mp3 (for download): วิธีรับมือกิเลสอย่างกลาง
Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.
วิธีรับมือกิเลสอย่างกลาง
หลวงพ่อปราโมทย์ : ไม่ใช่เรื่องยากที่เราจะรู้ทันกิเลส ความโลภ ใครไม่รู้จักว่าโลภเป็นอย่างไร มีมั้ย ใครไม่เคยโลภมีมั้ย ใครไม่เคยโกรธมีมั้ย ใครไม่เคยฟุ้งซ่าน ใครไม่เคยหดหู่ ใครไม่เคยลังเลสงสัยมีมั้ย
ไม่มีหรอก ทุกคนเคยเจอมาแล้วทั้งนั้น นี่กิเลสนานาชนิดเรารู้จักอยู่แล้วทั้งนั้นนะ เพียงแต่เราละเลยที่จะรู้มัน เราปล่อยให้มันเกิดแล้วมันครอบงำจิตใจของเราได้ แล้วมันก็มาครอบงำพฤติกรรมทางกายวาจา ทำผิดศีลขึ้นมาได้
เพราะฉะนั้นเราอาศัยสตินี่แหละ คอยรู้ทันใจของตัวเองบ่อยๆนะ ศีลอัตโนมัติจะเกิดขึ้น ศีลจะเกิดขึ้นเอง (หมายถึง ไม่ต้องจงใจบังคับไม่ให้ทำผิดศีล – ผู้ถอด) ถ้าศีลเกิดขึ้น กิเลสชั่วหยาบ คือ ราคะ โทสะ โมหะ เนี่ย ครอบงำใจไม่ได้ นี่เราสู้ไปได้ยกหนึ่งแล้วนะ กิเลสหยาบๆสู้ด้วยศีล จะมีศีลได้ดี ต้องมีสติรักษาจิต (ให้มีสติ แล้วสติจะทำหน้าที่รักษาจิตเอง เพราะสติมีหน้าที่รักษาจิต – ผู้ถอด)
กิเลสอย่างกลางชื่อว่านิวรณ์ นิวรณ์นี้ทำให้ใจฟุ้งซ่าน แค่ฟุ้งๆนะ ยังไม่ถึงกับทำผิดศีล ๕ แค่ใจไม่สงบ ศีล ๕ ทำให้กายวาจาเรียบร้อย กายวาจาเรียบร้อยเพราะรักษาจิตเอาไว้ได้ ส่วนนิวรณ์นี้ทำให้ใจฟุ้งซ่าน ใจไม่เรียบร้อย คู่ปรับกับนิวรณ์นี้ก็คือ สมาธิ เพราะฉะนั้นสมาธิเป็นตัวที่ฝึกแล้วจิตใจเรียบร้อย จิตใจสงบ จิตใจมีความสุข ยังไม่เกิดปัญญานะ นั่นยังเป็นอีกขั้นหนึ่ง
ศีลนั้นน่ะ เอาไว้สู้กับกิเลสอย่างหยาบ ทำให้กายวาจาเรียบร้อย สมาธิเอาไว้สู้กับกิเลสอย่างกลาง ทำให้จิตใจเรียบร้อย
จิตใจของเราไม่เรียบร้อย จิตใจของเรากระโดกกระเดกตลอดเวลา รู้สึกมั้ย เดี๋ยวก็วิ่งไปทางตา วิ่งไปทางหู แส่ส่ายตลอดเวลา ไม่มีความสงบเลย เรียกว่าไม่มีสมาธิ จิตไม่อยู่กับเนื้อกับตัว จิตใจไม่ตั้งมั่น กระโดกกระเดกตลอดเวลา
วิ่งออกไปแล้วไปเจอของที่ชอบใจนะ เป็นกามฉันทะนะ อยากเจออารมณ์ที่ถูกใจ มีกามฉันทะ วิ่งไปแล้วไปเกลียดอารมณ์ที่ไม่ชอบใจนะ เป็นพยาบาท ไม่ชอบ บางทีกระโดดไปกระโดดมาจับอารมณ์ไม่ถูกนะ เรียกว่าอุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน ฟุ้งซ่านมากๆก็หงุดหงิดนะ เรียกว่ารำคาญใจ เรียกว่า กุกกุจจะ บางทีก็สงสัย เกิดความลังเลสงสัยขึ้นมา พระพุทธเจ้าจะมีจริงเหรอ มรรคผลนิพพานจะมีจริงเหรอ ทางปฏิบัติเพื่อมักผลนิพพานจะมีจริงเหรอ สงสัยไปเรื่อย ขณะที่สงสัยใจก็ฟุ้งซ่าน เห็นมั้ย จิตใจไม่เรียบร้อยนะ
เวลาที่นิวรณ์เกิดน่ะ จิตใจจะไม่เรียบร้อย จิตใจจะกระโดกกระเดก เรามาฝึกจิตให้มันเรียบร้อยด้วยสมาธิ
วิธีจะฝึกจิตให้เกิดสมาธิไม่ใช่เรื่องยาก ศัตรูของสมาธิก็คือความฟุ้งซ่านนานาชนิดนั่นเอง เราก็มาฝึกใจของเรา มีสติรู้ทันจิตอีกนั่นแหละ ถ้าจิตฟุ้งซ่านขึ้นมา จิตไหลไป วิ่งไหลไปดู ไหลไปฟัง ไหลไปคิดนะ จิตไหลทั้งว้น พวกเราที่หัดภาวนากับหลวงพ่อมาช่วงหนึ่ง จะเห็นว่าจิตมันไหลตลอดเวลา เดี๋ยวไหลไปดู เดี๋ยวไหลไปฟัง เดี๋ยวไหลไปคิด พอเราเห็นจิตไหลไป พอเรารู้ทันนะ จิตมันจะตั้งมั่นขึ้นมาเป็นคนดู
แต่ว่าปกติมันไหลทั้งวัน โอกาสที่จะรู้ทันว่ามันไหลเนี่ย มีน้อย เราต้องหาเครื่องช่วย เครื่องช่วยก็คือ เครื่องอยู่ของจิต ต้องหาบ้านให้จิตอยู่ เบื้องต้นจะอยู่กับพุทโธก็ได้ อยู่กับลมหายใจก็ได้ ใครถนัดพุทโธเอาพุทโธ ใครถนัดลมหายใจ รู้ลมหายใจ ใครถนัดดูท้องพองยุบ ก็ดูท้องพองยุบ ไม่ได้มีอะไรแตกต่างกันเลย ไม่ดีไม่เลวมากกว่ากัน อะไรก็ได้ เท่าๆกันทั้งหมดเลย
เบื้องต้นหาอารมณ์อันหนึ่งขึ้นมาก่อน เป็นเครื่องอยู่ของจิต เป็นเครื่องอยู่ให้จิต อยู่กับพุทโธก็ได้ อยู่กับลมหายใจก็ได้ อยู่กับท้องพองยุบก็ได้ อยู่กับอิริยาบถ ๔ ยืน เดิน นั่ง นอน ก็ได้ ขยับมือทำจังหวะก็ได้ ให้จิตมีเครื่องอยู่ พอจิตมีเครื่องอยู่เราสังเกตอย่างนี้ พุทโธไป จิตหนีไปคิด รู้ทัน หายใจไป จิตหนีไปคิด รู้ทัน ดูท้องพองยุบไป จิตหนีไปคิด รู้ทัน จิตมันจะไหลตลอด ชอบไหลไปคิด ดูออกมั้ย จิตหนีไปคิดทั้งวัน จิตหนีไปคิดนั่นแหละ จิตฟุ้งซ่านล่ะ จิตไม่มีสมาธิล่ะ
เพราะฉะนั้นมาฝึกนะ จิตไหลไปแล้วรู้ พุทโธไป จิตหนีไป แล้วรู้ ลืมพุทโธไปแล้ว หายใจไป จิตหนีไป ลืมลมหายใจแล้ว รู้ทัน คอยรู้เรื่อยๆ อย่าไปบังคับว่าห้ามไหลไป ถ้าบังคับนะ จะกลายเป็นเพ่ง เช่นพอรู้ลมหายใจก็ไปจ้องนิ่งอยู่กับลมหายใจ ไม่เผลอไปไหนเลย อันนั้นไม่ดี จะพัฒนาต่อไปยาก ได้แต่สงบ สงบนิ่งๆ บังคับไว้ ไม่ดี
วิธีฝึกสมาธิที่ดีนะ อยู่กับพุทโธ อยู่สบายๆ อยู่กับลมหายใจ อยู่สบายๆ ดูท้องพองยุบ ดูสบายๆ เคล็ดลับอยู่ที่คำว่าสบาย สมาธิจะเกิด ถ้าจิตมีความสุข เคล็ดลับอยู่ตรงนี้เอง ถ้าจิตไม่มีความสุข จิตจะไม่มีสมาธิ เพราะฉะนั้นเราหายใจไป หายใจอย่างสบายๆ พุทโธไป พุทโธไปสบายๆ รู้ลมหายใจ รู้ท้องพองยุบ รู้อย่างสบายๆ รู้อิริยาบถ ๔ รู้ ยืน เดิน นั่ง นอน รู้สบายๆ อย่าบังคับจิต ว่าห้ามเผลอห้ามหลง
ถ้าจงใจบังคับจิตเมื่อไหร่ จิตจะไปเพ่ง เช่นรู้ลมหายใจนะ จิตจะไปเพ่งอยู่ที่ลมหายใจ คราวนี้จะนิ่งๆทื่อๆละ เดินปัญญาต่อไม่ได้ จิตไปติดล็อคละ ไปดูท้องพองยุบ ไปเพ่งอยู่ที่ท้องนะ จิตนิ่งอยู่ที่ท้อง อย่างนี้จิตไม่เดินปัญญาต่อ ไม่ดี เราเอาแค่ว่าหายใจไป จิตหนีไปแล้วรู้ พุทโธไป จิตหนีไปแล้วรู้ ดูท้องพองยุบไป จิตหนีไปแล้วรู้ ใครถนัดอะไร เอาอันนั้น ไม่ดีไม่เลวแตกต่างกันหรอก เหมือนๆกันหมดแหละ กรรมฐานอะไรก็ได้ เอาที่เราถนัด เอาที่เราทำแล้วมีความสุข
ถ้าทำแล้วเครียดไม่เอา ถ้าใครพุทโธแล้วเครียดก็ไม่เอา ไปเอาคำอื่น ไปเอาอย่างอื่น ใครรู้ลมหายใจแล้วเครียดก็ไม่เอา ไปเอาอย่างอื่นนะ กรรมฐานมีเยอะแยะไป ลองดูสักอย่างหนึ่ง ถ้าอยู่กับอะไรแล้วมีความสุขนะ อยู่กับอันนั้นไป จิตจะสงบเองนะ จิตจะค่อยๆสงบ
พุทโธๆ พุทโธๆ พุทโธๆ จิตไหลแล้วรู้ พุทโธๆ พุทโธๆ ไหลแล้วรู้ สักพักเดียวนะ จิตจะค่อยๆเชื่อง จิตจะไม่ค่อยไหล จิตจะสงบ รู้อยู่ สงบอยู่แล้วก็รู้ตัวอยู่ด้วย ไม่ใช่สงบแล้วเคลิบเคลิ้ม พวกเราต้องระวังให้ดี พวกที่ชอบนั่งสมาธิ นั่งแล้วเคลิ้มเนี่ย เหลวไหลที่สุดเลย นั่งสมาธิต้องไม่ขาดสตินะ นั่งสมาธิต้องมีสติตลอดเลย ไม่ใช่นั่งแล้วเคลิ้ม.. อย่างนั้นไปนอนเสียดีกว่า เดี๋ยวคอเคล็ด ไม่ได้เรื่องหรอก ทำไปแล้วโมหะมากกว่าเก่า แทนที่ทำไปแล้วจะลดละกิเลส
เนี่ย พอใจเราภาวนาไปนะ หาเครื่องอยู่อันหนึ่ง ใจเราก็ค่อยๆเชื่องๆนะ มันเชื่องเอง ค่อยๆเชื่อง มันไม่ฟุ้งไป เนี่ยเราสู้กิเลสอย่างกลางได้ กิเลสอย่างกลางเป็นตัวนิวรณ์ ความฟุ้งนานาชนิด ฟุ้งไปชอบเรียกว่ากามฉันทะ ฟุ้งไปเกลียดเรียกพยาบาท ฟุ้งไปฟุ้งมาเรียกอุทธัจจะกุกกุจจะ ฟุ้งลังเลสงสัย(วิจิกิจฉา – ผู้ถอด) ฟุ้งแบบอ้อยสร้อยอ้อยอิ่งหมดเรี่ยวหมดแรง เรียกถีนมิทธะ จิตมันมีแต่ฟุ้งไปทั้งนั้น
เพราะฉะนั้น เรารู้ หากรรมฐานอันหนึ่ง จิตไหลไปแล้วรู้ จิตไหลไปแล้วรู้ ฝึกอย่างนี้เรื่อย จิตจะมีสมาธิ จิตจะไม่ฟุ้ง เราสู้กิเลสอย่างกลางได้แล้ว
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
แสดงธรรมที่บริษัท ดอกบัวคู่
แสดงธรรมเมื่อ วันเสาร์ที่ ๙ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๔
CD: แสดงธรรมนอกสถานที่ บริษัท ดอกบัวคู่
File: 540409A
ระหว่างนาทีที่ ๑๓ วินาทีที่ ๓๔ ถึง นาทีที่ ๒๑ วินาทีที่ ๐๐
เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓
ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่
สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่
ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่
คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่