mp3 for download : วิธีการฝึก และประโยชน์ ของสมาธิทั้งสองชนิด
Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.
หลวงพ่อปราโมทย์ :เนี่ยพวกเรา จุดสำคัญนะ ก่อนที่พวกเราจะก้าวไปสู่การเจริญปัญญาซึ่งว่ากันเป็นของดีของวิเศษ ในทางพระพุทธศาสนา เราต้องมาปรับจิตใจของเราก่อน ให้พร้อม ต้องมาเตรียมความพร้อมของจิตเสียก่อน จิตที่จะไปเจริญปัญญาได้ต้องมีสมาธิที่ถูกต้อง
สมาชิกทั้งสองชนิดมีประโยชน์ทั้งคู่ สมาธิเพื่อความสงบก็มีประโยชน์ แต่ประโยชน์ของสมาธิเพื่อความสงบนั้นน่ะ ทำให้จิตใจสดชื่น มีเรี่ยวมีแรงนะ ส่วนสมาธิที่ใช้เจริญปัญญานั้นทำให้จิตใจฉลาด คนละแบบกัน มีประโยชน์ทั้งคู่ ถ้าเราทำสมาธิได้ทั้งสองชนิด ดีที่สุด ถ้าทำชนิดแรกไม่ได้นะ ทำไปเพื่อความสงบไม่ได้ ทำอย่างที่สองได้ ก็ยังเอาตัวรอดได้
ในสมัยพุทธกาลนะ ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าท่านก็อธิบายให้พวกพระฟัง บอกว่าในบรรดาพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ มี ๖๐ องค์ได้วิชา ๓ วิชา ๓ ก็คือ ระลึกชาติได้ รู้ว่าใครตายแล้วไปเกิดที่ไหน แล้วก็ล้างกิเลสได้ ๓ อย่าง พระอรหันต์ที่ได้วิชา ๓ เนี่ย มี ๖๐ องค์ จาก ๕๐๐ (คิดเป็นร้อยละ ๑๒ – ผู้ถอด) คนที่ได้วิชา ๓ เนี่ย ต้องทรงฌานนะ ต้องทรงฌาน ในบรรดา ๕๐๐ องค์
นอกจากวิชา ๓ แล้วนะ ยังมีพวก อภิญญา ๖ นะ เช่นได้หูทิพย์ ตาทิพย์ รู้วาระจิตคนอื่นอะไรอย่างนี้ มีทิพยโสต ทิพยจักษุ เจโตปริยญาณ จำไม่ได้แล้ว มีหลายอัน พระอรหันต์ที่ได้อภิญญา ๖ มี ๖๐ องค์ (คิดเป็นร้อยละ ๑๒ – ผู้ถอด) คนที่ได้อภิญญา ๖ น่ะ ต้องทรงฌานนะ เพราะฉะนั้นรวม ๒ กลุ่มนี้ ได้ ๑๒๐ จาก ๕๐๐ (รวมเป็นร้อยละ ๒๔ – ผู้ถอด)
ก็ยังมีพระอรหันต์อีกจำพวกหนึ่ง ท่านเรียกว่า อุภโตภาควิมุติ อุภโตภาควิมุตินั้นไม่เหมือนพระอรหันต์ทั่วๆไป คือตอนที่บรรลุมรรคผลเนี่ย ท่านเข้าอรูปฌาน พระอรหันต์ทั่วๆไปเนี่ย บรรลุมรรคผล เข้ารูปฌาน พวกที่เข้าถึงอรูปฌานก็ดับรูป ดับรูปธรรมด้วยอรูปฌาน ดับนามธรรมทั้งหลายด้วยวิปัสสนาญาณ เลยเรียกว่า “ดับโดยส่วนทั้งสอง” คือ ดับทั้งรูปทั้งนาม ดับทั้งรูปทั้งนามไม่ใช่ไม่มีอะไรเหลือ ว่างเปล่า นะ ไม่มีอะไรเลยเรียกว่าพรหมลูกฟัก ไม่ใช่ ยังมีจิตอยู่ แต่ไม่มีความปรุงแต่งหยาบๆอย่างที่พวกเราเห็น คือท่านปล่อยวางความยึดถือทั้งในรูปธรรมและในนามธรรมได้ แต่ปล่อยรูปธรรมไปเพราะเข้าอรูปฌาน พระอรหันต์จำพวกนี้มี ๖๐ องค์เหมือนกัน
รวมทั้ง ๓ ชนิดนะ ๖๐ + ๖๐ + ๖๐ ได้เท่าไหร่ ๑๘๐ จาก ๕๐๐ (คิดเป็นร้อยละ ๓๖ – ผู้ถอด) พระอรหันต์ที่เหลือ ๓๒๐ (คิดเป็นร้อยละ ๖๔ – ผู้ถอด) คือคนซึ่งธรรมดาๆอย่างพวกเรานี่แหละ ไม่ใช่ว่าทรงฌานอย่างชำนิชำนาญมาก่อน อาจจะเดินปัญญาไป จิตไม่ได้ทรงฌาน เดินปัญญารวดไปเลย แห้งแล้ง พระอรหันต์ที่ปฏิบัติไปนะ บรรลุมรรคผลนิพพานไปด้วยใจที่แห้งแล้ง หมายถึงไม่มีความชุ่มฉ่ำหรอก เห็นแต่ทุกข์ล้วนๆเลย ภาวนาไปเนี่ย ใจไม่ได้พัก เพราะฉะนั้นจะทุกข์ยากเยอะเลย ทุกข์มากนะ ภาวนาแล้วจะรู้สึกแห้งแล้ง เรียกว่าพระอรหันต์สุกขวิปัสสกะ ไม่ได้ทรงฌาน แต่ตอนที่เป็นพระอรหันตแล้วนะ ตอนที่เป็นพระโสดาบันแล้วน่ะ จะได้ฌานอัตโนมัติ อย่างน้อยจะได้ปฐมฌานขึ้นมา แต่ตอนที่เดินไปสู่ความเป็นพระอริยบุคคลเนี่ย ไม่ได้ทำฌาน
เพราะฉะนั้นไม่ใช่ พวกเราจะไปสรุปตามใจชอบนะว่า ต้องนั่งสมาธิเข้าฌานได้ก่อน ถึงจะเจริญปัญญาได้ บางคนสรุปแบบนี้นะ ใช้ไม่ได้เลยนะ มันขัดกับพระไตรปิฎกเลย คนส่วนน้อยหรอก ที่ทรงฌาน คนส่วนมากก็คือคนอย่างพวกเรานี้แหละ แล้วทำไมถึงไปบรรลุมรรคผลได้ ก็เพราะมีสมาธิอีกชนิดหนึ่ง ท่านที่บรรลุมรรคผลโดยทรงฌาน ท่านก็มีสมาธิอย่างที่สองด้วย ถ้ามีสมาธิแต่อย่างแรกน่ะ จะบรรลุมรรคผลไม่ได้หรอก
สมาธิสองชนิดต่างกันอย่างไร สมาธิอย่างแรกที่เป็นไปเพื่อความสุขความสงบนั้นน่ะ มันมีลักษณะที่ว่า มีจิตเป็นหนึ่ง มีอารมณ์เป็นหนึ่ง จิตก็เป็นหนึ่งอารมณ์เป็นหนึ่ง จิตไปรวมสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว เพราะฉะนั้นไม่เดินปัญญา ยกตัวอย่าง พุทโธ พุทโธ พุทโธ นะ จิตอยู่กับพุทโธไม่หนีไปไหนเลย สงบอยู่กับพุทโธ นี่คือสมาธิชนิดที่หนึ่ง ไปรู้ลมหายใจ จิตไม่หนีไปไหนเลย จิตจับอยู่ที่ลมหายใจอย่างเดียวเลย นี่คือสมาธิอย่างที่หนึ่ง ไปดูท้องพองยุบ เห็นท้องพองท้องยุบ จิตจับเข้าไปที่ท้อง ไม่ไปไหนเลย สงบอยู่กับท้องเท่านั้นเอง นี่เป็นสมาธิอย่างที่หนึ่ง ไปเดินจงกรมยกเท้าย่างเท้า จิตไปเพ่งอยู่ที่เท้า หรือเพ่งอยู่ที่ร่างกายทั้งร่างกาย นิ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียว นี้คือสมาธิอย่างที่หนึ่ง
ปกติจิตของคนเรานะ จะส่ายตลอดเวลานะ จะวิ่งหาอารมณ์ตลอดเวลา เดี๋ยวก็วิ่งไปทางตา ไปหาอารมณ์ทางตา เรียกว่า รูปารมณ์ คือ อารมณ์คือรูป บางทีก็วิ่งไปหาอารมณ์ทางหู คือเสียงนะ บางทีก็ไปหากลิ่น หารส หาสิ่งที่มาสัมผัสร่างกาย บางทีก็วิ่งไปนึกคิดปรุงแต่งทางใจ ถ้าทางใจเรียกว่า ธรรมารมณ์ จิตของเราจะจับจดในอารมณ์ต่างๆนะ วิ่งไปจับอารมณ์นั้นทีหนึ่ง วิ่งไปจับอารมณ์นี้ทีหนึ่ง มันวิ่งไปเพราะอะไร เพราะมันเที่ยวแสวงหาความสุข มันไปดูรูป มันหวังว่าจะมีความสุข มันไปฟังเสียง มันหวังว่าจะมีความสุข ไปดมกลิ่น ไปลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกาย ไปคิดนึกทางใจ หวังว่าจะมีความสุข แล้วมันไม่อิ่ม มันไม่เต็ม มันก็วิ่งพล่านไปหาอารมณ์อื่นต่อไปอีกนะ คล้ายๆหมาตัวหนึ่งนะ หมาจรจัด ไม่มีใครเลี้ยง ก็วิ่งไปทางนี้ ได้กินอาหารนิดหน่อยนะ คุ้ยขยะได้อาหารมานิดหน่อยนะ ไม่อิ่มน่ะ ก็ต้องวิ่งไปที่อื่นอีก ไปคุ้ยที่อื่นนะ บางทีกินได้หน่อยหนึ่งไม่อิ่มนะ ก็วิ่งต่อไปอีก
จิตของเราที่มันไม่ได้ทรงสมาธินะ ไม่ได้ทรงสมาธิชนิดที่ใช้พักผ่อนน่ะ เป็นจิตที่หิวอารมณ์ จิตของเราเหมือนหมาจรจัด ไม่เต็ม ไม่อิ่ม จะหิวโหยอารมณ์อยู่ตลอดเวลา แล้วมันจะวิ่งพล่านไปทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ตลอดเวลาเลย
มันก็มีวิธีการที่จะทำให้จิตสงบอยู่ในอารมณ์อันเดียวนะ ให้เราเลือกอารมณ์กรรมฐานสักอย่างหนึ่ง แทนที่จะปล่อยให้จิตสะเปะสะปะ เที่ยวหาอารมณ์ร่อนเร่ไปตามยถากรรม เราก็มาดูว่าจริตนิสัยของเรา ควรจะทำกรรมฐานอะไรเพื่อให้จิตมีความสุข เคล็ดลับของการทำสมถกรรมฐาน สมาธิชนิดที่ ๑ สมาธิที่ใจสงบเนี่ย อยู่ที่การเลือกอารมณ์ ว่าเรารู้จักเลือกอารมณ์ที่เหมาะกับจริตนิสัยของเรามั้ย ยกตัวอย่างคนไหนช่างคิดมากก็อาจจะหายใจ รู้ลมหายใจไป คนไหนขี้โมโหมากก็อาจจะเจริญเมตตาไป คนไหนความยึดความคิดความเห็นรุนแรงอะไรมากนะ ทะเลาะกับเขาไปทั่ว อาจจะคิดถึงความตายขึ้นมาก็ได้ คนไหนบ้ากามมากก็มาคิดถึงร่างกาย ที่เป็นปฏิกูล เป็นอสุภะ ไม่สวยไม่งาม อย่างนี้ใจมันได้อารมณ์ที่พอเหมาะ มันจะสงบ
สรุปง่ายๆว่า ถ้าเรารู้จักเลือกอารมณ์ ที่จิตไปรู้แล้วมีความสุข จิตก็มีจะมีความสุขอยู่ในอารมณ์อันนั้นแล้วไม่วิ่งพล่านไปหาอารมณ์อันอื่น คล้ายๆหมาตัวนี้่วิ่งๆมานะ มาเจอคนใจบุญ คนใจบุญให้อาหารกินเต็มอิ่มเลย หมานี้ไม่ต้องวิ่งพล่านไปที่อื่นแล้ว หมาก็อยู่กับที่นะ เดี๋ยวนอนไป ตื่นขึ้นมา หิวอีกแล้ว คนก็ให้กินอีก ไม่หนีไปไหนเลย สุดท้ายเป็นหมาขี้เกียจ นอนอยู่อย่างนั้แหละ พวกที่ติดสมาธินั้นแหละ เปรียบเทียบรุนแรงไปมั้ย พวกที่หิวอารมณ์นะ ก็เหมือนหมาจรจัดนะ พวกที่ติดสมาธิก็เหมือนหมาที่มีเจ้าของ ได้กินอิ่มก็ไม่ไปไหน มีแต่ความสุขอยู่แค่นั้นเอง
เพราะฉะนั้นอยู่ที่การเลือกอารมณ์นะ ทำได้ ควรจะทำ ถ้าทำแล้วจิตใจะมีเรี่ยวมีแรง มีประโยชน์นะ ไม่ใช่ไม่มี สมถกรรมฐานมีประโยชน์ ถ้าเราได้พักอยู่ในอารมณ์อันเดียวเป็นครั้งเป็นคราว และเราไม่ได้ติดอยู่ในอารมณ์อันนั้น จิตจะมีกำลัง แต่ถ้าไปติดสมถะเนี่ย จะไม่เดินปัญญา
ตรงที่บางคนมาหาหลวงพ่อนะ สมัยก่อน ซึ่งพวกเรายังไม่ได้จิตที่รู้ที่ตื่นกันนั้น คนที่มาหาหลวงพ่อยุคแรกๆนะ เป็นพวกติดเพ่งมาแทบทั้งนั้น เพราะสมัยโบราณนะ คิดถึงการปฏิบัติเมื่อไหร่ก็นั่งเพ่งเอาเมื่อนั้น เหมือนที่เจ้าชายสิทธัตถะท่านทำนั้นแหละ ออกจากวังมา สิ่งแรกที่ท่านทำก็คือ ไปนั่งสมาธิกับฤๅษี พวกเราเมื่อสักสิบปีก่อน มักจะติดเพ่งกันเป็นส่วนใหญ่ พอไปหาหลวงพ่อ หลวงพ่อก็ต้องแก้การที่ติดเพ่งนี่ก่อน บางคนนั้นหลวงพ่อบอกว่าให้หยุดการทำสมาธิไว้ก่อน พอได้ยินอย่างนี้ก็เลยคิดว่าหลวงพ่อไม่ให้ทำสมาธิ ที่จริงก็คือ ทำสมาธิมาผิดนั่นเอง ต้องแก้ก่อน เสร็จแล้วก็ต้องมาฝึกให้ใจมันตื่นขึ้นมา ตรงที่ใจมันตื่นนั้นแหละ เราได้สมาธิอย่างที่สอง เพราะฉะนั้นถ้าพวกเราคนไหนติดเพ่งนิ่งๆว่างๆนะ สบายอยู่แค่นั้น
แค่นั้นไม่พอนะ แค่นั้นมันเหมือนหมาที่เจ้าของใจดีแค่นั้นเอง ต้องมาฝึกสมาธิอีกชนิดหนึ่ง สมาธิชนิดแรกน่ะ จิตเป็นหนึ่ง อารมณ์เป็นหนึ่ง จิตรวมเข้ากับอารมณ์อยู่ด้วยกัน พักผ่อนอยู่ในอารมณ์ที่สบาย สมาธิอย่างที่สองเนี่ย จิตเป็นหนึ่ง อารมณ์เป็นแสนเป็นล้านก็ได้ อารมณ์เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตลอดเลย แต่จิตเป็นหนึ่ง เป็นแค่คนดู ไม่ใช่คนสงบนิ่งนะ เป็นแค่คนดู
คือเราต้องมาฝึกจิตให้เป็นคนดูให้ได้ ถอยออกมาจากปรากฏการณ์ของรูปธรรมนามธรรม ส่วนใหญ่ของคนเราก็คือ เวลาที่เกิดปรากฏการณ์ของรูปธรรมนามธรรมแล้ว จิตจะไหลเข้าไปรวมกับปรากฎการณ์นั้น ยกตัวอย่างเวลาเราดูโทรทัศน์ จิตจะไหลเข้าไปอยู่ในโทรทัศน์ หรือเวลาที่เราคิดถึง ดูโทรทัศน์ ดูข่าว ดูอะไรนะ พูดถึงนายกฯหญิงสวยงามอะไรอย่างนั้นนะ ใจเราไปคิดถึงเขา ใจเราลอยไป ใจเราลอยแล้วลืมตัวเราเอง เนี่ยใจที่มันล่องลอยแล้วมันลืมตัวมันเองเนี่ย คือใจที่ขาดสมาธิชนิดอย่างที่สอง เป็นสมาธิที่จิตตั้งมั่น คนที่ขาดสมาธิชนิดที่จิตตั้งมั่นเนี่ย มีร่างกายก็ลืมร่างกายมีจิตใจก็ลืมจิตใจของตัวเอง มัวแต่ไปดูรูป แล้วก็ลืมกายลืมใจของตัวเอง มัวแต่ไปฟังเสียง แล้วก็ลืมกายลืมใจของตัวเอง มัวแต่ไปดมกลิ่นแล้วก็ลืมกายลืมใจของตัวเอง
ก่อนหลวงพ่อบวชนะ หลวงพ่อก็ไป เป็นฆราวาสนี่ ก็เดินตามศูนย์การค้าอะไรก็ไปบ้าง ไปซื้อของอะไรเนี่ย จะมีที่ขายน้ำหอมน่ะนะ พวกเราเห็นมั้ย พวกผู้หญิงก็จะไปยืนเป็นแถวเลยนะ แล้วก็เอามาทามือนะ ดมๆ ดมๆ ไปเรื่อยนะ ในขณะที่ดมน้ำหอม นึกออกมั้ย รู้อะไร รู้กลิ่นของน้ำหอม ใช่มั้ย ในขณะนั้นเราลืมกายลืมใจของตัวเอง หรือเราเห็นคนโทรศัพท์มั้ย เดินโทรฯ ทำท่าแปลกๆ ขณะที่คุย เม้าธ์ เพลินไปนะ ร่างกายเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ จิตใจของตัวเองเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ มันลืมตัวมันเอง สภาวะที่จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว สภาวะที่จิตใจลืมตัวเอง ลืมกายลืมใจของตัวเอง นี่แหละคือสภาวะที่จิตขาดสมาธิชนิดที่จิตใจตั้งมั่น
เพราะฉะนั้นสมาธิอย่างที่สองเนี่ยนะ ถ้าจะพูดง่ายๆก็คือสภาวะที่จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว ไม่ร่อนเร่ไปทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ รู้สึกตัวอยู่ เพราะฉะนั้นจิตเป็นหนึ่ง ไม่ได้มี ๖ คือ วิ่งไปทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ แต่รู้สึกตัวอยู่ เป็นหนึ่งเท่านั้นเอง แต่ว่าอารมณ์ทั้งหลายนั้นเคลื่อนที่ ทั้งที่รูปธรรมนามธรรมนี้ เคลื่อนที่ผ่านความรับรู้ของจิตไปเรื่อยๆ เช่นตามองเห็นรูป ใจก็เป็นคนดู ก็เห็นรูปเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงต่างหาก ใจเป็นคนดู เมื่อไรขาดสติ จิตก็ปรุงแต่ง เห็นรูป โอ้สวย ใจมีราคะ ไม่รู้ทัน ถ้าใจตั้งมั่น ใจกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว ก็จะเห็นว่า ตอนนี้เกิดราคะอยู่ ตอนนี้เกิดโทสะอยู่ เนี่ยใจมันต้องตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัว ถ้าจิตใจลืมเนื้อลืมตัว มีร่างกายก็ลืมร่างกาย มีจิตใจก็ลืมจิตใจ จิตใจที่ลืมเนื้อลืมตัว ก็คือจิตใจที่ไม่มีสมาธิอย่างที่สอง ไม่มีความตั้งมั่นของจิต
ปกติจิตของเราร่อนเร่ตลอดเวลานะ ถึงไปทำฌาน จิตก็ไหลไปรวมเข้ากับอารมณ์อันเดียว จิตไม่ได้ตั้งมั่น เพราะฉะนั้นเราต้องมาฝึกให้จิตตั้งมั่น วิธีฝึกให้จิตตั้งมั่น ก็คล้ายๆกับวิธีฝึกให้จิตสงบนั่นแหละ เวลาที่เราจะฝึกให้จิตสงบนะ เราก็เลือกอารมณ์ขึ้นสักอารมณ์หนึ่ง ที่มีความสุข แล้วน้อมจิตไปอยู่กับอารมณ์อันนั้น คนไหนพุทโธแล้วมีความสุขก็พุทโธไปเรื่อยๆ จิตมีความสุขกับพุทโธ จิตไม่หนีไปที่อื่น ได้ความสงบ แต่ถ้าจะฝึกให้จิตตั้งมั่นนะ พุทโธไปแล้วรู้ทันจิต ไม่ได้น้อมจิตไปอยู่ที่พุทโธ แต่พุทโธแล้วคอยรู้ทันจิตนะ หรือรู้ลมหายใจ ก็ไม่น้อมจิตไปอยู่ที่ลมหายใจ ถ้าน้อมจิตไปอยู่ที่ลมหายใจ ใจจะเป็นสมาธิชนิดที่สงบอยู่ในอารมณ์อันเดียว แต่ถ้าเราหายใจไปแล้วจิตตั้งมั่นเป็นคนดู รู้ทันจิตอยู่ หายใจไปจิตหนีไปคิดแล้วรู้ทัน จิตเคลื่อนไปอยู่ที่ลมหายใจ รู้ทัน หายใจไปแล้วรู้ทันจิตที่เคลื่อนไป เราจะได้สมาธิชนิดที่ตั้งมั่น คือไม่เคลื่อน
เพราะฉะนั้นสมาธิจึงมีสองชนิดนะ ชนิดหนึ่งเคลื่อนไปอยู่ในอารมณ์อันเดียว ก็ได้สมถะได้ความสงบเฉยๆ เอาไว้พักผ่อน อีกอันนะจิตไม่เคลื่อน แต่อารมณ์นั้นเคลื่อน รูปก็เคลื่อนไหว เสียงก็เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง กลิ่นก็เปลี่ยนแปลง รสก็เปลี่ยนแปลง สิ่งที่มาสัมผัสร่างกายก็เปลี่ยนแปลง ตาหูจมูกลิ้นกายก็เปลี่ยนแปลง ใจของเราก็เปลี่ยนแปลง ธรรมารมณ์ที่เกิดขึ้นกับใจนะ ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย ก็เปลี่ยนแปลง แต่ใจของเราเป็นคนดู ใจเราเป็นหนึ่งอยู่อย่างนั้น ใจเราเป็นคนดูอยู่ ไม่ได้ยากอะไร ถ้ารู้วิธีแล้ว ไม่ได้ยากอะไรเลย ให้จิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ตื่นผู้เบิกบาน เพราะฉะนั้นเราคอยรู้ทัน ทำกรรมฐานขึ้นมาอันหนึ่งแล้วคอยรู้ทันจิตไว้ การที่เราทำกรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา จะทำให้เรารู้ทันจิตได้ง่าย แต่ถ้าเราไม่ทำกรรมฐานเลย แล้วอยู่ๆจะไปรู้ทันจิต จิตมันจะส่ายไปในอารมณ์ทางทวารทั้ง ๖ มันเปลี่ยนแปลงรวดเร็วจนเราดูไม่ทัน
เพราะฉะนั้นเราก็หาอารมณ์กรรมฐานมาสักอันหนึ่ง แต่เราไม่ได้น้อมจิตให้นิ่งอยู่ในอารมณ์กรรมฐานนั้น หาอารมณ์กรรมฐานมาเป็นเครื่องรู้เครื่องอยู่นะ แล้วเมื่อจิตเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไป มันหนีไปเมื่อไหร่เราคอยรู้ทัน มันเคลื่อนไปเมื่อไหร่เราคอยรู้ทัน จิตจะเคลื่อนไป ๒ แบบเท่านั้น ๑ เคลื่อนไปคิด หรือหลงไปทีอื่นซะ อันที่ ๒ เคลื่อนไปเพ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียว เช่นเรารู้ลมหายใจอยู่นะ จิตหนีไปคิดก็มีนะ ลืมลมหายใจไป จิตเคลื่อนไปเกาะที่ลมหายใจไป กลายเป็นสมถะกรรมฐาน ก็มีนะ ถ้าเคลื่อนไปเกาะอยู่ในอารมณ์อันเดียว กลายเป็นสมถะ เป็นสมาธิชนิดสงบ ถ้าเคลื่อนหนีไปคิดเลยนะ สมาธิชนิดสงบก็ไม่มีนะ ฟุ้งซ่านอย่างเดียว
แต่ว่าการเคลื่อนไปนั้นมีสองชนิด เคลื่อนไปหาอารมณ์อื่นเคลื่อนไปคิดเรื่องอื่น กับเคลื่อนไปเพ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียว ถ้ารู้ทันว่าจิตเคลื่อน จิตจะตั้งมั่นโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องบังคับให้ตั้งมั่น เขาจะตั้งของเขาเอง แต่ถ้าสมาธิของเรายังไม่แข็งแรงนะ จะเคลื่อนแล้วรู้สึกขึ้นมา ตั้งได้แว็บเดียว แล้วก็เคลื่อนไปอีก บางทีเคลื่อนไปนานเลยนะ แล้วรู้สึกขึ้นมาอีกแล้ว ตั้งขึ้นมาอีกแว้บหนึ่ง จะเป็นอย่างนั้น
เพราะฉะนั้นพวกเราต้องฝึกให้มากนะ ฝึกเพื่อให้จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวให้ได้ ถ้าจิตใจยังไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ยังเดินปัญญาไม่ได้
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม บ้านโค้งดารา ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
แผนที่ : 1 2 3
แสดงธรรมที่ วัดสวนสันติธรรม
เมื่อวันศุกร์ที่ ๘ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๖
File: 560208
CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๔๙
ระหว่างนาทีที่ ๙ วินาทีที่ ๗ ถึงนาทีที่ ๒๗ วินาทีที่ ๒๖
เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓
ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่
สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่
ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่
คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่