Dhammada on Android
available now on
Google Play Store
คำชี้แจง
    Dhammada.net เป็นเว็บไซต์ของกลุ่มลูกศิษย์ที่ภาวนาตามแนวดูจิตได้จัดทำกันเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทาง สวนสันติธรรม หรือ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช แต่อย่างใด     จึงขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันกับข้อเท็จจริง     ขอแสดงความนับถือ     Dhammada.net

หมวดหมู่

เรื่องล่าสุด

Latest Clips

คลังเก็บ

หลวงตามหาบัว ในรายการทไวไลท์โชว์ ๕ กรกฎาคม ๒๕๔๑

พระธรรมวิสุทธิมงคล (บัว ญาณสมฺปนฺโน) วิกิพีเดีย

วัดป่าบ้านตาด (วัดเกษรศีลคุณ)

หมู่บ้านบ้านตาด ตำบลบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี

ออกรายการในวันที่ ๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๑

ถอดถ้อยคำบางตอน…

นาทีที่ ๑๘ วินาทีที่ ๓

ไตรภพ : อยู่บนศีล สมาธิ แล้วปัญญามันจะมาเอง?

หลวงตาฯ : หา.. อะไรจะมาเอง?

ไตรภพ : ปัญญาจะมามั้ยขอรับพระคุณเจ้า ถ้ามีศีล มีสมาธิตั้งมั่นแน่วแน่ ปัญญาจะมามั้ยขอรับ

หลวงตาฯ : ไม่มา

ไตรภพ : แล้วปัญญาจะมาได้อย่างไรขอรับ?

หลวงตาฯ : ก็พิจารณาทางด้านปัญญา

ไตรภพ : สาธุ..

หลวงตาฯ : คือศีลต้องเป็นศีล แต่เป็นเครื่องหนุนให้สมาธิเกิดขึ้นได้อย่างง่าย เช่น ผู้ปฏิบัติตัวด้วยศีลอันบริสุทธิ์แล้วนะ จิตจะไม่เป็นกังวลระแคะระคายในตัวของตนว่าเป็นผู้มีศีลด่างพร้อยอะไรๆ เพราะศีลสมบูรณ์แล้วก็มีความอบอุ่น จิตก็ไม่เป็นกังวล เมื่อจิตไม่เป็นกังวลแล้วทำสมาธิก็ลงได้เร็ว ลงได้เร็วแล้วเป็นสมาธิแน่วแน่เข้าไป สมาธิเป็นหลายขั้นหลายภูมิในภาคปฏิบัติ สำหรับทางด้านปริยัติที่เราจดจำมานั้น กับภาคปฏิบัติผิดกันมาก ต้องได้ผ่านทางภาคปริยัติและภาคปฏิบัติแล้วจะพูดได้อย่างฉาดฉาน คนเรานะ…

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : พระสัทธรรม กับจิตของปุถุชน

พระสัทธรรม กับจิตของปุถุชน

ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ  สอนธรรมไว้ประการหนึ่งไว้ว่า

พระสัทธรรมเมื่อเข้าไปตั้งอยู่ในจิตของปุถุชน ก็ย่อมกลายเป็นสัทธรรมปฏิรูป

ปัญหาก็คือ เหตุใดจิตของปุถุชนจึงทรงพระสัทธรรมของแท้ไว้ไม่ได้ ?

 

จิตปุถุชนไม่เหมาะกับการรองรับพระสัทธรรม ก็เพราะยังมีมิจฉาทิฏฐิ

คือมีความเห็นสุดโต่งระหว่าง สัสสตทิฏฐิหรือความมีอยู่ถาวร กับอุทเฉททิฏฐิหรือความขาดสูญ

ทั้งยังประกอบด้วยสักกายทิฏฐิ คือความเห็นว่าขันธ์ 5 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จิต ว่าเป็นเรา

การกำหนดจดจำธรรมใดๆ ไว้ในจิต จึงอดไม่ได้ที่จะเจือความเห็นผิด

หรือการตีความธรรมอย่างผิดๆ เอาไว้ด้วย

 

เรื่องของมิจฉาทิฏฐินั้น หากเกิดขึ้นกับจิตดวงใด

จิตดวงนั้นย่อมเป็นอกุสลจิตเสมอ

 

ในความเป็นจริงแล้ว จิตของปุถุชน มักจะเป็นเพียงอกุสลจิต และวิบากจิตเท่านั้น

น้อยนักจะเป็นกุสลจิตได้อย่างแท้จริง เว้นแต่จะเป็นกุสลจิตแบบอนุโลมเอา

เช่นผู้ที่ได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าแล้วพิจารณาใคร่ครวญตาม

ก็พอจะน้อมใจเชื่อตามสัมมาทิฏฐิได้บ้างในขณะสั้นๆ

แต่เมื่อใดไม่ใคร่ครวญ ไม่สำรวมระวังความคิด

มิจฉาทิฏฐิก็กลับมาครอบงำจิตอีกโดยง่าย

คือจะเกิดความเห็นผิดว่าจิตเป็นเรา กายนี้เป็นเรา คนก็เป็นคน สัตว์ก็เป็นสัตว์จริงๆ

 

และหากพิจารณาในด้านของกิเลสที่เกิดขึ้นกับจิต ก็จะพบว่าจิตของปุถุชนนั้น

โอกาสที่จะเกิดกุสลจิตจริงๆ คือไม่มีอกุสลในจิต เป็นไปได้น้อยยิ่ง

เพราะเว้นแต่วิบากจิตเสียแล้ว จิตส่วนมากก็จะถูกครอบงำด้วยโมหะเกือบตลอดเวลา

แม้ในขณะที่ทำบุญทำทาน ศึกษาปฏิบัติธรรม

จิตก็มักจะถูกโมหะครอบงำเอาแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวเสมอๆ

 

ตัวมิจฉาทิฏฐิก็เป็นโมหะ ตัวกิเลสครอบงำประจำจิตก็เป็นโมหะ

รวมความแล้วโมหะนี้เองเป็นข้าศึกอย่างร้ายกาจทีเดียว

จิตของปุถุชน แทบไม่มีเวลาพ้นจากอำนาจของโมหะ

จึงไม่เหลือที่ว่างพอที่จะให้พระสัทธรรมประดิษฐานลงได้จริง

 

โอกาสที่จิตจะรอดจากโมหะมีไม่มากนัก

เพราะจิตใจของเราเหมือนถูกขังอยู่ในเขาวงกฏที่สลับซับซ้อนมาก

ช่องทางที่จะหนีรอด มีเพียงช่องทางเล็กๆ อยู่ช่องเดียว

ถ้าปราศจากพระพุทธเจ้าชี้ช่องทางนี้แล้ว ยากนักที่เราจะพบทางออกได้เอง

และช่องทางที่จะรอดจากโมหะหรือความหลง

ก็คือการเจริญสติสัมปชัญญะหรือความไม่หลงนั่นเอง

 

เมื่อใดจิตเกิดสติสัมปชัญญะ เมื่อนั้นจึงเกิดกุสลจิตที่แท้จริง

แต่พวกเราที่เคยฝึกเจริญสติสัมปชัญญะ

ต่างก็ซาบซึ้งแก่ใจดีแล้วว่า เข้าใจยากและทำยากเหลือเกิน

ขนาดคนที่มีศรัทธาต่อพระพุทธเจ้าอยู่แล้ว และอยากจะทำ ก็ยังทำยาก

นับประสาอะไรกับคนที่ไม่มีศรัทธามาก่อน และไม่อยากทำ

ด้วยเหตุนี้แหละ เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว จึงทรงท้อพระทัยที่จะสอน

 

การที่จะน้อมนำพระสัทธรรมเข้ามาประดิษฐานให้ถาวรในจิตก็ดี

การที่จะเผยแผ่พระสัทธรรมไปสู่จิตของผู้อื่นก็ดี

จึงเป็นงานที่ยากมาก เพราะต้องต่อสู้กับความไม่รู้ทั้งหลายของตนเองและผู้อื่น

แต่ถ้าพวกเราผู้มีโอกาสมากในสังคม ไม่ตั้งใจทำงานนี้

แล้วจะผลักภาระการรักษาพระสัทธรรมไปให้ใครได้ล่ะครับ

ดังนั้นอย่าประมาท นิ่งนอนใจ หรือเบื่อหน่ายท้อแท้ให้เสียเวลาเปล่า

ให้ตั้งใจปฏิบัติเพื่อน้อมนำพระสัทธรรม

เข้าสู่จิตใจให้ได้โดยทั่วกันทุกๆ คนนะครับ

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน ศุกร์ ที่ 3 พฤศจิกายน 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : ธรรมะแท้จริงไม่มีอะไรต้องพูดกันเลย

ธรรมะแท้จริงไม่มีอะไรต้องพูดกันเลย

ถ้าจะกล่าวว่า การปฏิบัติธรรมมีเพียงผู้รู้ กับสิ่งที่ถูกรู้

หรือมีเพียงจิต กับอารมณ์

หรือมีเพียงจิต กับอาการของจิต

หรือมีเพียงจิต กับสิ่งที่ปรุงแต่งจิต

ก็ย่อมไม่มีเรื่องที่จะต้องพูดอะไรกันมากเลยครับ

 

แต่ที่ธรรมะมีอะไรๆ ให้พูดกันตั้งมากมาย

ก็เพื่อเป็นอุบายตะล่อม หรือแหวกสิ่งแปลกปลอมเข้าหาจิตเท่านั้นเอง

เมื่อรู้เข้ามาถึงจิตถึงใจแล้ว

สิ่งอื่นๆ ก็หมดเรื่องที่จะต้องพูดกันอีกต่อไป

 

ธรรมะที่ถึงจิตถึงใจ เป็นธรรมะใหม่เอี่ยม สดชื่นเบิกบาน

แต่พอบัญญัติออกมาก็จืดๆ เก่าๆ เป็นธรรมดาอย่างนี้แหละครับ

เพราะสมมุติบัญญัติเป็นแค่เงาๆ พอให้เทียบเคียงเข้าถึงธรรมเท่านั้น

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน จันทร์ ที่ 4 ธันวาคม 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : จงเพียรภาวนากันเถิด

จงเพียรภาวนากันเถิด

ในโลกนี้จะมีอะไรน่าสนุกสนานนัก

เพราะมันมีแต่ของลวงๆ คือรูปก็ไม่ใช่ตัวตน

เสียง กลิ่น รส สัมผัสก็ไม่ใช่ตัวตน

แล้วจะน่าบันเทิงใจกันที่ตรงไหน ถ้าเราไม่หลงรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสนั้น

 

พระพุทธเจ้าทรงชี้ในเราดูโลกอันงดงามดุจราชรถทรงของพระราชา

ถ้าไม่หลงเสียอย่างเดียว มันก็ไม่มีอะไร

มีแต่รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสที่มากระทบแล้วดับไปเป็นคราวๆ เท่านั้น

 

ไม่อยากให้พวกเราประมาทครับ เราเล่นสนุกมาคนละมากๆ แล้ว

เวลาก็เหลือน้อยลงทุกลมหายใจเข้าออก

จะหมดไปตอนไหนก็ไม่ทราบได้

มาพากเพียรศึกษาตนเอง ให้เข้าถึงจิตถึงใจกันเถิดครับ

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน อาทิตย์ ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2544

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : วิธีที่จะไม่ให้หลงกลกิเลส

วิธีที่จะไม่ให้หลงกลกิเลส

ถ้ากิเลสเกิดแล้วรู้ว่ามีกิเลส

และรู้ทันจิตใจตนเองว่า มันยินดี ยินร้ายตามกิเลสหรือไม่

-มันหลง มันเผลอ มันอยาก มันยึด หรือไม่

 รู้เรื่อยๆ ไป ถึงจุดหนึ่งจิตมันจะเข้าใจเองว่า

“ถ้าจิตหลงตามแรงกระตุ้นของกิเลส

 แล้วเกิดความอยาก ความยึดขึ้นมาเมื่อใด ความทุกข์ก็เกิดขึ้นเมื่อนั้น”

จิตก็จะมีฉลาดพอ ที่จะไม่หลงกลกิเลสที่มันรู้ทันแล้วอีกต่อไป

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

บันทึกไว้เมื่อ  วัน จันทร์ ที่ 25 ธันวาคม 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : เก็บความรู้เข้าตู้

เก็บความรู้เข้าตู้

การเก็บความรู้เข้าตู้ แล้วลงมือเจริญสติสัมปชัญญะอย่างจริงจังนั้น

เป็นวิธีการที่พ่อแม่ครูอาจารย์ถือปฏิบัติกันตลอดมา

เช่นท่านอาจารย์พระมหาบัว เมื่อไปฝากตัวศึกษาธรรมกับท่านพระอาจารย์มั่น

ก็ได้รับคำสั่งว่า ท่านมหา ให้เก็บความเป็นมหาใส่ตู้ไว้ แล้วลงมือปฏิบัติเอา

 

กิเลสตัณหาไม่กลัวความรู้ และไม่กลัวคนรอบรู้

มันกลัวแต่เฉพาะ รู้ เท่านั้น ถ้ารู้นั้นเป็นรู้จริง

คือเป็นการรู้อารมณ์ของจริงด้วยจิตที่มีคุณภาพ

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน จันทร์ ที่ 6 พฤศจิกายน 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : ความรู้ตัวทั่วพร้อม

ความรู้ตัวทั่วพร้อม

เรื่องความรู้ตัวทั่วพร้อมนี้ เป็นเรื่องที่เข้าใจผิดกันมาก

คิดว่าต้องรู้กายทั้งตัว พร้อมกับรู้จิตไปด้วย

ซึ่งตามธรรมชาติของจิตแล้ว ย่อมรู้อารมณ์ได้ทีละอย่างเท่านั้น

มันจะมีอาการอย่างที่เห็นนั่นเอง ว่ารู้ไปทีละอย่างๆ

 

ทีนี้เมื่อพูดว่า จิตรู้ได้ทีละอย่าง

บรรดานักเพ่งทั้งหลายก็จะไปเพ่งกายส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่นเพ่งมือเพ่งเท้า

ครูอาจารย์ก็พยายามแก้ให้ บอกว่าอย่าไปเพ่งอย่างนั้น

ให้รู้ไปสบายๆ ทั้งตัว เพื่อจะแก้อาการเพ่ง

ทีนี้บางคนพอรู้ทั้งตัวแล้ว ก็กลายเป็นเพ่งทั้งตัวอีก

ครูอาจารย์ก็เลยสอนอีกว่า ให้รู้จิตใจตนเองไว้ ว่ามันกำลังเผลอเพ่งอยู่

คราวนี้นักปฏิบัติก็หันมาเพ่งจิตต่อไปอีก เพราะชอบเพ่งอยู่แล้ว

เพราะครูอาจารย์ให้รู้อะไร ก็เพ่งอันนั้น

 

เมื่อทำอันนั้นก็ไม่ถูก ทำอันนี้ก็ไม่ถูก

คราวนี้ผู้เรียนก็ยิ่งสับสนหนักเข้าไปอีก

ว่ารู้ตัวทั่วพร้อมทำไมมันต้องรู้อะไรมากมายนัก

เช่นรู้มือเท้าที่เคลื่อนไหวแล้ว ก็ยังต้องรู้กายทั้งกายอีก

แล้วยังต้องรู้ทันจิตใจตนเองอีก ใครจะไปทำได้

เพราะจิตนั้นย่อมรู้อารมณ์ได้เพียงทีละอย่างเท่านั้น

 

อันที่จริงไม่ใช่ต้องไปรู้อะไรมากมายอย่างนั้น

ถ้าเอี้ยงรู้ทันจิตตนเอง ไม่เผลอ (รวมทั้งไม่เผลอเพ่ง) อันเดียวก็พอแล้ว

เช่นเดินจงกรมไปเรื่อยๆ แรกๆ ก็รู้การเคลื่อนไหวของเท้า

หรือของกายไปอย่างสบายๆ อย่าเผลอเพ่งลงในเท้าหรือในกาย

 

ต่อมาพอจิตมีกำลังขึ้น จิตมันจะมาเห็นอารมณ์

หรืออาการของจิตในส่วนที่เป็นนามธรรมได้

เช่นเดินไปแล้วก็เห็นความฟุ้งซ่านในจิต เห็นว่าความฟุ้งซ่านไม่ใช่จิต

แล้วความฟุ้งซ่านก็ดับไป ก็เห็นอีกว่าจิตสงบ

ก็รู้เท่ารู้ทันจิตใจเรื่อยๆ ไป

 

สักพักจิตก็คิดและหนีไปเที่ยวอีก

ก็ให้คอยรู้ทันว่าจิตฟุ้งซ่านและหนีเที่ยว

ถ้าดูแล้วมันก็ยังฟุ้งจนสู้ไม่ไหว

ก็กลับมารู้การเคลื่อนไหวเท้าของเราต่อไปอีก

โดยไม่ให้จิตจมลงในเท้า

 

ความรู้ตัวทั่วพร้อม จึงไม่ใช่การรู้อะไรทีละหลายๆ อย่าง

แต่หมายถึงการรู้โดยไม่หลง

เช่นรู้เท้าเคลื่อนไหว โดยจิตไม่หลงไปที่เท้า

หรือบางคนกำหนดลมหายใจ

ก็รู้ลมหายใจโดยจิตไม่หลงไปกับลมหายใจ

 

เรื่องการฝึกปฏิบัตินั้นไม่ต้องฝึกมากเรื่องหรอก

ฝึกความไม่หลงอันเดียวเท่านั้นก็พอแล้ว

เหมือนที่พระพุทธเจ้าท่านสอนพระรูปหนึ่งว่า

ให้เจริญสติรักษาจิตตนเองอย่างเดียวก็พอแล้ว

เพราะเท่ากับปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ท่านครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว

 

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน พฤหัสบดี ที่ 31 สิงหาคม 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : สติปัญญาเป็นเครื่องถอดถอนจิตออกจากกองทุกข์

สติปัญญาเป็นเครื่องถอดถอนจิตออกจากกองทุกข์

ผมเพิ่งไปกราบหลวงปู่สุวัจน์ แห่งวัดป่าเขาน้อย บุรีรัมย์

และได้ปรึกษากับญาติธรรมเกี่ยวกับการสร้างสุญญาคาร

การไปคราวนี้ได้พบญาติธรรมที่เพิ่งสูญเสียคุณแม่ไปเมื่อไม่นานมานี้

เห็นว่าจิตของเธอยังจมแช่อยู่กับกองทุกข์

จึงอธิบายให้เธอฟังว่า จิตของสัตว์ทั้งหลาย

ย่อมจมแช่อยู่กับกองทุกข์กองกิเลสเสมอๆ

จะโดยรู้ตัว หรือไม่ ก็ตาม

 

ผู้ไม่ได้ปฏิบัติ เขาไม่ค่อยทราบหรอกว่า

จิตของเขาจมแช่กองทุกข์และกิเลสอยู่

ส่วนผู้ปฏิบัติ มักจะทราบว่า จิตกำลังมีความทุกข์

หรือทราบว่าจิตจมแช่อยู่กับกิเลส

แต่ยอมจำนน เพราะไม่ทราบว่าจะแก้ไขอย่างไรดีบ้าง

หรือพยายามแก้ไข อันเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์มากยิ่งขึ้นบ้าง

 

การยอมจำนน ไม่ใช่ทาง

แต่การพยายามแก้ไข ก็ไม่ใช่ทางเช่นกัน

เพราะทางมีทางเดียวคือ

การรู้สภาวธรรมที่กำลังปรากฏ ด้วยจิตที่เป็นกลาง

 

การที่จะรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏได้มากน้อยเพียงใดนั้น

ขึ้นอยู่กับกำลังของสติปัญญาโดยตรง

หากสติหยาบ ก็กำหนดรู้ได้เฉพาะอารมณ์ที่หยาบ

หากสติละเอียด ก็กำหนดรู้ได้ทั้งอารมณ์ที่หยาบและละเอียด

ส่วนปัญญาที่หยาบ ก็ละได้เฉพาะอารมณ์ที่หยาบ

ปัญญาละเอียด ก็ละได้ทั้งอารมณ์ที่หยาบและละเอียด

 

เมื่อเวลาลงมือปฏิบัตินั้น แรกทีเดียวสติยังมีกำลังน้อย

ผู้ปฏิบัติก็รู้ได้เฉพาะกิเลสหยาบๆ เช่นโทสะหยาบๆ และราคะหยาบๆ

เมื่อสติกำหนดรู้ลงไปที่อารมณ์อันนั้นแล้ว ด้วยจิตที่ตั้งมั่นเป็นสัมมาสมาธิ

สัมปชัญญะคือตัวปัญญา

ก็จะถอดถอนจิตออกจากอารมณ์หรือกิเลสที่หยาบนั้นเอง

หากกำลังของปัญญายังไม่เพียงพอ

ผู้ปฏิบัติก็จะรู้สึกว่า จิตจมแช่อยู่กับอารมณ์หรือกิเลสนั้น

แต่หากกำลังปัญญาเพียงพอ

จิตก็จะถอดถอนตนเองออกจากกองทุกข์กองกิเลสนั้นได้เอง

โดยผู้ปฏิบัติไม่ต้องใช้ความพยายาม ในการแยกจิตออกจากทุกข์หรือกิเลส

 

เมื่อสติละเอียดยิ่งขึ้น ก็จะสามารถกำหนดรู้สภาวธรรมที่ละเอียดได้

เช่นสามารถรู้ถึงความขัดใจ ก่อนที่จะพัฒนาไปเป็นโทสะ

สามารถรู้ถึงความพึงพอใจ ก่อนที่จะพัฒนาไปเป็นกามราคะหยาบๆ

สามารถรู้ถึงมานะ รูปราคะ และอรูปราคะอันเป็นราคะละเอียด

สามารถรู้ถึงโมหะ ทั้งที่เป็นความหมองมัวซึมเซา และที่เป็นความฟุ้งซ่านของจิต ฯลฯ

 

เมื่อสติรู้เท่าทันสภาวธรรมที่กำลังปรากฏแล้ว

หากปัญญามีกำลังไม่เพียงพอ ผู้ปฏิบัติจะรู้สึกถึงความจมแช่ของจิต

อยู่ในกองทุกข์ กองกิเลสนั้น

แต่หากกำลังเพียงพอ จิตก็จะถอดถอนตนเอง

ออกจากกองทุกข์และกองกิเลสละเอียดนั้น

เช่นเดียวกับที่ปัญญาอย่างหยาบ

ช่วยถอดถอนจิตออกจากกองทุกข์และกองกิเลสหยาบๆ นั่นเอง

 

ผมเล่าให้เธอฟังต่อไปว่า

ถ้าผู้ปฏิบัติมีสติรู้เท่าทันสิ่งที่กำลังปรากฏ ซึ่งหยาบ/ละเอียดขั้นไหน

ปัญญา ซึ่งจะเกิดตามหลังมา

ก็จะประหัตประหารกองทุกข์ กองกิเลสได้ หยาบ/ละเอียดในขั้นนั้น

ปัญญาจะไปประหารกองทุกข์ กองกิเลส

ที่ละเอียดกว่ากำลังของสติจะกำหนดรู้ ไม่ได้

เพราะปัญญา จะเกิดขึ้นได้จากการมีสติ

ไปรู้สภาวธรรม หรือปรมัตถธรรม ที่กำลังปรากฏ

ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง เท่านั้น

เมื่อสติรู้ชัดเพียงใด ปัญญาก็ละได้เพียงนั้น

 

ผมเล่าให้เธอฟังต่อไปว่า แม้แต่จิตของผมเองในขณะนี้

ก็จมแช่อยู่กับกองทุกข์ กองกิเลสที่มองไม่เห็น

เมื่อมองไม่เห็น จึงไม่เกิดปัญญาที่จะถอดถอนจิตออกจากโลกได้

แต่ที่ทราบว่าจิตยังติดข้องอยู่ ก็เพราะได้รู้เห็นสภาวจิตของพ่อแม่ครูอาจารย์

ที่ท่านไม่ติดข้องกับอะไรๆ ในโลกแล้ว

จำเป็นที่ผมจะต้องให้เวลากับตนเองเพื่อพัฒนากำลังของสติ สมาธิ ปัญญา

ให้ละเอียดเท่าทันกับกองทุกข์และกองกิเลส

ที่ละเอียดจนเหมือนเนื้อเดียวกับความว่าง

หากทำไม่สำเร็จ ก็จะติดอยู่เพียงเท่านี้เอง

เพราะไม่รู้เห็นสภาวะหรือปรมัตถธรรมที่จิตไปติดข้องอยู่

 

สรุปแล้ว สติละเอียดเพียงใด ปัญญาก็เกิดได้ละเอียดเพียงนั้น

ส่วนสติจะละเอียดเพียงใด ขึ้นอยู่กับการฝึกฝนในด้านสมาธิ หรือปัญญาด้วย

 

คือถ้าจิตมีสัมมาสมาธิ สติก็บริสุทธิ์ มีกำลังมาก

หรือหากมีปัญญาอันเกิดจากการเจริญสติมาก

ก็ส่งเสริมให้สติสามารถรู้เท่าทันอารมณ์ที่ละเอียดยิ่งขึ้นไปได้อีก

 

การปฏิบัติ จึงมีทั้งแบบที่ใช้สมาธินำ และใช้ปัญญานำ

แต่ไม่ว่าจะใช้สิ่งใดนำ ในที่สุดก็ต้องมีพร้อมทั้งสติ สมาธิ และปัญญา

จิตจึงสามารถถอดถอนตนเอง ออกจากกองทุกข์และกองกิเลสได้

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อ วัน อาทิตย์ ที่ 12 พฤศจิกายน 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : ทุกข์ในศาสนาพุทธ

ทุกข์ในศาสนาพุทธ

คำว่าทุกข์ มีใช้ในธรรมหลายเรื่อง จึงมีความหมายต่างๆ กันไปด้วย

แต่รวมความแล้ว ก็คือความทนอยู่ไม่ได้ และความเสียดแทงต่างๆ

 

ทุกข์อันแรกที่เราน่าจะทำความเข้าใจก็คือ ทุกข์ในสามัญลักษณ์หรือไตรลักษณ์

ที่ท่านสอนว่า “สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์(ทนอยู่ไม่ได้)

สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา”

คำว่าสิ่งใดๆ นี้แหละ ได้แก่สังขารธรรม อันเป็นธรรมชาติฝ่ายปรุงแต่ง

(คู่กับสังขารธรรมคือ วิสังขารธรรม หรือธรรมที่พ้นความปรุงแต่ง คือนิพพาน)

ดังนั้น ตัวขันธ์ 5 เองซึ่งเป็นสังขารธรรม

(หรือธรรมฝ่ายปรุงแต่ง หรือธรรมที่มีเหตุปัจจัยทำให้เกิด)

จึงไม่เที่ยง เป็นทุกข์คือทนอยู่ไม่ได้ และเป็นอนัตตา

ที่คุณมะขามป้อม กล่าวว่าขันธ์ 5 เป็นทุกข์นั้น จึงเป็นโดยนัยที่กล่าวนี้

 

ทุกข์อันที่ 2 ที่เราน่าจะรู้จักก็คือทุกขเวทนา หรือความรู้สึกเป็นทุกข์ทางกายทางใจ

มันเกิดขึ้นเมื่อมีผัสสะ ถ้าไม่มีผัสสะก็ไม่เกิดขึ้น

ท่านจึงสอนว่า “ผัสสะเป็นปัจจัยของเวทนา เวทนาเป็นปัจจัยของตัณหา”

 

ทุกข์อันที่ 3 คือทุกขอริยสัจจ์ หรือทุกขสัจจ์

เป็นทุกข์ที่เกิดจากตัณหาอุปาทาน ซึ่งรวบย่อลงมาว่า

ได้แก่อุปาทานขันธ์ทั้ง 5 นั่นเอง

 

เวลาเราพูดถึงศัพท์เทคนิคทางพระพุทธศาสนา

บางคราวก็ทำให้ยุ่งยากแก่ผู้แรกศึกษาเหมือนกัน

อย่างทุกข์ ก็มีหลายนัยตามที่กล่าวแล้ว

หรือสังขาร ก็มีหลายนัย

คือ สังขารที่คู่กับวิสังขาร ได้แก่สิ่งปรุงแต่งทั้งปวง ทั้งรูปและนาม

กับ สังขารขันธ์ ได้แก่ความคิดนึกปรุงแต่ง ซึ่งเป็นนามธรรมล้วนๆ

 

เพราะมันยุ่งยากสำหรับการสื่อความเข้าใจอย่างนี้แหละครับ

ทำให้ผมเห็นว่า นักปฏิบัติก็ไม่ควรทิ้งปริยัติเสียเลย

มิฉะนั้นจะคุยกันไม่รู้เรื่อง

อันนี้ก็เป็นปัญหาจริงอย่างที่นักปริยัติเขาว่านะครับ

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน อังคาร ที่ 29 สิงหาคม 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : ขันธ์และอุปาทานขันธ์

ขันธ์และอุปาทานขันธ์

เรื่องของขันธ์ และอุปาทานขันธ์ มีแง่มุมซับซ้อนมากมายในเชิงปฏิบัติครับ

ผมว่าจะเขียนเรื่องนี้สักที แต่ยังไม่ว่างพอที่จะเขียนได้

เมื่อคุณตั้งกระทู้นี้ก็ดีแล้วครับ ขอแจมบางเรื่องที่นึกได้ตรงนี้เสียเลย

 

ผู้ศึกษาพุทธศาสนาจำนวนมากจะคิดว่า

สัตว์ประกอบด้วยขันธ์ 5 บ้าง ขันธ์ 4 และ ขันธ์ 1 บ้าง

ที่จริงก็ผิด ตั้งแต่ที่คิดว่ามีสัตว์แล้ว

อันที่จริงขันธ์ก็คือธรรมชาติอันหนึ่ง

ที่เมื่อประกอบกันเข้า แล้วมีวิญญาณและสัญญาครอง

จึงถูกหมายรู้เอาเข้ามาเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา

 

เดิมขันธ์ก็เป็นเพียงธรรมชาติอันหนึ่ง

เช่นรูปขันธ์ ก็เหมือนต้นไม้ต้นหนึ่ง หรือหินก้อนหนึ่ง

ต้นไม้นั้น มันจะอยู่ หรือมันจะตาย มันไม่ได้ยินดียินร้ายอะไร

รูปขันธ์ก็เช่นเดียวกัน เพราะมันก็เพียงแต่ประกอบกันขึ้นด้วยธาตุ

ไม่มีความรู้สึกนึกคิดใดๆ โดยตัวเองแม้แต่น้อย

 

คราวนี้เมื่อรูปขันธ์นี้มีวิญญาณและสัญญาครองอยู่

ความยึดถือว่ารูปเป็นของตนก็เกิดขึ้น

คือรูปกายนี้เป็นโพรง เป็นคูหาให้จิตอาศัยอยู่

จิตก็ยึดเอาว่านี่เป็นกายของเรา

 

แม้เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ก็เป็นธรรมชาติแต่ละอย่างๆ

มีบทบาทหน้าที่เฉพาะของมันเอง

เมื่อจิตไปรู้สิ่งใดเข้า ก็ยึดเอาว่าเป็นของเราๆ ไปเสียทุกอย่าง

พอสิ่งนั้นแปรปรวน ไม่สมปรารถนา ก็เป็นทุกข์เดือดร้อนขึ้นมา

ไม่เหมือนร่างกายหรือสมบัติของคนอื่นที่เราไม่ได้ผูกพันเกี่ยวข้องด้วย

แม้จะวิบัติแปรปรวน เราก็ไม่ได้เป็นทุกข์ด้วย

เพราะจิตไม่ได้เข้าไปยึดมั่นถือมั่น

ขันธ์ที่จิตเข้าไปยึดมั่นนั่นแหละ

จึงจะเป็นตัวทุกข์ครอบงำกระทบกระเทือนจิตใจตนเองได้

 

พระศาสดาจึงทรงสอนให้เรามองตามความเป็นจริง

ให้เห็นว่าขันธ์ 5 ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

เพื่อถอดถอนความยึดมั่นในขันธ์ว่าเป็นของตนเสีย

สิ่งที่ท่านต้องการให้เราเรียนรู้ คือการสลัดคืนอุปาทานขันธ์เสีย

โดยเห็นขันธ์ 5 เป็นธรรมชาติธรรมดาอันหนึ่งๆ เท่านั้น

ไม่ใช่ให้รู้ขันธ์ 5 เพื่อความฉลาดรอบรู้อะไร

เพราะพระพุทธศาสนาไม่ได้มุ่งสอนให้เรารู้อะไรเล่นๆ หรือรู้เอาไว้อวดกัน

แต่สอนเพื่อให้ทำลายอุปาทานขันธ์เสีย จะได้ไม่ต้องทุกข์อีกต่อไป

เมื่อขันธ์ประสบกับความวิบัติพลัดพรากทั้งปวง

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวันอังคาร ที่ 29 สิงหาคม 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : ทุกขอริยสัจ

ทุกขอริยสัจ

ทุกขอริยสัจนั้น เกิดมาแต่ตัณหาอุปาทาน

คือเมื่อจิตไปหลงยึดขันธ์ 5 ว่าเป็นตัวกู ของกูแล้ว

ก็จะเกิดปัญหาว่า กูแก่ กูเจ็บไข้ กูตาย

กูประสบกับสิ่งที่ไม่รัก กูพลัดพรากจากสิ่งที่รัก

กูไม่สมปรารถนา กูเศร้าโศก กูคร่ำครวญร่ำไรรำพัน

กูไม่สบายกาย กูไม่สบายใจ กูคับแค้นใจ ฯลฯ

 

อันที่จริงนั้น กูไม่มี มีแต่ขันธ์ 5

แต่เพราะความไม่รู้ จิตจึงไปยึดเอาขันธ์ 5 มาเป็นตัวกูของกู

แล้วบรรดาความทุกข์ทั้งหลาย

ก็เกิดตามมาเป็นทิวแถวเพราะความแปรปรวนของขันธ์ 5

ท่านจึงสรุปรวบยอดว่า

อุปาทานขันธ์ หรือขันธ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น นั่นแหละคือตัวทุกข์

 

คราวนี้พระอรหันต์ท่านฉลาดแล้ว

ไม่หลงยึดขันธ์ 5 ว่าเป็นตัวกูของกูอีกแล้ว

ท่านก็พ้นจากทุกข์อริยสัจได้เด็ดขาด

เพราะท่านไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ไม่พลัดพราก ฯลฯ

เนื่องจากไม่มี ท่าน เสียแล้ว มีแต่ธรรมชาติธรรมดาล้วนๆ

 

แต่พระอรหันต์ยังรู้ ทุกขเวทนาทางกาย

เพราะยังมีผัสสะทางกายอยู่เหมือนปุถุชนนั่นเอง

เช่นท่านยังถูกฆ่า ถูกตี ยังอาพาธเจ็บปวดเพราะโรคภัยไข้เจ็บและอุบัติเหตุได้

เพราะยังต้องอาศัยรูปขันธ์อันนี้อยู่ เนื่องจากยังไม่สิ้นวิบาก

แต่ท่านไม่ต้องเสวยทุกขเวทนาทางใจแม้แต่น้อย

ไม่เหมือนพวกเรา ที่เจ็บกายแล้ว ก็พลอยเจ็บใจไปด้วย

 

ดังนั้น แม้จะดับตัณหาสนิทแล้ว ดับทุกขอริยสัจ สนิทแล้ว

ก็ดับได้เฉพาะ ทุกขเวทนาทางใจ

แต่ทุกขเวทนาทางกาย ก็ยังต้องรับไปตามสภาพนั่นเอง

จนกว่าจะถูกวันดับขันธปรินิพพาน

คือวันที่ขันธ์ดับไปตามเหตุปัจจัย

ก็จะหมดเครื่องเชื่อมต่อเข้าหาทุกข์เวทนาทางกายอีกต่อไป

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวันอังคาร ที่ 29 สิงหาคม 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : เห็นโลกเป็นสองมิติ(แบนราบ)

เห็นโลกเป็นสองมิติ(แบนราบ)

ถาม : เรื่องภาพที่เห็นน่ะครับ ว่าหากตอนนั้นๆมีสติอยู่ และไม่ส่งจิตออกนอก ภาพที่เห็นนั้นจะเป็นภาพสองมิติจริง ยังกับว่าเราไปรู้อยู่ที่จอหนังที่รับภาพ

ภาพจะแบนไปหมดครับ แต่ถ้าเมื่อไหร่ใจมันพุ่งออกไปรับรู้ภาพที่ไกลตัวไป มันจึงจะเป็นภาพสามมิติครับ

ตอบ : การที่จิตรู้อะไรได้เป็นจุดเล็กๆ เฉพาะตรงที่สติกำหนดลงนั้น ก็ถูกครับ

เหมือนอย่างเราคุยกับใครสักคน เรามองหน้าเขา

ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่า เราเห็นหน้าของเขาเป็นจุดๆ เท่านั้น

เราต้องกวาดตาเคลื่อนที่ไปตรงนั้นตรงนี้

และอาศัยความจำรูปได้ เป็นเครื่องสนับสนุน

เราจึงเกิดความรู้สึกว่า เราเห็นหน้าเขาทั้งหน้า

 

ส่วนการเห็นภาพสองมิตินั้น ขอเรียนว่า ไม่ใช่ภาพทางตานะครับ

มันเป็นคำเปรียบเทียบถึงความรู้สึกเท่านั้น

เมื่อใดจิตสักว่ารู้ สักว่าเห็น

เมื่อนั้น รูปก็ดี เสียงก็ดี กระทั่งความคิดนึกปรุงแต่ง ก็จะเป็นเพียงสิ่งถูกรู้ถูกเห็น

เมื่อปราศจากความสำคัญมั่นหมายของจิต

สิ่งที่จิตไปรู้เห็นนั้น ก็ไม่มีความโดดเด่นผิดธรรมดาขึ้นมา

ทุกอย่างจึงเท่าเทียมกันในความเป็นธรรมดา

ใจจึงสัมผัสสิ่งต่างๆ เหมือนอย่างกับตาเห็นภาพสองมิติ

 

พวกเราอย่าพยายามไปมองภาพสามมิติที่ตาเห็น

ให้กลายเป็นภาพสองมิตินะครับ

มันจะกลายเป็นการเสแสร้งแกล้งทำ

ขอให้เจริญสติสัมปชัญญะให้ต่อเนื่องต่อไปดีกว่าครับ

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน พุธ ที่ 1 มีนาคม2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : เพราะหลุดพ้น จึงรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว

เพราะหลุดพ้น จึงรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว

เรื่องของจิตที่พวกเราติดกันอยู่มีความหลากหลายมาก

เช่นเป็นจิตที่เฉยๆ แบบซึมๆ เพราะโมหะแทรก,

จิตสบายใจ ไม่เจริญปัญญา หยาดเยิ้มแบบคนติดยา เพราะราคะแทรก,

จิตทะยานออกนอก ไม่เข้าฐาน ประกอบด้วยโทสะ,

จิตรู้ตัววับเดียว แต่ไม่ตั้งมั่น แล้วทะยานออกคิดปรุงแต่งไปตามความฟุ้งซ่าน,

จิตมีสติ ตั้งมั่นอยู่ได้ แต่กระด้างไม่เป็นธรรมชาติธรรมดา,

 

ที่ยกมานี้เพื่อเป็นตัวอย่างทางการศึกษาเท่านั้นครับ

ไม่ใช่ว่าคนที่ยกมานี้ ปฏิบัติสู้คนอื่นไม่ได้

อันที่จริง ทุกคนยังติดสิ่งใดสิ่งหนึ่งทั้งนั้น

ผมเองก็ติดเหมือนกัน ไม่ใช่ไม่ติด

เพราะถ้าไม่ติด จิตต้องหลุดพ้นไปแล้วทุกคน

 

สิ่งที่ติด ก็คือสิ่งที่จิตยังไม่รู้ทัน

ถ้าเมื่อใด จิตรู้ทันในสิ่งที่ติดอยู่ ก็หลุดจากสิ่งนั้นได้

แล้วไปติดสิ่งที่ละเอียดกว่านั้นต่อไป

ดังนั้น จะพ้นการติดได้ เราต้องรู้สภาวะที่กำลังติดอยู่นั้นตามความเป็นจริง

จะตรงกับสภาวะที่พระศาสดาทรงแสดงไว้ว่า

“เพราะเห็นตามความเป็นจริง จึงเบื่อหน่าย

เพราะเบื่อหน่าย จึงคลายความกำหนัด

เพราะคลายความกำหนัด จึงหลุดพ้น

เพราะหลุดพ้น จึงรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว”

 

กระทั่งหลุดพ้น ก็ยังหนีการ “รู้” ว่าหลุดพ้นไม่ได้เลยครับ

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน อังคาร ที่ 29 กุมภาพันธ์ 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : ขณะที่จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง

ขณะที่จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง

ในเวลาที่เราดูจิตนั้น เมื่อเรารู้แล้วปล่อยวางอารมณ์เข้าไปตามลำดับๆ

ในที่สุด สติสัมปชัญญะจะไปประชุมลงที่จิต

ตรงนี้ถ้าไปหยุดรู้จิตอยู่อย่างซึมๆ (นิดเดียว) เพราะโมหะแทรก

เราจะไม่เห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง

ต่อเมื่อเกิดความเฉลียวใจนิดเดียว นิดเดียวจริงๆ

ก็จะเห็นชัดว่า นามขันธ์โดยเฉพาะสัญญานั้น มันแนบอยู่กับจิต

จิตจึงทำงานหมายรู้ออกนอกได้ มายาของโลกมันเริ่มมาจากสัญญาและสังขารนี้เอง

แล้วเราก็พากันหลงว่า สัญญานี้คือจิตของเรา

พอเห็นสัญญาชัดเจน ต่างหากจากจิต

เราก็จะรู้จักธรรมชาติแท้ของจิตที่พ้นจากความปรุงแต่งในแว้บเดียว

ตรงนี้แหละครับที่จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งได้แท้จริง

เพราะไม่มีฝ้ามัวใดๆ มาเคลือบคลุมไว้

ถ้ารู้จักสิ่งนี้แล้ว ก็เป็นการง่ายที่จะเห็นสิ่งแปลกปลอมที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน พุธ ที่ 1 มีนาคม 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : การบรรลุธรรมของพระอานนท์

การบรรลุธรรมของพระอานนท์

คนที่พยายามเลียนแบบท่านพระอานนท์ ด้วยการเอนนอนโดยหวังมรรคผล

ทำให้ผมนึกขึ้นได้ เพราะเคยได้ยินเรื่องทำนองนี้บ่อยๆ ในหมู่ผู้ปฏิบัติ

เช่นบางท่านได้ยินว่า ครูบาอาจารย์แก้การนั่งหลับในด้วยการไปนั่งริมหน้าผา

ก็เลยเลียนแบบ แต่ย้ายจากริมหน้าผาซึ่งหายาก ไปนั่งริมระเบียงกุฏิแทน

ผลก็คือหลับแล้วตกระเบียงกุฏิ

บางท่านได้ยินว่า คนนั้นคนนี้ไปนั่งในถ้ำที่ผีดุแล้วภาวนาดี ก็เอาบ้าง

ปรากฏว่าภาวนาได้ไม่ดี

ทั้งนี้ก็เพราะเป็นการปฏิบัติแบบมีมารยาสาไถย คิดที่จะจัดฉากเลียนแบบดารา

เมื่อมีความจงใจอย่างนั้น ความจงใจนั้นแหละปิดกั้นความเป็นธรรมดาของจิต

จึงไม่สามารถเจริญวิปัสสนา คือการรู้สภาวธรรมอันเป็นปัจจุบันตามความเป็นจริงได้

 

การปฏิบัติในขั้นแตกหักนั้น ต้องเจริญสติให้ต่อเนื่องไว้

พยายามอย่าให้ขาดวรรคขาดตอน

ผมเองเคยได้ยินตำรากล่าวเรื่องพระอานนท์บรรลุธรรมบ่อยๆ

ส่วนมากจะระบุว่า ท่านพยายามอย่างเต็มที่แล้ว ไม่สำเร็จ

จึงปล่อยวางการปฏิบัติ เอนกายลงนอน เลิกปฏิบัติเพื่อพักผ่อน

ตรงนี้ก็เคยสงสัยเสมอมาเหมือนกัน ว่าจริงอย่างที่กล่าวกันนั้นหรือไม่

เพราะจิตในขั้นที่เป็นมหาสตินั้น จงใจเลิกปฏิบัติได้เสียที่ไหนกัน

และเมื่ออ่านพระไตรปิฎก ก็ไม่เห็นมีตรงไหนบอกว่า

ท่านเลิกปฏิบัติในขณะที่เอนกายลงนอน

หากแต่ท่าน รู้ อริยาบถที่กำลังเอนลงนอนอย่างละเอียด

ซึ่งก็คือการเจริญกายคตาสติที่ยังไม่ขาดตอนนั่นเอง

ขอให้พิจารณาข้อความต่อไปนี้ดูนะครับ

[617] ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์คิดว่า พรุ่งนี้เป็นวันประชุม

 ข้อที่เรายังเป็นเสกขบุคคลอยู่จะพึงไปสู่ที่ประชุมนั้น ไม่ควรแก่เรา

 จึงยังราตรีเป็นส่วนมากให้ล่วงไปด้วย กายคตาสติ

 ในเวลาใกล้รุ่งแห่งราตรีจึง เอนกาย ด้วยตั้งใจว่า จักนอน

แต่ศีรษะยังไม่ทันถึงหมอนและเท้ายังไม่ทันพ้นจากพื้น

 ในระหว่างนั้น จิตได้หลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ถือมั่น

 ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เป็นพระอรหันต์ได้ไปสู่ที่ประชุม ฯ

[พระวินัยปิฎก  เล่ม  7  จุลวรรคภาค  2  ขันธกะ ]

จะเห็นว่า ไม่มีตรงไหนเลยที่บอกว่า

ท่านยังราตรีเป็นส่วนมากให้ล่วงไปด้วยกายคตาสติ

ในเวลาใกล้รุ่งแห่งราตรี จึงหยุดเจริญสติ แล้วเอนกายลงนอน

หากแต่ท่านเอนกายลงนอนด้วยความรู้เท่าทันตลอดว่าจะนอน

 

จุดที่น่าสังเกตอีกจุดหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่าจะหาคำตอบจากพระไตรปิฎกไม่ได้

ก็คือตรงที่ระบุว่า ท่านใช้เวลาส่วนมากกับการเจริญกายคตาสติ

ก็แล้วเวลาส่วนน้อยที่เหลือ ท่านใช้ไปกับอะไร?

 

พระไตรปิฎกนั้น มีเหตุมีผล มีประเด็นน่าสนุกสนานให้พิจารณาไตร่ตรอง

เพียงแต่อย่าอ่านแบบข้ามๆ

ไม่เจริญปัญญาเพราะถูกความเชื่อตามๆ กันมาปิดกั้นปัญญาเสียแล้ว

ถ้าอ่านอย่างคนมีปัญญา ก็จะได้แง่มุมเพื่อการปฏิบัติอีกมากมายทีเดียว

 ใครอยากทราบคำตอบ

ขอให้ลองเจริญกายคตาสติแบบใดก็ได้ดูเอาเอง

แล้วจะทราบแก่ใจเองว่า

อะไรที่เข้ามาแทรกการเจริญกายคตาสติอยู่เป็นระยะๆ ในช่วงสั้นๆ

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน พฤหัสบดี ที่ 11 พฤศจิกายน 2542

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : ผู้อยู่ใกล้อาจารย์ ไม่แน่ว่าดีเสมอไป

ผู้อยู่ใกล้อาจารย์ ไม่แน่ว่าดีเสมอไป

ผมได้ยินคำปรารภเชิงรำพันของผู้ปฏิบัติอยู่บ่อยครั้งว่า   ตนเองเข้าวัดช้า หรือเริ่มปฏิบัติช้า ไม่ทันได้ศึกษากับครูบาอาจารย์ที่ดี  นับว่าเป็นผู้อาภัพอับวาสนาเสียเหลือเกิน

ความจริงคนเราย่อมได้สิ่งที่สมควรกับตนเองเสมอ   หากเป็นเวลาก่อนหน้านี้ เรายังไม่สนใจธรรมะ  แม้จะพบครูบาอาจารย์ที่ดีเพียงใด ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรขึ้นมาในทางกลับกัน

อาจจะเกิดโทษเสียด้วยซ้ำไป  เช่นเมื่อได้ฟังธรรมในขณะที่ไม่พร้อมจิตใจอาจจะเหมือนเชื้อโรคดื้อยา

คือธรรมะอะไรก็รู้แล้วทั้งนั้น  เวลาจะลงมือปฏิบัติธรรมจริงๆ  ไม่ว่าจะฟังธรรมบทใดก็คิดแต่ว่ารู้แล้ว รู้แล้ว   ธรรมไม่สามารถแทรกซึมเข้าสู่จิตใจได้เลย

              บางคนอยู่กับครูบาอาจารย์ที่ดี แต่กิเลสเต็มหัวใจ  แทนที่จะได้ประโยชน์ กลับก่อบาปกรรมให้ กับตนเองก็มี

       ผมผ่านสำนักกรรมฐานมามาก ก็พบว่าหลายๆ สำนัก จะมีคนประเภทนี้เสมอคือเข้าไปอยู่กับครูบาอาจารย์ ในลักษณะเป็นกบเฝ้ากอบัว  

คือได้แต่เฝ้า แต่ไม่เคยได้กินน้ำหวานของดอกบัวเลย   หมายถึงไปอยู่กับท่าน แต่ไม่รู้รสธรรมจริงๆ เลยที่แย่กว่านั้น บางคนคุ้นเคยกับครูบาอาจารย์มากเข้า 

ก็แสดงความชั่วหยาบของตนออกมาเที่ยวแสวงหาผลประโยชน์ หรือกระทำสิ่งที่ไม่สมควรต่างๆ  แบบนี้ก็มีให้เห็นอยู่เสมอๆ

               พวกเราผู้ปฏิบัติ จึงไม่ควรน้อยเนื้อต่ำใจ   ว่าเราไม่ได้พบครูบาอาจารย์ที่ดี เช่นบางคนบ่นเสียดายว่าไม่ได้พบหลวงปู่ดูลย์   เหมือนที่ผมเคยคิดน้อยใจตอนเด็กๆ ว่า ไม่ได้พบหลวงปู่มั่น

               ที่เขียนเรื่องนี้ขึ้นมาก็เพื่อบอกกับพวกเรา 2 ประการคือ

              ประการแรก การที่พวกเราเริ่มสนใจการปฏิบัติธรรม ในขณะที่พระพุทธศาสนายังดำรงอยู่อย่างสมบูรณ์    นับว่าเป็นวาสนาอย่างยิ่งอยู่แล้ว 

ไม่จำเป็นต้องเสียดายว่า ไม่ได้พบครูบาอาจารย์องค์นั้นองค์นี้  เพราะเราได้พบตัวแทนพระพุทธเจ้า คือพระธรรม อยู่แล้ว

 

              ประการที่ 2 การจะเข้าวัด จะต้องรู้จักพิจารณาให้รอบคอบ  เพราะของปลอม มีมานานแล้วครับ  

โดยเฉพาะผู้หญิงทั้งหลายนั้น ต้องรอบคอบให้มากหน่อย    อย่าให้ความศรัทธา นำหน้าปัญญาเป็นอันขาด   เพราะพอหลงศรัทธาแล้ว ก็มักทำบุญหนักมากกว่าผู้ชายเสียอีก

ทำบุญแล้วได้บำรุงพระศาสนาก็ดีไป เกิดเอาไปบำรุงอลัชชีเข้า ประโยชน์ที่ได้ไม่คุ้มเสียครับ

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2542

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : หัวใจของการปฏิบัติตามสายหลวงพ่อเทียน

หัวใจของการปฏิบัติตามสายหลวงพ่อเทียน

ครูบาอาจารย์ที่พวกเรารู้จักและเคารพนับถือ

ส่วนมากจะเป็นพระป่าสายหลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ

ซึ่งหลักคำสอนของท่านจะเริ่มโดยให้บริกรรมพุทโธ

พอจิตสงบแล้วจึงเจริญกายคตาสติ

แล้วในขั้นสุดท้ายจึงข้ามภพข้ามชาติกันด้วยการพิจารณาจิต พิจารณาธรรม

(มีบ้างส่วนน้อย ที่ครูบาอาจารย์สายนี้บางองค์

ปรับวิธีการปฏิบัติแตกต่างจากแนวทางหลักนี้ไปบ้าง

เช่นหลวงปู่ดูลย์ จะสอนศิษย์บางท่านให้ข้ามการเจริญกายคตาสติไปเลย

หรือหลวงพ่อทูล ไม่นิยมให้ศิษย์บริกรรมพุทโธ เป็นต้น)

 

ที่จริงท่านผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ

ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในแวดวงพระป่าสายหลวงปู่มั่น

ยังมีท่านผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบในสายอื่นๆ อยู่อีก

เท่าที่ผมทราบแนวทางปฏิบัติของท่านก็เช่น

ท่าน ก.เขาสวนหลวง และหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ แห่งวัดสนามใน เป็นต้น

หลวงพ่อเทียนนั้น แรกเริ่มที่ปฏิบัติ ท่านก็บริกรรมพุทโธเหมือนกัน

แต่ไม่ประสบความสำเร็จใดๆ เลย เพราะไม่ถูกจริตของท่าน

ต่อมาท่านประสบความสำเร็จในการปฏิบัติธรรม

ด้วยการเคลื่อนไหวกายอย่างเป็นจังหวะ เพื่อสร้าง ความรู้สึกตัว

คือ “ให้รู้สึกตัว…ตื่นตัว รู้สึกใจ…ตื่นใจ”

จนกระทั่งเกิดญาน ปัญญาเป็นลำดับไปจนถึงที่สุด

ผมขอเสริมคำสอนของหลวงพ่อเทียนสักเล็กน้อยครับ

 

ประการแรก หัวใจของการปฏิบัติตามแนวทางของท่าน

คือการเจริญสติ ระลึกรู้ความเคลื่อนไหวของกาย

จะเคลื่อนแบบทำจังหวะก็ได้

จะรู้อยู่ในชีวิตประจำวันก็ได้

รวมตลอดไปถึงการรู้ความรู้สึกนึกคิดด้วย

 

ประการที่ 2 ท่านให้รู้ความเคลื่อนไหว โดยไม่ต้องใช้ความคิดกำกับลงไป

เช่นจะเดินก็ไม่ต้องกำหนดคิดว่า ยกหนอ ย่างหนอ

 

ประการที่ 3 ท่านเน้นเรื่องความต่อเนื่อง

ถ้าทำต่อเนื่องก็ได้ผล ทำไม่ต่อเนื่องก็ไม่ได้ผล

 

ประการที่ 4 ท่านไม่เน้นเรื่องการทำความสงบ

ซึ่งจุดนี้มีข้อถกเถียงกันได้มากเหมือนกันครับ

เพราะผู้ทำความสงบก่อน แล้วเจริญสติได้ผล ก็มี

ที่เจริญสติไปเลย แล้วเกิดความสงบทีหลัง ก็มี

อันนี้คงต้องสังเกตตนเองเอาเอง

ว่าทำอย่างใดแล้วสติสัมปชัญญะดีขึ้น ก็เอาอย่างนั้นแหละ

 

ประเด็นสุดท้าย อันนี้ไม่ได้เสริมคำสอนของหลวงพ่อ

แต่เป็นข้อสังเกตว่า คำสอนเรื่องความรู้ตัว เป็นสิ่งที่เข้าใจยากมาก

นักปฏิบัติจำนวนมาก ไปกำหนดรู้อารมณ์ในขณะที่จิตกำลังหลง กำลังเคลื่อน กำลังฝัน

แต่หลงคิดว่า กำลังรู้ตัวอยู่

แม้จะขยับมือตามจังหวะ ก็หลงอยู่กับความคิดเรื่องการเคลื่อนไหวมือบ้าง

หรือจิตเคลื่อนเข้าไปเพ่ง/แช่ อยู่กับมือบ้าง

ปัญหาเกี่ยวกับการทำความรู้จักกับ ความรู้ตัว

จึงเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดสำหรับนักปฏิบัติทั้งหลาย

 

หากผู้ปฏิบัติมีความรู้ตัวขึ้นเมื่อใด

รูป เวทนา สัญญา และสังขาร จะกลายเป็นสิ่งที่ถูกรู้

และไม่ใช่ตัวเราในทันทีนั้น

และในระหว่างที่รู้ตัวอยู่นั้น

ก็จะเห็นความเจริญและความเสื่อมของจิตอยู่เสมอ

เป็นการป้อนข้อมูลที่เป็นจริงให้จิตได้เรียนรู้

สวนทางกับความหลงผิดเก่าๆ ของจิต

ที่เห็นว่าขันธ์ 5 เป็นเรา เราเป็นขันธ์ 5

 

เมื่อจิตได้เห็นความจริงมากเข้าๆ จนยอมจำนนต่อข้อเท็จจริงแล้ว

จิตจึงจะยอมรับความจริงว่า

สิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งนั้นก็ดับไป

และไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

ที่จะเป็นตัวเรา ของเรา อย่างแท้จริง

 ปราศจากความรู้ตัว ผู้ปฏิบัติจะเข้ามาถึงจุดที่ว่านี้ไม่ได้เลย

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน พุธ ที่ 31 พฤษภาคม 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

กำหนดการงานศพ และงานประชุมเพลิงสรีระสังขาร มหาอุบาสิกาคุณแม่จันดี

กำหนดการงานศพ และงานประชุมเพลิงสรีระสังขาร มหาอุบาสิกาคุณแม่จันดี

“คุณแม่จันดีจิตเพิ้นสะอาดดีแล้ว บ่ต้องสรงน้ำให้เพิ้นก็ได้” หลวงปู่ลี กุสลธโร

ประวัติ, ปฎิปทา, โอวาทธรรม อ่านได้ที่ >>> คุณแม่จันดี โลหิตดี ละสังขารแล้ว

เกี่ยวกับคุณแม่จันดี >>> คุณแม่จันดี โลหิตดี อริยะเจ้าขนิษฐา ของหลวงตามหาบัว

กำหนดการงานศพ มหาอุบาสิกาคุณแม่จันดี โลหิตดี

 ณ เมรุชั่วคราว วัดป่าบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี

 

 วันพฤหัสบดีที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๖

- เวลา ๑๙.๐๐ น. ทำวัตร-สวดมนต์เย็น

- เวลา ๒๐.๐๐ น. รับฟังพระธรรมเทศนาและปฏิบัติภาวนา

 

 วันศุกร์ที่ ๑๖ และ วันเสาร์ที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๖

- เวลา ๐๗.๐๐ น. พระภิกษุ-สามเณร ออกรับบิณฑบาต

- เวลา ๑๙.๐๐ น. ทำวัตร-สวดมนต์เย็น

- เวลา ๒๐.๐๐ น. รับฟังพระธรรมเทศนาและปฏิบัติภาวนา

 

 วันอาทิตย์ที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๕๖

- เวลา ๐๗.๐๐ น. พระภิกษุ-สามเณร ออกรับบิณฑบาต

- เวลา ๐๙.๐๐ น. พิธีเคลื่อนสรีระสังขารไปยังเมรุชั่วคราว (บริเวณลานข้าวเปลือก)

- เวลา ๑๐.๐๐ น. วางดอกไม้จันทน์ จนถึงเวลา ๑๒.๐๐ น.

- เวลา ๑๓.๐๐ น. เริ่มพิธีประชุมเพลิงศพ

- เวลา ๑๕.๐๐ น. เผาจริง

 

 ท่านสามารถร่วมทำบุญได้ที่ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาอุดรธานี

 บัญชีออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 510 4 30999 0 ชื่อบัญชี พระอาจารย์สุดใจ ทันตมโน เพื่องานบำเพ็ญกุศล คุณแม่จันดี โลหิตดี

 

 จึงเรียนแจ้งกำหนดการมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : ทิฎฐิกับอุปาทานของพระอนาคามี

ทิฎฐิกับอุปาทานของพระอนาคามี

ปกติเมื่อพูดถึงคำว่า ทิฏฐิ

ในตำรามักจะหมายถึง มิจฉาทิฏฐิ หรือความเห็นผิด เท่านั้น

ไม่ได้แปลว่า ความเห็น ที่ครอบคลุมถึงความเห็นในทุกๆ เรื่อง

ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว คนเราฆ่ากันได้เพราะขัดแย้งในเรื่องทิฏฐิทุกๆ เรื่อง

เช่นสามีอยากจะไปตีเทนนิส ภรรยาอยากจะไปตีแบดมินตัน

แต่ลงท้ายทั้งสองคนก็ตีกันเอง เพราะมีความเห็นขัดแย้งกัน

แล้วต่างคนต่างก็ยืดหยัดยึดมั่นในความเห็นของตน

 

เพื่อนบางท่านอาจจะงงๆ ว่าถ้าเราไม่มีความเห็นเสียเลย จะดีหรือ

ขอเรียนว่า จิตเขาย่อมมีความคิดและความเห็นเกิดขึ้นได้เสมอ

ไม่ใช่จะห้ามไม่ให้ผู้ปฏิบัติมีความคิดและความเห็น

เพียงแต่อย่าไปยึดมั่นในความเห็นของตนมากนัก เพราะตนเองจะเป็นทุกข์เอง

 

บางท่านอาจจะคิดต่อไปว่า ถ้าไม่ให้ยึดมั่นในความเห็น

ก็แสดงว่าชาวพุทธต้องไม่มีอุดมการณ์

เพราะอุดมการณ์คือความเห็นว่าสิ่งนี้ดี สมควรทำ หรือสมควรไปให้ถึง

ในจุดนี้ขอเรียนว่า ชาวพุทธมีอุดมการณ์ได้

หากพิจารณาโดยถ่องแท้ด้วยเหตุผลแล้ว

เห็นว่าสิ่งนี้ควรทำเพราะเป็นประโยชน์ต่อตน และ/หรือ ผู้อื่น

 

แต่ในการทำนั้น ก็ไม่ได้ยึดมั่นในอุดมการณ์จนลืมศีล 5

หรือถึงขั้นเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น

และหากทำไปเต็มที่แล้ว ได้ผลเพียงใดก็ยอมรับเพียงนั้น

ไม่ทุกข์ร้อนเพราะแรงยึดมั่นในอุดมการณ์

 

เมื่อพูดถึงความยึดมั่นในความเห็นแล้ว

ก็ขอแจกแจงถึงความยึดมั่นทั้ง 4 ประการเสียเลย

ตัวอุปาทานนั้น พระศาสดาทรงแจกแจงไว้ 4 ประการคือ

กามุปาทาน คือความยึดมั่นในกาม

ทิฏฐุปาทาน คือความยึดมั่นในความเห็น

สีลัพพตุปาทาน คือความยึดมั่นในศีลพรต

อัตตวาทุปาทาน คือความยึดมั่นในวาทะว่าเป็นตัวตน

เราจะเห็นว่า ทั้ง 4 ประการนี้ครอบคลุมสิ่งที่คนเรายึดมั่นไว้หมดแล้ว

 

ทีนี้ตำรารุ่นหลังท่านก็มาอธิบายต่อว่า

พระโสดาบัน ละ ทิฏฐุปาทานได้  เพราะไม่มีความเห็นผิดอีกแล้ว

ละ สีลัพพตุปาทาน คือความยึดมั่นในการถือศีลบำเพ็ญพรตอย่างผิดๆ

และละ อัตตวาทุปาทาน คือการมีวาทะ(ทัศนะ)ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นตัวตน

ส่วนกามนั้น ใครๆ ก็ทราบว่า พระอนาคามีท่านละกามได้

แต่ถ้าระบุว่า พระอนาคามีท่านละ กามุปาทาน ได้

แล้วจะเหลืออุปาทานอะไรให้ผู้เจริญอรหัตตมรรค ละกัน

 

ตำราก็เลยตีความใหม่ว่า กามุปาทาน ไม่ได้หมายถึงกามราคะเท่านั้น

แต่รวมถึงรูปราคะ และอรูปราคะเข้าไปด้วย

ดังนั้น พระอนาคามี ก็ยังมี กามุปาทาน ต่อเมื่อเป็นพระอรหันต์จึงละได้

 

ตำรารุ่นหลังเกิดจากการตีความของนักปราชญ์นั่นแหละครับ

เราควรรับฟังไว้ประกอบความรู้

แต่ในส่วนของผมเองแล้ว กลับเห็น(ความเห็นส่วนตัวนะครับ)ว่า

ท่านผู้เจริญอรหัตมรรค ท่านยังมีอุปาทานหลายอย่าง

(ผมหมายถึงพระอนาคามี ผู้กำลังพากเพียรเพื่อละสังโยชน์เบื้องสูงครับ ไม่ได้หมายถึงท่านผู้ได้ อรหัตตมัคคญาณ นะครับ เพราะแบบหลังนี้เพียงวับเดียวก็ถึงอรหัตตผลแล้ว)

จะเรียกว่าอุปาทานชนิดไหนก็แล้วแต่เถิด

แต่ไม่ใช่มีอุปาทานเฉพาะ กามุปาทาน แน่ๆ

เว้นแต่จะขยายการตีความคำว่า กามุปาทาน ออกไปให้กว้างสุดขีด

 

เช่นท่านยังยึดในความสุขสงบ ด้วยอำนาจกระตุ้นของรูปราคะและอรูปราคะ

ท่านยังยึดในความเห็นในทางดี ด้วยอำนาจกระตุ้นของอุทธัจจะ

เช่นเห็นว่า การทำทาน รักษาศีลเจริญภาวนา เป็นสิ่งที่ดี

หรือนิพพานเป็นของดีที่จะต้องพยายามไปให้ถึง

ที่สำคัญคือ ท่านยังยึดถือจิต ด้วยอำนาจกระตุ้นของมานะและอวิชชา

และจะต้องพยายามทำจิตให้หลุดพ้นให้ได้

 

ถ้าเอาของจริงๆ มาพูดกันก็มีปัญหาน้อยครับ

แต่ถ้ากางตำราเถียงกัน ก็อดมีความยึดในทิฏฐิ ไม่ได้หรอกครับ

พอยึดแล้วก็จะร้อน และเกิดก้อนแน่นๆ ที่หน้าอก

หาความสบายใดๆ ไม่ได้เลย

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน พุธ ที่ 6 กันยายน 2543

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เกร็ดธรรมคุณสันตินันท์ : ความขัดแย้งเพราะยึดในทิฎฐิ

ความขัดแย้งเพราะยึดในทิฎฐิ

เพื่อนนักปฏิบัติเมล์มาถามผมบ่อยๆ ว่า ทำอย่างไรจะข่มหรือละกามได้

แต่ไม่มีใครเคยถามผมว่า ทำอย่างไรจะละทิฏฐิได้

ยกเว้นสักกายทิฏฐิ ที่มีผู้ถามถึงวิธีละอยู่เป็นครั้งคราว

ซึ่งผมก็ตอบว่า ให้เจริญสติปัฏฐานเรื่อยๆ ไป

 

พระศาสดาทรงสอนว่า “กษัตริย์ต่อกษัตริย์ มักขัดแย้งกันเพราะกามและทิฏฐิ”

ซึ่งหมายความว่า นักการเมืองหรือนักปกครอง

มักจะขัดแย้งกันเพราะผลประโยชน์ทางวัตถุอย่างหนึ่ง

เพราะผลประโยชน์ทางความคิดหรืออุดมการณ์ อีกอย่างหนึ่ง

 

ทรงสอนว่า “นักบวชกับนักบวช มักจะขัดแย้งกันเพราะทิฏฐิ”

เพราะเรื่องกามนั้น ต่างคนต่างเห็นโทษภัย และพยายามละอยู่แล้ว

แต่เรื่องทิฏฐินั้น ไม่ค่อยมีใครเห็นว่ามีโทษภัย

จึงไม่ค่อยระมัดระวังอันตรายจากทิฏฐิกันเท่าที่ควร

พากันปล่อยให้ทิฏฐิอิงอาศัย เดินเข้าเดินออกในจิตใจตนเองได้ทั้งวัน

 

เมื่อเช้านี้ ก่อนจะออกจากบ้านไปทำงาน

ผมเห็นแม่บ้าน (แม่บ้านเป็นคำไทยแท้ แปลว่าผู้เป็นใหญ่ในบ้าน) จิตใจกำลังผ่องใสมีกำลัง

จึงแนะว่า อย่าทำความรู้ตัวอยู่เฉยๆ ให้เดินปัญญาด้วย

โดยรู้ลงไปเวลาจิตมีความเห็นต่างๆ มันจะเกิดความเป็นเราขึ้นมา

 

แม่บ้านของผมก็คอยเฝ้ารู้อยู่ที่จิตใจตนเอง

แล้วก็พบว่า ทุกคราวที่เกิดความเห็น

(ความเห็นไม่ใช่ความคิดนะครับ

ความเห็นจะมีการให้ค่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งว่า อันนี้เป็นอย่างนี้

อันนี้ดี – ไม่ดี  ผิด – ถูก  ควร – ไม่ควร ฯลฯ

ตามการประเมินค่าและมาตรฐานของตนเอง)

จิตจะเคลื่อนเข้าไปยึดความเห็นนั้นเสมอ

แม้แต่เรื่องเล็กน้อยที่สุด จิตก็ยังยึดถือความเห็นที่เกิดขึ้น

เช่นตอนขับรถออกจากบ้าน มีรถอีกคันหนึ่งปาดหน้า

ก็เห็นความเห็นว่า ทำอย่างนี้ไม่ดี ไม่คิดถึงอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น

เห็นถึงการให้ค่าว่า ดี – ไม่ดี ถูก – ผิด

แล้วเห็นว่าจิตเข้าไปยึดถือความเห็นนั้น

 

พบอีกว่า ทุกคราวที่เกิดความยึดในความเห็น

จะเกิดความขัดข้อง เป็นกลุ่มก้อนขึ้นที่กลางอก

ถ้ายึดถือแรง ก้อนนี้จะโตและแน่น ถ้ายึดเบาๆ ก้อนก็เล็กและเบาบาง

ยึดขึ้นทีไร ก็ทุกข์ทีนั้น

และเธอก็สรุปว่า คนเราทะเลาะกันก็เพราะยึดในทิฏฐินี้แหละ

 

ผมขับรถไป ก็เล่าเพิ่มเติมให้ผู้โดยสาร/แม่บ้าน ฟังต่อไปว่า

ความยึดมั่นในความเห็นนั้น ตำราเรียกว่า ทิฏฐุปาทาน

เมื่อเกิดความเห็นแล้วยึดความเห็น

ก็จะเกิดตัวเราขึ้นมา เป็นเจ้าของความเห็นนั้น

และเมื่อเกิดตัวเรา หรือตัวกู หรือที่สมัยนี้ชอบเรียกว่าเกิดอัตตาตัวตนขึ้น

ก็จะมีปฏิกิริยาเป็นก้อนแน่นหน้าอกขึ้น

ใครที่อัตตาแรง ก็เหมือนแบกครกตำข้าวไว้กลางอก

ไม่รู้เลยว่ากำลังเป็นทุกข์อยู่เพราะภาระการแบกหาม

เพราะตอนนั้นกำลังหลง มีแต่เราเก่ง เราถูก ฯลฯ

 

แม่บ้านผมก็บอกว่า ลำพังความเห็นเกิดขึ้นนั้นยังไม่ทุกข์หรอก

จิตต้องเคลื่อนเข้าไปยึดความเห็นก่อน จึงจะเกิดทุกข์

และเจ้าความทุกข์นั้น ก็เป็นสิ่งที่เกิดๆ ดับๆ ต่อเนื่องกันไป

ใหญ่บ้างเล็กบ้างไปตามกำลังความยึดมั่น

ถ้าเฝ้ารู้อยู่ตรงนี้ ก็มีงานกรรมฐานให้ทำได้ทั้งวันทีเดียว

 

ผมก็เล่าต่อว่า สักกายทิฏฐิ ก็คือความเห็นเหมือนกัน

เมื่อปฏิบัติไปถึงจุดหนึ่ง สักกายทิฏฐิจะไม่เกิดขึ้นอีก

แต่ทิฏฐิอื่นๆ ก็ยังเกิดขึ้นตลอดไป

แม้พระอริยบุคคลชั้นสูง ท่านก็ยังมีทิฏฐิคือความเห็นเกิดขึ้นเสมอ

เพียงแต่ท่านไม่ยึดถือในความเห็นนั้นเท่านั้น

เมื่อไม่ยึดทิฏฐิ ก็ไม่ทุกข์เพราะทิฏฐิ

เหมือนที่ขันธ์ก็มีอยู่ แต่เมื่อไม่ยึดขันธ์ ก็ไม่ทุกข์เพราะขันธ์

โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)

เมื่อวัน พุธ ที่ 6 กันยายน 2543

 

 

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

Page 1 of 1012345...10...Last »