Dhammada on Android
available now on
Google Play Store
คำชี้แจง
    Dhammada.net เป็นเว็บไซต์ของกลุ่มลูกศิษย์ที่ภาวนาตามแนวดูจิตได้จัดทำกันเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทาง สวนสันติธรรม หรือ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช แต่อย่างใด     จึงขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันกับข้อเท็จจริง     ขอแสดงความนับถือ     Dhammada.net

หมวดหมู่

เรื่องล่าสุด

Latest Clips

คลังเก็บ

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : ความขัดแย้งเพราะยึดในทิฎฐิ


ความขัดแย้งเพราะยึดในทิฎฐิ

เพื่อนนักปฏิบัติเมล์มาถามผมบ่อยๆ ว่า ทำอย่างไรจะข่มหรือละกามได้

แต่ไม่มีใครเคยถามผมว่า ทำอย่างไรจะละทิฏฐิได้

ยกเว้นสักกายทิฏฐิ ที่มีผู้ถามถึงวิธีละอยู่เป็นครั้งคราว

ซึ่งผมก็ตอบว่า ให้เจริญสติปัฏฐานเรื่อยๆ ไป

 

พระศาสดาทรงสอนว่า “กษัตริย์ต่อกษัตริย์ มักขัดแย้งกันเพราะกามและทิฏฐิ”

ซึ่งหมายความว่า นักการเมืองหรือนักปกครอง

มักจะขัดแย้งกันเพราะผลประโยชน์ทางวัตถุอย่างหนึ่ง

เพราะผลประโยชน์ทางความคิดหรืออุดมการณ์ อีกอย่างหนึ่ง

 

ทรงสอนว่า “นักบวชกับนักบวช มักจะขัดแย้งกันเพราะทิฏฐิ”

เพราะเรื่องกามนั้น ต่างคนต่างเห็นโทษภัย และพยายามละอยู่แล้ว

แต่เรื่องทิฏฐินั้น ไม่ค่อยมีใครเห็นว่ามีโทษภัย

จึงไม่ค่อยระมัดระวังอันตรายจากทิฏฐิกันเท่าที่ควร

พากันปล่อยให้ทิฏฐิอิงอาศัย เดินเข้าเดินออกในจิตใจตนเองได้ทั้งวัน

 

เมื่อเช้านี้ ก่อนจะออกจากบ้านไปทำงาน

ผมเห็นแม่บ้าน (แม่บ้านเป็นคำไทยแท้ แปลว่าผู้เป็นใหญ่ในบ้าน) จิตใจกำลังผ่องใสมีกำลัง

จึงแนะว่า อย่าทำความรู้ตัวอยู่เฉยๆ ให้เดินปัญญาด้วย

โดยรู้ลงไปเวลาจิตมีความเห็นต่างๆ มันจะเกิดความเป็นเราขึ้นมา

 

แม่บ้านของผมก็คอยเฝ้ารู้อยู่ที่จิตใจตนเอง

แล้วก็พบว่า ทุกคราวที่เกิดความเห็น

(ความเห็นไม่ใช่ความคิดนะครับ

ความเห็นจะมีการให้ค่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งว่า อันนี้เป็นอย่างนี้

อันนี้ดี – ไม่ดี  ผิด – ถูก  ควร – ไม่ควร ฯลฯ

ตามการประเมินค่าและมาตรฐานของตนเอง)

จิตจะเคลื่อนเข้าไปยึดความเห็นนั้นเสมอ

แม้แต่เรื่องเล็กน้อยที่สุด จิตก็ยังยึดถือความเห็นที่เกิดขึ้น

เช่นตอนขับรถออกจากบ้าน มีรถอีกคันหนึ่งปาดหน้า

ก็เห็นความเห็นว่า ทำอย่างนี้ไม่ดี ไม่คิดถึงอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น

เห็นถึงการให้ค่าว่า ดี – ไม่ดี ถูก – ผิด

แล้วเห็นว่าจิตเข้าไปยึดถือความเห็นนั้น

 

พบอีกว่า ทุกคราวที่เกิดความยึดในความเห็น

จะเกิดความขัดข้อง เป็นกลุ่มก้อนขึ้นที่กลางอก

ถ้ายึดถือแรง ก้อนนี้จะโตและแน่น ถ้ายึดเบาๆ ก้อนก็เล็กและเบาบาง

ยึดขึ้นทีไร ก็ทุกข์ทีนั้น

และเธอก็สรุปว่า คนเราทะเลาะกันก็เพราะยึดในทิฏฐินี้แหละ

 

ผมขับรถไป ก็เล่าเพิ่มเติมให้ผู้โดยสาร/แม่บ้าน ฟังต่อไปว่า

ความยึดมั่นในความเห็นนั้น ตำราเรียกว่า ทิฏฐุปาทาน

เมื่อเกิดความเห็นแล้วยึดความเห็น

ก็จะเกิดตัวเราขึ้นมา เป็นเจ้าของความเห็นนั้น

และเมื่อเกิดตัวเรา หรือตัวกู หรือที่สมัยนี้ชอบเรียกว่าเกิดอัตตาตัวตนขึ้น

ก็จะมีปฏิกิริยาเป็นก้อนแน่นหน้าอกขึ้น

ใครที่อัตตาแรง ก็เหมือนแบกครกตำข้าวไว้กลางอก

ไม่รู้เลยว่ากำลังเป็นทุกข์อยู่เพราะภาระการแบกหาม

เพราะตอนนั้นกำลังหลง มีแต่เราเก่ง เราถูก ฯลฯ

 

แม่บ้านผมก็บอกว่า ลำพังความเห็นเกิดขึ้นนั้นยังไม่ทุกข์หรอก

จิตต้องเคลื่อนเข้าไปยึดความเห็นก่อน จึงจะเกิดทุกข์

และเจ้าความทุกข์นั้น ก็เป็นสิ่งที่เกิดๆ ดับๆ ต่อเนื่องกันไป

ใหญ่บ้างเล็กบ้างไปตามกำลังความยึดมั่น

ถ้าเฝ้ารู้อยู่ตรงนี้ ก็มีงานกรรมฐานให้ทำได้ทั้งวันทีเดียว

 

ผมก็เล่าต่อว่า สักกายทิฏฐิ ก็คือความเห็นเหมือนกัน

เมื่อปฏิบัติไปถึงจุดหนึ่ง สักกายทิฏฐิจะไม่เกิดขึ้นอีก

แต่ทิฏฐิอื่นๆ ก็ยังเกิดขึ้นตลอดไป

แม้พระอริยบุคคลชั้นสูง ท่านก็ยังมีทิฏฐิคือความเห็นเกิดขึ้นเสมอ

เพียงแต่ท่านไม่ยึดถือในความเห็นนั้นเท่านั้น

เมื่อไม่ยึดทิฏฐิ ก็ไม่ทุกข์เพราะทิฏฐิ

เหมือนที่ขันธ์ก็มีอยู่ แต่เมื่อไม่ยึดขันธ์ ก็ไม่ทุกข์เพราะขันธ์

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน พุธ ที่ 6 กันยายน 2543

 

 

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

(Visited 339 times, 1 visits today)

Comments are closed.