ความไม่มีอะไร
ถาม : ภาวนาแล้วรู้สึกว่าสภาวะธรรมทุกอย่าง ที่เราเห็นว่าเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ล้วนแล้วแต่ไม่มีอะไรเลย เป็นของชั่วคราว แต่เพราะอะไรจึงมีตัวรู้เกิดขึ้นในทุกขณะที่จิตไปรับผัสสะทางทวาร ในเมื่อไม่มีอะไรแล้วตัวรู้นี้มาจากไหน (เริ่มหลงแล้ว.. หนูก็ยังไม่เข้าใจ เหมือนรู้สึกว่าตัวรู้นี่เที่ยง ไม่รู้ว่าต้นตอมันคืออะไร และมันมาจากไหน)?
ตอบ : เวลาเรียนธรรมนี่ ห้ามคิดๆเอานะครับ
คิดๆเอาแล้วจะยิ่งสับสน พลาดนิดเดียวอาจพลิกไปเป็นพวกมิจฉาทิฏฐิเอาง่ายๆ
โดยเฉพาะเรื่องจิต เรื่องผู้รู้ ที่ยิ่งคิดจะยิ่งสับสน
ต้องใช้การภาวนาตามรู้กายบ้าง ตามรู้จิต(จิตที่มีเจตสิกต่างๆ)บ้าง
แล้วจะค่อยๆ เข้าใจได้ แต่ก็ยากนะครับ เพราะตราบใดที่ยังมีอวิชชาครอบงำจิตอยู่
ก็จะยังไม่แจ่มแจ้งเรื่องจิตจริงๆ
เรื่องที่ว่า “ไม่มีอะไร” มีเพียงสิ่งที่เกิดดับอยู่นั้น
คำว่า “ไม่มีอะไร” จริงๆแล้วเป็นคำพูดย่อๆ
ถ้าจะพูดให้ยาวอีกหน่อยก็ต้องพูดว่า
“ไม่มีอะไรที่เที่ยงหรือคงที่หรือมีอยู่อย่างถาวร
เป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วย่อมต้องดับไป” ครับ
จิตเองก็อยู่ภายใต้ลักษณะแบบนี้เช่นกัน
คือเมื่อมีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ แล้วก็เกิด-ดับสืบต่อกันไป
การภาวนาก็เพื่อให้เราได้เห็นความจริงในเบื้องต้นว่า
จิตนี้ (ไม่ว่าจะมีเจตสิกอะไรเกิดร่วมด้วย) เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ย่อมดับไปเป็นธรรมดา
ส่วนมันจะเกิดมาต้นตออะไร ผมก็ไม่ทราบเหมือนกัน
เคยอ่านจากที่หลวงพ่อแสดงธรรมไว้ในเรื่อง “จิตคือพุทธะ”
ที่ท่านบอกว่า “จิตดวงแรกเกิดจากรูปนามรวมเข้ากับความว่างเดิมของจักรวาล”
แต่อ่านแล้วก็ไม่เข้าใจอยู่ดีแหละครับ
เอาเป็นว่า คุณติดเครื่องหมาย ?
แล้วแขวนประเด็นเหล่านี้ไว้ก่อนนะครับ (ผมก็ทำแบบนี้อยู่)
แล้วก็มาหัดเจริญสติ ตามรู้กายตามรู้จิต(จิต+เจตสิก) ไปก่อน
ตามรู้ไปให้เห็นว่า กายนี้ จิตนี้ ล้วนแต่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน
ตามรู้ไปจนกว่า จะเกิดปัญญา เกิดมรรค เกิดผล พ้นจากกองทุกข์ได้
ผมเองเข้าใจว่า คำตอบในประเด็นเหล่านี้ก็จะปรากฏให้ทราบได้เองครับ
เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓
ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่
สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่
ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่
คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่
(Visited 89 times, 1 visits today)