Dhammada on Android
available now on
Google Play Store
คำชี้แจง
    Dhammada.net เป็นเว็บไซต์ของกลุ่มลูกศิษย์ที่ภาวนาตามแนวดูจิตได้จัดทำกันเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทาง สวนสันติธรรม หรือ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช แต่อย่างใด     จึงขอชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันกับข้อเท็จจริง     ขอแสดงความนับถือ     Dhammada.net

หมวดหมู่

เรื่องล่าสุด

Latest Clips

คลังเก็บ

จริตสำหรับการทำสมถะและวิปัสสนา

mp 3 (for download) : จริตในการทำสมถะและวิปัสสนา

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

หลวงพ่อปราโมทย์: กรรมฐานในสติปัฏฐาน ๔ แยก กาย เวทนา จิต ธรรม กายและเวทนา นี่กลุ่มหนึ่ง จิตและธรรม เป็นอีกกลุ่มหนึ่ง จริตนิสัยของคนเราในเวลาทำสมถะกับวิปัสสนา การแยกจริตจะไม่เหมือนกัน

ถ้าเวลาเราจะทำสมถะ เราดูจริตมี ๖ อย่าง ๑) ราคจริต ๒) โทสจริต ๓) โมหจริต ๔) พุทธิจริต ๕) วิตกจริต ๖ สัทธาจริต

อย่างพวกศรัทธามากๆ เนี่ย ก็คิดถึงพระพุทธเจ้า คิดถึงอะไรอย่างนี้นะ ใจก็สบาย สงบ พวกฟุ้งมากๆ ก็รู้ลมหายใจไป อะไรอย่างนี้นะ พวกขี้โมโห ก็เจริญเมตตา พวกบ้ากามก็พิจารณาอสุภะอะไรอย่างนี้ พิจารณาความตายอะไรไป แล้วใจก็สงบ

แต่อารมณ์จริตนิสัย จริตที่ใช้ทำวิปัสสนานะ เราแยก ๒ ส่วนเท่านั้นเอง เรียกว่า

๑) ตัณหาจริต พวกรักสุข รักสบาย รักสวย รักงาม

๒) ทิฏฐิจริต พวกเจ้าความคิด เจ้าความเห็น

- พวกตัณหาจริต มีกรรมฐานที่เหมาะคือ การดูกาย หรือ เวทนา

- พวกทิฏฐิจริต เจ้าความคิดเจ้าความเห็น มีกรรมฐานที่เหมาะคือ ดูจิต หรือ ธรรม

ทำไมแต่ละจริตต้องมี ๒ อย่าง

-พวกรักสุข รักสบาย รักสวย รักงาม ดูกาย หรือ เวทนา พวกที่ปัญญาแก่กล้าแล้วจะไปดูที่เวทนา พวกที่ยังไม่แก่กล้าดูกาย กายดูง่ายกว่าเวทนา

-พวกเจ้าความคิด เจ้าความเห็นนี่ ดูจิตเอา เห็นจิตเป็นกุศลบ้าง อกุศลบ้าง นี่ดูง่าย ถ้าปัญญามันแก่กล้าขึ้นไปก็ไปดูธัมมา เจริญธัมมานุปัสสนานะ จะเห็นความละเอียดลึกซึ้งประณีตของสภาวธรรมแต่ละอันๆ อย่างจิตตานุปัสสนาเห็น จิตมีโทสะ รู้ว่ามีโทสะ ดูแค่นี้เอง ถ้าขึ้นไปถึงธัมมานุปัสสนา มันจะประณีตขึ้นไปอีก อย่างจิตมีปฏิฆะ ความไม่พอใจเกิดขึ้น มีพยาบาท พยาปาทะ ไม่พอใจ คิดถึง ตรึกถึงอารมณ์ที่ไม่พอใจเนี่ยเห็นละ ไม่ต้องรอให้โกรธ มันประณีตกว่ากัน เรารู้ด้วยว่าทำไมถึงเกิดจิตที่มีความพยาบาทขึ้น รู้ด้วยว่าทำยังไงความพยาบาทจะไม่เกิดขึ้น เห็นมั้ยจะรู้เหตุ รู้ผล รู้ลึกซึ้งลงไปอีก หรือดูโพชฌงค์ จะเห็นเลยคุณธรรมมันค่อยๆ อัพเกรดขึ้นไปเรื่อยๆ แต่ดูยากกว่ากัน

พวกเราสันนิษฐานไว้ก่อนก็แล้วกันนะเพื่อความปลอดภัยว่าพวกเราอินทรีย์อ่อน อินทรีย์แข็งคงไปเรียนจากพระพุทธเจ้าแล้วคงบรรลุกันไปหมดแล้วล่ะ สมัยนั้นพวกเราบางคนก็อาจจะเคยเจอพระพุทธเจ้ามาแล้วนะ แต่เราเป็นลูกศิษย์เทวทัตนะก็เลยไม่ได้ธรรมะอะไร แล้วสำคัญผิดอะไรอย่างนี้ หรือตอนเราไปเจอพระพุทธเจ้าแต่ตอนนั้นเราเป็นเดียรถีย์ เราไปแอนตี้พระพุทธเจ้าซะด้วยซ้ำไป งั้นบารมีพวกเรานี่ ตกมาถึงรุ่นนี้ ถือว่าบารมีอ่อนก็แล้วกันนะ

งั้นคนไหนรักสุข รักสบาย รักสวย รักงาม ให้ดูกายไว้ เพราะกายนี่จะสอนให้เห็นว่าไม่สุข ไม่สบาย ไม่สวย ไม่งาม

ถ้าคนไหนเจ้าความคิดเจ้าความเห็นให้ดูจิต จิตเดี๋ยวก็ดี จิตเดี๋ยวก็ร้าย คุ้มดีคุ้มร้ายทั้งวัน เดี๋ยวก็โลภ เดี๋ยวก็หายโลภ เดี๋ยวโกรธ เดี๋ยวหายโกรธ เดี๋ยวหลง เดี๋ยวหายหลง

งั้นเราดูจริตนิสัยของตัวเอง


หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
แสดงธรรมที่วัดสวนสันติธรรม
บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๔ เดือนกันยายน พ.ศ.๒๕๕๗


CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๕๖
File: 570914A.mp3
ระหว่างนาทีที่ ๑๘ วินาทีที่ ๓๔ ถึงนาทีที่ ๒๒ วินาทีที่ ๑๕

ตัด/ถอดคลิปส์โดยคุณ ok2077
ตรวจทานโดยคุณ พัลวัน

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

การดูจิต และการเดินปัญญาในฌาน

mp3 for download : การดูจิต และการเดินปัญญาในฌาน

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

ขอขอบคุณภาพจาก บ้านจิตสบาย

หลวงพ่อปราโมทย์ : การดูจิตดูใจเรียกว่า จิตตนานุปัสสนา การดูกระบวนการทำงานของสภาวธรรม เรียกว่าธรรมานุปัสสนา กรรมฐานเหล่านี้เหมาะกับพวกทิฎฐิจริต พวกคิดมาก เมื่อพวกเราเป็นพวกช่างคิด เรามาดูจิตดูใจตัวเอง การดูจิตนั้นไม่ต้องใช้สมาธิเยอะ ใช้สมาธิเป็นขณะๆไป เรียกว่าขณิกสมาธิ

วิธีทำให้มีสมาธิเมื่อเช้าหลวงพ่อบอกไปแล้วนะ รู้ทันจิตที่เคลื่อนไป เรารู้ทันจิตที่เคลื่อนไป รู้ทันจิตที่ไหลไป จิตก็จะตั้งมั่นขึ้นมา ตรงที่จิตตั้งมั่นขึ้นมาเนี่ย อย่าไปบังคับจิตให้นิ่ง จิตมีความสุขให้รู้ว่ามีความสุข จิตมีความทุกข์ให้รู้ว่ามีความทุกข์ จิตสงบให้รู้ว่าสงบ จิตฟุ้งซ่านให้รู้ว่าฟุ้งซ่าน จิตมีราคะให้รู้ว่ามีราคะ จิตมีโทสะให้รู้ว่ามีโทสะ จิตไม่มีราคะก็รู้ จิตไม่มีโทสะก็รู้ จิตหลงไปก็รู้ จิตรู้สึกตัวอยู่ก็รู้ เนี่ยคอยดูความเปลี่ยนแปลงของจิตไปเรื่อย

การดูความเปลี่ยนแปลงของจิตนั้น ไม่ต้องไปนั่งสมาธิลึกๆ คนที่นั่งสมาธิลึกๆเนี่ย ดูจิตยาก มันจะไม่มีอะไรให้เปลี่ยน จะนิ่งๆ เพราะฉะนั้นการดูจิตดูใจเนี่ย เหมาะสำหรับพวกที่เข้าฌานไม่เป็น แต่ถ้าพวกที่ดูจิตแล้วเข้าฌานเป็น จะไปสู่จุดสุดยอดอีกเรื่องหนึ่ง สามารถไปเดินปัญญาในสมาธิได้ พวกดูกายเก่งๆเนี่ย เจริญปัญญาในสมาธิไม่ได้ ต้องดูจิตเก่งๆ ทำสมาธิและปัญญาควบกันได้

ดูกายเก่ง ต้องทำสมาธิก่อน ออกจากสมาธิแล้วมาดูกาย แต่ถ้าจะทำสมาธิและปัญญาควบกัน ถ้าทำสมาธิรู้ลมหายใจแล้วจิตรวมเข้าปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติ มีความสุข มีความเป็นหนึ่ง มีเอกัคคตา รู้ทันจิตที่เข้าไปจับแสงสว่าง ก็ปล่อย ไม่จับ ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร จิตทวนกระแสเข้าหาตัวรู้ และตั้งมั่นอยู่ ปีติเด่นดวงขึ้นมา ในขณะนั้นมีทั้งปีติมีทั้งสุขมีทั้งเอกัคคตาอยู่ด้วยกัน แต่ปีติจะเด่น ใจเนี่ยเด่นดวงตั้งมั่นเป็นผู้รู้อยู่ แต่ปีติเด่น สติระลึกรู้ลงไปที่ปีติ เห็นปีติดับไป เนี่ยเขาทำวิปัสสนาในสมาธิ เขาดูองค์ฌานที่เกิดดับ องค์ฌานทั้งหลายเนี่ยไม่ใช่กาย องค์ฌานทั้งหลายเนี่ยเป็นเรื่องของนามธรรมทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นพวกที่ดูจิตได้นะ จะไปเดินปัญญาในฌานได้

แล้วถ้าดูจิตจนชำนิชำนาญจนถึงระดับที่เป็นพระอริยบุคคล แล้วถ้าตายไปนะ ยังไม่ใช่พระอรหันต์ ไปเกิดในพรหมโลก แล้วเข้าฌานเก่งมากเลย ได้ฌานที่ ๘ ด้วย ไปเกิดในเนวสัญญานาสัญญายตนะ เป็นภูมิเป็นภพของเนวสัญญานาสัญญายตนะ เป็นภพของพรหมที่สูงที่สุด ในคัมภีร์สอนเอาไว้เลยว่า ถ้าเป็นพระอริยบุคคลที่ชำนาญการดูจิตนะ จะไปทำวิปัสสนาในเนวสัญญานาสัญญายตนะได้ คนอื่นทำไม่ได้ ถ้าเป็นปุถุชนแล้วจะไปทำวิปัสสนาในเนวสัญญานาสัญญายตนะไม่ได้ ถ้าเป็นพระอริยบุคคลที่ไม่ได้ชำนาญเรื่องการดูจิต จะไปทำวิปัสสนาในเนวสัญญานาสัญญายตนะไม่ได้ ถ้าเป็นพระอริยบุคคลที่เข้าอรูปฌานถึงขีดสุดไม่ได้ก็จะไม่ไปเนวสัญญานาสัญญายตนภูมิด้วย

เพราะฉะนั้นการที่เราหัดดูจิตดูใจเนี่ยนะ พวกที่สมาธิมากก็ดูได้ พวกนี้จะสามารถไปเจริญปัญญาในฌานได้ ทำสมาธิและวิปัสสนาควบกัน พวกนี้ทำรวดไปได้ ไม่มีข้อจำกัดในภูมิอะไร ยกเว้นอันเดียว ภูมิอสัญญสัตตา ภพของอสัญญสัตตา พรหมลูกฟัก แต่ท่านจะไม่ไปเกิดในพรหมลูกฟัก พระอริยะทั้งหลายท่านจะไม่ไปเกิดในพรหมลูกฟัก พระโพธิสัตว์ทั้งหลายจะไม่ไปอยู่ในพรหมลูกฟัก เสียเวลา

และถ้าเราดูจิตดูใจแต่ไม่ชำนาญจนถึงอรูป(ฌาน)นะ เราจะดูจิตในชีวิตประจำวัน ดูอยู่ข้างนอกอย่างที่พวกเรามีนี่แหละ


หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม บ้านโค้งดารา ต.บางพระ อ.ศรีราชา ชลบุรี
แผนที่ : 1 2 3
แสดงธรรมที่ วัดสวนสันติธรรม
เมื่อวันเสาร์ที่ ๔ เดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๕
File: 550804B
CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๔๖
ระหว่างนาทีที่ ๕ วินาทีที่ ๑๔ ถึงนาทีที่ ๙ วินาทีที่ ๕๐

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

ศาสนาต้องให้คำตอบของชีวิตได้ ผู้คนจึงจะไม่ทิ้งศาสนา

mp3 for download : ศาสนาต้องให้คำตอบของชีวิตได้ ผู้คนจึงจะไม่ทิ้งศาสนา

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

ขอขอบคุณภาพจาก บ้านจิตสบาย

หลวงพ่อปราโมทย์ : เห็นคนภาวนาดีๆเนี่ย เยอะเลย เกิดความเปลี่ยนแปลงในตัวเอง ที่ตัวเองรู้สึกได้ เคยทุกข์มากนะเหลือทุกข์น้อยลง เคยทุกข์นานก็ทุกข์สั้นลง มีความมั่นคงในพระพุทธศาสนามากขึ้น ยุคของเรานี้เป็นยุคที่คนทิ้งศาสนา คนมุ่งไปเอาความเจริญทางวัตถุกันหมด นี่จะว่าคนทิ้งศาสนาก็พูดยากนะ คือ..ถ้าหากศาสนาตอบคำถามของชีวิตเขาไม่ได้ ก็สมควรทิ้งหรอก เพราะไม่มีประโยชน์ คล้ายๆถ้ามีศาสนาแล้วก็เอาไว้เป็นที่รีดที่ไถนะ ไม่มีประโยชน์ หมดไปก็ไม่เป็นไร

แต่ถ้าหากศาสนาเนี่ยแก้ไขปัญหาชีวิตให้เขาได้ คนเข้าถึงเนื้อหาแท้ๆของศาสนา โดยเฉพาะพระพุทธศาสนา ถ้าเราเข้าถึงเราเข้าใจ เราพ้นทุกข์ทันตาเห็น ไม่ใช่ทำไปเถอะ ทำไปเถอะ แล้วชาติต่อๆไปค่อยเห็น ต้องเห็นเดี๋ยวนี้ ศาสนาพุทธน่ะเป็นเรื่องปัจจัตตังนะ ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ วิญญูชนรู้ด้วยตนเอง รู้ลงขณะปัจจุบันนี้แหละ ไม่ใช่วิญญูชนเชื่อไปเหอะ เชื่อไปก่อน ทำไว้แล้วชาติหน้าดี ไกลไป

นี่หลวงพ่อพยายามประกาศธรรมะที่เราสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ในเวลาสั้นๆ แท้จริงธรรมะที่ประกาศเนี่ย เป็นธรรมะของเก่า ครูบาอาจารย์สอนต่อๆกันมา ไม่ขาดยุคขาดสมัยนะในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา หลวงพ่อเปลี่ยนบางอย่างไป เปลี่ยนภาษาไป เปลี่ยนภาษาให้คนรุ่นเราฟังรู้เรื่อง นอกจากเปลี่ยนภาษาแล้วก็มาเลือกวิธีการที่คนสมัยเรานี้จะรับได้ พระพุทธเจ้าเป็นธรรมราชา เป็นพระราชาของธรรมะ เป็นภควโต (อ่าน ภะคะวะโต – ผู้ถอด) เป็นผู้จำแนกแจกธรรม ธรรมะที่ท่านให้ไว้นะ มากมายมหาศาลเลย เหมาะกับจริตนิสัยกับคนต่างๆนานา ความกรุณาของท่านแผ่ไพศาล ท่านสอนธรรมะไว้มากมาย เพราะจริตนิสัยของคนนั้นแตกต่างมากมาย หลวงพ่อก็แค่มาดู ว่าธรรมะอะไรที่คนสมัยเราจะทำได้ง่าย

การปฏิบัติธรรมนั้น ถึงอย่างไรก็หนีการปฎิบัติธรรมไม่ได้ เพราะศาสนาพุทธนั้นเป็นกรรมวาที เป็นเรื่องที่ต้องทำ เป็นเรื่องของการกระทำ มีผลของการกระทำ เราอยากพ้นทุกข์เราก็ต้องลงมือปฏิบัติ ไม่มีฟลุ๊ค แต่การปฏิบัตินั้นมีตั้งหลายแบบ ใช้สมาธินำปัญญาก็มี ใช้สมาธิกับปัญญาควบกันก็มี ใช้ปัญญานำสมาธิก็มี

ในสมัยครูบาอาจารย์นั้น ท่านจะใช้สมาธินำปัญญามาก เพราะชีวิตท่านไม่มีความเร่งร้อนอะไร คนสมัยก่อนปีหนึ่งทำนา ก็รอเวลาไปเกี่ยวข้าว ข้าวสุกก็ไปเกี่ยวข้าว ชีวิตของพวกเราทุกวันนี้มีแต่ความเร่าร้อนรีบร้อนตลอดเวลา หาอยู่หากินกันวุ่นวายตลอดเวลา เราจะเอาเวลาที่ไหน เราจะเอากำลังใจที่ไหน มานั่งสมาธินานๆให้จิตมีความสุขความสงบ เพราะฉะนั้นกรรมฐานนั่งสมาธิมากนี้ ไม่เหมาะกับคนยุคเราแล้ว แต่ยังเหมาะกับคนบางคนที่เขาทำได้ เหมาะกับบางคน

เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่สิ่งที่เราจะทำลายไปนะ ธรรมะของพระพุทธเจ้าจะต้องรักษาไว้ให้ครบเลย จริตนิสัยของคนไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างคนรุ่นเราเป็นพวกคิดมากเยอะ เจริญทางวัตถุรุนแรง สิ่งที่มากระทบกับตาหูจมูกลิ้นกายใจรุนแรง ให้ไปนั่งสมาธิก็ไม่ไหวแล้วนะ คนโบราณไปหว่านข้าวไถนาเสร็จนะ มีเวลาก็นั่งสมาธิได้ทั้งๆวัน นั่งได้หลายๆวัน ไม่มีอะไรทำ คอยดูนกดูหนูไม่ให้มากินข้าวเท่านั้น เดินดูนก ไล่หนู อะไรอย่างนี้ ก็เจริญสติไปได้นะ ถึงเวลาก็เข้าใต้ต้นไม้นั่งสมาธิ ชีวิตไม่ได้เร่งร้อนอะไร

แต่เราทำไม่ได้แล้ว คนส่วนใหญ่ในยุคนี้ทำไม่ได้แล้ว ปากกัดตีนถีบอยู่ตลอดเวลา เราก็มีกรรมฐานที่พระพุทธเจ้าท่านให้ไว้ที่เหมาะกับคนที่ทำงานที่ต้องใช้ความคิด พวกคิดมาก เรียกว่าพวกทิฎฐิจริต กรรมฐานที่เหมาะกับพวกทิฎฐิจริต คือการดูจิตดูใจของตนเอง หรือดูสภาวธรรม ดูการทำงานของกระบวนการของธรรมะ ดูการทำงานของธรรมะ ทั้งรูปธรรมและนามธรรม การดูจิตดูใจนั้นเรียกว่า “จิตตานุปัสสนา” การดูกระบวนการของสภาวธรรมเรียกว่า “ธรรมานุปัสสนา” กรรมฐานเหล่านี้เหมาะกับพวกทิฎฐิจริต พวกคิดมาก


หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม บ้านโค้งดารา ต.บางพระ อ.ศรีราชา ชลบุรี
แผนที่ : 1 2 3
แสดงธรรมที่ วัดสวนสันติธรรม
เมื่อวันเสาร์ที่ ๔ เดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๕
File: 550804B
CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๔๖
ระหว่างนาทีที่ ๐ วินาทีที่ ๒ ถึงนาทีที่ ๕ วินาทีที่ ๒๔

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เริ่มหัดภาวนา อย่าไปยุ่งหรือดัดแปลงสัญญาขันธ์

mp3 for download : เริ่มหัดภาวนา อย่าไปยุ่งหรือดัดแปลงสัญญาขันธ์

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

หลวงพ่อปราโมทย์ : นี่เป็นการหัดแยกขันธ์นะ แยกขันธ์ออกเป็นส่วนๆ รูปขันธ์ก็อยู่ส่วนหนึ่ง เวทนาขันธ์อยู่ส่วนหนึ่ง สังขารขันธ์อยู่ส่วนหนึ่ง วิญญาณขันธ์อยู่ส่วนหนึ่ง ทำไมหลวงพ่อไม่พูดถึงสัญญาขันธ์ สัญญาอย่าเพิ่งไปยุ่ง สัญญาของเราตอนนี้เป็นสัญญาวิปลาส พวกเราตอนนี้ สัญญาเพี้ยนอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งไปยุ่งกับมัน ตอนนี้

สัญญาเพี้ยนอย่างไร มันเห็นของไม่เที่ยงว่าเที่ยง ยกตัวอย่างนะจิตใจของเราเกิดดับอยู่ตลอดเวลา เราไปเห็นว่าในนี้มีเราอยู่คนหนึ่ง คนนี้กับตอนเด็กๆก็คนเดิม คนนี้ในวันนี้กับคนนี้ในวันพรุ่งนี้ก็ยังเป็นคนเดิม เราไปเห็นของไม่เที่ยงว่าเที่ยง เห็นของทนอยู่ไม่ได้ว่าทนอยู่ได้ เห็นของบังคับไม่ได้ว่าบังคับได้ รู้สึกมั้ยว่าร่างกายมันเป็นของเรา เราสั่งได้ รู้สึกอย่างนี้ สั่งได้ไม่ตลอดหรอก

เพราะฉะนั้นสัญญาของเรายังเพี้ยนอยู่ ตอนนี้ปล่อยไปก่อน พามันดูในของจริง ในรูป ในเวทนา ในสังขาร ในจิต พามันดูของจริงตัวนี้ให้มากนะ ต่อไปพอจิตมันฉลาดขึ้นมาสัญญามันก็ถูก สัญญาตอนนี้วิปลาส ต่อไปไม่วิปลาส มันยอมรับความจริงว่า เออ.. ขันธ์ทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยง เนี่ยหายวิปลาสแล้ว ขันธ์ทั้งหลายเป็นทุกข์ นี่หายวิปลาสแล้ว ขันธ์ทั้งหลายไม่ใช่ตัวเรา หายวิปลาสแล้ว เพราะฉะนั้นสัญญาแขวนมันเอาไว้ก่อน

บางคนไปใจร้อนนะ พยายามไปดัดแปลงสัญญา เคยมีนะ คนหนึ่ง เห็นโต๊ะเรียกเก้าอี้ เห็นสีเหลืองเรียกสีแดง สุดท้ายสติแตกเลย ไม่รู้จักสมมุติบัญญัติของโลกนะ ใช้ไม่ได้นะอย่างนั้นเพี้ยน อย่าไปทำอย่างนั้น

เราดูลงไปในสติปัฏฐานใช่มั้ย ท่านสอนเรื่องกาย เรื่องเวทนา เรื่องจิต เรื่องธรรม แต่ในธรรม (หมายถึง ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน – ผู้ถอด) จึงค่อยมีตัวสัญญาอยู่ด้วย เพราะฉะนั้นตอนนี้เว้นไว้ก่อน


หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี

แสดงธรรมที่วัดสวนสันติธรรม
เมื่อวันศุกร์ที่ ๒o เดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๕๕๕

File: 550120
CD : สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๔๓
ระหว่างนาทีที่ ๒๐ วินาทีที่ ๕ ถึงนาทีที่ ๒๒ วินาทีที่ ๑๐

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

รู้ อย่างเป็นวิหารธรรม

mp3 for download : รู้ อย่างเป็นวิหารธรรม

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

หลวงพ่อปราโมทย์ :ส่วนไม่ยากอะไร เฝ้ารู้ความปรุงไป ดูไป ขันธ์ ธาตุ อายตนะ ก็มีแต่รูปกับนาม ให้หาอารมณ์อันใดอันหนึ่งนะ ที่เหมาะกับเรา จะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรมก็ได้ ดูกาย ดูเวทนา ดูจิต ดูธรรมก็ได้ อะไรก็ได้ รู้อย่างเป็นวิหารธรรม เป็นเครื่องอยู่ของจิต

เรารู้กาย ยกตัวอย่างเช่นเรารู้ลมหายใจ รู้ลมหายใจแบบเป็นวิหารธรรม เป็นเครื่องอยู่ของจิต ไม่ได้ไปเพ่งห้ามจิตเคลื่อนไปจากลมหายใจ ไม่ใช่ อันนั้นไม่ขึ้นวิปัสสนาหรอก รู้ลมหายใจพอเป็นเครื่องอยู่ของจิต รู้ไปเพื่อจะแผดเผากิเลส เรียกว่า อาตาปี ไม่ใช่รู้ไปเพื่อหาความสุขความสบาย รู้ไปเพื่อจะสู้กับกิเลส มีสัมปชัญญะ รู้ว่าเรารู้ลมหายใจนี้เพื่ออะไร มีสติ ไม่หลงลืมลมหายใจนี้

ถ้ารู้ไปเรื่อย.. ก็จะถอดถอนความยินดียินร้ายในโลกออก เรียกว่า อาตาปี สัมปชาโน สติมา วิเนยยะโลเก อภิชฌา โทมนัสสะ ถอดถอนความยินดียินร้ายในโลก ไม่ยึด

เพราะฉะนั้นเรารู้กายรู้ใจไปนะ รู้แบบเป็นเครื่องอยู่ ไม่ได้อยู่แบบเป็นคุกขังจิต ไม่ได้ห้ามจิตเคลื่อนไปจากร่างกาย ห้ามจิตเคลื่อนไปจากเวทนา ไม่ได้บังคับจิตให้นิ่งให้ว่าง ไม่ใช่ รู้เพียงแต่สักว่าอาศัยรู้เท่านั้นเอง เพื่อที่จะได้เห็นว่ามันไม่เที่ยงเป็นทุกข์เป็นอนัตตา


หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี

แสดงธรรมที่วัดสวนสันติธรรม
เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑o เดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๓


CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๓๗
File: 531010B
ระหว่างนาทีที่ ๒๐ วินาทีที่ ๕๓ ถึงนาทีที่ ๒๒ วินาทีที่ ๓๔

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

คนรุ่นนี้ฟุ้งซ่าน เหมาะกับการดูจิต

mp3 for download : คนรุ่นนี้ฟุ้งซ่าน เหมาะกับการดูจิต

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

หลวงพ่อปราโมย์ : หน้าตาอย่างรุ่นพวกเรานี้ทำฌานยาก วันๆมีแต่ความฟุ้งซ่าน ระหว่างฟุ้งซ่านกับสงบ ระหว่างฟุ้งซ่านกับสงบ พวกเราเป็นแบบไหนมากกว่ากัน ใครฟุ้งซ่านมาก ยก(มือ)ซิ มีใครสงบมาก มีที่ไม่ยกมือเพราะกำลังหลับอยู่ กำลังนั่งฟังหลวงพ่อแล้วศรัทธาเลื่อมใส น้อมใจตามกระแสธรรม ตามไปไหนก็ไม่รู้…

เพราะฉะนั้นธรรมชาติของพวกเรารุ่นนี้ ฟุ้งซ่าน โอกาสที่จะนั่งสมาธิให้จิตสงบ เพื่อว่าจิตสงบแล้วจะมาดูกาย ยากมากเลย เป็นขั้นตอนที่ยาว ขั้นแรกเราไม่ผ่านเสียแล้ว แล้วถ้าสมาธิไม่พอ ดูกายไม่ได้ เพราะกายานุปัสสนา และเวทนานุปัสสนา เหมาะกับสมถยานิก เหมาะกับคนเล่นฌาน

ก็เมื่อพวกเรามันอัตคัดขาดแคลนสมาธิ จิตของเราฟุ้งซ่านมาก ก็ยังไม่ใช่ว่าสิ้นโอกาสที่จะบรรลุมรรคผลนิพพาน พระพุทธเจ้าไม่ใช่ธรรมดา ไม่ใช่สอนกรรมฐานอย่างเดียวเพื่อคนบางกลุ่ม ท่านเป็นสัพพัญญู ท่านเป็นภะคะวะโต ผู้จำแนกแจกธรรม ท่านก็มองคนจำนวนหนึ่งเหมือนกัน อย่างพวกเรานี้ก็อยู่ในสายตาของท่าน พวกฟุ้งซ่านนี่ พวกนี้จะให้นั่งสมาธิจนจิตได้ฌานแล้วมาดูกาย แล้วบรรลุมรรคผล ยากที่จะทำได้ ท่านก็มีกรรมฐานอย่างอื่นให้กับพวกเรานะ คือจิตตานุปัสสนา และธรรมานุปัสสนา

จิตตานุปัสสนาเนี่ย ดูความปรุงแต่งของจิต จิตเดี๋ยวก็โกรธเดี๋ยวก็ไม่โกรธ เดี๋ยวก็โลภเดี๋ยวก็ไม่โลภ เดี๋ยวก็หลงเดี๋ยวก็ไม่หลง เดี๋ยวฟุ้งซ่านเดี๋ยวหดหู่ เดี๋ยวมีสมาธิเดี๋ยวไม่มีสมาธิ ดูไป เดี๋ยวก็เข้าไปยึดอารมณ์เดี๋ยวก็ปล่อยออก อะไรอย่างนี้ ก็ดูไป

หรือธรรมานุปัสสนา เห็นกระบวนการของรูปธรรมและนามธรรม เช่น เห็นว่านิวรณ์เกิดขึ้นได้อย่างไร โภชชงค์เกิดได้อย่างไร อริยสัจจ์ทำงานแบบไหน ปฏิจจสมุปบาททำงานอย่างไร เนี่ยเฝ้าดู เห็นกระบวนการทำงานของมัน

จิตตานุปัสสนา กับธรรมานุปัสสนา เหมาะสำหรับพวกวิปัสสนายานิก วิปัสสนายานิกหมายถึงว่า เราไม่ได้ทำฌานก่อน เราใช้จิตว่อกแว่กนี้ล่ะ มาปฏิบัติธรรม แทนที่จะไปบังคับจิตให้นิ่งแล้วไปดูกาย ให้เรารู้ทันความฟุ้งซ่านของจิตไป ถ้าเราคอยรู้ทันความฟุ้งซ่านของจิต ความฟุ้งซ่านจะดับ จิตจะสงบอัตโนมัติเลย ถ้าจิตไม่ฟุ้งซ่านจิตจะสงบ ก็มีเท่านั้น

ถ้าเรามีสติ รู้ทันจิตที่กำลังมีความฟุ้งซ่านอยู่ เมื่อใดสติเกิดเมื่อนั้นอกุศลจะดับ นี่เป็นกฎของธรรมะ เมื่อไรสติเกิดเมื่อนั้นอกุศลต้องดับ เพราะความฟุ้งซ่านเป็นอกุศล ถ้าสติเกิด คือเราระลึกได้ว่าในขณะนี้กำลังฟุ้งซ่านอยู่ ความฟุ้งซ่านจะดับทันทีเลย ทันทีที่ความฟุ้งซ่านดับ สมาธิก็จะเกิดขึ้น แต่ประเดี๋ยวก็จะฟุ้งใหม่ ฟุ้งใหม่รู้ใหม่ แล้วก็เกิดสมาธิอีกแว้บหนึ่ง สมาธิอันนี้ไม่ทรงอยู่นาน แต่มี มีสั้นๆเรียกว่า ขณิกสมาธิ

เพราะฉะนั้นเมื่อพวกเรานั่งสมาธิ ทำอัปนาสมาธิ ที่เข้าฌานไม่เป็น อุปจารสมาธิก็ทำไม่ได้ เราก็อาศัยสมาธิที่พวกเราพอจะทำได้ คือ ขณิกสมาธินี้แหละ อาศัยขณิกสมาธิมาเจริญปัญญา มาเห็นความจริงของจิตใจ มาเห็นการทำงานของจิตใจของเราเอง ดูมันไปเรื่อย สุดท้ายก็บรรลุมรรคผลนิพพานได้

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี

แสดงธรรมที่วัดสวนสันติธรรม
เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕

CD สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๔๖
File 550701
ระหว่างนาทีที่ ๑๕ วินาทีที่ ๒๕ ถึงนาทีที่ ๑๙ วินาทีที่ ๒๒

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

วิธีการรู้นามธรรม (ดูจิต)

mp3 for download : วิธีการรู้นามธรรม (ดูจิต)

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช

หลวงพ่อปราโมย์ : หัดดูจิตดูใจ ก็จะเห็นเลย จิตมันเปลี่ยน เพราะตามันมองเห็นรูป จิตมันเปลี่ยนเพราะหูได้ยินเสียง เช่นตามองเห็นรูปอย่างนี้เกิดสุขเกิดทุกข์ เกิดกุศล-อกุศล หูได้ยินเสียงอย่างนี้เกิดสุขเกิดทุกข์เกิดกุศล-อกุศล จมูกได้กลิ่นจิตก็เกิดความรู้สึกสุขทุกข์กุศล-อกุศลได้

ยกตัวอย่างได้กลิ่นธูปกลิ่นอะไรอย่างนี้ รู้สึกอย่างไรได้กลิ่นธูป ต้องดูสิ่งแวดล้อมด้วย ถ้ามาที่วัดได้กลิ่นธูปก็แหมเลื่อมใสศรัทธาอะไรอย่างนี้ แต่ถ้าอยู่บ้านแล้วอยู่ดีๆได้กลิ่นธูปก็ชักคิดหนักนะ ความรู้สึกมันเปลี่ยน

ให้คอยรู้ จะเห็นเลย ความรู้สึกทั้งหลายเกิดแล้วดับ ความรู้สึกทั้งหลายเกิดแล้วดับ นี่คือการรู้นามธรรม

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี

แสดงธรรมที่วัดสวนสันติธรรม
เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕

CD สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๔๖
File 550701
ระหว่างนาทีที่ ๑๒ วินาทีที่ ๑ ถึงนาทีที่ ๑๒ วินาทีที่ ๔๗

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

สันตติขาด จะเห็นจิตเกิดดับ

mp3 for download : สันตติขาด จะเห็นจิตเกิดดับ

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

หลวงพ่อปราโมย์ : เนี่ยเราเรียนรู้ลงมาในกายในใจ มาเรียนรู้ตัวเองไปเรื่อย.. คอยดูความจริงของมัน อย่าไปดัดแปลงมัน ดูซิร่างกายเที่ยงหรือไม่เที่ยง ดูซิ เวทนา คือความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์ ความรู้สึกเฉยๆ เที่ยงหรือไม่เที่ยง ดูลงไปว่าความปรุงดีความปรุงร้าย กุศล-อกุศลทั้งหลายที่เกิดขึ้น เที่ยงหรือไม่เที่ยง เนี่ยเราดูซ้ำซากลงไปนะ

ดูลงไปที่จิตที่ใจ จิตเที่ยงหรือไม่เที่ยง จิตไม่เที่ยงหรอก เดี๋ยวจิตก็เกิดที่ตาแล้วก็ดับ เดี๋ยวจิตก็เกิดที่หูแล้วก็ดับ เดี๋ยวจิตก็เกิดที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ แล้วก็ดับ ถ้าเราดูเป็นแล้วจะเห็นเลย จิตเกิดที่ตาแล้วก็ดับ จิตเกิดที่หูแล้วก็ดับ ตอนนี้ใครเห็นถึงตรงนี้บ้าง ว่าเกิดจิตที่ตาแล้วดับจิตเกิดที่หูแล้วดับจิตเกิดที่ใจแล้วดับ ลองยกมือสิ มีมั้ย ใครเห็นตรงนี้บ้าง

เห็นตรงนี้เรียกว่า สันตติ ขาดแล้ว (สันตติแปลว่า ความสืบเนื่อง – ผู้ถอด) ถ้าเรายังไม่เห็นถึงสันตติขาด เราจะรู้สึกว่าจิตมีดวงเดียว เดี๋ยวจิตก็วิ่งไปทางตาแล้วก็วิ่งกลับมา เดี๋ยวก็วิ่งไปทางหูแล้วก็วิ่งกลับมา วิ่งไปคิดแล้วก็วิ่งกลับมา ใครเห็นอย่างนี้บ้างยกมือซิ เป็นไปไม่ได้ที่จะน้อยกว่าพวกแรก เป็นไปไม่ได้นะ ยกเว้นสังคมของพระอริยะ

ยกตัวอย่างถ้าพระพุทธเจ้า วันแสดงโอวาทปาฏิโมกข์นะ พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป มานั่งอยู่พร้อมกัน ถ้าพระพุทธเจ้าถาม ภิกษุทั้งหลาย ใครเห็นบ้างจิตเดี๋ยวก็วิ่งไปทางตาเดี๋ยวก็วิ่งไปทางหู วิ่งทางจมูกทางลิ้นทางกายทางใจ ภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป จะนั่งเฉยๆ ไม่มีใครเห็นเลย ภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป เห็นอย่างไร เห็นจิตเกิดที่ตาแล้วก็ดับ จิตเกิดที่หูแล้วก็ดับ สันตติคือความสืบเนื่องขาด จิตไม่ได้มีดวงเดียว

เพราะฉะนั้นไม่ต้องตกใจ ถ้าเราเห็นจิตวิ่งไปที่ตาแล้วก็วิ่งกลับมา จิตวิ่งไปที่หูแล้วก็วิ่งกลับมา จิตวิ่งไปคิดแล้วก็วิ่งกลับมา ก็ยังดีกว่าคนที่ไม่เคยเห็นเลย เห็นซ้ำแล้วซ้ำอีก วันหนึ่ง สติ สมาธิ ปัญญา พอนะ สันตติก็ขาดให้ดู เราจะเห็นว่าจิตไม่ได้เป็นดวงเดิมหรอก จิตที่ดูก็ดวงหนึ่ง จิตที่ฟังก็ดวงหนึ่ง จิตที่คิดก็ดวงหนึ่ง คนละดวงกัน แล้วค่อยๆฝึก มาเรียนรู้ความจริงของขันธ์กันไปเรื่อย

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี

แสดงธรรมที่วัดสวนสันติธรรม
เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๖ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๔

CD สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๔๑
File 540716A
ระหว่างนาทีที่ ๑๗ วินาทีที่ ๕ ถึงนาทีที่ ๑๙ วินาทีที่ ๓๒

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

เตรียมพร้อมจิตเพื่อเจริญวิปัสสนา

mp3 for download : เตรียมพร้อมจิตเพื่อเจริญวิปัสสนา

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

หลวงพ่อปราโมทย์ : วันสุดท้ายแล้วของพวกเข้าคอร์ส รู้เรื่องบ้างมั้ย คนไหนติดสมาธินะ เราก็รู้ทันใจที่ติดสมาธิ ใจที่ติดสมาธินี้เป็นใจที่เราเข้าไปแทรกแซง เราเข้าไปควบคุม ยกตัวอย่างเรากลัวมันหลง เราพยายามไปเฝ้าเอาไว้ เรากลัวจะรู้ไม่ชัด เราก็ไปคอยจ้องคอยดูไม่ให้คลาดสายตา เราก็จะเกิดการเพ่งขึ้นมา บางคนก็มีทฤษฎีที่ผิดๆคิดว่าต้องเพ่งไว้ก่อน ถ้าไม่สงบแล้วเดินปัญญาไม่ได้

ที่คิดอย่างนั้น เพราะแยกไม่ออกว่าสมาธิมี ๒ ชนิด คือ สมาธิชนิดสงบกับสมาธิชนิดที่จิตตั้งมั่น ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นการที่เราจะภาวนา เบื้องต้นน้อมใจให้ซึมให้นิ่งๆ แล้วคิดว่านี่คือความสงบเป็นสมาธิ จะได้เดินปัญญา สมาธิที่น้อมเข้าไปนิ่งไปซึมไปทื่ออยู่ ไม่ได้เอาไว้ใช้เดินปัญญาหรอก เอาไว้พักผ่อนเล่น สมาธิที่ใช้เดินปัญญานั้น จิตจะตั้งมั่น จิตจะถอนตัวออกจากโลกของความคิด มาเป็นผู้รู้ผู้ดู

สมัยก่อนหลวงพ่อไปเรียนกับครูบาอาจารย์ ท่านชอบพูดคำว่า “จิตผู้รู้” หลังๆเราลืมคำว่า “จิตผู้รู้” ไป เรามีแต่จิตผู้เพ่ง ถ้าไม่เป็นจิตผู้เพ่งก็เป็นจิตผู้คิด จิตผู้เพ่งนั้นมันสุดโต่งไปข้างบังคับตนเอง จิตผู้คิดก็สุดโต่งไปข้างฟุ้งซ่าน หลงไปอยู่ในโลกของความคิด จิตผู้รู้นั้นไม่ใช่จิตผู้คิดไม่ใช่จิตผู้เพ่ง เป็นจิตที่หลุดไปในโลกของความคิด และก็เห็นปรากฏการณ์ทั้งหลายเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง

เราจะไม่เพ่งไปที่ปรากฏการณ์ทั้งหลายที่จิตไปรู้เข้า แล้วเราก็ไม่เพ่งใส่ตัวผู้รู้ด้วย ถ้าเพ่งใส่ตัวผู้รู้ก็เป็นผู้เพ่งนะ ไปเพ่งใส่ปรากฏการณ์ รูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย รู้ลมหายใจก็ไปเพ่งอยู่ที่ลมหายใจ นี่ก็เป็นจิตผู้เพ่ง ไม่ใช่จิตผู้รู้

จิตผู้หลง จิตผู้หลงจิตผู้คิด มันถูกกิเลสยั่วก็เลยฟุ้งซ่านออกไป ไม่มีกระทั่งความสงบ ส่วนจิตผู้เพ่งมีความสงบนะแต่ไม่ตั้งมั่น เราจะต้องมาฝึกเป็นจิตผู้รู้ จิตผู้รู้เนี่ยไม่ฟุ้งซ่าน ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้เพ่งเอาไว้ มันทรงตัวสบายของมัน เป็นผู้รู้ผู้ดูสบายๆ

วิธีที่เราจะพัฒนาจิตผู้รู้ขึ้นมาก็คือหัดรู้ คอยรู้ทัน หาอารมณ์กรรมฐานขึ้นมาสักอันหนึ่ง จะพุทโธก็ได้ จะรู้ลมหายใจก็ได้ แต่ไม่ใช่พุทโธเพื่อจะน้อมจิตให้นิ่ง ไม่ใช่หายใจเพื่อน้อมจิตให้นิ่ง เราพุทโธเพื่อจะรู้ทันจิต เราหายใจเพื่อจะรู้ทันจิต คนไหนไม่ถนัดพุทโธไม่ถนัดรู้ลมหายใจ จะดูท้องพองยุบหรือทำกรรมฐานอะไรก็ได้ ไม่เลือกกรรมฐานหรอก

ไม่ว่าจะทำกรรมฐานอะไร จะดูท้องพองยุบหรือขยับมือทำจังหวะหรือพุทโธหรือลมหายใจหรือรู้อิริยาบถ ๔ รู้เวทนา บางคนก็เริ่มด้วยการรู้จิตไปเลย สำหรับบางคนดูความเปลี่ยนแปลงของจิตไปเรื่อยๆ อะไรก็ได้นะ แต่ว่าไม่ว่าจะรู้อะไรก็รู้ทันจิต พุทโธแล้วจิตหนีไปคิดก็รู้ทัน พุทโธจิตหนีไปคิดแล้วก็รู้ทัน ฝึกอย่างนี้เรื่อย พุทโธแล้วไปเพ่งจิตให้นิ่งๆอยู่ก็รู้ทัน

ตรงที่พุทโธแล้วหนีไปคิดเนี่ย สุดโต่งไปข้างหลงข้างคิดข้างฟุ้งซ่าน พุทโธแล้วไปเพ่งจิตให้นิ่ง สุดโต่งไปข้างบังคับตนเองนะ เป็นความสุดโต่งสองฝั่ง ให้คอยรู้ทัน ถ้าเรารู้ทันเราก็จะไม่สุดโต่งไปสองข้าง ก็จะเข้าทางสายกลาง หรือลมหายใจก็ได้ รู้ลมหายใจแล้วก็รู้ทันจิต หายใจไปจิตหนีไปคิดแล้วก็รู้ หายใจแล้วจิตหนีไปคิดแล้วรู้ หรือหายใจไปแล้วจิตไหลไปเพ่งอยู่ที่ลมไหลไปรวมอยู่ที่ลมหายใจไหลไปลงอยู่ที่ท้อง รู้ทันว่าจิตมันเคลื่อนไป ใช้กรรมฐานอะไรก็ได้แล้วก็รู้ทันจิต บทเรียนอันนี้ชือว่า “จิตตสิกขา”

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี

แสดงธรรมที่ วัดสวนสันติธรรม
เมื่อวันอาทิตย์ ที่ ๑๐ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๔

CD สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๔๑
ไฟล์ 540710
ระหว่างนาทีที่ ๐ วินาทีที่ ๐ ถึง นาทีที่ ๔ วินาทีที่ ๓๖

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

สติปัฎฐานคืออะไร

mp 3 (for download) : สติปัฎฐานคืออะไร

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.


หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
ขอขอบคุณ ภาพจากงาน “ธรรมะกลางเมือง”

หลวงพ่อปราโมทย์ : พวกเราที่บอกว่าเป็นชาวพุทธๆ เราเคยได้ยินคำว่าสติปัฏฐานบ้างมั้ย ใครเคยรู้จักสติปัฏฐานยก(มือ)ซิ มีมั้ย มีคนบางส่วนไม่รู้จักนะ น่าเสียดายมากเลย

    สติปัฏฐานเนี่ยเป็นการที่เรามีสติ เรียนรู้ความจริงของกายของใจนั่นแหล่ะ สติปัฏฐานมี ๔ อย่าง

  • กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีสติเรียนรู้ความจริงของร่างกาย ของกาย
  • เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน มาเรียนรู้ความจริงของเวทนา คือความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์ ทางกาย ความรู้สึกสุข ความรู้สึกทุกข์ ความรู้สึกเฉยๆ ทางใจ
  • จิตตานุปัสสนา มาเรียนรู้ความจริงของจิต ที่เป็นกุศลและอกุศล อย่างจิตโลภจิตโกรธจิตหลง จิตดีจิตร้ายอะไรพวกนี้ มาเรียนรู้ความจริงเหล่านี้
  • ธัมมานุปัสสนาเนี่ย เป็นการเรียนรู้ความจริง ของรูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย ว่ามันมาได้ยังไง ทำไงมันไม่มาหรือทำไงมันจะมา อย่างนิวรณ์ทั้งหลายเนี่ย ทำไงมันจะไม่มา กิเลสทั้งหลายทำยังไงจะไม่มา กุศลอย่างโพชฌงค์ ๗ ทำยังไงจะเกิด อริยสัจทำยังไงจะรู้แจ้ง เป็นเรื่องของการเรียนรู้รูปธรรมนามธรรมทั้งหมดเลย เรียนรู้กายเรียนรู้ใจทั้งหมดในสติปัฏฐาน ๔ เนี่ย

การที่เราจะมาเรียนรู้สติปัฏฐาน ๔ นะ เราก็ต้องคอยรู้สึกตัวไว้ก่อน สติปัฏฐานเป็นเรื่องการเรียนรู้ความจริงของกาย เรียนรู้ความจริงของจิตใจ ถ้าเราลืมกายลืมใจ เราก็ไม่ได้เรียนรู้ความจริงของกายของใจ

เพราะนั้นก่อนที่เราจะมาเรียนรู้ความจริงของกายของใจได้ ต้องรู้สึกตัวให้เป็น ต้องให้จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวซะก่อน ถ้าจิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัวเรียกว่าขาดสมาธิ จิตไม่ตั้งมั่นไม่อยู่กับเนื้อกับตัว

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี

แสดงธรรมที่ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย
เมื่อ วันพุธที่ ๒๘ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๕

CD: แสดงธรรมที่ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย
File: 551128
ระหว่างนาทีที่ ๙ วินาทีที่ ๐๐ ถึง นาทีที่ ๑๐ วินาทีที่ ๔๗

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

ธรรมะที่ไม่เนิ่นช้า (๔) เจริญสติ

mp 3 (for download) : ธรรมะที่ไม่เนิ่นช้า (๔) เจริญสติ

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

หลวงพ่อปราโมทย์ : ชีวิตอย่าปล่อยให้ล่วงเปล่าๆ ต้องปฏิบัติ วิธีปฏิบัติ ปฎิบัติอะไร ก่อนจะลงมือปฏิบัติ ฝึกสติเสียก่อน ถ้ามีสติก็จะมีศีล มีสติก็จะมีสมาธิ มีสติก็มีโอกาสที่จะเกิดปัญญา มีสติ ต้องฝึกสติ ถ้าขาดสติซะตัวเดียวเนี่ย ศีลสมาธิปัญญาหายหมดเลย งั้นต้องมาให้มีสติ

นี้ท่านสอนมาเป็นลำดับเลยนะ ที่จะไม่เนิ่นช้า มักน้อย สันโดษ ไม่คลุกคลี ปรารภความเพียร เจริญสติ วิธีเจริญสติ สติเป็นเครื่องระลึกรู้ ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในกาย เป็นเครื่องระลึกรู้ ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในจิตใจ สติเกิดจากถิรสัญญา “ถิร” คนไทยใช้คำว่า เสถียร คือมันมั่นคง มันหนักแน่น แน่วแน่นะ คือรู้อย่างถิรสัญญาหมายถึงว่า มันรู้อยู่ถี่ๆ รู้อยู่บ่อยๆนะ รู้จนรู้อัตโนมัติ รู้จนจิตจำสภาวะได้แม่น เรียกว่ามีถิรสัญญา

สัญญาเป็นตัวความจำ ถิรสัญญาคือจำได้แม่นยำ จำได้แม่นยำในสภาวะของกาย จำได้แม่นยำในสภาวะของใจ พอสภาวะทางกายเกิดขึ้น สติจะเกิดขึ้น พอจำสภาวะทางจิตได้แม่น เช่นจำได้ว่าโลภเป็นยังไง โกรธเป็นไง หลงเป็นไง พอความโลภเกิดขึ้น สติจะเกิดเอง จะระลึกขึ้นได้แล้วว่า ความโลภเกิดแล้ว ถ้าจิตจำความโกรธได้แม่น พอความโกรธเกิด สติก็จะเกิดเอง อ้อ ความโกรธเกิดขึ้นแล้ว

พวกเราหัดรู้สภาวะให้มาก ร่างกายเคลื่อนไหว คอยรู้สึก จิตใจเคลื่อนไหวคอยรู้สึก คอยรู้สึกไป ร่างกายหายใจออก รู้สึก ร่างกายหายใจเข้า รู้สึก ร่างกายคู้ ร่างกายเหยียด รู้สึก ร่างกายยืนเดินนั่งนอน คอยรู้สึก มีความสุขความทุกข์เกิดขึ้นในกาย คอยรู้สึก ความสุขความทุกข์ในกายหายไป ก็คอยรู้สึก มีความสุขความทุกข์ความเฉยๆเกิดขึ้นในใจ ก็รู้สึก ความสุขความทุกข์ความเฉยๆดับไปจากจิตใจของเรา ก็รู้สึก มีกุศลเกิดในใจ ก็คอยรู้สึกนะ มีอกุศลเกิด โลภโกรธหลงเกิดขึ้นในจิตใจของเรา ก็คอยรู้สึก แล้วจิตวิ่งไปที่ตา คอยรู้สึก จิตวิ่งไปที่หู คอยรู้สึก จิตวิ่งไปคิด คอยรู้สึก จิตวิ่งไปเพ่ง คอยรู้สึก

เนี่ยเราคอยรู้สึกอยู่ในกาย คอยรู้สึกอยู่ในใจอย่างนี้บ่อยๆ ต่อไปพอร่างกายขยับ อย่างเรากำลังเผลออยู่ ขยับตัวปั๊บ ไม่ได้เจตนาขยับ เพราะร่างกายเราขยับอยู่ทั้งวันอยู่แล้ว กำลังเผลอๆอยู่ เกิดขยับตัวกริ๊กเดียวเท่านั้นเอง สติมาแล้ว รู้สึกตัวขึ้นมาแล้ว รู้เลยเห็นร่างกายมันเคลื่อนไหวอยู่ จิตมันเป็นคนดูขึ้นมา ตรงที่เห็นร่างกายมันเคลื่อนไหว จิตเป็นคนดู ได้สมาธิมาแล้ว การมีสติฝึกให้มาก จำสภาวะให้แม่น แล้วสติจะเกิดเอง สตินั้นเป็นอนัตตา เช่นเดียวกับสภาวะธรรมทั้งหลายทั้งปวง จิตก็เป็นอนัตตา สั่งให้มีสติไม่ได้ สติมีเหตุ สติถึงจะเกิด สติไม่มีเหตุ สติไม่เกิด

เพราะงั้นเราต้องทำเหตุของสติ คือการหัดรู้สภาวะเนืองๆ จะจำสภาวะได้แม่น เช่นความสุขเกิดขึ้นในใจ คอยรู้ ความทุกข์เกิดขึ้นในใจ คอยรู้ ความโลภความโกรธความหลง เกิดขึ้นในใจ คอยรู้ ความสุขความทุกข์ เกิดขึ้นในกาย คอยรู้ ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหายใจ คอยรู้ คอยรู้สึกอยู่เรื่อยๆ แล้วสติจะเกิดเอง

ทันทีที่สติเกิดจิตจะเป็นกุศล เมื่อจิตเป็นกุศล อย่างเรารู้ว่าความโกรธมา พอสติระลึกได้ปุ๊บนะ ความโกรธจะดับทันทีเลย ความโกรธหรือกิเลสทั้งหลายเนี่ย จะเกิดร่วมกับสติไม่ได้ กุศลกับอกุศลไม่เกิดขึ้นพร้อมกัน เหมือนแสงสว่างกับความมืดนั้น ไม่เกิดด้วยกัน แสงสว่างดับไป ความมืดก็ปรากฎขึ้น แสงสว่างปรากฎขึ้น ความมืดก็ดับไป อันนี้ก็เหมือนกุศลอกุศลทั้งหลาย กิเลสเหมือนความมืดนะ สติเหมือนแสงสว่าง ทันทีที่แสงสว่างเกิด ความมืดก็ดับไป มันจะไม่เกิดร่วมกัน

งั้นพอเราฝึกสติบ่อยๆเนี่ย กิเลสเกิดอะไรขึ้นที่จิต สติจะรู้ทันอัตโนมัติเลย โกรธแล้วนะ รู้ทันเลย โกรธ ความโกรธจะดับ เมื่อความโกรธดับ ศีลจะเกิดขึ้น เราจะไม่ทำผิดศีลเพราะความโกรธ ผิดศีลเพราะความโกรธทำอะไรได้บ้าง ไปฆ่าเค้าไปตีเค้าใช่มั้ย ไปทำลายทรัพย์สินเค้า ไปแกล้งขโมยของเค้า ไปลักขโมยเค้าเนี่ยไม่ใช่เกิดจากโลภอย่างเดียวนะ เกิดจากโกรธก็ได้ ทำลายทรัพย์สินเค้า ขโมยเค้า ไปเป็นชู้กับเค้าเพราะความโกรธก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเพราะราคะ เกลียดไอ้คนนี้มาก ไปหลอกจีบลูกสาวมันจีบเมียมันอะไรงี้ เนี่ยทำผิดศีลได้ โกรธขึ้นมาก็ไปด่าเค้า หรืิอไม่ก็ไปพูดเพราะๆ หลอกให้เค้าเหลิง เสียผู้เสียคนไปเลยอย่างนั้นก็ได้ พูจเท็จด้วยความโกรธก็ได้ โกรธขึ้นมาไปกินเหล้าได้มั้ย กินเหล้าเนี่ยเป็นตัวรองแล้วนะ ตัวนี้เป็นตัวกระตุ้นให้ขาดสติมากขึ้น

เพราะงั้นถ้าโกรธจริงๆ มันจะไปผิดศีล ๔ ข้อแรกนะ โลภขึ้นมาก็ผิดศีล ๔ ข้อได้ หรือโลภขึ้นมาไปกินเหล้าได้ ก็ผิดศีล ๕ ได้ หลงขึ้นมาก็ผิดศีลได้ทุกข้ออีกแหล่ะ เพราะงั้นถ้าเมื่อไหร่ กิเลสเกิดที่จิต เรารู้ไม่ทัน กิเลสครอบงำจิตได้ โอกาสทำผิดศีลเนี่ยจะมี ถ้ากิเลสเกิดขึ้นที่จิต เรามีสติรู้ทัน กิเลสดับไป โอกาสทำผิดศีลนั้นไม่มี เพราะงั้นถ้ามีสติ จะมีศีล


หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
แสดงธรรมที่สำนักสงฆ์สวนสันติธรรม
บ้านโค้งดารา ศรีราชา ชลบุรี
แสดงธรรมเมื่อ วันอาทิตย์ที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๕ ก่อนฉันเช้า


CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๔๕
Track: ๔
File: 550422.mp3
ระหว่างนาทีที่ ๒๔ วินาทีที่ ๓ ถึง นาทีที่ ๒๙ วินาทีที่ ๕๒

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

อานาปานสติ (ตอนที่ ๑๘) สรุปอานาปานสติ สำหรับฆราวาสคนเมือง (จบ)

mp3 for download : อานาปานสติ (ตอนที่ ๑๘) สรุปอานาปานสติ สำหรับฆราวาสคนเมือง (จบ)

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

อานาปานสติ (ตอนที่ ๑๘) สรุปอานาปานสติ สำหรับฆราวาสคนเมือง (จบ)

อานาปานสติ (ตอนที่ ๑๘) สรุปอานาปานสติ สำหรับฆราวาสคนเมือง (จบ)

หลวงพ่อปราโมทย์ : หลวงพ่อไม่เห็นกรรมฐานใดอัศจรรย์เหมือนอานาปานสติ ลึกล้ำ จนถึงขนาดยอมรับเต็มปากเต็มคำ เต็มหัวใจเลย มันเป็นกรรมฐานของพระมหาบุรุษ ไม่ใช่กรรมฐานของคนทั่วๆไปจะเล่นได้ชำนิชำนาญหรอก

ทีนี้ พวกเราเล่นไม่ได้ทั้งหมด เราก็เลือกเอาส่วนที่เล่นได้ หายใจแล้วรู้สึกตัวไป หายใจไปแล้วจิตหนีไปคิด คอยรู้ทัน ทำตรงนี้ให้ได้ หายใจไป จิตหนีไปคิดแล้วรู้ทัน จิตหนีไปคิดแล้วรู้ทัน จิตจะเป็นผู้รู้ขึ้นมา พอจิตเป็นผู้รู้แล้วจะดูกายดูใจก็ดูไปเลย ไม่ต้องไปเข้าฌานก็ได้ เอาแค่ว่าหายใจไป เห็นกายมันหายใจ ไม่ใช่ตัวเราหายใจ หายใจไปจิตใจมีความสุขความทุกข์ เห็นมันสุขมันทุกข์ของมันได้เอง หายใจไปแล้วก็เกิดกุศลบ้าง เกิดอกุศลบ้าง เช่น เกิดฟุ้งซ่าน หายใจแล้วมีฟุ้งซ่านมีไหม ส่วนใหญ่นั่นแหละหายใจแล้วฟุ้งซ่าน ใช่ไหม ก็ดูไป จิตมันฟุ้งซ่าน เราเป็นแค่คนดู ดูไปๆมันก็เลิกฟุ้งของมันไปเอง ฟุ้งซ่านมันก็ไม่เที่ยง เห็นแต่ของไม่เที่ยง มีความสงบเกิดขึ้น หายใจสบายๆ มันสงบขึ้นมา มันก็อยู่ชั่วคราว เดี๋ยวมันก็หายไปอีก นี้เราฝึกแค่นี้ก็พอแล้ว

หายใจไป จิตหนีไปแล้วรู้ทัน มันจะได้จิตผู้รู้ขึ้นมา ถัดจากนั้นเห็นร่างกายหายใจ ไม่ใช่ตัวเรา อันนี้เดินปัญญาด้วยการดูกาย ถ้าจะเดินปัญญาด้วยการดูจิตก็หายใจไป มีความสุขก็รู้ มีความทุกข์ก็รู้ เฉยๆก็รู้ หายใจไปแล้วจิตเป็นกุศลก็รู้ จิตเป็นอกุศลก็รู้ บางทีเห็น ทุกอย่างชั่วคราวไปหมด

ฝึกไปอย่างนี้ เรียกว่า ปัญญานำสมาธิ มันนำสมาธิอย่างไร ความจริงมันมีสมาธิอยู่แล้ว แต่มันมีในขั้นขณิกสมาธิ สมาธิชั่วขณะ

เมื่อเดินปัญญาแก่รอบเต็มที่แล้ว จิตจะรวมเข้าอัปปนาเอง ในนาทีที่จะตัดสินความรู้บรรลุ อริยมรรค อริยผล อริยมรรค อริยผล ไม่เกิดในจิตของคนธรรมดา อริยมรรค อริยผล เกิดในฌานจิตเท่านั้น เกิดในรูปฌานก็ได้ เกิดในอรูปฌานก็ได้ แต่จะไม่เกิดในวิถีจิตปกติของมนุษย์นี้

ทีนี้ ถ้าเราเข้าฌานไม่เป็น ไม่ต้องตกใจ เจริญปัญญาให้มาก มีแค่ขณิกสมาธินะ ทุกวันพยายามไหว้พระสวดมนต์ไว้ ทำในรูปแบบ จิตหนีไปคิดแล้วรู้ทัน ฝึกให้มันมีขณิกสมาธิ แล้วมาเดินปัญญา รู้กาย รู้ใจ ในชีวิตประจำวัน ถึงเวลาก็ทำความสงบ ไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิ เดินจงกรม รู้ทันจิตที่หนีไป หมดเวลาก็มารู้กาย รู้ใจ ในชีวิตประจำวันต่อไป ถึงวันที่ สติ สมาธิ ปัญญา แก่รอบพอ จิตจะรวมเข้าอัปปนาสมาธิ รวมเอง แล้วเกิด อริยมรรค อริยผล ขึ้น อันนี้เรียกว่า ใช้ปัญญานำสมาธิ

ลึกซึ้งมาก เรื่องอานาปานสติ แต่ว่าเราฝึกง่ายๆอย่างที่หลวงพ่อบอก ไม่ต้องคิดมาก ไม่ต้องสนใจถึงขนาด ทำอย่างไรจะเกิดฌานจิต ทำอย่างไรจะไปเดินวิปัสสนาในอุปจาระ เห็นมันไหวๆขึ้นมา แต่ส่วนมากพวกเราก็ทำได้อันนี้ คนจำนวนมากก็ทำได้ นั่งสมาธิแล้วก็เห็น ใจสงบไปเห็นมันปรุงขึ้นมา เกิดดับไป บางทีไม่รู้ว่าอะไรเกิดอะไรดับ ไม่มีชื่อ ถ้ายังมีชื่ออยู่จิตยังฟุ้งซ่านมาก บางทีเห็นแค่สิ่งบางสิ่งเกิด แล้วสิ่งนั้นดับไป อย่างนี้ก็ใช้ได้ ถ้าถึงขนาดเห็นองค์ฌานเกิดดับอย่างนี้มีน้อยเต็มที ประเภทหนึ่งในแสน หายาก ส่วนถ้าฝึกในชีวิตประจำวัน เดินปัญญาอยู่นี้ ง่าย พอทำได้สำหรับฆราวาส ที่วันๆเต็มไปด้วยความวุ่นวายนะ หายใจไป อย่าหยุดหายใจ หายใจไว้ก่อน เอ้า ต่อไปส่งการบ้าน

541106B.17m57-22m17

ขอขอบคุณพี่ maibok @wimutti.net สำหรับเนื้อหาของ clip ช่วงนี้

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
สวนสันติธรรม บ้านโค้งดารา
ศรีราชา ชลบุรี

แสดงธรรมที่สวนสันติธรรม
วันอาทิตย์ที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ หลังฉันเช้า

CD: 42
File: 541106B.mp3
นาทีที่ ๑๗ วินาทีที่ ๕๗ ถึง นาทีที่ ๒๒ วินาทีที่ ๑๗

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

อานาปานสติ (ตอนที่ ๑๗) สรุปอานาปานสติ กรรมฐานสำหรับมหาบุรุษ

mp3 for dowload : อานาปานสติ (ตอนที่ ๑๗) สรุปอานาปานสติ กรรมฐานสำหรับมหาบุรุษ

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

อานาปานสติ (ตอนที่ ๑๗) สรุปอานาปานสติ กรรมฐานสำหรับมหาบุรุษ

อานาปานสติ (ตอนที่ ๑๗) สรุปอานาปานสติ กรรมฐานสำหรับมหาบุรุษ

หลวงพ่อปราโมทย์ : ทำอานาปานสตินะ คลุมสติปัฏฐาน ๔ ได้ด้วย ไม่มีกรรมฐานอะไรเหมือนเลยนะ ตั้งแต่โหลยโท่ย ไม่มีสติเลย หรือทำจนเครียดสติแตกไปเลยนะ ก็เป็นไปได้ ทำอานาปานสติแล้วก็พลิกไปทางกสิณ เล่นอภิญญาก็ได้ ทำแล้วเข้าฌานเพื่อพักผ่อน ออกจากฌานมา มาเดินปัญญา ดูกายก็ได้ ดูจิตก็ได้ ทำแล้วเข้าอัปปนาสมาธิ เข้าฌาน เจริญปัญญาอยู่ในฌานเลยก็ได้ ทำแล้วเข้าฌานไม่ได้ เห็นร่างกายหายใจ-ใจเป็นคนดูอยู่ เห็นร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา นี่เดินปัญญานะ ใช้ปัญญานำสมาธิก็ได้ ไปดูจิตดูใจ หายใจไป จิตเป็นอย่างนั้นจิตเป็นอย่างนี้รู้ทัน นี่เดินปัญญาดูจิต เดินปัญญาดูกาย เดินปัญญาดูจิต แจกแจงให้ครบก็คือ การทำสติปัฏฐาน ๔ ครบทั้งหมดเลย

เห็นกายมันหายใจ ใจเป็นคนดูอยู่ เห็นกายไม่ใช่เรา เป็นกายานุปัสสนา

หายใจไปมีความสุข หายใจไปความสุขหายไป หายใจไปแล้วมีความทุกข์ หายใจแล้วความทุกข์หายไป หายใจแล้วมีอุเบกขา แล้วอุเบกขาหายไป อันนี้เป็นเวทนานุปัสสนา

หายใจแล้วฟุ้งซ่าน รู้ว่าฟุ้งซ่าน หายใจแล้วสงบ รู้ว่าสงบ หายใจไปแล้วจิตรวม เป็นมหัคคตะ หายใจแล้วจิตไม่รวม อย่างนี้เป็นจิตตานุปัสสนา

หายใจแล้วเห็นขันธ์กระจายตัวออกไป แต่ละขันธ์ทำงานของขันธ์ เป็นขันธบรรพ ในธัมมานุปัสสนา

หายใจไปแล้วโพชฌงค์เกิดขึ้น มีสติรู้ลมหายใจ มีความเพียรที่จะรู้ลมหายใจ มีฉันทะ หายใจแล้วสบายใจ วิริยะมันก็เกิด มีความเพียร ตามรู้ตามเห็นในตัวที่หายใจอยู่ ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เรียกว่า ธัมมวิจยะ มีปีติขึ้นมา อันนี้ไม่ใช่ปีติในฌาน เป็นปีติเพราะมีปัญญา มีปีติแล้ว สติรู้ทันปีติ หายใจไปมีปีติ รู้ทัน ปีติดับ สงบเข้ามาเป็น ปัสสัทธิ แล้วเป็นสมาธิ จิตตั้งมั่น จิตเป็นอุเบกขา เห็นจิตมันเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงไป เป็นลำดับ ตามหลักของโพชฌงค์ อันนี้ก็อยู่ในธัมมานุปัสสนา

หายใจไปแล้วมีนิวรณ์ขึ้นมา รู้เท่าทันนิวรณ์นั้น นิวรณ์เกิดแล้วดับไป เป็นนิวรณบรรพ อยู่ในธัมมานุปัสสนา

หายใจแล้วเห็นอริยสัจ ก็อยู่ในธัมมานุปัสสนา

หายใจแล้วมีความสุข มีความสุขแล้วตัณหาเกิด อยากได้ อยากมี อยากเป็น หายใจแล้วมีความทุกข์ ตัณหาก็เกิดอยากให้มันหายไป อยากให้ความทุกข์หายไป มีตัณหาขึ้นมาจิตใจก็มีความทุกข์ขึ้นมา เห็นปฏิจจสมุทปบาท (อยู่ในธัมมานุปัสสนา – ผู้ถอด)

ฉะนั้น หลวงพ่อไม่เห็นกรรมฐานใดอัศจรรย์เหมือนอานาปานสติ ลึกล้ำจนถึงขนาดยอมรับเต็มปากเต็มคำ เต็มหัวใจเลย มันเป็นกรรมฐานของพระมหาบุรุษ ไม่ใช่กรรมฐานของคนทั่วๆไปจะเล่นได้ชำนิชำนาญ

541106B.14m43-18m17

ขอขอบคุณพี่ maibok @wimutti.net สำหรับเนื้อหาของ clip ช่วงนี้

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
สวนสันติธรรม บ้านโค้งดารา
ศรีราชา ชลบุรี

แสดงธรรมที่สวนสันติธรรม
วันอาทิตย์ที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ หลังฉันเช้า

CD: 42
File: 541106B.mp3
นาทีที่ ๑๔ วินาทีที่ ๔๓ ถึง นาทีที่ ๑๘ วินาทีที่ ๑๗

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่

อานาปานสติ (ตอนที่ ๑๖) สรุปอานาปานสติสำหรับผู้เดินปัญญานำสมาธิ

mp3 for download : อานาปานสติ (ตอนที่ ๑๖) สรุปอานาปานสติสำหรับผู้เดินปัญญานำสมาธิ

Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.

อานาปานสติ (ตอนที่ ๑๖) สรุปอานาปานสติสำหรับผู้เดินปัญญานำสมาธิ

อานาปานสติ (ตอนที่ ๑๖) สรุปอานาปานสติสำหรับผู้เดินปัญญานำสมาธิ

หลวงพ่อปราโมทย์ : ทีนี้ ถ้าทำวิปัสสนาในฌานไม่ได้ ก็ถอยออกมาจากฌาน มาเดินปัญญาพิจารณากาย ไม่ควรไปดูจิตมาก แต่บางคนก็ดูจิตได้ หลวงพ่อพุธก็สอน ออกจากสมาธิมาแล้วดูจิตที่เปลี่ยนแปลง จิตเมื่อกี้สงบ ตอนนี้ไม่สงบ จิตเมื่อกี้มีปีติ ตอนนี้ไม่มีปีติ จิตตะกี้มีความสุข ตอนนี้ไม่มีความสุข ดูความเปลี่ยนแปลง ดูตอนออกจากสมาธิมาแล้ว อันนี้ก็ถือว่าเป็นสมาธินำปัญญาด้วยการดูจิต ถ้าเป็นสมาธินำปัญญาด้วยการดูกาย ก็เห็นกายมันหายใจ ใจเป็นคนดู ดูมันต่อไปเลย เห็นเลยไม่มีตัวเรา อย่างนี้ก็ได้

ถ้าเข้าฌานไม่ได้นะ ก็ใช้ปัญญานำสมาธิ ฝึกให้จิตเป็นผู้รู้ผู้ดูขึ้นมา ทำได้หลายวิธีที่จิตจะเป็นผู้รู้ผู้ดู จิตหนีไปคิดแล้วรู้ทันก็ได้ พุทโธไปจิตไปคิด รู้ทัน หายใจไปจิตหนีไปคิด รู้ทัน ถ้าเรารู้ลมหายใจอยู่แล้วจิตหนีไปคิดก็รู้ทัน นี่ ทำอานาปานสติได้จิตผู้รู้ขึ้นมา

หรือหายใจไปเห็นร่างกายมันหายใจไป จิตมันไหลไปอยู่ที่ลม รู้ทัน จิตไหลไปอยู่ที่ท้อง รู้ทัน รู้ทันจิตที่ไหล จิตก็จะตั้งมั่นขึ้นมาเป็นผู้รู้ พอจิตตั้งมั่นเป็นผู้รู้แล้ว คราวนี้ก็มาเดินปัญญาต่อ

ถ้าจะเดินปัญญาด้วยการดูกาย ก็เห็นร่างกายหายใจ ใจเป็นคนดู จะรู้สึกเลยว่าร่างกายที่หายใจอยู่ไม่ใช่ตัวเรา เห็นร่างกายพองยุบ จิตเป็นคนดู ก็รู้ว่าร่างกายที่พองยุบเพราะลมหายใจนั้นไม่ใช่ตัวเรา

ถ้าจะเดินปัญญาด้วยการดูจิต จิตเป็นผู้รู้ผู้ดูขึ้นมาแล้ว หายใจไป หายใจไปแล้วมีความสุขก็รู้ หายใจไปแล้วมีความทุกข์ก็รู้ หายใจแล้วความสุขหายไปก็รู้ ความทุกข์หายไปก็รู้ ความสุขเกิดขึ้นก็รู้ ความสุขดับไปก็รู้ ความทุกข์เกิดขึ้นก็รู้ ความทุกข์ดับไปก็รู้ อย่างนี้ก็ใช้ได้ ก็เป็น เวทนานุปัสสนา

อย่างตอนที่เรามีสติ เห็นร่างกายหายใจออก หายใจเข้า ใจเป็นผู้รู้ผู้ดู ร่างกายไม่ใช่ตัวเรา นี่คือ กายานุปัสสนา ที่เป็นวิปัสสนา

หายใจไปแล้วจิตเป็นสุขขึ้นมาก็รู้ หายใจไปความสุขหายไปก็รู้ หายใจไปแล้วจิตมันทุกข์ขึ้นมา ไม่ได้เข้าฌาน หายใจบางทีก็เครียดๆ ไม่มีความสุข ก็รู้ทัน เห็นความสุขความทุกข์เกิดแล้วดับไป นี่คือ ทำอานาปานสติ แล้วก็มาถึงเวทนานุปัสสนา

หายใจไปแล้วจิตสงบก็รู้ หายใจไปแล้วจิตฟุ้งซ่านก็รู้ นี่ขึ้นมา จิตตานุปัสสนา

หายใจไปแล้วเห็นจิตมันปรุงแต่ง มันทำงานได้ เห็นรูปก็ส่วนรูป นามก็ส่วนนาม ขันธ์ ๕ แตกกระจายออกไป อันนี้ขึ้นเป็น ธัมมานุปัสสนา

หรือหายใจไปแล้วเห็นจิตใจเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงต่างๆนานา ก็เป็นธัมมานุปัสสนา

หายใจไปแล้วเวทนาเกิดขึ้น จิตมีความอยาก มีความยึดในเวทนา ความทุกข์ก็เกิดขึ้น เห็นอย่างนี้ก็เป็นธัมมานุปัสสนา

541106B.11m19-14m40

ขอขอบคุณพี่ maibok @wimutti.net สำหรับเนื้อหาของ clip ช่วงนี้

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
สวนสันติธรรม บ้านโค้งดารา
ศรีราชา ชลบุรี

แสดงธรรมที่สวนสันติธรรม
วันอาทิตย์ที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ หลังฉันเช้า

CD: 42
File: 541106B.mp3
นาทีที่ ๑๑ วินาทีที่ ๑๙ ถึง นาทีที่ ๑๔ วินาทีที่ ๔๐

เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓

ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่

สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่

ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่

คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่