mp 3 (for download) : ศีล สมาธิ ปัญญา ในองค์มรรค
Audio clip: Adobe Flash Player (version 9 or above) is required to play this audio clip. Download the latest version here. You also need to have JavaScript enabled in your browser.
หลวงพ่อปราโมทย์ : เรียนหลักของการปฏิบัติให้แม่นๆนะ เราต้องทำด้วยตัวเอง ชาวพุทธเราไม่มีของฟรีหรอก ไม่มี ทุกอย่างอยู่ในเรื่องของกฎของกรรม ใครทำคนนั้นก็ได้ ไม่ทำก็ไม่ได้ ทำแบบไหนก็ได้แบบนั้น ทำชั่วก็ได้รับผลของความชั่ว ทำดีก็ได้รับผลของความดี รักษาศีลก็ได้รับผลของศีล ทำทานก็ได้รับผลของทาน ทำสมถะได้ความสุขได้ความสงบ ได้ความดี ทำวิปัสสนาได้ปัญญาเห็นความจริง เพราะฉะนั้นต้องทำให้ตรง
เวลาที่มรรคผลจะเกิดนะ ศีล สมาธิ ปัญญา ต้องพร้อม เพราะฉะนั้นเราต้องทำให้พร้อมนะ ท่านบอกกุศลทำให้ถึงพร้อม ไม่ใช่เจริญปัญญาอย่างเดียวแล้วจะบรรลุได้นะ ศีลก็ต้องรักษา สมาธิก็ต้องทำ เพราะฉะนั้นถ้าศีล สมาธิ ปัญญา ไม่พร้อม ไม่มีอริยมรรคเกิดขึ้น ถ้าจะทำก็ต้องทำเหตุ กับผล ให้ตรงกัน อยากได้ผลอย่างนี้ ต้องทำเหตุอย่างนี้
อยากจะได้ศีล ให้ใจเรามีศีลจริงๆ ต้องมีเจตนางดเว้นการทำบาปอกุศลทางกายทางวาจา ถ้าไม่มีเจตนางดเว้นก็ไม่ได้เรียกว่ามีศีล
ยกตัวอย่างเด็กเล็กๆ เกิดใหม่ๆนะ เป็นชู้กับใครไม่ได้ บอกไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่ใช่หรอกนะ มันไม่ประพฤติเพราะไม่มีความสามารถจะประพฤติ หรือแก่งั่กเลยนะ เดินยังไม่ไหวเลย กระย่องกระแย่งนะ มีชู้ไม่ไหว อะไรอย่างนี้ ก็ไม่ได้จัดว่าเป็นศีล
มีศีลหมายถึงว่ามีเจตนาที่จะงดเว้นจริงๆ ถึงมีโอกาสทำก็ไม่ทำ ผลของศีลก็มีอยู่ ท่านก็สอนนะ สีเลนะ สุคติง ยันติ (สีเลน สุคตึ ยนฺติ) ศีลนั้นมีความสุขอยู่เบื้องหน้านะ สีเลนะ โภคะสัมปทา (สีเลน โภค สมฺปทา) มีโภคะ ถือศีลแล้วรวยได้ คนไม่มีศีลไม่รวยง่ายนะ ยกตัวอย่างกินเหล้า ติดยาเสพติด คบคนไม่ดี อะไรพวกนี้นะ หาเจริญยาก ฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย ลำบาก สีเลนะ นิพพุติง ยันติ (สีเลน นิพฺพุตึ ยนฺติ) ศีลนี้เป็นปัจจัยไปสู่นิพพาน เนี่ย อานิสงส์ของศีลก็มี
เราต้องรักษาศีล ถึงทำผิดได้ก็ไม่ทำนะ ถูกยั่วยวนอย่างไรก็ไม่ทำผิด อย่างนี้เรียกว่ามีศีล ถ้าเรามีศีลเราจะงดงามนะ มีความงามในตัวเอง มีความน่าเชื่อถือ มีเครดิต คนไม่มีศีลไม่มีเครดิต พอไม่มีเครดิต พอไม่ได้รับความเชื่อถือนะ โอกาสจะประสบความสำเร็จอย่างแท้จริงอะไรนี้ ยาก
เพราะฉะนั้นเราต้องมีเจตนางดเว้น การทำผิดทำบาป ทางกายทางวาจานะ ต้องเจตนางดเว้น ตั้งใจไว้เลย ตื่นนอนขึ้นมาตอนเช้านะ ตั้งใจไว้ วันนี้จะไม่ทำผิดศีล กลางวันก่อนจะกินข้าวนะ ตั้งใจไว้ วันนี้จะไม่ทำผิดศีลอีก ถ้าตั้งใจอย่างนี้เข้าไปในร้านอาหารบางแห่งไม่ได้ละ จะต้องไปเลือกเอาตัวนี้ๆ อะไรอย่างนี้นะ อย่างนี้ทำไม่ได้ละ ก่อนจะนอนนะ ตั้งใจไว้อีก จะไม่ทำผิดศีล จำเป็นยังไงก่อนจะนอนก็ต้องตั้งใจ เผื่อไม่ได้ตื่น เผื่อนอนหลับไปแล้วไม่ตื่นอีกเลย ไฟครอกตาย หรือเป็นโรคหัวใจวายตาย อย่างน้อยตอนก่อนจะตายได้รักษาศีลไว้แล้ว มีศีลเป็นเครื่องคุ้มครองเรา
ลองตั้งใจรักษาศีลวันละ ๓ ครั้งนะ ก่อนอาหาร แถมอีกครั้งหนึ่ง ก่อนนอน ถ้าตั้งใจอย่างนี้นะ ใจเราจะเคล้าเคลียในธรรมะง่ายขึ้น มันจะมีกำลังนะ ทำให้เราไปสู่มรรคผลนิพพานได้ง่าย
ถ้าทุศีลสักอย่างหนึ่ง อย่ามาอวดเรื่องสมาธิเลย ถ้าไม่มีศีลนะ สมาธิที่เคยมีก็จะเสื่อม จะเสื่อมเห็นๆเลยมีตัวอย่างให้เห็น แต่จะเห็นหรือไม่เห็นนั้น ก็สุดแต่ แต่ละคนจะเห็น
ยกตัวอย่างพระเทวฑัต มีสมาธินะ เหาะได้ แปลงตัวได้ ปลอมตัวเป็นเด็กได้ ทำเป็นเบบี๋มาหลอกอชาติศัตรู แต่ว่าไม่ถือศีลนะ ในที่สุดสมาธิเสื่อม เคยเหาะได้นะ ในที่สุดต้องให้คนหามมาเฝ้าพระพุทธเจ้า
พวกพระก็รีบมาส่งข่าวให้พระพุทธเจ้ารู้ว่า พระเทวฑัตกำลังเดินทางมาแล้ว กำลังจะมาเฝ้า เพื่อว่าจะมาขอขมาพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านบอกว่ามาไม่ถึงหรอก เทวฑัตนี้มาไม่ถึง บาปมาก มาไม่ถึง พวกพระก็คอยไปสืบนะ โอ้.. ตอนนี้มาถึงประตูเมืองแล้วพระเจ้าข้า… มาไม่ถึงหรอก… ตอนนี้มาถึงประตูวัดแล้วพระเจ้าข้า… ไม่ถึงหรอก…
พอมาถึงประตูวัด ใกล้ๆวัดแล้วเนี่ย แกก็พักนะ กินน้ำกินท่า คล้ายๆล้างหน้าล้างตา เดินทางมาไกล ถูกดินดูดลงไปตรงนั้น ไม่ถึงจริงๆ
เนี่ยทำไมไม่เหาะมา เหาะมาไม่ไหวแล้ว เหาะมาไม่ได้ ทำอะไรเก่งๆได้เหนือมนุษย์ธรรมดา ตอนนี้ทำไม่ได้แล้ว เพราะขาดศีลอันหนึ่ง สมาธิจะเสื่อม เพราะฉะนั้นพวกเรามีศีลไว้นะ คนที่มีศีลเนี่ย สมาธิเกิดง่าย ยกตัวอย่างนะ ถ้าใจเราไม่คิดฆ่าใคร ไม่คิดเบียดเบียนใครนะ ใจเราสงบง่าย ถ้าใจเราผิดศีลนะ คิดจะฆ่าเขา คิดจะทำลายเขา ใจไม่สงบๆ สมาธิก็เสื่อมสิ
คิดจะลักเขา ขโมยเขานะ ไปขโมยมาแล้วอะไรอย่างนี้ ก็วุ่นวายใจ กลัวเขาจับได้ จิตใจมันวุ่นวาย สมาธิก็เสื่อมสิ เป็นชู้เขา กลัวเขาฆ่า เคยเห็นในการ์ตูนมั้ย ชอบไปแอบในตู้เสื้อผ้า หรือไปปีนหน้าต่างหนี อะไรอย่างนี้นะ มีความสุขมั้ย ไม่มีความสุขนะ จิตใจไม่มีความสุข ก็ไม่มีความสงบจริงหรอกนะ ฟุ้งซ่าน
คนโกหกเขาก็ต้องจำเยอะ ใช่มั้ย คนโกหกเนี่ยนะ คิดอะไรไม่ค่อยเป็นแล้ว เพราะเอาเมมโมรี่นะไปใช้ในการจำข้อมูลเก่าๆที่ไปโกหกคนไว้ ใจก็ฟุ้งซ่านนะ โกหกคน พูดเท็จ ไม่สงบนะ กินเหล้าเมายา จิตใจไม่สงบ
เพราะฉะนั้นศีลจำเป็นมากนะ ถ้ามีศีลนะ สมาธิเกิดง่าย มีสมาธิเกิดง่ายปัญญาก็เกิดง่าย เพราะฉะนั้นศีลนี้แหละเป็นปัจจัยให้ไปนิพพานได้ เพราะมันเกื้อกูลให้มีสมาธิ มีสมาธิเกื้อกูลให้เกิดปัญญา
วั้นนี้ต้องเทศน์ปิดท้ายด้วยเรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา เพราะพวกที่มาเรียนเข้าคอร์สวันนี้จะจบแล้ว เดี๋ยวจบไปแล้วก็รู้แต่เจริญสติไม่ต้องรักษาศีล ไปไม่รอดนะ ต้องมีให้ครบ ไม่งั้นอริยมรรคจะไม่เกิด
ถ้าไปดูในองค์มรรคนะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ องค์มรรค ๓ ตัวนี่นะเรื่องศีลทั้งนั้นเลย สัมมาวาจาเนี่ยศีลข้อ ๔ สัมมากัมมันตะ(อยู่ใน)ศีลข้อ ๑,๒,๓ ต้องให้บอกมั้ย (ศีลข้อ)๑ ๒ ๓ คืออะไร ศีลข้อ ๑ ปาณาติบาต ทำร้ายสัตว์ ฆ่าสัตว์ เบียดเบียนสัตว์ ข้อ ๒ ลักทรัพย์เค้า ฉ้อโกงเค้า ข้อ ๓ ประพฤติผิดในกาม สัมมาวาจาข้อ ๔ สัมมากัมมันตะข้อ ๑ ๒ ๓ สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีวิตของเรา ต้องเลี้ยงอย่างบริสุทธิ์นะ จนไม่เป็นไร ความจนไม่น่ารังเกียจ ความโกงน่ารังเกียจ เราอย่าปล่อยให้ค่านิยมเลวๆมันครอบงำเรา
ทุกวันนี้เราถูกเสี้ยมสอนให้เลวหนักขึ้นๆ ให้เห็นความเลวเป็นเรื่องปกติ อย่างนักการเมืองบางคนมาสอนพวกเรานะ ว่าโกงไม่เป็นไร คอรัปชั่นไม่เป็นไร ขอให้มีผลงาน นี่สอนสิ่งที่เลวร้ายให้เรานะ เราต้องไม่เชื่อฟัง ชาว พุทธเราต้องสะอาดในการดำรงชีวิต ในการจะอยู่การจะทำอะไร ทุกสิ่งทุกอย่างต้องสะอาดพอ ถ้ารู้สึกว่ายอมสกปรกได้ กิเลสมันล้างไม่ได้จริงหรอก ของหยาบๆยังล้างไม่ได้เลย การจะมีชีวิตอยู่ในโลกให้สะอาด ยังทำไม่ได้เลย จะทำใจให้สะอาดเนี่ยเป็นไปไม่ได้เลย
งั้นเราต้องเลี้ยงชีวิตนะ จนไม่เป็นไรนะ อย่าไปอายกับความยากจน ให้อายกับความชั่วร้าย แล้วก็อย่าไปยกย่องคนชั่วร้ายที่ร่ำรวยด้วย มันช่วยกันสร้างค่านิยมที่เลวให้มากขึ้นๆนะ สังคมของเราทุกวันนี้ถึงร้อนเป็นฟืนเป็นไฟไปหมด ทุกหนทุกแห่งแล้ว เพราะว่าเราช่วยกันสร้างค่านิยมที่เลวๆนานาชนิดขึ้นมา เช่นใช้วิธีอะไรก็ได้เพื่อบรรลุผลสำเร็จ นี่เป็นค่านิยมที่เลวร้ายมากเลย ทุกวันนี้ดูสิบ้านเมืองจะเป็นยังไง มันเป็นอนาธิปไตยนะ อะไรก็ได้ขอให้สำเร็จเถอะ เนี่ยมันจะอยู่กันไม่ไหว
เพราะงั้นเราต้องตั้งใจนะ รักษาศีลนะ รักษาศีล เลี้ยงชีวิตของเราให้บริสุทธิ์ นี่อยู่ในองค์มรรคทั้งสิ้นเลย
ถัดไปเราฝึกเรื่องสมาธิ ในส่วนของเกี่ยวกับสมาธิเนี่ย มีองค์มรรคอยู่ ๓ ตัว ๓ ใช่มั้ย ๓ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาวายามะเป็นยังไง สัมมาสติเป็นยังไง สัมมาสมาธิเป็นยังไง
สัมมาวายามะคือความเพียรชอบ อะไรที่เรียกว่าความเพียรชอบ เพียรละอกุศลที่มีอยู่ เพียรปิดกั้นอกุศลใหม่ไม่ให้เกิด เพียรเจริญกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิด เพียรพัฒนากุศลที่เกิดแล้วนะให้มากยิ่งขึ้น นี่เรียกว่าสัมมาวายามะ
หน้าที่เรามีนะ ไม่ใช่บอก ฉันจะรู้สึกตัวเฉยๆ รู้สึกตัวเฉยๆ แค่นั้นไม่พอนะ ต้องสำรวจตัวเองด้วย อกุศลอะไรยังไม่ละ กุศลอะไรยังไม่เจริญ สำรวจตัวเองไปเรื่อยๆ เพราะงั้นชีวิตเราจะมีทิศทาง ชีวิตเราจะมีเป้าหมาย ไม่ใช่อยู่ล่องๆลอยๆไปวันนึง หน้าที่เรานะสำรวจใจตัวเองไว้ ที่หลวงพ่อสอนให้ดูจิตๆนี่แหล่ะ จะมาทำสัมมาวายามะได้อย่างดีเลย งั้นเรารู้ทันจิตใจของเรานี่ อกุศลอะไรเกิดขึ้นให้รู้ทัน ถ้ารู้ทันแล้วมันจะละของมันเอง วิธีที่จะละอกุศลนะ ก็คือมีสติรู้ทันมัน อกุศลใดเกิดขึ้นในใจ เช่นราคะเกิดขึ้นรู้ทัน ราคะจะดับเอง โทสะเกิดขึ้นในใจมีสติรู้ทัน โทสะจะดับเอง
เพราะงั้นที่บอกเพียรปิดกั้นอกุศล เพียรละอกุศลที่มีอยู่ เพียรปิดกั้นอกุศลใหม่ไม่ให้มีขึ้นมา ไม่ให้ครอบงำใจขึ้นมาเนี่ย ทำด้วยการมีสติรู้ทันจิตนี่เอง ถ้าเรามีสติรู้ทันจิตนะ อกุศลที่มีอยู่ก็จะดับ อกุศลใหม่จะเกิดไม่ได้เลย ในขณะที่มีสติ แต่ขณะขาดสติอกุศลเกิดได้อีก
ทำยังไงกุศลจะเจริญ ทำยังไงกุศลที่ไม่มีจะมี ที่มีแล้วจะเจริญ
มีสติไว้ สติเป็นต้นทางของกุศลนะ ถ้าขาดสติอย่างเดียวเนี่ย กุศลทั้งหลายจะไม่เกิดเลย องค์ธรรมฝ่ายกุศลจะไม่มีเลย ต้องมีสติเอาไว้ ถ้ามีสติรู้ทันจิตตัวเองเรื่อยๆ จิตมันมีกิเลสขึ้นมารู้ทันมันนะ มันละอายแก่ใจนะ มีหิริ มีโอตตัปปะขึ้นมา ละอายใจเกรงกลัวบาป เกรงกลัวผลของบาป ละอายใจที่จะทำบาป หิริคือความละอายใจที่จะทำชั่ว โอตตัปปะนะ(คือ)กลัวผลของการทำชั่ว
เนี่ยถ้าเรามีสติคุ้มครองจิตอยู่ มีสติรู้ทันจิตอยู่ มันจะเกิดหิริโอตตัปปะขึ้นมาเอง คนที่มีหิริโอตตัปปะนะจะมีศีลขึ้นมาโดยง่าย เพราะถ้ามันละอายใจที่จะทำชั่ว กลัวผลของบาปซะแล้ว มันจะทำผิดศีลไม่ได้ เพราะฉะนั้นมันเป็นการทำชั่ว เป็นการทำบาป
งั้นถ้าเรามีสตินะ มีหิริโอตตัปปะเกิดขึ้น ก็เกิดศีลขึ้นมา มีศีลแล้วก็เกิดสมาธิได้ง่าย ใจสงบง่าย มีสมาธิแล้วก็เกิดปัญญาง่าย พอใจสงบนะ ก็สามารถเรียนรู้ความจริงของกายของใจได้ง่าย มีปัญญาแล้ววิมุตติก็เกิดได้ง่าย มีโอกาสเกิดวิมุตติ คือใจปล่อยวางความยึดถือในรูปในนาม ในกายในใจ
เพราะงั้นมันจะเป็นทอดๆไปนะ แล้วมีสติให้มากไว้ งั้นกุศลทั้งหลายก็จะเกิดขึ้น ตัวอย่างของกุศลที่ว่ามา ก็คือหิริโอตตัปปะใช่มั้ย ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ นี่เป็นส่วนของกุศลทั้งนั้นเลย มันจะค่อยๆพัฒนาขึ้นมา
งั้นเรามีสติรักษาจิตไว้นะ นั่นแหล่ะคือการทำความเพียร เคยอ่านหนังสือนะ หลวงปู่มั่นท่านบอกว่า เมื่อไรมีสติ เมื่อนั้นมีความเพียร เมื่อไรขาดสติ เมื่อนั้นขาดความเพียร นี่ท่านสอนถูกกับตำราเป๊ะเลยนะ ทั้งๆที่ท่านภาวนา แต่ความจริงท่านอ่านอภิธรรมนะ หลวงปู่มั่นนี่ท่านอ่านอภิธรรมด้วย ลองไปดูหนังสือที่ท่านอ่าน มีอภิธรรมอยู่ งั้นท่านสอนถูกทั้งปริยัติทั้งปฏิบัติ สอนเก่ง
งั้นเราจะมีสัมมาวายามะได้นะ อาศัยมีสติรู้ทันจิตนี่ แล้วอะไรคือสัมมาสติ มีสติรู้ทันจิตเป็นสัมมาสติทั้งหมดมั้ย ไม่ใช่ทั้งหมด พระพุทธเจ้าอธิบายสัมมาสติ ด้วยสติปัฏฐาน ๔ งั้นหน้าที่ของเราเจริญสติปัฏฐานนะ ไม่ใช่มีสติแล้วก็ลอยๆอยู่เฉยๆ
การเจริญสติปัฏฐานนั้น มี ๒ ขั้นตอน เรียนทันมั้ยเนี่ย มันคล้ายๆ intensive course แล้ว วันสุดท้ายแล้ว เรียนยากหน่อยนะ สติปัฏฐานเนี่ยนะมี ๒ ขั้นตอนนะ ขั้นตอนที่ ๑ ทำไปเพื่อให้เกิดสติ ขั้นตอนที่ ๒ ทำไปเพื่อให้เกิดปัญญามี ๒ ส่วนนะ ไม่เหมือนกัน
การทำให้เกิดสติใช้การตามรู้กาย ตามรู้เวทนา ตามรู้จิต ตามรู้สภาวะธรรม ใช้ตามรู้ทั้งหมดเลย เพราะงั้นท่านถึงใช้คำว่า “กายานุปัสสนา” “ปัสสนา”คือ การเห็น การรู้การเห็น จริงๆแปลว่าการเห็น “อนุ” แปลว่าตาม ตามเห็นเนืองๆซึ่งกาย ตามเห็นเนืองๆซึ่งเวทนา ตามเห็นเนืองๆซึ่งจิต ตามเห็นเนืองๆซึ่งธรรม เนี่ยพระพุทธเจ้าใช้คำว่าตามเห็นเนืองๆ แต่ตาม เห็นเนี่ย ต้องตามด้วยใจที่ตั้งมั่นนะ ใจที่ตั้งมั่น ไม่ใช่ใจที่ไหลไป ใจที่ตั้งมั่นจะไปได้ตอนฝึกสัมมาสมาธิ นี้ให้มีสัมมาสติ สัมมาสติคอยมีสติ
เบื้องต้นมีสติตามรู้กาย หายใจออกคอยรู้สึก หายใจเข้าคอยรู้สึก ยืนเดินนั่งนอน คู้เหยียด เหลียวซ้ายแลขวา คอยรู้สึก รู้สึกบ่อยๆนะ ต่อไปเนี่ย ไม่เจตนาจะรู้ มันก็รู้เอง พอร่างกายเคลื่อนไหวนะ สติจะระลึกได้เอง เนี่ยเรียกว่าเราฝึกได้สติแล้ว สติเกิดโดยที่ไม่ต้องเจตนาให้เกิด หรือบางคนตามรู้เวทนา คำ ว่าตามรู้ไม่ใช่ตามไปที่อื่นนะ ตามรู้หมายถึงว่า ร่างกายเคลื่อนไหว แล้วรู้ว่าร่างกายเคลื่อนไหว เวทนาเกิดขึ้นในกาย ก็รู้ว่าเวทนาเกิดในกาย เวทนาเกิดในใจ ก็รู้ว่าเวทนาเกิดในใจ หมายถึงเวทนาเกิดก่อน แล้วรู้ว่ามันเกิด ร่างกายเคลื่อนไหวไปก่อน แล้วรู้ว่าเคลื่อนไหว
เพราะฉะนั้นในการเดินจงกรมแบบนี้ ถูกหรือผิดหลัก? (หลวงพ่อทำให้ดู) เนี่ยแล้วค่อยๆเดินไป อันนี้เป็นการไปจ้องไว้ ไม่ใช่การตามรู้นะ ถ้าตามรู้ ไม่ทันจะระวังตัวเลย เป็นธรรมชาติธรรมดา เคลื่อนไหวไปตามธรรมชาติ หายใจ มันหายใจอยู่แล้วใช่มัั้ย ตอนนี้ทุกคนหายใจอยู่มั้ย มีใครไม่หายใจมาบ้าง ทุกคนหายใจอยู่แล้ว ก็แค่รู้ว่ากำลังหายใจอยู่ รู้ว่าร่างกายกำลังหายใจอยู่ แค่นี้เอง ไม่ใช่เอาแล้วต่อไปนี้จะรู้ลมหายใจแล้ว (หลวงพ่อทำให้ดู) นี่ไม่ใช่แล้วนะ นี่ไม่ใช่การตามรู้แล้
ตามรู้เนี่ย มันมีอยู่แล้ว เรารู้ไม่ทันต่างหาก ก็รู้ให้ทันขึ้นมา หายใจอยู่แล้วใช่มั้ย ยืนเดินนั่งนอนอยู่แล้วใช่มั้ย ขณะนี้ใครไม่ยืนเดินนั่งนอน มีมั้ย ใครไม่อยู่ในอิริยาบทนี้ ไม่มี ตอนนี้กำลังนั่ง นี่มีเดินอยู่หนึ่ง นอกนั้นกำลังนั่ง มันมีอยู่แล้วนะ เราก็แค่รู้เข้าไปเท่านั้น อันนี้แหล่ะเรียกว่าตามรู้ เวทนามันก็มีอยู่แล้ว แต่ไม่เห็น ก็แค่ตามรู้เข้าไป คือรู้มันขึ้นมานะ
กุศลอกุศลในจิตมีอยู่มั้ยขณะนี้ มีมั้ย ความสงบ ความฟุ้งซ่าน ความดีใจ ความเสียใจ ความสุข ความสุขความทุกข์นี่ส่วนเวทนา โลภโกรธหลง ไม่โลภไม่โกรธไม่หลง ขณะนี้มีใครโลภบ้าง ขณะนี้มีใครไม่โลภบ้าง เนี่ยเหมือนกันหมดเลย non response เห็นมั้ยมันมีอยู่แล้ว จิตที่เป็นกุศลหรืออกุศลเนี่ย มีอยู่แล้วในขณะนี้นะ ตามรู้คืออะไร รู้เข้าไปเลยสิ มันเป็นยังไง ขณะนี้มันเป็นยังไง รู้ว่าเป็นอย่างงั้น อันนี้แหล่ะคือคำว่าตามรู้ ตามรู้เนืองๆ ดูบ่อยๆ รู้บ่อยๆ มันมีอยู่แล้ว แต่เราไม่เคยเห็น ก็คอยดูมันนะ คอยรู้มัน นี่เรียกว่าตามรู้นะ แต่การรู้เนี่ยจะต้องใจตั้งมั่น ถ้ารู้ตามจิตไหลไปนะ ปัญญาจะไม่เกิด เดี๋ยวจะไปเรียนเรื่องมรรคตัวสุดท้าย คือสมาธิ
งั้นหน้าที่เรานะ ร่างกายเคลื่อนไหว คอยรู้สึก มันเคลื่อนไหวอยู่แล้ว เวทนาเกิดขึ้นในกาย คอยรู้สึก เวทนาในกายมีอยู่แล้ว เวทนาในจิตเกิดขึ้น คอยรู้สึก เวทนาในจิตก็มีอยู่แล้ว แค่คอยรู้สึกขึ้นมา กุศล-อกุศลเกิดขึ้นในจิต ก็แค่คอยรู้ มันมีอยู่แล้ว นี่เรียกว่าตามรู้ทั้งสิ้นเลย เพราะงั้นการตามรู้ไม่ใช่ ส่งจิตตามไปที่อื่นนะ รู้อยู่เฉพาะหน้า รู้อยู่กับปัจจุบัน แต่ว่าสภาวะมันมีอยู่แล้ว ก็รู้มัน นี่เรียกว่าตามรู้ ตามรู้เนืองๆ นี่ทำให้เกิดสตินะ
พอรู้บ่อยๆ จิตจะจำสภาวะได้แม่น อย่างเราหัดขยับตัวแล้วรู้สึก ขยับตัวแล้วรู้สึก วันนึงเราใจลอย พอใจลอยปุ๊บ เราเกิดขยับขึ้นมาโดยไม่ได้เจตนาจะรู้สึกนะ มันจะรู้สึกขึ้นเอง สติตัวจริงเกิดแล้ว เกิดโดยไม่เจตนานะ ไม่เจือด้วยโลภะ แล้วค่อยฝึกไปเรื่อยนะ บางคนดูเวทนา ดูบ่อยๆ ต่อไปพอนั่งๆอยู่ มดมากัดเจ็บปั๊บ สติเกิดเลย เห็นเวทนาเกิดขึ้นในกาย กายอยู่ส่วนนึง เวทนาอยู่ส่วนนึง จิตเป็นคนดู นี่เกิดสติขึ้นมา ใจตั้งมั่น รู้สึกขึ้นมา หรือเห็นกุศลอกุศลนะ หัดดูไปเรื่อย กุศลอกุศลใดๆเกิดขึ้นในใจ คอยหัดดูไปเรื่อย ที่หัดดูจิตๆ หัดดูไปอย่างนั้นแหล่ะ ในที่สุดก็ได้สติขึ้นมา รู้สึกขึ้นมา กิเลสเกิดแว้บ รู้สึกเลย อย่าว่าแต่ตอนตื่นเลย ตอนนอนหลับนะ กิเลสเกิดยังรู้สึกเลยอัตโนมัติขึ้นมา
นี่เราฝึกไปจนสติมันอัตโนมัตินะ ถึงจะใช้ได้ ถ้าสติยังต้องจงใจให้คอยเกิดอยู่ ยังอ่อนอยู่ ต้องฝึกไปอีก หัดรู้สภาวะมากๆนะ สติจะเกิด
สติปัฏฐานเนี่ย เบื้องต้นทำให้มีสติ เบื้องปลายจะมีปัญญา
แต่ก่อนจะเกิดปัญญา ต้องมาเรียนสัมมาสมาธิก่อน สัมมาสมาธิพระพุทธเจ้าอธิบายสัมมาสมาธิด้วยฌาน ๔ ทำไมเอาแค่ฌาน ๔ แล้วอรูปฌานอีก ๔ หายไปไหน อรูปฌาน ๔ นั้นสงเคราะห์เข้าในฌานที่ ๔ เพราะมีองค์ธรรมเท่ากัน มีอุเบกขากับเอกัคคตา เป็นองค์ธรรมหลักคืออุเบกขากับเอกัคคตา งั้นสรุปก็คือฌาน ๘ นั่นเอง
แต่ถ้าพูดอย่างปริยัติ ท่านอธิบายด้วยฌาน ๔ ทำไมต้องเป็นฌาน ถ้าไม่เข้าฌาน ไม่เป็นสัมมาสมาธิรึ ท่าน อธิบายฌาน ๔ สัมมาสมาธิด้วยฌาน ๔ เนี่ย เพราะท่านพูดถึงสัมมาสมาธิแท้ๆ สัมมาสมาธิแท้ๆเกิดขณะเดียว ในขณะที่เกิดอริยมรรค เกิดขณะจิตเดียวนั่นแหล่ะ
เพราะงั้นที่บอกว่าองค์มรรคๆ ๘ ตัวนี่นะ ไม่ได้เกิดรายวัน แต่องค์มรรคแท้ๆเนี่ย เกิดในขณะที่เกิดอริยมรรค เพราะงั้นขณะที่พวกเรามีสติอยู่ทุกวันเนี่ย บางคนก็บอกเป็นสัมมาสติ อันนั้นเรียกเอาหน้าเท่านั้นเอง จริงๆไม่เป็น ที่บอกเรามีสัมมาสมาธิอยู่ มีใจตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัว นี่เรียกโดยอนุโลม จริงๆยังไม่ใช่สัมมาสมาธิ สัมมาสมาธิแท้ๆเกิดตอนที่เกิดอริยมรรค
แล้วขณะที่เกิดอริยมรรคนั้น จะต้องเกิดร่วมกับองค์ฌานอันใดอันหนึ่ง ต้องเกิดกับฌานขั้นใดขั้นหนึ่ง อย่างน้อยปฐมฌานจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ จนถึงฌานที่ ๔ บางคนลึกซึ้งลงไปกว่านั้นอีก ในฌานที่ ๔ นั้นรูปหายไป เหลือแต่นามธรรมล้วนๆ เข้าไปอรูปฌาน
งั้นท่านอธิบายตัวสัมมาสมาธิเนี่ย ท่านถึงไปอธิบายด้วยฌาน แต่ใน ขั้นการปฏิบัติเนี่ย ขั้นบุพภาคมรรค ขั้นเบื้องต้นของมรรค มรรคเบื้องต้น ยังไม่ใช่อริยมรรคเนี่ย ไม่จำเป็น ไม่จำเป็นว่าจะต้องเกิดอัปปนาสมาธิ ถ้าเราไม่มีอัปปนาสมาธิ ทำอัปปนาสมาธิไม่ได้ เราใช้ขณิกสมาธินี่แหล่ะ สมาธิเป็นขณะๆคอยรู้ทัน จิตมันฟุ้งซ่านไป คอยรู้ทัน จิตมันฟุ้งซ่านไป คอยรู้ทัน รู้บ่อยๆนะ มันจะได้สมาธิเป็นขณะๆ เพราะในขณะที่รู้ทันว่าฟุ้งซ่านจะไม่ฟุ้งซ่าน ในขณะที่ไม่ฟุ้งซ่าน ขณะนั้นแหล่ะมีสมาธิ นั่นได้เป็นขณะๆไป
งั้นบางทีหลวงพ่อบอกพวกเรานะ เผลอไปแล้วรู้ เผลอไปแล้วรู้ เผลอไปนั่นคืออะไร คือจิตฟุ้งซ่านนั่นเอง เพราะงั้นจิตฟุ้งซ่านไปแล้วรู้ทัน จิตฟุ้งซ่านไปรู้ทัน ก็จะรู้สึกตัวขึ้นมา ใจมันจะอยู่กับเนื้อกับตัว งั้นสัมมาสมาธิในขั้นของการปฏิบัติ กับในขั้นของการเกิดอริยมรรคเนี่ย คนละอย่างกันนะ ในขั้นของการเกิดอริยมรรคเนี่ย จิตเข้าอัปปนาสมาธิแล้วก็ไปตัดกิเลส ตัดสังโยชน์กันในองค์มรรค ในขณะที่ทรงฌาน ส่วนสัมมาสมาธิในขณะที่ใช้ชีวิตธรรมดาเนี่ย จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว
ทำอัปปนาสมาธิได้มั้ย ทำได้ แต่ทำเพื่อพักผ่อน ไม่ใช่ทำเพื่อให้เกิดอริยมรรค ทำเพื่อพักผ่อนเท่านั้นอัปปนาสมาธิ แต่บางคนชำนาญในการดูจิตจริงๆ เมื่อเข้าอัปปนาสมาธิแล้ว ยังดูจิตต่อได้อีก อันนี้พวกที่ชำนาญในการดูจิตด้วยชำนาญในฌานด้วย ซึ่งหายากนะ มีไม่กี่คนหรอก ส่วนใหญ่ทำไม่ได้
เราใช้ขณิกสมาธิอยู่เป็นขณะๆนี้ ใจลอยไปแล้วรู้ ใจฟุ้งซ่านไปแล้วรู้ ใจฟุ้งไปแล้วรู้ รู้อย่างนี้เรื่อยนะ ใจจะตั้งมั่นขึ้นมา สมาธิชนิดนี้คือความตั้งมั่น คือพูดภาษาไทยง่ายๆนะ คือจิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว จิตใจไม่ลืมเนื้อลืมตัว จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวนะ
ถัดจากนั้นเรามาเดินสติปัฏฐานที่ให้เกิดปัญญา พอจิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวแล้ว สติระลึกรู้ลงในรูปธรรมนะ จะเห็นรูปธรรมไม่ใช่ตัวเรา สติระลึกรู้ลงในเวทนา จะเห็นว่าเวทนาไม่ใช่ตัวเรา ในขณะที่ใจเราตั้งมั่นอยู่กับเนื้อกับตัว เป็นผู้รู้ผู้ดู จิตเป็นผู้รู้ผู้ดูนี่แหละ เรียกว่ามีสมาธิล่ะ แล้วก็สติเกิดระลึกรู้ เห็นเวทนาทางใจ ก็จะเห็นว่าเวทนาทางใจไม่ใช่เรา สติระลึกรู้เห็นกุศลเห็นอกุศล จะเห็นว่ากุศลและอกุศลไม่ใช่เรา
ทีนี้ตัวผู้รู้เนี่ย มันจะรู้สึกเหมือนกับทรงอยู่ แต่ถ้าทำแค่ขณิกสมาธิเนี่ย ตัวผู้รู้จะไม่อยู่นาน ประเดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ ประเดี๋ยวก็เป็นผู้คิด ประเดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ ประเดี๋ยวก็เป็นผู้หลงไปเลย ไม่รู้คิดเรื่องอะไร ประเดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ ประเดี๋ยวก็เป็นผู้เพ่ง ตัวผู้รู้เองก็เกิดดับ จิตนี้เองเกิดดับ ไม่เที่ยงด้วย ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์เท่าๆกับขันธ์อื่นๆนั่นเอง เนี่ยการเดินปัญญาทำอย่างนี้นะ รู้ลงไปในกาย มีสติระลึกรู้กายที่กำลังปรากฏอยู่ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง จิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว ไม่ลืมเนื้อลืมตัว เนี่ยคือจิตที่มีสมาธิได้มาด้วยการทำฌาณก็ได้นะ ได้มาด้วยการรู้ทันจิตที่ไหลไปๆ แล้วรู้บ่อยๆ เนี่ย มันจะตั้งมั่นขึ้นเอง พวกเราใจไหลไปแล้วรู้ ไหลแล้วรู้เนี่ย ใจมันจะมาอยู่กับเนื้อกับตัว
พอใจอยู่กับเนื้อกับตัวแล้วมันจะรู้สึกขึ้นมานะว่า ร่างกายที่กำลังเคลื่อนไหว ใช้คำว่าร่างกายที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่เนี่ย ไม่ใช่ตัวเรา
ดูกายเนี่ยจะดูลงปัจจุบันขณะนะ ดูลงขณะปัจจุบันนี้เลย เนี่ยๆ กำลังเคลื่อนอยู่เนี่ย เรารู้ได้มั้ย รู้ได้ เพราะจิตมันเป็นคนไปรู้กาย แต่ว่าการดูจิตเนี่ยจะไม่ดูลงปัจจุบันขณะ การดูจิตจะดูด้วยลักษณะที่เรียกว่า ดูปัจจุบันสันตติ ไม่เหมือนกันนะ ปัจจุบันขณะก็คือสิ่งที่กำลังปรากฏต่อหน้าต่อตานี้เอง ปัจจุบันสันตติคือสิ่งที่เนื่องอยู่กับปัจจุบัน ปัจจุบันเป๊ะๆไม่ได้ เพราะจิตนั้นรู้อารมณ์ได้ครั้งละอย่างเดียว อย่างร่างกายเคลื่อนไหวเนี่ย จิตดูลงปัจจุบันได้ เพราะจิตมารู้กาย แต่จิตจะไปรู้จิตเนี่ยไม่ได้ จิตจะไปรู้จิตในขณะ ขณะนั้นนะ ในขณะที่เดินปฏิบัติปกติเนี่ยไม่ได้ แต่ในขณะที่เกิดอริยมรรคได้นะ คนละอันกันนะ คนละเรื่อง ที่ท่านว่าจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นมรรคนั้น ท่านพูดถึงอริยมรรคเลย เฮ้อ เหนื่อย เทศน์มันยากมากเลย มัน intensive course
เพราะงั้นดูกายเนี่ยนะ ดูมันลงปัจจุบัน ดูจิตนั้น ดูมันเนื่องกับปัจจุบัน เช่น มันโกรธ พอมันโกรธปุ๊บ สติรู้ว่าโกรธ ในขณะที่จิตมีสติรู้ว่าโกรธเนี่ย ความโกรธนั้นเป็นอดีตไปแล้ว ความรู้ รู้ว่าเมื่อกี้โกรธนั้นเป็นปัจจุบัน ความโลภเกิดขึ้น ความโลภเป็นปัจจุบัน สติรู้ว่าเมื่อกี้โลภ โลภเป็นอดีตละ จิตที่มีสตินี้เป็นปัจจุบัน
จิตที่มีสติมันเกิดตามหลังจิตที่มีกิเลสนะ เพราะงั้นตรงที่มีกิเลสเนี่ย ดูไม่ได้ เพราะในขณะที่กิเลสเกิดเนี่ย สติไม่มี ในขณะที่มีสติน่ะไม่มีกิเลส เพราะงั้นการที่เราเห็นว่าจิตมีกิเลสน่ะ เราเห็นตามหลังทั้งสิ้น เพราะ ฉะนั้นการดูจิตนี่นะ จะตาม แต่ตามแบบติดๆนะ เมื่อวานโกรธวันนี้รู้ไม่เรียกว่าปัจจุบันสันตตินะ เพราะว่าห่างไกลมาก นั่นเป็นอดีตสันตติแล้วไม่ใช่ปัจจุบันละ
เพราะงั้นการดูจิตนะ ดูแบบติดๆ เลย โกรธขึ้นมาก่อน รู้ว่าโกรธ นี่เห็นหางความโกรธๆไหวๆ หายแว้บไปต่อหน้าต่อตา นี่ เห็นหางเท่านั้นนะ ไม่เห็นตัวมันหรอก งั้นดูอย่างนี้นะ ดูไปเรื่อย แต่จิตต้องตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู ตัวนี้แหละคือตัวสัมมาสมาธิ จิตที่ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู สติระลึกรู้กายลงเป็นปัจจุบัน สติตามรู้จิตที่ดับไปสดๆร้อนๆ นะ
เนี่ยในขณะที่เดินมรรคเขาเดินกันอย่างนี้ ในขณะที่เกิดอริยมรรคเป็นอีกแบบนึง คนละเรื่องกัน อย่าไปปนกัน
พอเราเจริญมากๆนะ จะได้อะไร จะได้ตัวของปัญญา ปัญญา คือสัมมาทิฐิ คือสัมมาสังกัปปะ
สัมมาทิฐิคือความเห็นแจ้งในอริยสัจจ์ รู้ว่าตัวตนไม่มีหรอก ตัวตนมีแต่ทุกข์ ขันธ์มีแต่ตัวทุกข์ ขันธ์ไม่ใช่ตัวตน พอมีอย่างนี้นะใจมันก็ดำริออกจากกาม ดำริออกจากพยาบาท ดำริออกจากการเบียดเบียน ก็ตัวเราไม่มีจะมีกามไปทำไม จะพยาบาททำไม จะเบียดเบียนยังไง ใจก็พ้นจากกิเลส พ้นจากทุกข์ พ้นจากทุกสิ่งทุกอย่างไป
วันนี้เทศน์เรื่องมรรคให้ฟังนะ มรรคมีหนึ่งนะ แต่มีองค์แปด แต่ไม่ได้มีแปดมรรคนะ ถ้าแปดมรรคเรียกมักมาก มรรคมีหนึ่งเท่านั้นแต่มีองค์แปด คล้ายๆ แมงมุมมีหนึ่งตัวแต่มีแปดขา หักออกขานึงก็พิการละ ใช้ไม่ได้ อริยมรรคจะไม่เกิดนะ ถ้าขนาดส่วนใดส่วนหนึ่ง
เพราะฉะนั้นส่วนแรกเลยที่ต้องรักษาคือศีล จำไว้นะ ตั้งใจ แล้วพยายามดำรงชีวิตอย่างสุจริต พยายามฝึกจิตฝึกใจไปเรื่อย คอยรู้ทันจิตไป กิเลสเกิดรู้ทัน อย่าให้มันครอบงำ รู้ทันกิเลสได้บ่อยๆ ใจก็มีกุศลมากขึ้นๆ แล้วก็หัดรู้สภาวะของรูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย จนกระทั่งสติมันเกิด แล้วก็ฝึกจิตไป จิตไหลไปแล้วรู้ๆ สมาธิก็เกิด ในที่สุดก็มีสมาธิ มีสติรู้รูปรู้นามตามความเป็นจริงด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง จิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลางคือจิตมีสมาธิ เมื่อมีสติรู้รูปรู้นามรู้กายรู้ใจด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลางมากพอ ปัญญาจะเกิด จะเห็นแจ้งว่ารูปธรรมนามธรรมไม่ใช่ตัวตน เป็นแต่ตัวทุกข์ล้วนๆ ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ล้วนๆ พอปล่อยวางได้นะ คุณงามความดีทั้งหลายเนี่ยสมบูรณ์แบบหมดเลย ความสุขอันมหาศาลจะเกิดขึ้น
สวนสันติธรรม
CD: สวนสันติธรรม แผ่นที่ ๓๔
Track: ๑๒
File: 530425A.mp3
ระหว่างนาทีที่ ๐ วินาทีที่ ๑๕ ถึง นาทีที่ ๒๙ วินาทีที่ ๑๒
เว็บไซต์ Dhammada.net
เป็นเว็บไซต์ที่ได้รับการอนุญาตจาก หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม ให้สามารถดำเนินการถอดข้อความพระธรรมเทศนาในลักษณะข้อความสั้นได้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓
ชี้แจงการรับกิจนิมนต์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช ที่นี่
สมัครเป็นสมาชิกเพื่อรับแจ้งข่าวสารและธรรมะทุกวันจาก Dhammada.net ได้ ที่นี่
ติดตั้ง Dhammada Application for Android ที่นี่
คู่มือการใช้งาน อ่านได้ ที่นี่