราได้พระราชาที่ทรงปัญญาอย่างนี้ เมื่อกราบทูลให้ทรงทราบว่าได้พบขุมทรัพย์ที่ ๔ ก็ตรัสถามว่า
“ทรงตรัสไว้เพียงเท่านี้หรืออย่างไร”
“หามิได้ พระองค์ยังตรัสไว้อีก”
“ตรัสไว้ว่า ขุมทรัพย์อีกขุมหนึ่งไม่ได้อยู่ข้างนอกและข้างใน”
“ถ้าเช่นนั้นพวกท่านจงขุดลงที่ธรณีประตูพระราชนิเวศ” เมื่อพวกอำมาตย์ราชปุโรหิตขุดลงไปที่ธรณีประตู ก็พบขุมทรัพย์ดังกล่าว
“แล้วตรัสอย่างไรอีก”
“ตรัสว่า ขุมหนึ่งอยู่ในที่ขึ้น”
“จงขุดที่ประตูขึ้นพระราชนิเวศ” พวกอำมาตย์ได้พากันขุดลงไป ก็พบขุมทรัพย์อีกขุมหนึ่งในประตูราชนิเวศ
“ตรัสว่า ขุมทรัพย์หนึ่งอยู่ในที่ลง”
“พระราชาของพวกท่านเวลาเสด็จออกจากพระราชนิเวศนั้น โดยปกติเสด็จด้วยอะไร”
“ส่วนมากพระองค์เสด็จทรงคชสาร เสด็จเที่ยวตรวจโรงทานและความทุกข์สุขของราษฎร “แล้วเสด็จกลับลงจากคชสาร ณ ที่ใด”
“ขอเดชะ เสด็จลงเกยชาลาข้างหน้า”
“พวกท่านจงไปขุดที่หน้าเกยเป็นที่เสด็จลงนั้นเถิด”

พวกอำมาตย์พากันไปขุด ก็พบขุมทรัพย์ตามที่คาดและได้ทูลให้ทราบต่อไปว่าพระราชาของพวกเขาได้ตรัสว่า
“ขุมทรัพย์ขุมหนึ่งอยู่ในระหว่างไม้สี่”
“พวกท่านเคยเห็นไม้รังหรือเปล่า”
“เคยเห็นพระเจ้าค่ะ”
“เคยมีอยู่ที่ไหนเล่า”
“อยู่ในพระราชอุทยานพระเจ้าค่ะ”
“ไม้รังนั้นมี ๔ ต้น หรือเปล่า”
“ขอเดชะ ไม้รังนั้นมีมากกว่า ๔ ต้น แต่ว่ามิได้ขึ้นเป็น ๔ เหลี่ยม ๔ มุมเลย แต่มีขึ้นเรียงรายกันไป”
“แล้วพวกท่านเข้าใจว่าอย่างไรเล่า”
“พวกข้าพระองค์คิดว่าอยู่ในพระราชอุทยานเป็นแน่พระเจ้าข้า” พวกท่านเคยขุดบ้างหรือเปล่า”
“เปล่าเลยพระเจ้าค่ะ”
“ถ้าพวกท่านไปขุดในพระราชอุทยานก็คงเหนื่อยเปล่าเพราะจะไม่พบขุมทรัพย์ในนั้นเลย”
“ถ้าอย่างนั้นจะให้ขุดที่ใดพระเจ้าค่ะ จึงจะพบขุมทรัพย์”
“ท่านจงขุดที่ทวารทั้ง ๔แห่ง ที่มีพระแท่นทำด้วยไม้รังอยู่”

พวกอำมาตย์ก็ไปขุดก็พบทั้ง ๔ แห่ง และได้ทูลต่อไปว่า “พระราชาของพวกข้าพระองค์ได้ตรัสไว้อีกว่า ขุมทรัพย์อยู่ประมาณโยชน์หนึ่ง”
“พวกท่านได้ขุดหาบ้างหรือเปล่าล่ะ”
“พวกข้าพระองค์ได้พาไปขุดในบริเวณในป่าที่ห้างจากเมืองไปประมาณโยชน์หนึ่งพระจ้าค่ะ”
“แล้วไม่พบอะไรเลยเชียวรึ”
“ไม่พบเลยพระเจ้าค่ะ”
“ถ้าเช่นนั้นลองทดลองดูว่าเราจะคิดปัญหานั้นตกหรือไม่พวกท่านจงลองวัดจากแท่นบรรทมไปดูข้างละ ๔ ศอก แล้วลองคุดไปดูซิจะพบอะไรบ้าง”

พวกอำมาตย์ได้วัดจากทิศตะวันออกครบ ๓ ศอก แล้วก็ขุดลงไปพบขุมทรัพย์ ทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศตะวันตก รวม ๔ ทิศ ก็พบทั้งสิ้น จึงพากันมากราบทูล “ขอเดชะ พวกจ้าพระองค์ได้ไปขุดค้นตามที่ทรงแก้ปัญหาแล้ว ปรากฎว่าพบทุกแห่งพระเจ้าค่ะ แต่พวกข้าพระองค์ เกิดสงสัยว่าทำไมพระราชาตรัสว่าขุมทรัพย์อยู่ในโยชน์หนึ่งแต่นี้ห่างจากพระแท่นบรรทมเพียง ๔ ศอก เท่านั้น ขอพระองค์ได้โปรดให้ความแจ่มแจ้งด้วยเถิดพระเจ้าค่ะ”
“ถ้าเช่นนั้นพวกท่านฟังให้ดี โยชน์หนึ่งนั้นมี ๔๐๐ ศอก ใคร ๆ ก็รู้จักด้วยกันทั้งนั้น เส้นหนึ่งที ๒๐ วา ๆ หนึ่งมี ๔ ศอก นี่ก็เป็นจำนวนใหญ่ ๆ ก็พวกท่านว่าไม่พบในโยชน์หนึ่ง เราคิดว่าศอกอันนั้นจะนับเป็นวาเป็นเส้นเป็นโยชน์นั้นมีเพียง ๔ ศอกเท่านั้น เราจึงคิดปัญหาข้อนี้เพียงแค่ ๔ ศอก”

พวกอำมาตย์ข้าราชบริพารต่างก็ส่งเสียงแสดงความยินดีกึกก้องไปทั่วพระลาน
“ปริศนาของพระราชาหมดแล้วหรือยัง”
“ยังพระเจ้าค่ะ”
“มีอะไรอีกล่ะ ว่าไปดูทีหรือ”
“พระองค์ตรัสว่า ขุมทรัพย์หนึ่งอยู่ที่ปลายงา”

เจ้ามหาชนกก็ให้ขุดที่โรงไว้คชสาร ตรงที่พญาเศวตกุญชรยืนปลายงาจรดดิน ก็ได้ดังประสงค์ และให้ขุดตามที่อำมาตย์ทั้งหลายบอกปริศนาก็ได้ดังดำรัส ข้าราชบริพารทั้งหลายพากันโห่ร้องกึกก้องสรรเสริญพระปัญญาบารมีของพระองค์เอิกเกริกไปทั่วพระนคร เมื่อไต่ถามทราบว่า หมดข้อความที่พระราชาตรัสไว้แล้วก็ให้จำหน่ายจ่ายแจกพระราชทรัพย์ โดยให้จัดสร้างโรงทาน ๖ แห่งคือ กลางเมือง แห่งหนึ่ง ที่ประตูเมืองด้านเหนือ ด้านใต้ ด้านตะวันตก ด้านตะวันออก รวม ๔ แห่ง และประตูพระราชนิเวศอีกแห่งหนึ่ง

แล้วตรัสให้คนไปรับพระมารดามาจากเมืองกาลจัมปา พร้อมกับให้รางวัลท่านอาจารย์ที่มารดาของพระองค์ไปอาศัยอยู่ ความจริงได้ปรากฎออกมาว่าพระองค์ไม่ใช่ใครอื่นเลยแท้ที่จริงเป็นพระโอรสชองพระเจ้าอริฎฐาชนกนั่นเอง แล้วจึงให้มีการสมโภชในการเสวยราชสมบัติ เมื่อออยู่พระองค์เดียวก็ทรงรำพึงว่า เพราะพระองค์ไม่ทอดทิ้งความเพียรพยายามในการที่เอาตัวรอดจากภัยอันตรายจึงได้ประสบสุขถึงเพียงนี้ ฉะนั้นเกิดเป็นคนควรพยายามเรื่อยไปจนกว่าจะสำเร็จความประสงค์ พระองค์ได้เสวยราชสมบัติอยู่ช้านาน จนมีพระโอรสทรงพระนามว่า ทีฆาวุ เมื่ออายุเจริญวัยแล้วก็ได้ตั้งให้เป็นอุปราช

วันหนึ่งเจ้าพนักงานพระอุทยาน ได้นำพืชพรรณชนิดต่าง ๆ มาถวาย ทรงถามได้ความว่า นำมาจากพระราชอุทยานก็คิดจะไปประพาส จึงตรัสสั่งให้ข้าราชบริพารจัดกระบวนไปเสด็จประพาส ในขณะที่ทรงช้างเสด็จถึงประตูสวนก็เห็นมะม่วงต้นหนึ่งมีลูกดก แลดูเต็มต้นไปทั้งต้น กำลังอยากเลยเสด็จลุกขึ้นยืนบนหลังช้าง เก็บมะม่วงลูกหนึ่งมาเสวย แล้วก็เลยเข้าไปประพาสในพระราชอุทยาน ทรงสำราญอยู่ในพระราชอุทยานนั้นจนกระทั่งเย็นจึงเสด็จออกมา พอถึงประตูสวน พระองค์ก็แปลกพระทัยเพราะปรากฎว่ามาม่วงต้นที่มีลูกเต็มไปหมดนั้น จะหาแม้แต่ลูกเดียวก็ไม่พบ แถมข้างล่างยังเต็มไปด้วยกิ่งก้านสาขาที่หัก ใบอ่อนใบแก่หล่นเกลื่อนกลาดไปทั้งบริเวณโคนต้น จึงตรัสถามผู้รักษาสวนว่าเป็นเพราะเหตุอะไรจึงเป็นเช่นนั้น เขากราบทูลให้ทราบว่า เพราะประชาชนเห็นว่ามะม่วงต้นนั้นพระองค์เสวยแล้ว เขาพากันมาเก็บ ต่างยื้อแย่งกัน สภาพของต้นมะม่วงจึงเป็นอย่างที่ทอดพระเนตรบัดนี้


พระองค์ได้ทรงสดับ จึงเกิดความคิดขึ้นว่า มะม่วงต้นนี้เพราะมีลูกจึงต้องมีสภาพเช่นนี้ ถ้าไม่มีลูกก็คงจะไม่ต้องหักยับเยินอย่างนี้ ถ้าเราไม่มีราช สมบัติเสียก็จะหาคนปองร้ายมิได้ พระราชาเสด็จพระนคร เสด็จขึ้นปราสาท. ประทับที่พระทวารปราสาท ทรงมนสิการถึงวาจาของนางมณีเมขลา ในกาลที่นางอุ้มพระมหาสัตว์ขึ้นจากมหาสมุทร. พระราชาทรงจดจำคำพูดของเทวดาไม่ได้ทุกถ้วยคำ เพราะพระสรีระเศร้าหมองด้วยน้ำเค็มตลอดเจ็ดวัน. แต่ทรงทราบว่า เทวดากล่าวชี้ว่าพระองค์จะยังเข้ามรรคาแห่งความสุขไม่ได้ หากไม่กล่าวธรรมให้สาธุชนได้สดับ.

นางมณีเมขลาให้พระองค์ตั้งสถาบันการศึกษา ให้ชื่อว่า ปูทะเลย์มหาวิชชาลัย. แม้ในกาลนั้นก็จะสำเร็จกิจและได้มรรคาแห่งบรมสุข. พระมหาสัตว์ทรงดำริว่า : “ทุกบุคคลจะเป็นพ่อค้าวาณิช เกษตรกร กษัตริย์ หรือสมณะ ต้องทำหน้าที่ทั้งนั้น. อย่างไรก็ตาม ก่อนอื่นเราต้องหาทางฟื้นฟูต้นมะม่วงที่มีผล. เมื่อพระองค์ดำริฉะนี้แล้ว พอเสด็จเข้ามาถึงพระราชวังก็ตรัสเรียกอำมาตย์มาสั่งว่า
“ต่อไปนี้ไปปราสาทของเราห้ามคนไปมา นอกจากผู้ที่จะนำอาหารเข้ามาให้เราเท่านั้น เมื่อมีราชกิจใดมีมาพวกท่านจงช่วยกันพิจารณาจัดไปตามความคิด เราจะจำศีลภาวนาสักระยะหนึ่ง”


และนับแต่นั้น พระมหาชนกก็บำเพ็ญสมณธรรมอยู่ในพระปรางค์ประสาทมิได้เสด็จไปทางใดเลย พวกพสกนิกรทั้งหลายพากันสงสัยสนเท่ห์ว่าพระราชาของพวกเขาเสด็จไปอยู่แห่งใด เคยสนุกสนานรื่นเริงในการดูมหรสพก็มิได้มี

บัดนี้พระองค์ไปที่ใดหรือจะสิ้นพระชนม์เสียแล้ว พากันปรับทุกข์และเล่าลือไปต่าง ๆ นานา แม้จะมีเสียงเล่าลือใด ๆ แต่พระองค์ตรัสห้ามข่าวสารทั้งปวงสิ้น เมื่อบำเพ็ญสมธรรมอยู่ในปราสาทนาน ๆ เข้าก็คิดจะออกไปอยู่ป่า เพราะในพระราชวังยังมีเสียงอื้ออึงไม่มีความสงบ วันหนึ่งนายกัลบกมาเพื่อชำระพระเกศา พระมัสสุได้ทรงตรัสให้ปลงเสียทั้งหมด แล้วทรงนุ่งห่ทผ้ากาสาวะ เสด็จประทับอยู่ในปราสาท ตั้งพระทัยว่ารุ่งขึ้นจะเสด็จออกไปบำเพ็ญพรตในป่า


ในวันนั้นเองพระสิวลีเทวีผู้อัครชายา คิดว่าเรามิได้พบเห็นพระสวามีของเราถึง ๕ เดือนแล้ว ควรจะไปเยี่ยมเยือนเสียที จึงสั่งให้นางสนมกำนัลตกแต่งร่างกาย แล้วพาไป ณ ปรางค์ปราสาทของพระเจ้ามหาชนก พอย่างขึ้นบนปรางค์ปราสาทก็ให้นึกเอะใจ เพราะปรากฎว่าเส้นพระเกศาซึ่งนายภูษามาลาเก็บรวบรวมไว้ยังมิได้นำไปที่อื่น

และเครื่องทรงพระมหากษัตย์วางอยู่ และขณะนั้นก็ได้เห็นพระปัจเจกโพธิองค์หนึ่งดำเนินสวนทางลับตานางไป นางยังมิทันคิด แต่เมื่อเห็นเส้นพระเกศาและเครื่องทรง จึงคิดได้ว่าเมื่อกี้เห็นจะเป็นพระสวามีเป็นแน่ มิใช่พระปัจเจกโพธิจึงตรัสเรียกนางสนมกำนันว่า
“แม่นางทั้งหลาย พวกเราพากันติดตามพระสวามีเถิดเมื่อกี้ไม่ใช่พระปัจเจกโพธิดอก แต่เป็นพระราชสวามีของพวกเรา” พร้อมทั้งทรงกันแสงไปด้วย แล้วพากันติดตามไปก็ทันพระมหาชนก ต่างพากันร้องไห้คร่ำครวญรำพันด้วยประการต่าง ๆ แต่พระมหาชนกก็มิได้เสด็จกลับ
พระราชเทวีก็คิดอุบายให้ประชาชนพลเมืองนำเอาเชื้อไฟมากอง แล้วจุดไฟขึ้นนแทบทั่วพระนคร แล้วไปทูลเชิญให้กลับมาดับไฟเพราะพระราชวังไหม้หมด แต่พระมหาชนกก็มิได้เสด็จกลับ โดยคิดว่า
“เราเป็นบรรชิต ไม่มีสมบัติอันใด”

แม้พระราชเทวีจะทำกลอุบายประการใด พระองค์ก็หากลับไม่ คงมุ่งหน้าไปสู่ไพรพฤกษ์ข้างหน้าเท่านั้น พระราชเทวีสนมกำนัล และข้าราชบริพารพากันติดตามไปอ้อนวอนให้เสด็จกลับเข้าครองราชสมบัติดังเก่า แต่พระองค์ก็หากลับไม่ คนเหล่านั้นก็ยังติดตามเรื่อยไป

พระองค์เห็นว่ามหาชนจะทำให้การบำเพ็ญพรตของพระองค์เป็นไปไม่ได้สดวก จึงหันกลับมาขีดเส้น พร้อมกับตรัสถามว่า
“พวกท่านทั้งหลาย ใครเป็นพระเจ้าแผ่นดินของพวกท่าน”
“พระองค์เป็นพระเจ้าแผ่นดินของพวกข้าพระองค์”
“ถ้าเช่นนั้นใครข้ามเส้นนี้มาจะต้องได้รับพระราชอาญา” แล้วพระองค์ก็เสด็จต่อไป

คนทั้งหมดก็ไม่อาจจะล่วงพระราชอาญาได้ ก็ได้แต่พากันร้องไห้คร่ำครวญรำพันไปด้วยประการต่าง ๆ พระนางสิวลีถึงกับพระกันแสงกลิ้งเกลือกกันพื้นดิน
จนกระทั่งรอยขีดที่พระราชาขีดไว้ลบเลือนไป คนเหล่านั้นเห็นว่าไม่มีรอยขีดแล้ว ก็พากันติดตามไปอีก พระนารทดาบสเกรงว่าพระมหาชนกจะมีพระทัยท้อแท้ไป จึงมาปลอบใจไม่ให้คลายมานะ ที่จะปฎิบัติธรรม แล้วก็หลีกไป พระมหาชนกก็ดำเนินเรื่อยไป และพระสิวลีเทวีก็เสด็จติดตามไปเช่นเดียวกัน ตราบจนกระทั่งถึงเมืองถุนันนคร พระองค์ก็เสด็จผ่านเข้าไปในเมืองนั้น
ชายคนหนึ่งวางชิ้นเนื้อไว้บนเขียง แล้วตนเองก็หันไปทำงานอื่นเสีย สุนัขเห็นได้ท่วงทีก็วิ่งมาคาบก้อนเนื้อได้ก็วิ่งหนีไป ชายผู้เป็นเจ้าของเนื้อเห็นก็ละจากงานเสียแล้ววิ่งไล่ขับสุนัขไป เมื่อสุนัขวิ่งหนีมาพบพระมหาชนกเดินสวนทางมา อารามกลัวเลยทิ้งก้อนเนื้อเสียแล้ววิ่งหนีต่อไป พระมหาชนกคิดว่าเนื้อก้อนนี้ไม่มีเจ้าของมิได้ ก็หยิบขึ้นมาปัดดินทรายออกเสียแล้วใส่ลงบาตร แล้วเสด็จไปนั่งฉัน ณ ที่แห่งหนึ่ง พระเทวีเห็นอากัปกิริยาเช่นนั้นก็สลดใจว่า แม้แต่สมบัติพัสถานทั้งหลายท่านก็เสียสละหมดแล้ว เสวยได้แม้แต่ของเดนสุนัข เพราะฉะนั้นที่พระองค์จะกลับคืนมาครองเมืองดังเก่าไม่มีแน่แล้วแต่ด้วยความอาลัยก็ยังติดตามพระองค์เรื่อยมา

จนกระทั่งถึงเมืองถุนันนคร เห็นเด็กผู้หญิงมือข้างหนึ่งใส่กำไลสองเส้น ข้างที่มีกำไล สองข้างก็กระทบกันดังกรุ๊งกริ๊งตลอดเวลาที่เคลื่อนไหว พระมหาชนกจึงเสด็จเข้าไปตรัสถามเด็กจึงบอกว่า
“ข้างที่มีสองข้างที่ส่งเสียงดัง เพราะมันกระทบกันกระทั้งกัน ท่านเดินมาด้วยกัน ๒ คน จะไปทางใดเล่า”
พระมหาชนกได้ฟังคำกุมาริกาแล้วคิดว่า “สตรีเป็นมลทินของพรมจรรย์ ควรจะให้พระสิวลีแยกทางไปเสีย”

เมื่อถึงหนทางสองแพร่งจึงบอกกับนางว่า “น้องหญิง นับแต่นี้ต่อไปเราแยกทางกันเดินเถิด และอย่าเรียกเราเป็นสามีอีกต่อไป เจ้าจงเลือกทางเอาว่าจะไปทางใดดี”

พระนางสิวลีทรงเศร้าโศกและตรัสตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ ข้าพระบาทมีชาติอันต่ำช้า ขอเลือกไปทางซ้าย ขอพระองค์ เสด็จไปทางขวาเถิด”

บัดนี้พระองค์ไปที่ใดหรือจะสิ้นพระชนม์เสียแล้ว พากันปรับทุกข์และเล่าลือไปต่าง ๆ นานา แม้ เมื่อพระมหาชนกแยกทางไปแล้ว พระนางมีความอาลัยก็เสด็จตามติดไปด้านเบื่องหลังอีก และเมื่อถูกตัดรอนความเยื่อใย พระนางก็ถึงล้มสลบลง แต่ก็ไม่ทำให้พระมหาชนกกลับคืนความคิดได้ คงเสด็จมุ่งหน้าต่อไปเพื่อหาความสงบสงัด จักได้บำเพ็ญพรตภาวนา เมื่อพระนางสิวลีฟื้นคืนสติขึ้นมา ก็ได้พบพระสวามีของพระนางได้เสด็จไปเสียแล้ว พระนางจึงดำริว่า ราชสมบัติทั้งปวงนี้แม้สวามีของเรายังมิได้อาลัยอาวรณ์ เราจะยินดีเพื่อประโยชน์อะไร จึงรับสั่งให้เรียกข้าราชบริพารมา แล้วอภิเษกให้เจ้าทีฆาวุเสวยราชสมบัติพระองค์เองก็เสด็จออกบรรพชา ตราบจนกระทั่งสิ้นชีพไปบังเกิดบนสวรรค์ทั้งสองพระองค์
คติของเรื่องนี้ควรกำหนด ขึ้นชื่อว่า
เป็นคนแล้ว ทำอะไรต้องหมั่นพยายามทำไป
จนกว่าชีวิตจะสิ้น ผลดีที่จะได้ก็บังเกิดขึ้นแน่นอน


เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

ทศชาติชาดก : ชาติที่ 1 พระเตมีย์ใบ้ (เนกขัมมะบารมี)

ในครั้งก่อนนานมาแล้ว พระเจ้ากาสิกราชครองสมบัติในเมืองพาราณสี แต่พระองค์มีราชโอรสและธิดาไม่ ด้วยกลัวว่าจะไม่มีผู้สืบสกุล จึงให้นางจันทเทวีและนางสนมทำพิธีขอพระโอรส พระอัครมเหสีก็ทรงทำตาม จึงได้ทรงครรภ์เมื่อครบกำหนดแล้วก็ทรงประสูติออกมาเป็นราชกุมาร พระเจ้ากาสิกราชทรงดีพระทัยเป็นอันมา
จัดให้การสมโภชและพระราชทานนางนมให้แก่พระราชกุมารและขนานนามว่า เตมีย์กุมารเพราะในวันประสูตินั้นฝนได้ตกทั่วทั้งพระนครและเป็นเหตุให้พระทัยของพระองค์และราษฏร์ได้รับความแช่มชื่น เรื่องความกลัวว่าราชวงค์จะสูญสียก็เป็นอันหมดไปพระเจ้ากาสิกราชทรงโปรดปรานพระราชกุมารมาก บางครั้งถึงกับอุ้มออกไปทรงว่าราชการด้วย….

วันหนึ่งขณะที่พระราชบิดาอุ้มออกไปทรงว่าราชการอยู่นั้น อำมาตย์ได้นำโจรมาให้ ทรงวินิฉัย    ๔ คนด้วยกัน พระราชาทรงสั่งให้ลงอาญาโจรเหล่านั้น..คนที่ ๑    ให้เฆี่ยนด้วยหนามหวาย และอีกคนให้เอาหอกแทงทรมานให้เจ็บปวดแสนสาหัสคน ๑    ให้เอาหลาวเสียบไว้ที้งเป็น..คน ๑    ให้คุมขังไว้

พระราชกุมารได้ทรงเห็นเช่นนั้น ก็ระลึกความหลังครั้งไปอยู่นรก ก็คิดว่าพระราชบิดาของเราทำดังนี้น่ากลัวเหลือเกิน ตายไปตกนรกแน่นอน เราเองถ้าใหญ่ขึ้นมาก็ต้องครอบครองแผ่นดิน ก็ต้องทำอย่างพระราชบิดาแน่นอน ทำอย่างไรจึงจะพ้นไปจากการต้องเป็นพระเจ้าแผ่นดินได้ เทพธิดาผู้เคยเป็นมารดาของพระราชกุมารในครั้งก่อนสิงอยู่ที่เศวตฉัตร..ได้แนะนำพระราชกุมารให้ปฏิปัติ ๓ ประการคือ

๑ .   จงเป็นคนง่อย
๒.   จงเป็นคนหูหนวก
๓.   จงเป็นใบ้     แล้วจะพ้นสิ่งเหล่านี้

นับตั้งแต่นั้นมา เตมีย์ก็เริ่มปฏิบัติไม่พูดไม่จาอะไรทั้งนั้นใครมาพูดก็ทำเป็นไม่ใด้ยิน เอาอุ้มไปวางไว้ที่ไหนก็นั้งอยู่อย่างนั้น ไม่ขยับเขยื้อนไปในที่ใด พระราชบิดาทรงสงสัยว่าแต่ก่อนพระราชกุมารก็เหมือนเด็กทั่วไปรื่นเริงโลดเต้น..
เจรจาเสียงแจ้วอยู่ตลอดเวลาทำไมกลับมาเงียบขรึมไม่พุดไม่จา ใครจะพูดอะไรก็ไม่ได้ยิน คงจะเกิดโรคภัยชนิดใดขึ้นแน่ จึงให้หมอตรวจ ก็มิได้พบว่าพระราชกุมารเป็นอะไร

คงเป็นปกติทุกอย่าง ก็ทรงให้ทดลองหลายอย่างหลายประการ เป็นตันว่าให้อยู่ในที่สกปรก พระเตมีย์อดทนอยู่ได้ แม้จะหิวก็ไม่ทรงกันแสงแม้จะกลัวก็ไม่แสดงอาการอย่างไร เพราะเห็นว่าภัยในนรกร้ายแรงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน..จึงคงเฉย ๆ ทำเอาพระราชบิดาสิ้นปัญญา
พวกอำมาตย์รับอาสาว่าจะทดลองดูก่อน ก็ทรงอนุญาติให้..ครั้งแรกเมื่อให้พระเตมีย์นั่งอยู่ในเรือนแล้วแกล้งจุดไฟเพื่อจะให้พระเตมีย์กลัว..แต่หาได้ทำให้พระเตมีย์หวาดกลัวไม่คงเป็นปกติอยู่

ทดลองอย่างนี้ตั้งปี ก็ไม่พบความผิดปกติอย่างไร ต่อไปก็ทดลองด้วยช้างตกมัน โดยนำพระราชกุมารไปประทับนั่งที่พระลาน..ให้มีเด็กห้อมล้อมหมู่มาก..แล้วให้ปล่อยช้างที่ฝึกแล้วเชือกหนึ่ง วิ่งตรงเข้าไปจะเหยียบพระราชกุมาร เด็กที่ห้อมล้อมอยู่หวาดกลัวร้องไห้พากันวิ่งหนีกระจัดกระจายไป แต่พระเตมีย์ก็คงทำเป็นไม่รู้ชี้เช่นเดิม

ทดลองอย่างนี้สิ้นเวลาตั้งปีก็ไม่สำเร็จประโยชน์อะไรขึ้นมา พระกุมารเคยเงียบไม่กระดุกกระดิกอย่างไรก็คงอย่างนั้นแม้ช้างจะจับพระกายขึ้นเพื่อจะฟาดก็ไม่ตกใจกลัวเพราะมุ่งหวังอย่างเดียวจะให้พ้นจากการเป็นพระเจ้าแผ่นดินให้ ต่อไปก็ทดลองด้วยงู ให้พระเตมีย์นั่งอยู่ แล้วให้ปล่อยงูมารัด ธรรมดาเด็กย่อมจะกลัวงู อย่าว่าแต่เด็กเลยผู้ใหญ่ก็เถอะ…แต่ก็ไม่ทำให้พระเตมีย์หวาดกลัวไปได้ คงนั่งเฉยทำเหมือนรูปปั้นเสีย เล่นเอาอำมาตย์เจ้าปัญญาสั่นหัว

ทดลองอย่างนี้อีกเป็นปีก็ไม่อาจจะจับพิรุธพระกุมารได้ ต่อไปให้ทดลองด้วยการให้พระเตมีย์นี่งอยู่ แล้วให้คนถือดาบวี่งมาจะทำอันตราย แต่พระกุมารทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ หูไม่ได้ยิน ปากก็ไม่มีเสียง กายไม่กระดิกกระเดี้ย ทดลองอย่างนี้อีกเป็นปีก็จับอะไรพระกุมารไม่ได้.. ต่อไปก็ทดลองเสียง โดยให้พระเตมีย์นั่งอยู่พระองค์เดียว แล้วจู่ ๆ เสียงอึกทึกครึกโครมก็ดังขึ้นมาแต่พระเตมีย์คงทำไม่ได้ยินเช่นเคย การทดลองของอำมาตย์เป็นระยะทั้งสิ้น   ๗ ปี หลายปีที่ทำมาก็ไม่สามารถทำให้พระเตมีย์พูดออกมาได้ตั้งแต่   ๙ ขวบ จนกระทั่ง    ๑๖ ขวบ พระเตมีย์ก็คงทำเช่นนั้น

เมื่อวัยแรกรุ่นย่อมจะชอบใจในกามารมณ์ จึงจัดให้ให้สาวน้อย ๆ มาเล้าโลมประการใด ๆ กอดรัดบ้าง ลูบโน่นบ้างลูบนี่บ้าง จนกระทั่งเปิดโน่นให้ดูบ้าง เปิดนี่ให้ดูบ้าง จะทำอย่างไรพระเตมีย์ก็คงทำเฉยไม่รู้ไม่ชี้ทองไม่รู้ร้อนตลอดกาล….

ใครจะพูดอย่างไร จะทำอย่างไรพระเตมีย์ไม่ได้ยินทั้งนั้น ไม่ยอมเคลื่อนไหวไม่ร้องไห้เหมือนเด็ก ๆ ไม่อ้าปากส่งเสียงอะไรออกมา ผลที่สุดทั้งพระราชบิดาและอำมาตย์ลงความเห็นว่าพระกุมารคงเป็นคนกาลกิณีเสียแล้ว.. ขืนให้อยู่ต่อไปคงจะเกิดอันตรายขึ้นแก่พระองค์แก่สมบัติและแก่พระอัครมเหสี ควรจะออกไปทิ้งเสียที่ป่าช้าผีดิบนอกเมือง พระราชาก็เห็นด้วย จึงดำริจะให้เอาไปทิ้งเสีย แต่พระเทวีอัครมเหสีมาเฝ้ากราบทูลว่า
“ขอเดชะ..พระองค์ได้พระราชทานพรไว้แก่ข้าพระองค์บัดนี้หม่อมฉันจะทูลขอพรที่ได้ให้ไว้นั้น…”
“พระเทวีเธอขออะไรก็ตรัสไปถ้าไม่หลือวิสัยแล้วจะให้”
“ข้าพระองค์ขอราชสมบัติให้พระเตมีย์”
“อะไรกันพระเทวีก็เจ้าเตมีย์เป็นคนใบ้ แล้วก็หูหนวกเคลื่อนไหวร่างกายไม่ได้ จะเป็นพระเจ้าแผ่นดินได้อย่างไร”
“ก็พระเตมีย์เป็นอย่างนั้น หม่อมฉันจึงขอพระราชสมบัติ”
“ไม่ได้พระเทวีเลือกอย่างอื่นเถิด”
“หม่อมฉันขอเลือกให้พระเตมีย์ครองแผ่นดินแม้ไม่มากเพียง   ๗ ปีก็พอ”
“ไม่ได้พระเทวีจะเป็นความเดือดร้อนแก่คนอื่นมากมายนัก ลูกเราไม่มีความสามารถถ้าดีอยู่อย่าว่าแต่    ๗ ปีเลย ตั้งใจอยู่แล้วว่าจะให้สมบัติตลอดไป”
“ขอสัก   ๑ ปีก็แล้วกัน”
“ไม่ได้พระเทวี”
“ถ้าอย่างนั้นขอ    ๗ วัน หม่อมฉันขอให้พระเตมีย์ได้เป็นสักหน่อยเถิด”

พระเจ้ากาสิกราชก็ยอมตกลง จึงได้ให้ตกแต่งร่างกายของพระเตมีย์ในเครื่องกษัตริย์ แล้วให้เสด็จเลียบพระนครประกาศให้ประชาชนพลเมืองทั่วไปทราบว่า บัดนี้พระเตมีย์ได้เป็นกษัตริย์แม้ใคร ๆ จะทำอย่างไรพระเตมีย์ยังคงเฉย ร่างกายไม่เคลื่อนไหวเป็นเหมือนหุ่น เขาวางไว้ตรงไหนก็อยู่ตรงนั้น ไม่พูดไม่จาอะไรทั้งสิ้น ใครจะทำอะไรก็ไม่ได้อยู่ในความสนใจของพระกุมารทั้งสิ้น พอครบ    ๗ วัน

พระนางจันทเทวีก็ทรงพระกันแสงเพราะครบกำหนดที่สัญญาไว้กับพระราชาแล้ว พระราชาจึงมอบพระเตมีย์กุมารให้กับนายสุนันทสารถีเอาใส่รถไปฝังเสียที่ป่าช้าดิบภายนอกเมือง นายสุนันทก็เอาพระเตมีย์ใส่ท้ายรถขับออกจากตัวเมืองไปยังป่าช้าผีดิบ แต่หารู้ไม่ว่าทางที่จะไปนั้นม้นไม่ใช่ป่าช้าผีดิบแต่เป็นป่าอีกหนึ่งต่างหาก..
ความผิดพลาดของนายสารถี นับตั้งแต่เริ่มเทียมรถม้าแล้วคือ แทนที่จะเอารถสำหรับใส่ศพ กลับเอารถมงคลมาเทียมแทนและเมื่อรับพระเตมีย์แล้วก็คิดว่าจะขับไปป่าช้าผีดิบซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกจึงเป็นอันว่านายสารถีผิดพลาดตลอดมา..

แต่การผิดพลาดนี้เป็นผลดีของพระเตมีย์

เมื่อถึงป่านอกเมือง ซึ่งนายสุนันทคิดว่าเป็นป่าช้าผีดิบ เขาก็หยุดรถหยิบจอบเสียมลงไปเพื่อจะขุดหลุมฝังพระกุมารเสีย หูของเขายังแว่วพระดำรัสของพระราชาที่ว่า
“ลูกข้าคนนี้ เป็นกาลกิณีเองจงเอาไปป่าช้าแล้วขุดหลุมสี่เหลียมให้ลึก แล้วเอาจอบทุบหัวมันเสียก่อนแล้วค่อยฝังมันทีหลัง ช่วยมันหน่อยนะอย่าให้ฝังมันต้องถูกฝังทั้งเป็นเลย

ในขณะที่นายสารถีกำลังขุดหลุมอยู่ไมไกลจากรถนี้นเอง พระเตมีย์ก็คิดว่าร่างกายของเราไมได้เคลื่อนไหวมาตั้ง  ๑๖ ปี จะเป็นอย่างไรบ้างก็ไม่รู้ ก็ทรงกายลุกขึ้นลงมาจากรถทดลองเดินไปมาอยู่ข้างรถ
“ไม่เป็นอะไร มือเท้าไม่ได้เป็นง่อยเปลี้ยเสียแต่อย่างใด แต่กำลังเล่าจะเป็นไฉน”

คิดแล้วก็จับเอางอนรถยกขึ้น..เป็นความมหัศจรรย์…พระเตมีย์ยกรถขึ้นกวัดแกว่งได้เหมือนยกเอารถตุ๊กตาเบาแสนเบาแล้วกลับวางอย่างเดิม แลเห็นนายสารถีก้มหน้าก้มตาขุดหลุมอยู่โดยไม่ทราบว่าพระองค์ได้ทำอย่างไรบ้าง จึงเดินเข้าไปยืนอยู่ใกล้ก็ไม่รู้แต่ก็ตกใจเมื่อได้ยินเสียง
“สารถีท่านขุดหลุมสี่เหลียมทำไมกัน”

เขาเหลียวหน้ามามองแต่ก็จำไม่ได้ว่าเป็นพระกุมารที่ตนนำมาคิดเสียว่าเป็นคนเดินทางผ่านมาเห็นตนกำลังขุดหลุมอยู่ก็แวะเจ้ามาสอบถามดู
“ขุดหลุมฝังคน” เขาตอบสั้น
“ฝังใครกันล่ะ?”

“ฝังลูกพระเจ้าแผ่นดิน”
“ฝังทำไมกันล่ะ?”
“เรื่องมันยืดยาวท่านอยากจะรู้ไปทำไม”
“ก็อยากจะรู้บ้างว่าคน ๆ นั้นเป็นลูกพระเจ้าแผ่นดินจะมาถูกฝังเพราะโทษอะไร” นายสารถีก็ชี้แจงว่า
“ไม่มีโทษอะไรหรอก แต่พระราชกุมารเป็นคนกาลกิณีขืนปล่อยไว้นานไปความอุบาทว์ ทั้งหลายก็จะเกิดแก่ราชสมบัติ พระเตมีย์จึงแสร้งตรัสถามต่อไปว่า
“คนกาลกิณีน่ะเป็นอย่างไร”
“ก็เป็นคนไม่ดีน่ะสิ” นายสารถีเริ่มฉุน
“ไม่ดีอย่างไร”
“เอ..ท่านนี่ควรจะไปเป็นศาลตุลาการ..แทนที่จะเป็นคนเดินทางเพราะแก่ชักเสียจริง”

พระกุมารก็ไม่ขุ่นเคือง คงมีพระดำรัสเรียบ ๆ ถามต่อไป
“ข้าพเจ้าอยากรู้จริง ๆ ก็เลยรบกวนท่านหน่อย”
“เอ๊า…อย่างนั้นคอยฟัง..คือว่าพระโอรสของเจ้านายข้าพเจ้าคนนี้ เกิดมามีลักษณะสวยงามน่าเอ็นดูอยู่หรอก แต่เสียอย่างเดียวภายหลังมาเกิดไม่พูดไม่จาแขนขาไม่ยกไม่ก้าว เสียเฉย ๆ ยังงั้นเเหละใครจะพูดอะไร หูก็แถมหนวกเสียด้วยเลยเป็นอันว่าเหมือนตุ๊กตาตัวโต ๆ ที่เขาตั้งไว้”
“แล้วอะไรอีกล่ะ”
“ก็ไม่ยังไงหรอกพระเจ้าแผ่นดินรอมาถึง   ๑๖ ปี ก็ไม่เห็นดีขึ้น เลยตัดสินให้ข้าพเจ้าเอามาฝังเสียหลุมที่ขุดนี่แหละที่จะฝังพระราชกุมาร ท่านเข้าใจหรือยัง”
“ท่านรู้ไหมว่าเราเป็นใคร” จึงมองอย่างพินิจพิจารณา แต่เขาก็จำไม่ได้เพราะผู้ที่เขาเห็นอยู่ตรงหน้าบัดนี้ไม่ใช่พระกุมารผู้เป็นง่อยเปลี้ยเสียแข้งขาเสียแล้ว แม้ว่าหน้าตาจะคล้ายคลึงกับพระกุมารแต่เขาก็ไม่แน่ใจนักจึงทำอ้ำอึ้งอยู่

เมื่อเห็นสารถีมองดูด้วยความสงสัยจึงประกาศตนว่า
“สารถี..เราคือเตมีย์กุมารที่ท่านจะนำมาฝัง ท่านลองพิจารณาดูเถิดว่าเป็นคนกาลกิณีหรือเปล่า..ดูสิเราเป็นง่อยหรือเปล่า”
นายสารถีได้แต่มองอย่างสงสัย แล้วเอ่ยขึ้นรำพึงกับตัวว่า
“เอ พระกุมารก็ไม่น่าเป็นไปได้ จะว่าไม่ใช่ก็กระไรอยู่”

“เราคือเตมีย์กุมาร โอรสของพระเจ้ากาสิกราชที่ท่านอาศัยเลี้ยงชีพด้วยการเป็นราชบริพารอยู่บัดนี้ อย่าสงสัยเลยท่านขุดหลุมฝังเราน่ะเป็นเรื่องไม่เป็นธรรมเลย”
“ทำไมไม่เป็นธรรม?”
“ท่านมองดูสิว่าเราเป็นคนกาลกิณีหรือเปล่า ท่านได้รับคำสั่งให้ฝังคนกาลกิณีต่างหาก”
“จริงสินะ” สารถีคิดแต่เขาก็อ้ำอึ้งอยู่ไม่รู้จะกล่าวออกว่ากระไรอีก ที่เขาจะนำไปฝังนั้นเอง เขาจึงก้มกราบที่เท้าของพระเตมีย์
“โอ้..ข้าพระบาทเป็นคนโง่เขลา ทั้งนายของตนเองก็จำไม่ได้ เหมือนปาฏิหาริย์ บันดาลให้เกิดไม่น่าเชื่อ”
“ทำไมไม่เชื่อ”
“เพราะพระองค์ไม่เคลื่อนไหวร่างกายตั้งสิบกว่าปีอวัยวะควรจะใช้ไม่ได้ ควรจะเหี่ยวแห้งไป แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่นับว่าเป็นความประหลาดมากทีเดียว”
“เมื่อท่านเห็นเราเป็นอย่างนี้แล้ว ท่านยังจะคิดฝังเราอีกหรือเปล่า”
“ไม่พะย่ะค่ะ ข้าพระบาทเลิกคิดจะทำร้ายพระองค์แล้ว ข้าพระพระองค์เข้าไปเฝ้าพระราชบิดามารดาเพื่อจะได้ครองราชสมบัติต่อไป”
“เราไม่คิดจะกลับไปสู่สถานเช่นนั้นอีก เพราะที่นั้นเป็นเหตุให้กระทำความชั่ว ซึ่งต่อไปจะทำให้บังเกิดในนรกอย่างไม่รู้จะผุดจะเกิดเมื่อไหร่ ?”

แต่นายสารถีก็ยังแสดงความดีใจ
“ถ้าข้าพระองค์นำพระองค์กลับเข้าไปได้ใคร ๆ ก็ต้องแสดงความยินดีกับพระองค์ และข้าพระองค์ก็จะได้เงินทองทรัพย์สมบัติผ้าผ่อนและแพรพรรณต่าง ๆ จากคนเหล่านี้ เป็นต้นว่า
พระราชบิดามารดาของพระองค์ก็ทรงยินดี ข้าพระองค์อาจจะได้ยศศักดิ์ บริวารและ อะไรต่าง ๆ ตามความปรารถนาเพราะ ใคร ๆ แสดงความสามารถที่จะให้พระองค์ไม่กลายเป็นคนง่อยเปลี้ยเสียขาเป็นคนหูหนวกเป็นใบ้มาตั้งสิบกว่าปีก็ไม่สำเร็จ แต่ข้าพระองค์กลับทำได้ เป็นความดีใจที่เหนือความดีใจทั้งหมดที่เคยมี ข้าพระองค์กำลังจะรับความสุข ไม่ต้องลำบากเช่นเดี๋ยวนี้”

“ท่านอย่าเพิ่งดีใจไปก่อนเราจะว่าให้ฟังเราเป็นคนไม่มีญาติขาดมิตร เป็นคนกำพร้า เป็นคนกาลกิณีจนเขาต้องให้ท่านเอาเราไปฝังเสียยังป่าช้าผีดิบ..ท่านนำเรากลับไปก็ไม่ดีท่านนั้นเเหละอาจจะกลายเป็นคนกาลกิณีไปก็ได้เพระใคร ๆ เขาก็เข้าใจอย่างนั้นแล้วท่านจะฝืนความนึกคิดคนอื่นได้อย่างไร เราสละแล้วด้วยประการทั้งปวง บ้านเรือนแว่นแคว้นเราไม่มี เราจะบำเพ็ญพรตรักษาศีลอยู่ในป่านี้โดยไม่กลับไปอีกแล้ว”

“พระองค์น่าจะตรัสกับพระราชบิดามารดาเสียก่อน”
“ไม่ล่ะ เราความเพียรเพื่อจะออกจากเมืองเป็นจำนวนถึง   ๑๐ กว่าปี ความตั้งใจของเราจะสำเร็จแล้ว เราจะไม่เข้าไปสู่สถานที่ทำกรรมอีกล่ะ ถ้าเราเป็นพระเจ้าแผ่นดินอาจจะอยู่ไปได้หลายสิบปี แต่เราจะต้องทำกรรมแล้วไปตกอยู่ในนรกตั้งหมื่นปี ท่านลองคิดดูว่าพระเจ้าแผ่นดินจะต้องสั่งให้เขาเฆี่ยนตี..ฆ่าคนนี้..ทำทรมานคนโน้น..ริบทรัพย์คนนั้น..ริบทรัพย์คนโน้น..วันละเท่าไร ปีละเท่าไร แล้วผลของการกระทำความชั่วนั้นจะไม่ย้อนกลับมาให้ผลเราบ้างหรือ

นายสารถีอดที่จะค้านไม่ได้
“พระเจ้าแผ่นดินจะทรงทำอย่างนั้น..ว่าโดยทางโลกยินยอมว่าเป็นความถูกต้อง เขาให้อำนาจที่จะกระทำ แต่ท่านต้องไม่ลืมนะว่าจะทำอย่างไรก็ไม่ผิดจากทางโลก..แต่ทางธรรมไม่เคยยกเว้นให้ใคร ทางธรรมมีอยู่ว่าทำดีต้องได้ดี ทำชั่วต้องได้ชั่ว ผลของการทำดีนำไปสู่สวรรค์ ผลของการทำชั่วนำไปสู่นรก”

นายสารถีจึงกราบทูลว่า
“ข้าพระองค์เป็นคนเขลา ยังคิดเป็นความสุขสบายแต่เมื่อพระองค์ดำรัสก็เห็นได้จริงคงอย่างนั้น ทุกคนต้องรักขีวิตร่างกายของตนทั้งนั้น เมื่อใดใครมาทำอันตรายก็เป็นธรรมดาต้องไม่ชอบ เมื่อพระองค์เห็นว่าโลกยุ่งมากนักจะบวช ข้าพระองค์ก็จะบวชเหมือนกัน” พระกุมารดำริว่า

“หากให้นายสารถีบวชเสีย ม้ารถก็เสียหาย และพระราชบิดามารดาคงได้รับความโทมนัสที่จะเอาฝังเสีย ถ้าให้ท่านกลับคืนไปเมืองก็จะทำให้พระองค์เสด็จมาดูเรา ได้รับความโสมนัส และบางทีพระราชบิดาจะกลับใจประพฤติชอบขึ้นมาบ้าง” จึงตรัสว่า
“เธอกลับไปส่งข่าวแก่พระราชบิดามารดาก่อนเถิดแล้วค่อยมาบวชทีหลัง เพราะบวชด้วยความเป็นหนี้ไม่ดีเลย”

นายสารถียินดีจะกลับไปทูลพระเจ้าแผ่นดิน แต่เกรงว่าเมื่อตนไปกราบทูลพระเจ้าแผ่นดินแล้ว เมื่อเสด็จมาดูไม่พบพระกุมารก็เลยกลายเป็นว่าตนโกหก อาจจะถูกลงพระอาญาได้ จึงทูลขอพระกุมารไว้อย่าได้เสด็จไปที่อื่น ซึ่งพระกุมารก็รับคำนายสารถีถึงได้กลับไป

พระนางจันทรเทวี นับตั้งแต่นายสารถีเอาพระราชกุมารไปแล้วพระองค์ก็คอยเฝ้ามองอยู่ว่าเมื่อไรนายสารถีจะกลับมา จะได้ทราบเรื่องพระโอรสที่รักบ้าง
เมื่อเห็นนายสารถีกลับมาคนเดียวก็แน่พระทัยว่าพระราชโอรสของพระองค์สิ้นพระชนม์เสียแล้ว น้ำพระเนตรก็ไหลอาบพระปรางด้วยความโทมนัส ตรัสถามนายสารถีว่า
“พ่อสารถี ที่เอาโอรสของเราไปฝังนั้น พ่อได้รับคำสั่งเสียจากโอรสของเราอย่างไรบ้าง   และโอรสของเราได้ทำอย่างไร”
“ขอเดชะพระแม่เจ้า    ข้าพระบาทจะเล่าเหตุการณ์ที่เกิดกับพระราชกุมารให้ฟังตั้งแต่ต้นจนปลาย”

แล้วเขาก็เล่าตั้งเเต่นำเอาพระโอรสอออกไปขุดหลุมจะฝังพระโอรสก็กลับกลายหายจากง่อยเปลี้ยเสียขา   เจรจาได้ทรงพลกำลังยกรถที่ขี่ออกไปกวัดแกว่ง  จนกระทั่งตนได้ทราบความจริงว่าทำไมพระกุมารจึงได้ทำอย่างนั้น    แล้วเขาก็ลงท้ายว่า
“ขอเดชะ บัดนี้พระองค์ทรงผนวชอยู่ในราวเบื้องป่าบูรพาทิศเมืองนี้พระเจ้าข้า”

เท่านั้นเองพระนางก็ลิงโลดพระทัยตรัสออกมาว่า
“โอ..พ่อเตมีย์ของแม่ไม่ตายดอกหรือ เออ? ดีใจ ดีใจจริงๆ”    สองพระกรก็ทาบพระอุระ ข่มความตื้นตันไว้ในพระทัย ถึงพระกาสิกราชก็ดีพระทัยเช่นกัน

การที่พระองค์ให้เอาพระเตมีตย์ไปฝังเสียนั้น ใช่ว่าพระองค์จะชิงชังหรือรังเกลียดก็หามิได้ แท้ที่จริงเพราะพระองค์กลัวอันตรายจะเกิดกับพระราชวงศ์ ตลอดจนพระมเหสีที่รักต่างหาก     และนายสารถีก็ได้กราบทูลว่า
“พระราชกุมารทรงพระสรีระโฉมงามสง่าเหลือเกินมีสุรเสียงไพเราะตรัสออกมาน่าฟัง เหตุที่เป็นดังนั้นเพราะพระกุมารตรัสเล่าให้ฟังว่า

ทรงระลึกชาติได้ได้ว่าครั้งชาติก่อนพระองค์เคยเป็นพระเจ้าแผ่นดินได้ทำกรรมมีการจับกุมขังเฆี่ยนฆ่านักโทษมี ประการ ต่าง ๆ ครั้นพระองค์สวรรณคตแล้วได้ไปบังเกิดในนรกเป็นเวลานาน
เหมือนคนที่ถูกงูกัด มองเห็นสิ่งอะไรคล้ายกับงูก็ย่อมจะกลัวไปหมด ฉะนั้นข้าพระองค์เองยังอยากจะบวชอยู่ในป่านั้นด้วย แต่พระกุมารไม่ยอมให้ข้าพระองค์บวช บอกให้ข้าพระองค์กลับมาทูลเรื่องราวให้พระองค์ทั้งสองทราบเสียก่อน แล้วจึงค่อยไปบวชภายหลัง ข้าพระองค์จึงได้รีบกลับมากลาบทูลให้ทราบ หากพระองค์อยากจะเสด็จไปสถานที่นั้น ข้าพระองค์จักนำไปเอง”

พระเจ้ากาสิกราชมีพระดำรัสให้เตรียมพโยธาเพื่อจะเสด็จไปเฝ้าพระเตมีย์กุมาร ซึ่งบวชบำเพ็ญพรตอยู่ในป่าด้านปราจีนทิศของเมือง แต่การเข้าไปนี้พระราชาเป็นผู้เสด็จเข้าไปก่อนเพื่อสอบถามทุกข์สุขซึ่งกันและกัน พระเทวีจึงเสด็จเข้าไป เมื่อเห็นพระโอรสเสด็จประทับนั่งอยู่ ด้วยความปลื้มปีติพระนางตรงเข้าไปกอดพระบาทของพระโอรส ทรงกันแสงสะอึกสะอึ่นแล้วถอยออกมา
“พ่อเตมีย์บริโภคแต่ใบไม้พลไม้ในป่า ทำไมจึงมีร่างกายสดใส”

พระราชาจึงถามพระเตมีย์ว่า เตมีย์กุมารจึงทูลตอบว่า
“ขอเดชะการที่เป็นเช่นนี้เพราะเหตุว่า สละความห่วงใยไม่ให้มาเกาะเกี่ยวจิตใจ อะไรที่ล่วงมาแล้วก็ไม่คิดเศร้าโศก ไม่คิดอยากได้สิ่งที่ยังมาไม่ถึง พยายามรักษาจิตใจในสิ่งที่เป็นปัจจุปันเท่านั้น จึงทำให้ผิวพรรณของหม่อมฉันไม่เศร้าหมอง”
“เมื่อพ่อไม่เป็นกาลกิณีแล้ว พ่อก็ควรจะกลับไปครองราชสมบัติเพื่อประโยชย์แก่ชนหมู่มากเถิด บัดนี้ก็เอาเบญจราชกกุธภัณฑ์มาด้วยแล้ว และเมื่อกลับไปถึงบ้านเมืองแล้วจะได้ ไปสู่ขอลูกกษัตริย์อื่นให้มาเป็นอัครมเหสี พระกูลวงศ์ของเราก็ไม่เสียไป”

เตมีย์กลับกล่าวตัดบทว่า
การบวชควรจะบวชเมื่อยังหนุ่มเพราะสังขารร่างกายของเราตกอยู่ในคติของธรรมดา เกิดแล้วก็เจ็บตายไปตามสภาพรู้ไม่ได้ว่าเราจะตายเมื่อใด

พระราชบิดาก็คงเห็น บางคนลูกตายก่อนพ่อแม่ น้องตายก่อนพี่ เหล่านี้แล้ว จะมัวประมาทอยู่ได้อย่างไร โลกถูกครอบงำอยู่ด้วยมฤตยู พระองค์ลองคิดดูช่างหูกเขาจะทอผ้าสักผืนหนึ่ง ทอไปทอไปข้างหน้า ก็น้อยเข้าฉันใด ชีวิตของคนเราก็เช่นนั้นพระองค์อย่ามัวประมาทอยู่เลย”

พระราชาได้สดับแล้วก็คิดจะบวชบ้าง แต่ก็คิดจะลองใจเตมีย์กุมารดูอีก ก็ตรัสชวนในราชสมบัติและยกเอากามคุณต่าง ๆ มาล่อ แต่พระเตมีย์ก็คงยืนยันเช่นนั้นพร้อมกับอธิบายถึงผลภัยของราชสมบัติมีประการต่าง ๆ ตนพระราชาตกลงพระทัยจะผนวช

จึงให้เอากลองไปตีป่าวประกาศว่าใครอยากบวชในพระราชสำนักพระเตมีย์ก็จงบวชเถิด และมิใช่แต่เท่านั้น ยังจารึกแผ่นทองคำไปติดไว้ที่เสาท้องพระโรงว่า ใครต้องการทรัพย์สมบัติใด ๆ ในคลังหลวงจงมาเอาไปเถิด

พร้อมกันนั้นก็ให้เปิดพระคลังทั้งสิบสองพระคลังเพื่อจะให้คนที่ปราถนาจะได้ขนเอา ประชาชนราษฎรพากันแตกตื่นไปบวชในพระราชสำนักพระเตมีย์ บ้านเรือนก็เปิดที้งไว้โดยไม่สนใจ ที่บริเวณสามโยชน์ เต็มไปด้วยดาบสและดาสินี บรรดารถและช้างม้าที่พระราชานำมาแต่เมืองก็ปล่อยให้ผุพัง ช้างม้าก็กลายเป็นม้าป่าช้างป่าเกลื่อนไปในป่านั้น

พระราชาที่อยู่ใกล้เคียงได้ทราบว่า กรุงพาราณสีไม่มีผู้คุ้มครองรักษา ก็ยกพหลโยธาหมายจะยึดครองเอาไว้ในอำนาจ
เมื่อมาถึงได้เห็นประกาศที่พระกาสิกราชติดไว้ ก็ทำ ให้เกิดสงสัยว่า ทำไมคนเหล่านี้จึงทิ้งสมบัติทั้งปวงเสีย ออกไปบวชอยู่ในป่าได้ บ้านเรือนราฎรก็ทิ้งไว้ ประตูเมืองก็หาคนปิดมิได้ แต่ทรัพย์สมบัติยังคงอยู่ทุกอย่าง เลยยกพหลโยธาตามออกในป่า พบพระราชาและพลเมืองบวชเป็นฤษีบำเพ็ญพรตอยู่ในป่านั้น

และเมื่อได้สดับธรรมะที่พระเตมีย์ให้โอวาทเข้าอีก เลยทำให้คิดจะหลีกเร้นออกหาความสุข พากันสละช้างม้าตลอดจนเครื่องอาวุธ บวชอยู่ในสำนักพระเตมีย์ ในบริเวณป่าดาษดา ไปด้วยรถที่ผุพังทรุดโทรม สัตว์ป่าวิ่งกันไปในป่าเกลื่อนไปหมดล้วนแต่เชื่อง ๆ รวมอยู่ใกล้ ๆ กับบรรดาฤษีเหล่านั้นก็บำเพ็ญฌานสมาบัติ ตายไปได้บังเกิดในเทวโลก

คติเรื่องนี้ที่ควรจะได้ คือการตั้งใจแน่วแน่
อยากจะได้สิ่งอันใดสมดังความตั้งใจอันนั้น
ก็พยายามจนสำเร็จและได้เห็นความ อดทน
อดกลั้นของพระเตมีย์ ซึ่งต้องทำ เป็นคนง่อย
คนใบ้ คนหูหนวกสารพัดเป็นเวลาตั้ง    ๑๐ กว่าปี
หากเราจะตั้งใจแล้วพยายามทำก็จะต้องสำเร็จจนได้
ในวันหนึ่ง เรื่องพระเตมีย์ก็จบลงด้วยความสำเร็จทุกประการฉะนี้

(เรื่องพระเจ้าสิบชาติ
เป็นเรื่องที่มาจากคัมภีร์พุทธศาสนาซึ่งมีชื่อว่า “มหานิบาตชาดก”)


เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่