mp3 (for download) : ต้องทำในรูปแบบ มีวิหารธรรม จึงจะรู้สึกตัวได้บ่อยๆ
Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.
หลวงพ่อปราโมทย์ : ลืมตัวเอง แล้วบอกว่ารักตัวเอง ลืมตัวเองบ่อยที่สุดแล้วเมื่อไรจะรู้เรื่องของตัวเอง เรามาเรียนเรื่องตัวเองให้ได้นะ เพราะฉะนั้นอย่าลืมตัวเองนาน คอยรู้สึกกายคอยรู้สึกใจบ่อยๆ
ทำอย่างไรจะรู้สึกได้บ่อยๆ มีวิธีนะ มีเครื่องช่วย ต้องซ้อมรู้สึก ทุกวันๆ นะ พยายามซ้อมไว้ หากรรมฐานมาทำสักอันหนึ่งก่อน จะพุทโธก็ได้ ใครถนัดพุทโธก็เอาพุทโธ คำว่าถนัดพุทโธหมายถึงพุทโธแล้วสบายใจ พุทโธแล้วใจสงบร่มเย็น เอ้า พุทโธ ใครถนัดลมหายใจแล้วจิตใจ..(เสียงระฆัง) ฟังเสียงระฆังแล้วดูสิ จิตไหวไหม รู้สึกไหม มีความไหวไหม ไม่สำคัญนะ ไม่ใช่ต้องไปนั่งฟังอะไรแล้วดูไหวๆ ให้ความรู้สึกมันเกิดแล้วค่อยรู้เอา เพราะฉะนั้น คนไหนถนัดรู้ลมหายใจนะ ก็รู้ลมหายใจไป รู้ไปแล้วมีความสุขนะ รู้ไปสบายๆ รู้ไปแล้วจิตใจเป็นอย่างไรก็คอยรู้ทันเอานะ นี่คอยฝึกอย่างนี้ บางคนดูท้องพองยุบก็ได้ กรรมฐานทั้งหลายนั้นเสมอภาคกันนะ ไม่ใช่ว่าหลวงพ่อบอกกรรมฐานอันนี้ดี กรรมฐานอันนี้เลว ไม่ใช่ กรรมฐานของแต่ละคนไม่เหมือนกันหรอก ทางใครทางมัน
ของเราถนัดพุทโธเราพุทโธ ถนัดสัมมาอรหังได้ไหม ได้ ทำไมจะไม่ได้ เหมือนกันนั่นเอง ถนัดนะมะพะทะได้ไหม นะมะพะทะก็ได้ แต่อย่าไปนะมะเลียะพะนะ คอยรู้สึกนะ รู้สึกๆ ทำกรรมฐานขึ้นมาอันหนึ่งก่อน ไปเดินจงกรมก็ได้ เดินจงกรมแล้วจิตขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวคอยรู้สึกนะ ทำกรรมฐานขึ้นมาอันหนึ่งก่อน สวดมนต์ก็ได้ อรหังสัมมา สัมพุทโธ ภควา ใจหนีแว๊บไป ภควาแล้วหนีไปที่อื่นเลย หนีไปตั้งหลายวานะ รู้ทันอีกจิตหนีไปแล้ว แล้วมานึกต่อ เมื่อกี้ถึงไหน บางคนสวดด้วยไขสันหลัง สวดจนชินนะ สวดๆๆ จนจบชินบัญชรแล้ว ลืมตัวตลอดเวลาเลย ก็มีนะ ไม่ใช่ไม่มี สวดด้วยไขสันหลังนะมันชำนาญ
เพราะฉะนั้น เราทำกรรมฐานขึ้นมาอันหนึ่งก่อนนะ เพื่อเป็นเครื่องสังเกตจิต จิตเราไปอยู่ที่กรรมฐานอันนี้เราก็รู้ทัน จิตหนีจากกรรมฐานนี้เราก็รู้ทัน จิตรู้กรรมฐานอันนั้นแล้ว จิตเป็นสุข จิตเป็นทุกข์ จิตเกิดกุศล จิตเกิดอกุศล เราก็คอยรู้ทันจิตไปเรื่อยๆ นี่เป็นวิธีที่ง่ายๆ นะ จะได้ทั้งสมาธิได้ทั้งปัญญา เราหัดสวดไปนะ สติก็ได้นะ อย่างสมมุติเราหัดสวดมนต์ไป หรือหัดดูท้องพองยุบ หัดเดินจงกรม รู้อิริยาบถสี่ หัดดูลมหายใจ หัดบริกรรมนะ ทำมาอันหนึ่งก่อนที่เราถนัด บางคนถนัดหลายอย่างรวมกัน หายใจไปพุทโธไปด้วย ทำได้ไหม ก็ทำได้ มีเครื่องอยู่ที่จิตใจเราคุ้นเคยไว้อันหนึ่งนะ ที่อยู่แล้วสบาย แล้วพอจิตมันวิ่งไปที่เครื่องอยู่อันนั้นเราก็รู้ จิตมันลืมเครื่องอยู่อันนั้นเราก็รู้ นี่ฝึกอย่างนี้บ่อยๆ
อย่างหลวงพ่อนะ หลวงพ่อถนัดรู้ลมหายใจ ฝึกมาแต่เด็ก ฝึกลมหายใจนะ หายใจออก หายใจเข้า แต่เดิมหายใจเข้า หายใจออกนะ หายใจเข้า-พุท หายใจออก-โธ ฝึกอย่างนี้แหละ เข้าพุทออกโธไปเรื่อย แล้วทำไม่เป็นแล้ว ทำได้แค่นั้น จนมาเจอหลวงปู่ดูลย์นะ ท่านสอนให้ดูจิต ต่อมาบางวันเราเหนื่อยๆ ขึ้นมา เราหายใจนะ แล้วมันดูจิตประกอบไปด้วย เลยรู้วิธีนี้ทำให้จิตมีแรง เช่น เราหายใจไป หายใจไปเรื่อยนะ จิตวิ่งไปเกาะลมหายใจแล้ว เรารู้ทันว่าจิตไปเกาะลมหายใจ หายใจไปๆ นะ จิตฟุ้งซ่าน ลืมลมหายไปแล้ว รู้ทันว่าจิตฟุ้งซ่าน หายใจไปแล้วจิตมีปิติ รู้ว่าจิตมีปิติ หายใจแล้วจิตมีความสุข รู้ว่าจิตมีความสุข หายใจแล้วจิตมีอุเบกขา ไม่สุขไม่ทุกข์ขึ้นมา รู้ว่าจิตมีอุเบกขา หายใจแล้วก็รู้ทันจิตไปเรื่อยๆ นะ
คนไหนถนัดพองยุบก็ดูพองยุบแล้วรู้ทันจิตนะ คนไหนถนัดบริกรรมก็บริกรรมแล้วก็รู้ทันจิต ฝึกอย่างนี้นะ อย่างน้อยฝึก แต่ละวันแบ่งเวลาฝึกแบบนี้ไว้บ้าง ถ้าทำได้ทั้งวันดีที่สุดเลย แต่ถ้าทำไม่ได้ก็แบ่งเวลาไว้ช่วงหนึ่ง สิบนาที สิบห้านาที ก็ยังดีกว่าไม่ทำเลยนะ ซ้อมอย่างนี้ทุกวัน การที่เราคอยเห็นจิตไหลไปทางนี้ จิตไหลไปทางนี้นะ จิตสุขจิตทุกข์ จิตดีจิตชั่ว จิตปิติ จิตอย่างโน้นจิตอย่างนี้ รู้ทันไปเรื่อยนะ สติมันจะไวขึ้น เพราะจิตมันจะจำสภาวะได้แม่นแล้วสติจะไว เรารู้ทันอย่างนี้นะ สติก็จะเกิดไวขึ้น
เรามีอารมณ์กรรมฐานอันหนึ่ง แล้วเรารู้ทันจิตเป็นเรื่อยๆ จิตเคลื่อนไปเรารู้ทัน เคลื่อนไปเรารู้ทัน จิตจะค่อยๆ ตั้งมั่นขึ้นมา ทำกรรมฐานอันนี้แหละก็จะมีสมาธิขึ้นมาด้วย จิตจะสงบ จิตจะตั้งมั่นขึ้นมานะ พอจิตสงบ จิตตั้งมั่นขึ้นมาแล้ว เป็นผู้รู้ผู้ดูนะ เราก็จะเห็นเลย ร่างกายหายใจนะ ส่วนหนึ่งนะ จิตเป็นคนดู เริ่มเดินปัญญาแล้ว แยกกายแยกใจแล้วนะ หรือเห็นว่าจิตมีปิติ ปิติไม่ใช่จิตหรอก ปิติเป็นสิ่งที่จิตไปรู้เข้า ปิติกับจิตคนละอันกัน พอมีความสุขเกิดขึ้น ก็เห็นอีกความสุขกับจิตก็คนละอันกัน ความสงบกับความฟุ้งซ่านก็ไม่ใช่จิตอีก
เฝ้ารู้ลงไปนะ มันจะค่อยๆ แยกขันธ์ไปเรื่อย แยกกายกับใจ แยกกายกับจิตนะ แยกเวทนากับจิต แยกกุศลอกุศล ความปรุงแต่งทั้งหลาย กับจิต ค่อยๆ แยกไปเรื่อย นี่คือการที่ฝึกเดินปัญญานะ เพราะฉะนั้น เราทำกรรมฐานสักอันหนึ่งก่อน แล้วก็รู้ทันจิตเป็นเรื่อยนะ จะได้ทั้งสติ ได้ทั้งสมาธิ แล้วก็เป็นฐานเบื้องต้นที่จะทำให้เกิดปัญญา เพราะจิตที่มีสมาธิแล้วนั่นแหละ ถึงจะเกิดปัญญา จิตที่ไม่มีสมาธิจะไม่มีปัญญา จำไว้นะ แต่สมาธิต้องเป็นสัมมาสมาธิ ไม่ใช่สมาธิลืมเนื้อลืมตัว ไม่ใช่สมาธิโงกๆ เงกๆ อะไรอย่างนั้น
เราค่อยฝึกนะ ให้การบ้านทุกๆ คนไปฝึกเอา แบ่งเวลาไว้ส่วนหนึ่ง ในวันหนึ่งๆ นะ สิบนาที สิบห้านาทีอะไรก็ได้ เบื้องต้นเอาเท่านี้ก่อน ก็ยังดี ดีกว่าไม่เอาเลย เอาสักสิบนาทีก็ได้ พุทโธไป หายใจไป ดูท้องพองยุบไป เดินจงกรมไป ทำในรูปแบบนั้นแหละ แล้วก็คอยรู้ทันจิตไปเรื่อยๆ ต่อไปจิตจะรู้สภาวะได้แม่นนะ สติเกิดเร็วขึ้นๆ แล้วจิตพอเลื่อนไปปุ๊บ พอรู้ทันจิตก็ตั้งมั่น สมาธิก็เกิดง่ายขึ้นๆ โดยที่ไม่ได้บังคับนะ พอจิตมีสมาธิมันจะเห็นเลย กายอยู่ส่วนหนึ่ง เวทนาอยู่ส่วนหนึ่ง สังขารอยู่ส่วนหนึ่ง จิตอยู่ส่วนหนึ่ง ขันธ์กระจายออกไปนะ แต่ละอันไม่มีเราขึ้นมาแล้ว นี่เป็นการเดินปัญญา ไปทำเอานะ แล้วต่อไปก็เพิ่มเวลาขึ้นทีละหน่อยๆ
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
แสดงธรรมที่วัดสวนสันติธรรม
เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๑ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๒
CD สวนสันติธรรมแผ่นที่ 33
file :
ระหว่างนาทีที่ ๒๑ วินาทีที่ ๔๖ ถึงนาทีที่ ๒๘ วินาทีที่ ๓๗
เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓
ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่
สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่
ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่
คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่