Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.
หลวงพ่อปราโมทย์ : นี่เป็นทางที่เราต้องดำเนินต่อ เริ่มจากอะไร มักน้อยใช่มั้ย มักน้อยหมายถึงมีเยอะก็บริโภคน้อย สันโดษก็ยินดีพอใจในสิ่งที่ได้มา จากการที่เราทุ่มเททำงานเต็มที่แล้ว กระทั่งเราภาวนานะ เราทำเต็มที่แล้ว มันได้แค่นี้ก็พอใจแค่นี้ สันโดษ ไม่คลุกคลี ไม่เฮๆฮาๆ ปรารภความเพียร วันๆนึงก็คิดแต่จะสู้กับกิเลส จะล้างกิเลสออกจากใจ จะปลดความทุกข์ออกจากใจ ปรารภความเพียร ฝึกสติ ร่างกายเคลื่อนไหวคอยรู้สึก จิตใจเคลื่อนไหวคอยรู้สึก ฝึกสมาธิ พุทโธไปหายใจไป จิตไหลไปคิดก็รู้ จิตไหลไปเพ่งก็รู้
พอเราฝึกได้สติ เราฝึกได้สมาธิแล้ว คราวนี้เราต้องเจริญปัญญาต่อ การเจริญปัญญาก็คือการมีสติรู้กายรู้ใจตามที่เค้าเป็น แต่ต้องรู้ด้วยจิตที่ทรงสมาธิ จิตที่ตั้งมั่นเป็นกลางอยู่ ถ้าจิตไม่ทรงสมาธิจิตก็ไหลไป ไปรู้ลมหายใจ จิตก็ไหลไปที่ลมหายใจ มันก็ไม่เกิดปัญญา ถ้าสติระลึกรู้ลมหายใจ จิตตั้งมั่นเป็นคนดู มันจะเห็นเลยร่างกายที่หายใจอยู่ไม่ใช่ตัวเรา เห็นเองเลย จะเห็นเลย เห็นแต่อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเลย
การเจริญปัญญานั้นต้องเห็นไตรลักษณ์ ในนักธรรมเอกเค้าสอนนะ บอกว่าถ้ามีปัญญานะเห็นความไม่เที่ยงของสังขาร จิตจะเบื่อหน่ายในความทุกข์ นี่คือทางแห่งความบริสุทธิ์หลุดพ้น ถ้าเรามีปัญญาเห็นความทุกข์ของสังขาร จิตจะเบื่อหน่ายในทุกข์ นี่คือทางแห่งความบริสุทธิ์หลุดพ้นเหมือนกัน ถ้าเราเห็นสภาวะทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา มีปัญญาเห็นสภาวะทั้งหลายทั้งปวงเป็นอนัตตา จิตก็จะเบื่อหน่ายในทุกข์อีก นี่เป็นทางแห่งความบริสุทธิ์หลุดพ้น
เพราะงั้นทางแห่งความบริสุทธิ์ ทางแห่งวิสุทธิ คือการที่เรามีปัญญาเห็นไตรลักษณ์ของรูปของนาม ของกายของใจนั่นเอง งั้นหลักของวิปัสสนากรรมฐานอยู่ตรงนี้เอง
งั้นเรามีสตินะ รู้กายอย่างที่มันเป็น มันเป็นอะไร มันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แต่เราจะเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้นะ เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นคนดู ในความเป็นจริงแล้ว ทั้งกายทั้งใจของเรานั้น เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอยู่แล้วแต่ไหนแต่ไร เราจะเห็นหรือเราจะไม่เห็น พระพุทธเจ้าจะตรัสรู้หรือไม่ตรัสรู้นะ รูปนามกายใจนี้ก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอยู่แล้ว แต่ไม่มีวิธีที่จะไปรู้ไปเห็น
เครื่องมือที่จะไปรู้ไปเห็นที่เราพัฒนาขึ้นมา ก็คือมีสตินั่นเอง ตัวนึง เครื่องมือที่ ๑ มีสติคอยรู้ความเปลี่ยนแปลงของกายของใจ เครื่องมือตัวที่ ๒ คือมีจิตตั้งมั่น คือมีสมาธิจิตตั้งมั่น เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นคนดู ตั้งมั่นแล้วก็ต้องเป็นกลางด้วยถึงจะดี ตั้งมั่นแล้วบางทีไม่เป็นกลาง งั้นต้องฝึกจนกระทั่งตั้งมั่นด้วย เป็นกลางด้วย
วิธีฝึกให้เป็นกลางก็คือรู้ทันว่ามันไม่เป็นกลาง วิธีฝึกให้ตั้งมั่นก็คือรู้ว่ามันไหลไป อาศัยสติรู้ทันจิตนี้แหล่ะ ถ้าจิตไหลไปเรารู้ทันนะ จิตจะตั้งมั่น ถ้าจิตไปรู้อารมณ์แล้วยินดียินร้ายขึ้นมา เรามีสติไปรู้ทันอีก จิตจะเป็นกลาง
งั้นอาศัยตัวนี้เองนะ เราจะเห็นไตรลักษณ์ จะเห็นเอง ไม่ต้องคิดเลย ไตรลักษณ์จะปรากฎต่อหน้าต่อตา ถ้าเรายังคิดเรื่องไตรลักษณ์นะ ยังไม่ใช่วิปัสสนาแท้ วิปัสสนาแปลว่าเห็น ปัสสนะคือการเห็น ไม่ใช่วิตก วิตกมันตรึกเอาคิดเอา
บางคนไปสอนกันนะ บอกว่าทำวิปัสสนาต้องคิดพิจารณา อันนั้นเป็นอุบายเบื้องต้น เพื่อให้จิตเดินปัญญาเท่านั้นเอง บางคนก็ต้องทำ บางคนไม่จำเป็น บางคนที่เคยเจริญปัญญามาแต่ชาติก่อนแล้วนะ พอจิตตั้งมั่นขึ้นมาปุ๊บ ขันธ์แตกตัวออกไปเลย เห็นขันธ์แสดงไตรลักษณ์เลย ไม่ต้องคิดเลยบางคนพอรู้ตัวขึ้นมาเฉย มีสมาธิแล้วนะ จิตก็เฉยอยู่อย่างนั้นเลย พวกนี้ต้องคิดพิจารณา เป็นการกระตุ้นให้จิตเดินปัญญา
แต่ตรงที่กระตุ้นให้จิตเดินปัญญาด้วยการคิดพิจารณา ยังไม่ใช่วิปัสสนากรรมฐาน ยังเป็นวิตก เป็นการตรึกอยู่ วิปัสสนานั้นต้องเห็นสภาวะแท้ๆ เห็นรูปธรรมแท้ๆ นามธรรมแท้ๆ เช่นเห็นความโกรธมันเกิดขึ้นมาผุดขึ้นมา เห็นความโกรธตั้งอยู่ชั่วขณะแล้วก็ดับไป เกิดแล้วก็ดับไปให้ดู เห็นอนิจจังของความโกรธ เห็นความทนอยู่ไม่ได้ของความโกรธ เห็นเลยความโกรธมีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้ นี่เห็นความเป็นอนัตตาของความโกรธ
ถ้าเห็นถึงจะเป็นวิปัสสนา เพราะปัสสนแปลว่าเห็น ไม่ใช่ปัสสนแปลว่าคิด อย่างนี้แหล่ะเรียกว่าเจริญปัญญา
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
แสดงธรรมที่สำนักสงฆ์สวนสันติธรรม
บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
แสดงธรรมเมื่อ วันอาทิตย์ที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๕ ก่อนฉันเช้า
CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๔๔
Track: ๑๘
File: 550325.mp3
ระหว่างนาทีที่ ๒๓ วินาทีที่ ๓ ถึง นาทีที่ ๒๗ วินาทีที่ ๕๐
เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓
ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่
สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่
ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่
คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่