ความหมาย คำว่า “วิสาขบูชา” หมายถึงการบูชาในวันเพ็ญเดือน 6 วิสาขบูชา ย่อมาจาก ” วิสา – ขบุรณมีบูชา ” แปลว่า ” การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ ” ถ้าปีใดมีอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน ก็เลื่อนไปเป็นกลางเดือน 7
ความสำคัญ วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญยิ่งทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ คือเกิด ได้ตรัสรู้ คือสำเร็จ ได้ปรินิพพาน คือ ดับ เกิดขึ้นตรงกันทั้ง 3 คราวคือ
1. เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ ประสูติ ที่พระราชอุทยานลุมพินีวัน ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับเทวทหะ เมื่อเช้าวันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี
2. เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้ เป็นพระพุทธเจ้าเมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ในตอนเช้ามืดวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี หลังจากออกผนวชได้ 6 ปี ปัจจุบันสถานที่ตรัสรู้แห่งนี้เรียกว่า พุทธคยา เป็นตำบลหนึ่งของเมืองคยา แห่งรัฐพิหารของอินเดีย
อริยสัจ หรือจตุราริยสัจ หรืออริยสัจ 4 เป็นหลักคำสอนหนึ่งของพระพุทธเจ้า แปลว่า ความจริงอันประเสริฐ ความจริงของพระอริยะ หรือความจริงที่ทำให้ผู้เข้าถึงกลายเป็นอริยะ มีอยู่สี่ประการ คือ
1. ทุกข์ คือ สภาพที่ทนได้ยาก ภาวะที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ สภาพที่บีบคั้น ได้แก่ ชาติ (การเกิด) ชรา (การแก่ การเก่า) มรณะ (การตาย การสลายไป การสูญสิ้น) การประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก การปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่สมหวังในสิ่งนั้น กล่าวโดยย่อ ทุกข์ก็คืออุปาทานขันธ์ หรือขันธ์ 5
2. ทุกขสมุทัย คือ สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ได้แก่ ตัณหา 3 คือ กามตัณหา-ความทะยานอยากในกาม ความอยากได้ทางกามารมณ์, ภวตัณหา-ความทะยานอยากในภพ ความอยากเป็นโน่นเป็นนี่ ความอยากที่ประกอบด้วยภวทิฏฐิหรือสัสสตทิฏฐิ และ วิภวตัณหา-ความทะยานอยากในความปราศจากภพ ความอยากไม่เป็นโน่นเป็นนี่ ความอยากที่ประกอบด้วยวิภวทิฏฐิหรืออุจเฉททิฏฐิ
3. ทุกขนิโรธ คือ ความดับทุกข์ ได้แก่ ดับสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ กล่าวคือ ดับตัณหาทั้ง 3 ได้อย่างสิ้นเชิง
4. ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา คือ แนวปฏิบัติที่นำไปสู่หรือนำไปถึงความดับทุกข์ ได้แก่ มรรคอันมีองค์ประกอบอยู่แปดประการ คือ 1. สัมมาทิฏฐิ-ความเห็นชอบ 2. สัมมาสังกัปปะ-ความดำริชอบ 3. สัมมาวาจา-เจรจาชอบ 4. สัมมากัมมันตะ-ทำการงานชอบ 5. สัมมาอาชีวะ-เลี้ยงชีพชอบ 6. สัมมาวายามะ-พยายามชอบ 7. สัมมาสติ-ระลึกชอบ และ 8. สัมมาสมาธิ-ตั้งใจชอบ ซึ่งรวมเรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” หรือทางสายกลาง
มรรคมีองค์แปดนี้สรุปลงในไตรสิกขา ได้ดังนี้ 1. อธิสีลสิกขา ได้แก่ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ 2. อธิจิตสิกขา ได้แก่ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ และ 3. อธิปัญญาสิกขา ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ และสัมมาสังกัปปะ
อริยสัจ 4 นี้ เรียกสั้น ๆ ว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค
กิจในอริยสัจ 4
กิจในอริยสัจ คือสิ่งที่ต้องทำต่ออริยสัจ 4 แต่ละข้อ ได้แก่
- ปริญญา - ทุกข์ ควรรู้ คือการทำความเข้าใจปัญหาหรือสภาวะที่เป็นทุกข์อย่างตรงไปตรงมาตามความเป็นจริง เป็นการเผชิญหน้ากับปัญหา
- ปหานะ – สมุทัย ควรละ คือการกำจัดสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ เป็นการแก้ปัญหาที่เหตุต้นตอ
- สัจฉิกิริยา - นิโรธ ควรทำให้แจ้ง คือการเข้าถึงภาวะดับทุกข์ หมายถึงภาวะที่ไร้ปัญหาซึ่งเป็นจุดมุ่งหมาย
- ภาวนา – มรรค ควรเจริญ คือการฝึกอบรมปฏิบัติตามทางเพื่อให้ถึงความดับแห่งทุกข์ หมายถึงวิธีการหรือทางที่จะนำไปสู่จุดหมายที่ไร้ปัญหา
กิจทั้งสี่นี้จะต้องปฏิบัติให้ตรงกับมรรคแต่ละข้อให้ถูกต้อง การรู้จักกิจในอริยสัจนี้เรียกว่ากิจญาณ
กิจญาณเป็นส่วนหนึ่งของญาณ 3 หรือญาณทัสสนะ (สัจญาณ, กิจญาณ, กตญาณ) ซึ่งหมายถึงการหยั่งรู้ครบสามรอบ ญาณทั้งสามเมื่อเข้าคู่กับกิจในอริยสัจทั้งสี่จึงได้เป็นญาณทัสนะมีอาการ 12 ดังนี้
- สัจญาณ หยั่งรู้ความจริงสี่ประการว่า
- นี่คือทุกข์
- นี่คือเหตุแห่งทุกข์
- นี่คือความดับทุกข์
- นี่คือทางแห่งความดับทุกข์
- กิจญาณ หยั่งรู้หน้าที่ต่ออริยสัจว่า
- ทุกข์ควรรู้
- เหตุแห่งทุกข์ควรละ
- ความดับทุกข์ควรทำให้ประจักษ์แจ้ง
- ทางแห่งความดับทุกข์ควรฝึกหัดให้เจริญขึ้น
- กตญาณ หยั่งรู้ว่าได้ทำกิจที่ควรทำได้เสร็จสิ้นแล้ว
- ทุกข์ได้กำหนดรู้แล้ว
- เหตุแห่งทุกข์ได้ละแล้ว
- ความดับทุกข์ได้ประจักษ์แจ้งแล้ว
- ทางแห่งความดับทุกข์ได้ปฏิบัติแล้ว
3. หลังจากตรัสรู้แล้ว ได้ประกาศพระศาสนา และโปรดเวไนยสัตว์ 45 ปี พระชนมายุได้ 80 พรรษา ก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อวันอังคาร ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง ณ สาลวโนทยาน ของมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ (ปัจจุบันอยู่ในเมือง กุสีนคระ) แคว้นอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย
หันทะทานิ ภิกขะเว อามันตะยามิ โว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราขอเตือนท่านทั้งหลายว่า
วะยะธัมมา สังขารา สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา
อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ ท่านทั้งหลายจงทำความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด
อะยัง ตะถาคะตัสสะ ปัจฉิมาวาจา นี่เป็นพระวาจาครั้งสุดท้ายของเราตถาคต
ธรรมะเทศนาของหลวงพ่อปราโมทย์ ที่ขอแนะนำสำหรับ วันวิสาขะบูชา
>> อริยสัจจ์ ๔ ความจริงของพระอริยเจ้าทั้งหลาย เริ่มด้วยการรู้ทุกข์ <<
Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.
หลวงพ่อปราโมทย์ : หลักของการปฎิบัติ อันแรกสุดเลย ท่านบอกให้รู้ทุกขฺ์ หลักของอริยสัจจ์ ความจริงของพระอริยะทั้งหลาย ความจริงข้อที่ ๑ คือ ทุกข์ ทุกข์ให้ทำอะไร ให้รู้ อะไรคือทุกข์ ขันธ์ ๕ คือ ทุกข์ คือ กายกับใจเราเป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นรู้ลงที่กายที่ใจนี้
รู้ไปเพื่ออะไร เพื่อวันหนึ่งเข้าใจความเป็นจริงของกายของใจ เรารู้เลยกายกับใจนี้จริงๆ เป็นของโลกนะ เป็นสมบัติของโลก ยกตัวอย่างร่างกายของเรานี้เป็นแค่วัตถุธาตุเท่านั้นเอง อาศัยธาตุของพ่อแม่เป็นจุดเริ่มต้น อาศัยอาหาร อาศัยน้ำ อาศัยอากาศ อะไรอย่างนี้ หล่อเลี้ยง ตัวโตขึ้นมา แต่ละวันก็มีธาตุไหลเข้าไหลออก กินอาหารแล้วขับถ่าย หายใจเข้าแล้วหายใจออก อะไรอย่างนี้ เฝ้ารู้เฝ้าดู
วันหนึ่งแจ่มแจ้ง ร่างกายของเรานี่กับวัตถุทั้งหลายนี่ อันเดียวกันนั่นแหละ ความไม่รู้มันทำให้เราแบ่งแยกเอา มาเป็นกายของเรา นี่เป็นใจของเรา มันมีตัวเราขึ้นมา มันก็อยากหาความสุขให้ตัวเรา อยากจะสุขถาวร อยากจะอย่างโน้น อยากอย่างนี้ เกิดการดิ้นรน เกิดการปรุงแต่งตั้งมากมาย เพื่อที่จะหาความสุขมาให้ต้วเรา
ถ้าเฝ้ารู้ ลงไปที่กาย เฝ้ารู้ลงไปที่ใจ วันหนึ่งเห็น ตัวเราไม่มี ตัวเราไม่มี การที่ ถ้ามันมีตัวเรานี่คือ ‘อวิชชา’ นั่นเอง ความไม่รู้ทุกข์ อวิชชาข้อที่ ๑ ไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้ว่า สิ่งที่เรียกว่าตัวเราจริงๆเป็นแค่ รูปนาม ขันธ์ ๕ เป็นวัตถุ เป็นก้อนธาตุ หรือเป็นวิญญาณธาตุ เป็นธาตุรู้ เป็นของโลก ไม่ใช่ของเรา
เนี่ย เฝ้ารู้กาย เฝ้ารู้ใจ มันจะเห็นความจริงนะ มันจะสลัดคืนความยึดถือกาย ยึดถือใจ มันหวง มันรัก มันอยากให้ดี อยากให้สุขถาวร เฝ้ารู้ พอไม่ใช่ของเรา เห็น เบื้องต้นเห็นไม่ใช่ของเราก่อน ไม่ใช่ของเรานี้เรียกว่าพระโสดาบัน พระโสดาบันเห็น กายนี้ ใจนี้ ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวเราที่แท้จริง เป็นของโลก แต่ว่า คล้ายๆเป็นสมบัติคนอื่นนะ แต่งกนะ ไม่คืนหรอก
มาเฝ้ารู้เฝ้าดู เราคิดว่าเป็นของดีของวิเศษ กายนี้ ใจนี้ เป็นของดีของวิเศษ เฝ้ารู้เฝ้าดู นานไป นานไป ปัญญาแจ้งนะ มันไม่ใช่ของดีของวิเศษ มันเป็นตัวทุกข์ล้วนๆเลย กายนี้หาความสุขตรงไหนก็ไม่เจอ จิตนี้หาความเที่ยง หาการบังคับได้สักนิดหนึ่งก็ไม่มี มีแต่ทุกข์ล้วนๆเลย พอเห็นขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ล้วนๆเนี่ย เห็นตรงที่พระพุทธเจ้าบอกล่ะ เห็นทุกข์ละ ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์
พวกเราไม่มีทางเห็นขันธ์ ๕ เป็นทุกข์เลย เราเห็นว่ามันทุกข์บ้าง สุขบ้าง กายนี้ทุกข์บ้าง สุขบ้าง จิตนี้ทุกข์บ้าง สุขบ้าง ถ้าเจริญสติเข้มข้นขึ้นจริงๆ เห็นแต่ทุกข์ล้วนๆ แล้วมันจะสลัดคืน มันจะเห็นว่าไม่ใช่ของดี มันคล้ายๆเรา หยิบของมาอันหนึ่ง เรานึกว่านี่ของวิเศษเลย วันหนึ่งมาหัดสังเกตมัน อ้าว.. มันไม่ใช่ของดีหรอกนี่ นะ อาจจะเป็นจิ้งจก ตุ๊กแก อะไรนี่ มันเห็นว่าไม่ใช่ของดี มันจะสลัดทิ้ง
คำว่า ‘สลัดทิ้ง’ ภาษาบาลีเรียกว่า ‘ปฏินิสสัคคะ’ การสลัดคืน จะสลัด ใจเราจะหมดภาระทางใจนะ มันจะโล่งไปหมดเลย ความทุกข์มันจะเข้ามาไม่ถึงใจอีกแล้ว คือความอยาก การดิ้นรนทางใจทั้งหลายไปหมดเลย เป็นเพราะรู้ความจริงแล้ว กายนี้ใจนี้ไม่ใช่เราจริงๆนะ แบกเอาไว้ก็เป็นทุกข์ล้วนๆ
ท่านจึงสอนบอกว่า ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ คนทั้งหลายนี้แบกภาระ แบกทุกข์นี้ไปเรื่อยๆ คนยังต้องแบกของหนัก ไม่พ้นจากความทุกข์ แต่พระอริยะเจ้าทั้งหลายเนี่ย วางภาระ วางของหนักลงแล้ว คือวางความยึดถือกายยึดถือใจลงแล้ว แล้วไม่หยิบฉวยขึ้นมาอีก ความพ้นทุกข์ที่แท้จริงอยู่ที่ตรงนี้
เพราะฉะนั้นรู้ทุกข์อย่างแจ่มแจ้งนะ ก็จะละสมุทัยไปโดยอัตโนมัติ ที่ท่านสอนอริยสัจจ์ บอกว่า ให้รู้ทุกข์ ให้ละสมุทัย ถ้าเรารู้ทุกขฺ์แจ่มแจ้งเลย เห็นกายเห็นใจนี้ เป็นตัวทุกข์ล้วนๆ นะ มันปล่อยวาง พอปล่อยวาง ความดิ้นรน ความทะยานอยากของใจ ที่จะอยากให้จิตใจเรามีความสุข จิตใจเราดี อย่างโน้นอย่างนี้นะ ความดิ้นรน ความทะยานอยาก พวกนี้ถูกทำลายไปหมด จิตใจมันจะมีอิสรภาพ ทุกวันนี้เราตกเป็นทาสของความอยาก ความอยากเป็นเจ้านายตัวจริง สั่งให้เราทำอะไรต่ออะไรทั้งวันเลย เพื่อจะให้มันมีความสุข เพื่อจะหาความสุข
เฝ้ารู้ลงมาเห็นจริง จิตใจนี้ทุกข์ ไม่ใช่ตัวดี ปล่อยวางได้ ความอยากที่จะให้จิตใจนี้ดี อยากให้จิตใจนี้สุข ก็หมดไป สมุทัยเป็นอันถูกละไป การดิ้นรนต่างๆก็หมดไป ภาระทางใจ การงานทางใจ ก็หมดไปเลย จิตใจเข้าถึงภาวะที่พ้นจากความปรุงแต่ง พ้นจากภาระ ภาวะแห่งความพ้นความปรุงแต่งนั้นแหละเรียกว่านิโรธ นิโรธ หรือ นิพพาน
เพราะฉะนั้นรู้ทุกข์แจ่มแจ้ง สมุทัยก็เป็นอันถูกละไป นิโรธก็แจ้งขึ้นตรงนั้นเลย เพราะฉะนั้นการรู้ทุกข์นี้แหละ คือการเจริญอริยมรรค นี่คืออริยสัจจ์ ๔ นะ อริยสัจจ์ ๔
รู้ทุกข์ รู้กาย รู้ใจ รู้จนเห็นความจริง กายนี้ ใจนี้ ไม่ใช่ตัวดี เป็นตัวทุกข์ ก็ปล่อยวาง พอปล่อยวาง ความอยากจะให้กายนี้ ใจนี้ มีความสุขถาวร ก็หมดไป หมดการดิ้นรน หมดความอยาก สมุทัยถูกละ จิตใจเข้าถึงความสงบสุข พ้นจากการดิ้นรน แผดเผา ของความอยาก พ้นจากการยึดถือทุกข์ เรียกว่า ‘นิโรธ’ หรือ ‘นิพพาน’
นิพพานมีหลายนัยยะ อันหนึ่งก็คือ ‘วิสังขาร’ พ้นการปรุงแต่ง พ้นจากรูปนาม พ้นจากตัวทุกข์ อีกอันหนึ่งคือ ‘วิราคะ’ พ้นจากความอยาก ก็คือ พ้นจากตัณหา พ้นจากตัวสมุทัย
เพราะฉะนั้น การรู้ทุกข์ สำคัญที่สุด ถ้าพวกเราละเลย เราไม่เรียน เรื่องการรู้ทุกข์ หรือ การรู้กาย รู้ใจ จะห่างไกลจากศาสนาพุทธมากเลยนะ
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
สำนักสงฆ์สวนสันติธรรม
บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
แสดงธรรมที่ สวนโพธิญาณ
หนองตากยา ท่าม่วง กาญจนบุรี
เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๘
CD สวนสันติธรรมแผ่นที่ ๙
ลำดับที่ ๑๕
File: 480821A
นาทีที่ ๒ วินาทีที่ ๕๗ ถึงนาทีที่ ๙ วินาทีที่ ๑๑
อ้างอิง : http://th.wikipedia.org/wiki/อริยสัจ_4
http://www.thaigoodview.com/library/teachershow/poonsak/budda/theme_2.html
เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓
ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่
สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่
ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่
คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่