mp3 (for download): ปฎิบัติอย่างไรจึงเรียกว่า ทางสายกลาง
Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.
ปฎิบัติอย่างไรจึงเรียกว่า ทางสายกลาง
โยม : คำว่ามัชฌิมาปฏิปทานี่นะฟังมาหลายแห่งเหลือเกิน หลวงพ่อว่ามันคืออะไรคะ ไม่ตึงไม่หย่อนเกินไป แล้วถ้าปฏิบัติไปๆ เกิดขี้เกียจขึ้นมาแล้วก็มาบอกว่า เฮ้ยวันนี้มันตึงเกินไป หรือว่าอะไรทำนองนี้นะคะหลวงพ่อ
หลวงพ่อปราโมทย์ : ก็ต้องไม่เข้าข้างตัวเอง ครั้งหนึ่งมีเทวดาองค์หนึ่งไปเฝ้าพระพุทธเจ้า เทวดาองค์นี้น่ะแกคิดว่าแกเป็นพระโสดาบันแล้ว เวลาลงมาเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วรัศมีของเทวดานี้สว่างไปหมดเลย คนมีบุญไปแล้วสว่าง ไปถึงก็ไปทูลถามพระพุทธเจ้า บอกว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ข้ามโอฆะได้อย่างไร โอฆะคือห้วงน้ำห้วงกิเลส คือพูดง่ายๆ พระองค์เป็นพระอรหันต์ได้อย่างไร
พระพุทธเจ้าท่านก็พูดเพราะนะ ท่านบอกว่า ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ ท่านผู้ไม่มีความทุกข์ เพราะกำลังหลงอยู่ในความสุขนั่นแหละ ท่านเลยพูดเอาใจเสียหน่อย ถ้าท่านบอกว่าสัตว์โลกผู้มีความทุกข์เทวดาคงไม่ฟังต่อละ อารมณ์ไม่ดี ท่านบอก “ดูก่อนท่านนิรทุกข์ ตถาคตข้ามโอฆะได้เพราะไม่พักอยู่และไม่เพียรอยู่“ นี่เทวดาที่คิดว่าตัวเองเป็นพระอรหันต์นะ คิดว่าตัวเองก็แน่เหมือนกัน ฟังแล้วสะอึกเลย
พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ท่านข้ามกิเลสได้โดยไม่พักและไม่เพียร ถ้าไม่พักนี่น่ะก็พอรู้เรื่องใช่มั้ย แต่ไม่เพียรนี่แปลก เทวดาก็เลยบอกว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ช่วยขยายความหน่อย ท่านก็สอนต่อ บอกว่า “ดูก่อนท่านผู้นิรทุกข์ ถ้าเมื่อใดเราพักอยู่เราจะจมลง ถ้าเมื่อไรเราเพียรเราจะฟูขึ้น” เราจะลอยขึ้น เทวดาก็ได้ธรรมะนะ ได้โสดาบัน เราได้หรือยัง ฟังเหมือนกันนะ ยังไม่ได้ ตรงนี้นะเทวดาเข้าใจ พวกเรายังไม่เข้าใจ ก็มีคำอธิบาย คำอธิบายธรรมะอธิบายพระไตรปิฎกเรียกว่าอรรถกถา
คำว่าพักอยู่นี่ก็คือ การปล่อยตัวปล่อยใจตามกิเลส อันนี้มีอีกอันหนึ่ง มีอีกชื่อหนึ่งว่า “กามสุขัลลิกานุโยค” การปล่อยตัวให้ชุ่มด้วยกาม สิ่งที่เรียกว่ากามก็คือความเพลิดเพลินไปในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัสทั้งหลาย ฉะนั้นเมื่อไหร่เราหลงโลกเมื่อนั้นเราหย่อนไป เราหย่อนไป เราพักแล้ว เราไม่มีความเพียรเลย ใช้ไม่ได้ ข้ามฝั่งไม่ได้ ถ้าตรงที่ว่ามีความเพียรแล้วฟูขึ้น คำว่ามีความเพียรท่านอธิบายว่า หมายถึง “อัตตกิลมถานุโยค” การคอยควบคุมบังคับตัวเองตลอดเวลา
ดังนั้นถ้าปล่อยตัวปล่อยใจตามกิเลสก็สุดโต่งไปข้างกามสุขัลลิกานุโยค ถ้าบังคับกายบังคับใจ ทำกายทำใจให้ลำบาก ก็สุดโต่งมาข้างทำความเพียรแบบทรมาณตัวเอง อัตตกิลมถานุโยค ทางสายกลางไม่ได้เป็นอย่างนั้น ทางสายกลางก็คือทางของศีล ของสมาธิ ของปัญญา นั้นเอง คนมีศีล ถ้าถือศีลไม่เป็นนะก็จะสุดโต่งมาข้างบังคับตัวเอง ถ้าถือศีลแล้วไม่ฉลาดพอก็ถือศีลตามใจกิเลส มีสมาธิก็เหมือนกัน มีสมาธิก็ชอบบังคับจิตตัวเองให้นิ่ง นี่สุดโต่งไปข้างบังคับ อีกพวกนึงทำสมาธิแล้วก็มีความสุข เคลิบเคลิ้มไป นี่หลงตามกิเลส หรือเจริญปัญญา คอยคิดค้นคว้าพิจารณามาก จิตฟุ้งซ่านตามกิเลสไป ไปบังคับจิตให้นิ่งๆ ไม่ให้คิดพิจารณาเลย ข่มไว้เฉยๆ ก็ทรมานตัวเองไปอีก
ทางสายกลางอยู่ตรงไหน ทางสายกลางอยู่ตรงที่มีศีลก็ไม่สุดโต่งไปสองข้าง มีสมาธิก็ไม่สุดโต่ง มีปัญญาก็ไม่สุดโต่งสองข้าง พูดอธิบายยากนะ แต่ลงมือปฎิบัติไม่ยาก คอยรู้ทันใจตัวเองไว้ให้ได้ก็แล้วกัน ถ้ารู้ทันใจตัวเองไม่ได้นะ ไม่บังคับตัวเองก็ตามใจกิเลส ถ้ารู้ทันใจตัวเองได้นะก็ไม่เข้าไปติดสองฝั่งนี้ เช่นนั่งสมาธิอยู่ พอนั่งสมาธิอยู่พอเมื่อยหลังนะก็บอกตัวเองเลย อย่านั่งต่อไปเลยนอนดีกว่า ถ้านั่งต่อไปเป็นอัตตกิลมถานุโยค ทรมานตัวเอง นี่ถูกกิเลสหลอกแล้ว หรือเตลิดเปิดเปิงนะวันๆ นึง มีนะบางคนบอกว่าใช้ชีวิตให้เต็มอิ่มมีความสุขนะ แล้ววันนึงมันก็เบื่อไปเอง เสพสุขให้มากๆ เลยแล้ววันนึงก็เบื่อ นี่ไม่รู้จักธรรมะหรอก กิเลสนั้นเสพเท่าไหร่มันก็ไม่เบื่อ เบื่ออันนี้มันจะไปเอาอันอื่น ยากนะ ถ้าไม่รู้ทันใจตัวเอง
ถ้าเรารู้ทันใจตัวเองได้เราถึงจะเข้าทางสายกลางได้ รู้ว่าขณะนี้สุดโต่งไปแล้วในข้างตามใจกิเลส รู้ว่าขณะนี้สุดโต่งไปแล้วในข้างบังคับตัวเอง ต้องรู้ลงที่ใจให้ได้
โยม : คะ งั้นพอจะเข้าใจด้วยระดับปัญญานิดๆ ว่ามันต้องอยู่ที่การพิจารณาในลักษณะการปฎิบัติ คงไม่ใช่จะมาแปลว่ามัชชิมาหมายถึงกลาง คงไม่ใช่อย่างนั้นนะเจ้าคะ
หลวงพ่อปราโมทย์ : ไม่ใช่นะ ต้องดูสภาวะที่แท้จริง ถ้าเมื่อไหร่จิตยังโหยหาอาลัยอาวรณ์ในรูป ในเสียง ในรส ในกลิ่น ในสัมผัส เนี่ยนะ กามสุขัลลิกานุโยค ถ้าเมื่อไหร่บังคับกายบังคับใจ เมื่อนั้นอัตตกิลมถานุโยค
คนทั่วไปซึ่งไม่เคยภาวนาเนี่ยจะสุดโต่งไปในกามสุขัลลิกานุโยค พวกที่ไม่เคยภาวนานะ จะเตลิดไปด้านนี้เลย พวกนี้จะจมลง คือจมลงสู่อบาย ส่วนนักปฎิบัติเนี่ยชอบบังคับกายบังคับใจ คิดถึงการเดินจงกรมก็ต้องรีบตั้งท่าเดิน ถามว่าตอนท่าเดินจงกรมเนี่ย เดินธรรมชาติไหม ไม่นะ บังคับตัวเองนะ บังคับกาย บังคับกายต้องเริ่มต้นจาก..เข้าที่ก่อนนะ ถัดจากนั้นบังคับใจ..บังคับได้ที่ค่อยเดิน เนี่ยบังคับเรียบร้อยแล้วทั้งกายทั้งใจ เวลาที่เราจะนั่งสมาธิ เริ่มต้นบังคับกายก่อน ต้องงี้ เสร็จแล้วก็บังคับใจต่อ ดัดแปลงใจ สุดท้ายก็คือไม่บังคับกายก็บังคับใจ ถ้าทำได้ที่ก็บังคับทั้งกายทั้งใจ
แต่การปฎิบัติแบบไม่บังคับกายบังคับใจทำอย่างไร รู้สึกลงไป นั่งอยู่รู้ว่านั่งอยู่ หายใจอยู่รู้ว่าหายใจอยู่ ตามที่พระพุทธเจ้าสอนนะพอดี พระพุทธเจ้าสอน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเดินอยู่ให้รู้ว่าเดินอยู่ ไม่ใช่ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวลาเดินต้องทำท่าอย่างนี้ ไม่เคยพูดเลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ท่านสอน ดูกรภิกษุทั้งหลาย จิตมีราคะให้รู้ว่ามีราคะ เห็นไหม ง่ายๆ มีราคะรู้ว่ามีราคะ นี่แหละทางสายกลาง ท่านไม่เคยสอนนะ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ห้ามมีราคะ ห้ามได้ไหม ห้ามไม่ได้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย มีราคะไปเรื่อยๆ เดี๋ยวมันก็เบื่อไปเอง ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้
เพราะงั้นเมื่อไหร่รู้ได้นะ “รู้นั้นแหละกลาง เกินจากรู้ไม่กลางหรอก”
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
แสดงธรรมที่ โรงพยาบาลตำรวจ
แสดงธรรมเมื่อ วันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๔
CD: แสดงธรรมนอกสถานที่ โรงพยาบาลตำรวจ
File: 540330
ระหว่างนาทีที่ ๔๓ วินาทีที่ ๑๐ ถึง นาทีที่ ๕๐ วินาทีที่ ๓๗
เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓
ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่
สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่
ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่
คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่