Dhammada on Android
available now on
Google Play Store
คำชี้แจง
    Dhammada.net เป็นเว็บไซต์ของกลุ่มลูกศิษย์ที่ภาวนาตามแนวดูจิตได้จัดทำกันเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทาง สวนสันติธรรม หรือ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช แต่อย่างใด     จึงขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันกับข้อเท็จจริง     ขอแสดงความนับถือ     Dhammada.net

หมวดหมู่

เรื่องล่าสุด

Latest Clips

คลังเก็บ

วิธีการฝึกให้เกิดสติที่แท้จริง


mp 3 (for download) : วิธีการฝึกให้เกิดสติที่แท้จริง

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

วิธีการฝึกให้เกิดสติที่แท้จริง

วิธีการฝึกให้เกิดสติที่แท้จริง

หลวงพ่อปราโมทย์: พวกเรารู้สึกมั้ย จิตของพวกเราส่ายตลอดเวลา ดูออกมั้ย ยกตัวอย่างมานั่งฟังหลวงพ่อเนี่ย บางทีจิตก็วิ่งมาที่หลวงพ่อ บางทีจิตก็วิ่งมาตั้งใจฟ้ง ไม่ได้ดูหน้าหลวงพ่อแล้ว แต่มาตั้งใจฟัง ฟังอยู่ ๒ – ๓ คำ นะ จิตก็จะสวิตช์ตัวเองไป ไปคิด ฟังไปคิดไป เห็นมั้ยว่าจิตมันส่ายตลอดเวลา จิตมันเปลี่ยนตลอดเวลา ถ้าเรารู้ทันนะ เราจะเห็นเลยจิตเกิดดับ เดี๋ยวจิตเกิดที่ตา เดี๋ยวจิตเกิดที่หู เดี๋ยวจิตเกิดที่ใจ จิตไปคิด เปลี่ยนๆ ปั๊บๆ ปั๊บๆ ไป คอยรู้สึกนะ คอยรู้สึกอยู่ที่กาย คอยรู้สึกอยู่ที่ใจนะ ค่อยๆฝึก ไม่ยากๆ มันง่าย ง่ายกว่าที่คิดไว้เยอะเลย

ขั้นแรกนะ อยากจะให้เกิดสติที่แท้จริงเนี่ย ทำกรรมฐานอะไรขึ้นสักอย่างหนึ่งก่อน เราจะมาฝึกรู้สึกตัวก่อน ก่อนที่เราจะเห็นความเป็นจริงของกายของใจได้ อันแรกเลย เราต้องเห็นกายเห็นใจเสียก่อน ถ้าเราลืมกายลืมใจ เราก็ไม่สามารถเห็นความเป็นจริงของกายของใจได้ เพราะฉะนั้นเราต้องรู้สึกกายรู้สึกใจให้ได้เสียก่อน การรู้สึกตัว คือการรู้สึกกายรู้ใจนี้ จึงเป็นจุดตั้งต้นของการปฏิบัติ การเจริญวิปัสสนา เป็นจุดตั้งต้นเลย

จิตของเราจะหลงตลอดเวลา เดี๋ยวหลงไปดู หลงไปฟัง หลงไปคิด หลงไปดมกลิ่น หลงไปลิ้มรส หลงไปรู้สัมผัสทางกาย เช่นนั่งๆอยู่แล้วคัน เราก็เกาใช่มั้ย ขณะที่เราเกานะ เราสบายใจละ เราไม่รู้เลยว่าร่างกายกำลังเกาอยู่ ใจกำลังสบาย เราเกาอัตโนมัติ ในขณะนั้นลืมกายลืมใจ ทำอะไรเราก็ลืมกายลืมใจตลอดเวลา เรียกว่าขาดสติ สติที่หลวงพ่อพูด หมายถึง สติปัฏฐาน เป็นสติที่รู้กายรู้ใจ ถ้าเมื่อไหร่ลืมกายลืมใจ เมื่อนั้นเรียกว่าขาดสติ เราลองมาวัดใจของตัวเองดู ว่าเราลืมกายลืมใจบ่อยแค่ไหน สังเกตมั้ย เวลาที่เราไปคิด รู้สึกมั้ย ใจจะเหมือนไหลไปนะ ความรู้สึกอยู่ที่กายที่ใจนี้จะหายไป มีร่างกาย ร่างกายก็หายไป มีจิตใจ จิตใจก็หายไป ไม่รู้ รู้แต่เรื่องที่คิด

เพราะฉะนั้นเบื้องต้นนะ วิธีง่ายๆ พวกเราหาอารมณ์กรรมฐานมาสักอย่างหนึ่ง มาเป็นเครื่องสังเกตจิตใจ เช่น คนไหนถนัดรู้ลมหายใจ ก็ไปนั่งรู้ลมหายใจ รู้เล่นๆ ไม่ใช่รู้เพื่อให้สงบ คนไหนชอบไหว้พระสวดมนต์ ก็ไปไหว้พระสวดมนต์ สวดเล่นๆนะ ไม่ใช่สวดให้สงบ คนไหนชอบดูท้องพองยุบก็ดูไป คนไหนชอบเดินจงกรมก็เดินไป คนไหนชอบอิริยาบถ ๔ ก็ดูยืนเดินนั่งนอน คนไหนชอบขยับมือทำจังหวะ ก็ทำไป แต่ทำไปเพื่อจะรู้ทันใจตนเอง

ยกตัวอย่างเช่น เราหายใจ หายใจไป หายใจเล่นๆ จิตเราวิ่งไปอยู่ที่ลมหายใจนะ เราก็รู้ทัน จิตเราวิ่งไปคิด เราก็รู้ทัน จิตเป็นสุข จิตเป็นทุกข์ จิตดีจิตร้ายอะไรขึ้นมา คอยรู้ไปเรื่อยๆ หายใจไปแล้วคอยรู้ทันจิตใจไป

หรือสวดมนต์ก็ได้นะ อรหังสัมมา.. อะไรอย่างนี้ พอสวดมนต์ไป พอใจไหลไปคิดแว้บ หนีไปคิดเรื่องอื่นแล้ว รู้ทันว่าจิตไหลไปแล้ว สวดมนต์ไปแล้วจิตสงบ รู้ว่าสงบ สวดไปแล้วจิตฟุ้งซ่าน รู้ว่าฟุ้งซ่าน สวดมนต์ไปแล้วก็คอยรู้ความเปลี่ยนแปลงของจิตไปเรื่อยๆ นี่เป็นการฝึกให้มีสติ

ดูท้องพองยุบก็ได้นะ ดูท้องพองยุบไปแล้วจิตไหลไปอยู่ที่ท้อง ก็รู้ทัน จิตหนีไปคิดก็รู้ทัน จิตไปทำอะไรก็รู้ทัน

นี่เราเข้ามาถึงการฝึกหัดแล้วนะ เพราะฉะนั้นเบื้องต้น ทุกคนหาอารมณ์กรรมฐานมาสักอันหนึ่งก่อน อารมณ์อะไรก็ได้ที่เราถนัด ที่ทำแล้วสบายใจ รู้อารมณ์อันนั้นไป เช่นรู้พุทโธก็ได้นะ สัมมาอรหังก็ได้ หายใจก็ได้ รู้ท้องพองยุบก็ได้ เดินจงกรมก็ได้ ขยับมือทำจังหวะก็ได้ อะไรก็ได้ แต่ไม่ได้ทำเพื่อให้จิตนิ่ง เราทำกรรมฐานไปแล้วเราคอยเห็นความเปลี่ยนแปลงความเคลื่อนไหวของจิตไปเรื่อยๆ เช่น เรา พุทโธๆ แล้วจิตหนีไปคิดเรื่องอื่น รู้ว่าจิตนี้ไปคิดแล้ว พุทโธๆแล้วจิตสงบ รู้ว่าสงบ พุทโธๆแล้วจิตฟุ้งซ่าน รู้ว่าฟุ้งซ่าน หายใจไป หายใจเข้าหายใจออกไป จิตวิ่งไปอยู่ที่ลมหายใจ เรารู้ทัน จิตหนีไปคิดเรื่องอื่นเรารู้ทัน จิตเป็นสุข จิตเป็นทุกข์ จิตมีปีติจิตมีความสุขอะไรขึ้นมา เราคอยรู้ทัน

ทำอะไรก็ได้นะ เบื้องต้น ทำกรรมฐานมาสักอันหนึ่งก่อน เป็นเครื่องสังเกต ปกติจิตเราจะร่อนเร่ตลอดเวลา วิ่งตลอด ดูยาก เราก็ทำกรรมฐานขึ้นมาเป็นตัวสังเกต สมมุติว่านี่เป็นพุทโธ นี่เป็นลมหายใจ เราพุทโธหรือหายใจอยู่ แล้วจิตเราวิ่งมาที่นี่ วิ่งมาที่พุทโธ วิ่งมาที่ลมหายใจ วิ่งมาที่ท้อง รู้ทันว่าจิตวิ่งมา จิตวิ่งไปที่อื่น รู้ทัน เนี่ยเราจะเห็นได้ชัด ถ้าเราไม่มีเครื่องสังเกตเลย จิตมันส่ายไปตลอด ดูยาก เพราะฉะนั้น เบื้องต้น หาอารมณ์กรรมฐานมาสักอันหนึ่งนะ อะไรก็ได้ ทำอะไรไม่เป็นเลย สวดมนต์ไปเรื่อยๆก็ได้ หรือฟังซีดีหลวงพ่อก็ได้ ฟังไปแล้วใจลอยไป รู้ ฟังไปแล้วขำขึ้นมา รู้ ฟังแล้วงงขึ้นมา รู้ หัดรู้ทันใจตัวเองบ่อยๆ

การที่เราหัดรู้สภาวะบ่อยๆนี้แหละจะทำให้เกิดสติ เพราะสติไม่ได้เกิดจากการบังคับ สติเป็นอนัตตา ไม่มีใครสั่งสติให้เกิดได้ สติมีเหตุ สติถึงจะเกิด เหตุของสติคือการที่จิตจำสภาวะได้แม่น จิตจำสภาวะได้แม่นเพราะจิตเห็นสภาวะบ่อยๆ เราหัดดูสภาวะไปนะ ทำกรรมฐานมาอันหนึ่ง แล้วคอยสังเกตความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของจิตใจเราไปเรื่อย..

เช่นพุทโธๆ จิตไหลไปคิดก็รู้ หรือสวดมนต์ อรหังสัมมา.. จิตไหลไปคิดแล้ว ก็รู้ สัมพุทโธ ภควา.. อ้าวหนีไปอีกแล้ว เราก็คอยรู้ ฝึกแบบนี้บ่อยๆ ต่อไปพอจิตเคลื่อนตัวไปนะ จิตหลงไปคิดแว้บ..เดียว สติจะเกิดเองเลย สติไม่ได้เกิดจากการสั่งให้เกิด สติเกิดขึ้นเพราะว่าจิตจำสภาวะได้แม่น ในพระอภิธรรมถึงบอกว่า ถิรสัญญา ถิรสัญญาคือการที่จิตจำสภาวะได้แม่น เป็นเหตุใกล้ให้เกิดสติ เพราะฉะนั้นเราหัดดูสภาวะไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งสติเกิด

พอสติที่แท้จริงเกิดนะ คอยสังเกตไป พอมันจะรู้สึกตัวขึ้นมา พอรู้สึกตัวขึ้นมาแล้ว คราวนี้ไม่มีแล้วว่ากรรมฐานของเราจะทำสายไหน สายกายสายจิตอะไรอย่างนี้ไม่มีอีกต่อไปแล้ว เบื้องต้นอาจจะดูมาจากกาย บางคนดูจากเวทนา บางคนดูจากจิต อันนั้นแค่จุดตั้งต้นเท่านั้นเอง คือทำกรรมฐานมาอันหนึ่งเป็นเครื่องสังเกต พอรู้ทันจิตมามากๆเข้า สติเกิดเองแล้วเนี่ย ถัดจากนั้นไม่มีสายไหนๆแล้ว มีแต่ว่าขณะนี้มีสติ หรือว่าขณะนี้ขาดสติ ขณะนี้มีสติ บางทีสติระลึกรู้กาย บางทีสติระลึกรู้เวทนา บางทีสติระลึกรู้จิต เลือกไม่ได้หรอกว่าจะรู้กายหรือรู้จิต ถ้าใครยังเลือกว่าจะรู้กายอันเดียว หรือจะรู้จิตอันเดียว จะตกไปสู่สมถกรรมฐาน เพราะฉะนั้นสติที่แท้จริงเกิดเมื่อไหร่นะ เลือกไม่ได้หรอก บางทีก็รู้กาย บางทีก็รู้เวทนา บางทีก็รู้จิต

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
สำนักสงฆ์สวนสันติธรรม
บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
แสดงธรรมที่ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
เมื่อวันพุธที่ ๒๙ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๒

CD: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช วันที่ ๒๙ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๕๒
File: 520429.mp3
ระหว่างนาทีที่ ๑๘ วินาทีที่ ๕๓ ถึง นาทีที่ ๒๕ วินาทีที่ ๕๐

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

(Visited 12,496 times, 2 visits today)

Comments are closed.