พระสัทธรรม กับจิตของปุถุชน
ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ สอนธรรมไว้ประการหนึ่งไว้ว่า
พระสัทธรรมเมื่อเข้าไปตั้งอยู่ในจิตของปุถุชน ก็ย่อมกลายเป็นสัทธรรมปฏิรูป
ปัญหาก็คือ เหตุใดจิตของปุถุชนจึงทรงพระสัทธรรมของแท้ไว้ไม่ได้ ?
จิตปุถุชนไม่เหมาะกับการรองรับพระสัทธรรม ก็เพราะยังมีมิจฉาทิฏฐิ
คือมีความเห็นสุดโต่งระหว่าง สัสสตทิฏฐิหรือความมีอยู่ถาวร กับอุทเฉททิฏฐิหรือความขาดสูญ
ทั้งยังประกอบด้วยสักกายทิฏฐิ คือความเห็นว่าขันธ์ 5 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จิต ว่าเป็นเรา
การกำหนดจดจำธรรมใดๆ ไว้ในจิต จึงอดไม่ได้ที่จะเจือความเห็นผิด
หรือการตีความธรรมอย่างผิดๆ เอาไว้ด้วย
เรื่องของมิจฉาทิฏฐินั้น หากเกิดขึ้นกับจิตดวงใด
จิตดวงนั้นย่อมเป็นอกุสลจิตเสมอ
ในความเป็นจริงแล้ว จิตของปุถุชน มักจะเป็นเพียงอกุสลจิต และวิบากจิตเท่านั้น
น้อยนักจะเป็นกุสลจิตได้อย่างแท้จริง เว้นแต่จะเป็นกุสลจิตแบบอนุโลมเอา
เช่นผู้ที่ได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าแล้วพิจารณาใคร่ครวญตาม
ก็พอจะน้อมใจเชื่อตามสัมมาทิฏฐิได้บ้างในขณะสั้นๆ
แต่เมื่อใดไม่ใคร่ครวญ ไม่สำรวมระวังความคิด
มิจฉาทิฏฐิก็กลับมาครอบงำจิตอีกโดยง่าย
คือจะเกิดความเห็นผิดว่าจิตเป็นเรา กายนี้เป็นเรา คนก็เป็นคน สัตว์ก็เป็นสัตว์จริงๆ
และหากพิจารณาในด้านของกิเลสที่เกิดขึ้นกับจิต ก็จะพบว่าจิตของปุถุชนนั้น
โอกาสที่จะเกิดกุสลจิตจริงๆ คือไม่มีอกุสลในจิต เป็นไปได้น้อยยิ่ง
เพราะเว้นแต่วิบากจิตเสียแล้ว จิตส่วนมากก็จะถูกครอบงำด้วยโมหะเกือบตลอดเวลา
แม้ในขณะที่ทำบุญทำทาน ศึกษาปฏิบัติธรรม
จิตก็มักจะถูกโมหะครอบงำเอาแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวเสมอๆ
ตัวมิจฉาทิฏฐิก็เป็นโมหะ ตัวกิเลสครอบงำประจำจิตก็เป็นโมหะ
รวมความแล้วโมหะนี้เองเป็นข้าศึกอย่างร้ายกาจทีเดียว
จิตของปุถุชน แทบไม่มีเวลาพ้นจากอำนาจของโมหะ
จึงไม่เหลือที่ว่างพอที่จะให้พระสัทธรรมประดิษฐานลงได้จริง
โอกาสที่จิตจะรอดจากโมหะมีไม่มากนัก
เพราะจิตใจของเราเหมือนถูกขังอยู่ในเขาวงกฏที่สลับซับซ้อนมาก
ช่องทางที่จะหนีรอด มีเพียงช่องทางเล็กๆ อยู่ช่องเดียว
ถ้าปราศจากพระพุทธเจ้าชี้ช่องทางนี้แล้ว ยากนักที่เราจะพบทางออกได้เอง
และช่องทางที่จะรอดจากโมหะหรือความหลง
ก็คือการเจริญสติสัมปชัญญะหรือความไม่หลงนั่นเอง
เมื่อใดจิตเกิดสติสัมปชัญญะ เมื่อนั้นจึงเกิดกุสลจิตที่แท้จริง
แต่พวกเราที่เคยฝึกเจริญสติสัมปชัญญะ
ต่างก็ซาบซึ้งแก่ใจดีแล้วว่า เข้าใจยากและทำยากเหลือเกิน
ขนาดคนที่มีศรัทธาต่อพระพุทธเจ้าอยู่แล้ว และอยากจะทำ ก็ยังทำยาก
นับประสาอะไรกับคนที่ไม่มีศรัทธามาก่อน และไม่อยากทำ
ด้วยเหตุนี้แหละ เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว จึงทรงท้อพระทัยที่จะสอน
การที่จะน้อมนำพระสัทธรรมเข้ามาประดิษฐานให้ถาวรในจิตก็ดี
การที่จะเผยแผ่พระสัทธรรมไปสู่จิตของผู้อื่นก็ดี
จึงเป็นงานที่ยากมาก เพราะต้องต่อสู้กับความไม่รู้ทั้งหลายของตนเองและผู้อื่น
แต่ถ้าพวกเราผู้มีโอกาสมากในสังคม ไม่ตั้งใจทำงานนี้
แล้วจะผลักภาระการรักษาพระสัทธรรมไปให้ใครได้ล่ะครับ
ดังนั้นอย่าประมาท นิ่งนอนใจ หรือเบื่อหน่ายท้อแท้ให้เสียเวลาเปล่า
ให้ตั้งใจปฏิบัติเพื่อน้อมนำพระสัทธรรม
เข้าสู่จิตใจให้ได้โดยทั่วกันทุกๆ คนนะครับ
โดยคุณ สันตินันท์ (นามปากกาของหลวงพ่อปราโมทย์ก่อนบวช)
เมื่อวัน ศุกร์ ที่ 3 พฤศจิกายน 2543
เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓
ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่
สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่
ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่
คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่